ทุกคนโปรดทราบ พวกเราถูกบังคับให้สูญหาย

บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำการต่อสู้เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน จังหวัดเพชรบุรี หายตัวไป วันที่ 17 เมษายน 2557

เด่น คำแหล้ แกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชนโคกยาว จังหวัดชัยภูมิ หายตัวไป วันที่ 16 เมษายน 2559

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในกัมพูชา หายตัวไปราวต้นเดือนมิถุนายน 2563 

รายงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ระหว่าง 2523-2562 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ถูก ‘บังคับให้สูญหาย’ ทั้งสิ้นจำนวน 86 ราย อันเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้อง เช่น หลังการรัฐประหารของ คสช. เหตุการณ์พฤษภา 2535 นโยบายสงครามยาเสพติด ปี 2540 เหตุการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553

ปรากฏการณ์การบังคับให้สูญหายที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่เพียงแสดงถึงความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนหรือพลเรือนของตนเอง หากยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity culture) ของผู้ที่กระทำความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีปราบปรามและสังหารผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองต่างไปจากรัฐ 

The Invisible Ones คือนิทรรศการภายใต้โปรเจ็คต์ ‘Lost and Found The Missing Ground’ ว่าด้วยประเด็นการบังคับให้บุคคลสูญหาย นำเสนอเรื่องราวของคนที่สูญหายบนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด โดยทำงานร่วมกับศิลปินในแขนงต่างๆ เพื่อนำเอาชุดข้อมูลที่ถูกทำให้ ‘มองไม่เห็น’ เหล่านี้ มาสร้างเป็นผลงานศิลปะร่วมสมัยในหลากหลายรูปแบบ และจัดแสดงเป็นนิทรรศการเสมือนจริงบนเวทีการเมืองที่สำคัญในประวัติศาสตร์ นั่นคือ ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ สถานที่ที่ถูกทำลายและทำให้มองไม่เห็น

จากซ้ายไปขวา: จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์, ธาม โชติวิไลวนิช, แวว-กษมาพร แสงสุระธรรม และ แชมป์-วิภาช ภูริชานนท์

WAY คุยกับทีม Waiting You Curator Lab ผู้อยู่เบื้องหลังนิทรรศการดังกล่าว ถึงแนวคิดและการคัดสรรผลงานในนิทรรศการ จอยส์-กิตติมา จารีประสิทธิ์ ภัณฑารักษ์และผู้ร่วมก่อตั้ง, แวว-กษมาพร แสงสุระธรรม ภัณฑารักษ์และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, แชมป์-วิภาช ภูริชานนท์ ภัณฑารักษ์, ผู้ร่วมก่อตั้ง และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ ธาม โชติวิไลวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของ Waiting You Curator Lab

อะไรคือจุดเริ่มต้นของการรวมตัวเป็น Waiting You Curator Lab

จุดเริ่มต้นในการรวมทีมของเรามาจากการมองว่า การทำงานในวงการศิลปะนั้นไม่ได้มีแค่อาชีพใดเพียงอาชีพเดียว 

องค์ประกอบของวงการศิลปะยังมีอีกหลากหลายส่วน ทั้ง curator ที่มีหน้าที่คัดสรรงานศิลปะ มี art dealer คอยดูแลจัดการซื้อขายงานศิลปะ มี project manager ทำหน้าที่บริหารจัดการงานศิลปะ เราจึงรวมตัวกันภายใต้ Waiting You Curator lab ซึ่งอาจจะเขียนแปลกๆ หน่อย ไม่ใช่ Waiting for You แบบถูกตามแกรมม่า แต่เป็น broken english หลักคิดก็คือการนำเสนอว่าในการทำงานภัณฑารักษ์ไม่จำเป็นต้องมีใครคนใดคนหนึ่งที่ต้องทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกันเพื่อให้นิทรรศการเกิดขึ้น

แน่นอนว่าภัณฑารักษ์มีหน้าที่คัดสรร ดูแล และจัดแสดงงานศิลปะ โดยหลักมีหน้าที่แค่นี้ แต่มีการจัดการงานงอกอื่นๆ อีก เช่น การติดตั้งชิ้นงาน การติดต่อ การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ ไอเดียของการรวมกลุ่มจึงอยากสร้างพื้นที่ที่ทุกคนมาแชร์สกิลกันได้ โดยเราพยายามชวนคนในบทบาทอื่นๆ ให้มาแชร์เครื่องมือกัน มาสร้างงานด้วยกัน มาเป็นส่วนหนึ่งด้วยกัน

Waiting You Curator lab จึงแปลว่า ‘แล็บทดลองที่เรารอคุณมาเติมเต็มอยู่นะ’ 

ปีนี้เข้าปีที่ 6 แล้วสำหรับ Waiting You Curator lab ปัจจุบันเรามองว่าพื้นที่ความเข้าใจและการยอมรับ โดยเฉพาะอาชีพภัณฑารักษ์นับว่าดีขึ้นเยอะมาก นอกจากความพยายามที่จะขยายภาพว่าภัณฑารักษ์ไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเหมือนในอดีตแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่พวกเราตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นคือ เราต้องการให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์เสมือนแล็บทดลองที่ทุกคนมาร่วมกันทำงานนิทรรศการในรูปแบบใหม่ๆ ภายใต้วิธีคิดแบบใหม่ๆ ไปด้วยกัน 

เพื่อสร้างความเข้าใจ อยากให้ช่วยคลี่คลายให้เราเห็นภาพว่า Curator หรือ ภัณฑารักษ์ คืออะไร

มันมีหลายเลเยอร์ ในอดีตถ้าเราลองนึกภาพ ภัณฑารักษ์คือตำแหน่งหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ อาจจะนึกถึงคนที่มีหน้าที่ดูแลของสะสมและจัดนิทรรศการ แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยนไป การเกิดขึ้นของศิลปะร่วมสมัยทำให้เกิดกระบวนการที่เป็นสหวิทยาการ หมายถึงการรวมเอาสิ่งนั้นมาผสมสิ่งนี้ จึงทำให้ภัณฑารักษ์ทำหน้าที่ไกลกว่านั้น 

เรามองว่าภัณฑารักษ์คือ ผู้ผลิตความรู้ ผ่านกล่องหลายโหมด อาจจะผลิตงานในรูปแบบของนิทรรศการก็ได้ หรือจะเป็นหนังสือ เป็นงานวิจัยก็ได้ 

ถ้าเจาะไปที่นิทรรศการ ก็ยังแยกย่อยได้อีกมากว่านิทรรศการแบบไหน การเกิดขึ้นของนิทรรศการก่อนจะถึงหน้าฉาก ระหว่างทางก็ต้องผ่านงานวิชาการ มีการรีเสิร์ช มีขั้นตอนมากมาย พอเวลาเปลี่ยนไปหน้าที่ของภัณฑารักษ์จึงกลายเป็นผู้คัดสรรความรู้ต่างๆ หรือคนในแวดวงต่างๆ ให้มาเจอกัน

สิ่งที่เราพยายามทำ คือการสร้างพื้นที่ collective ในวงการนี้ให้เกิดขึ้นจริงเหมือนในต่างประเทศ พยายามดึงเอาศิลปินหรือคนในพาร์ทอื่นๆ มาทำงานด้วยกัน เราเชื่อว่าการรวมตัวกันจะทำให้เรามองเห็นความหมายไม่ใช่แค่ตัวงาน แต่คือการเห็นความหลากหลายของมนุษย์หลากหลายสาขาที่มีความถนัดต่างกัน 

6 ปีที่ผ่านมา มีโปรเจ็คต์อะไรที่เราประทับใจ จำไม่ลืมบ้าง

โอ้ เยอะอยู่ เพราะแต่ละโปรเจ็คต์ทำงานไม่ซ้ำกันเลย ปลายทางมีทั้งออกมาเป็นนิทรรศการ เกม หนังสือ เยอะไปหมด

ความสนุกอยู่ที่ขั้นตอนการทำงาน บางงานเน้นไปที่การทำงานร่วมกับศิลปินโดยตรง บางงานเราเข้าไปทำงานเชิงสังคม บางงานเราเข้าไปทำงานกับตัวประเด็น บางงานเราเข้าไปทำงานกับคนในแวดวงภาพยนตร์ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมาเราเคยร่วมงานกับ พี่เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ตอนนั้นพวกเราก็คิดต่อยอดกันว่า จะทำยังไงให้งานที่ออกมาไม่ได้สื่อสารเพียงแค่ตัวผู้กำกับ เราเลยลองออกแบบให้เห็นมิติของคนรอบๆ เช่น คนทำซาวด์ คนยกของ ช่างภาพ นักดนตรี คนในกองถ่าย ทุกคนจะได้พื้นที่ในการเล่าและนำเสนอเรื่องราวในมิติของตัวเอง ทำงานออกมามีมิติมากขึ้น และเราในฐานะคนทำงานเองก็สนุกมากขึ้นด้วย

หรืออย่างปี 2018 เราได้มีโอกาสทำโปรเจ็คต์นิทรรศการกับ ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ภายใต้นิทรรศการชื่อว่า ‘ของ (คณะ) ราษฎร’ โดยอ้างอิงจากหนังสือ ‘ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร: สัญลักษณ์ทางการเมืองในเชิงอุดมการณ์’ ความน่าสนใจของไอเดียการคิดงานนี้ คือการพลิกเอาเนื้อหาในหนังสือมานำเสนอในรูปแบบนิทรรศการ สิ่งที่เราทำคือการสังเคราะห์เนื้อหาและเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และย่อยออกมาให้เข้าใจง่ายที่สุดผ่านการนำเสนอในเชิงสายตา 

หรืออีกโปรเจ็คต์หนึ่งที่เราทำร่วมกับ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ในนิทรรศการ ‘คิดถึงคนบนฝ้า’ (Our Daddy Always Looks Down On Us) ที่ว่าด้วยการชวนคนปีนบันไดขึ้นไปชะโงกมองว่าข้างบนฝ้าเพดานมีอะไร นี่ก็คือหนึ่งตัวอย่างของการทำนิทรรศการที่ต่อยอดจากหนังสือเรื่องสั้น

แล้วโปรเจ็คต์ Lost and Found The Missing Ground เริ่มได้อย่างไร

ที่ผ่านมางานที่ทีมเราทำ ไม่ได้อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อยๆ พอเรารวมตัวกันทำงานมาสักระยะ ความตั้งใจของทุกคนในทีมคือเราอยากทำงานอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ซึ่งโปรเจ็คต์นี้ทีมเรามองเห็นความน่าสนใจและมองว่าสำคัญมากที่ต้องพูดตอนนี้

Lost and Found The Missing Ground คือนิทรรศการศิลปะในรูปแบบ virtual exhibition โดยมีศิลปินร่วมสมัยหลายคนร่วมด้วย การทำงานจึงตั้งต้นด้วยการจับเอาพื้นที่ใช้จัดแสดง อย่าง ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ มาทำเป็นโมเดล ก่อนออกแบบให้บ้านกลายเป็นนิทรรศการ virtual exhibition หัวใจของโปรเจ็คต์นี้คือ การสร้างความตระหนักมากกว่าสร้างเงิน ดังนั้นโจทย์จึงเน้นไปที่การส่งเสียงให้ประเด็นการถูกอุ้มหายมันดังขึ้น

ทำไมต้อง ‘บ้านสี่เสาเทเวศร์’ มันมีความหมายอย่างไร

ในมุมมองหนึ่งที่ทีมเลือกแปลนของบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพราะในภาวะปัจจุบันสถานที่แห่งนี้มันล้อกับการสูญหายเหมือนกันนะ เราจะเห็นบางอย่างที่ซ้อนกันอยู่ เรามองว่า Lost and Found เป็น exhibition space ด้วยประวัติศาสตร์ของบ้านที่เหมือนเป็นพื้นที่จัดแสดงให้เห็นอำนาจบางอย่างอยู่แล้ว เพราะในทุกๆ ปี เราจะเห็นคนแห่กันเอาดอกไม้ไปไหว้ป๋าเปรม จนบ้านกลายเป็นเวทีทางการเมือง เราจึงพลิกเอาคีย์เวิร์ดนี้มาเปลี่ยนบ้านให้เป็นเวทีศิลปะแทน

พอลงมือทำงานจริงๆ พบว่ามีงานเขียนหรือบทความจำนวนมาก กล่าวถึงความหมายของบ้านหลังนี้ และเจ้าของบ้าน ซึ่งได้รับการเปรียบว่าเป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่อยู่เบื้องหลังของการรัฐประหารหรือเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองใดๆ ก็ตาม นอกจากนี้ ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าบ้านหลังนี้ได้ คนที่ไปบ้านหลังนี้ต้องเป็นนักการเมือง นักการทูต นายกรัฐมนตรี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจอะไรบางอย่างอยู่ จากข้อมูลตรงนี้เรามองว่ามันสอดคล้องกับประเด็นของโปรเจ็คต์ที่ว่าด้วยการถูกบังคับสูญหาย หายไป และทำให้มองไม่เห็น เราจึงหยิบมาเป็นหลักในการคิดงาน เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนที่ถูกทำให้หายไปไม่ได้มีแค่คนที่ปรากฏในหน้าสื่อ เช่น วันเฉลิม หรือ บิลลี่ แต่ยังมีคนอีกจำนวนมาก

ดังนั้นในโปรเจ็คต์เราจึงพยายามที่จะพูดถึงคนที่ถูกบังคับให้สูญหายในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนที่ถูกบังคับให้สูญหายจากประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, คนเสื้อแดง และการทวงคืนผืนป่าของ คสช.

พอมีวัตถุดิบอย่างแปลนบ้านและประเด็น ทีมทำงานอย่างไรต่อ

เมื่อมีคอนเซ็ปต์และพื้นที่แล้ว ทีมเราก็ต้องมาดูว่าเราจะเชื่อมร้อยเรื่องราวของนิทรรศการอย่างไร

เราเริ่มจากการไปประมวลจดหมายเหตุต่างๆ ไปรีวิวข้อมูลต่างๆ ซึ่งก็มีความท้าทายหลายอย่าง เช่น เรารู้ว่าแปลนบ้านเป็นยังไง แต่เราไม่รู้ว่าในแต่ละห้องเคยเป็นอะไรมาบ้าง ซึ่งบางห้องก็โดนทุบไปแล้ว โจทย์คือแล้วเราจะจับคู่งานศิลปะให้เข้ากับแต่ละห้องอย่างไรให้สอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน

เรื่องราวในบ้านสี่เสาเทเวศร์ จาก fb page: THE MEERKAT

เราอาจจะรู้ว่าแปลนชั้นล่างในบ้านมีห้องอะไรบ้าง แต่พอขึ้นไปชั้นสอง เราไม่มีข้อมูลอะไรเลย มันดูลึกลับ เราเลยคิดกันว่าพื้นที่ชั้นล่างนี้มันมีลักษณะของการเป็นพื้นที่สาธารณะ ส่วนชั้นสองเราก็ทำงานกับมันในฐานะพื้นที่ส่วนตัว และจะจัดให้เป็นพื้นที่ของจินตนาการ จากนั้นเราจึงคัดเลือกศิลปินที่สามารถทำงานกับพื้นที่ตรงนี้ได้ เราว่านี่น่าจะเป็นประสบการณ์ที่สนุกนะ

ทีมมีวิธีการจับคู่ศิลปินกับพื้นที่ในบ้านอย่างไร 

จะเป็นการเผยความลับไหม (หัวเราะ) 

ขอยกตัวอย่างงานของศิลปินที่เรามีงานของเขาก็แล้วกันนะ เช่น ปพนศักดิ์ ละออ เป็นศิลปินที่ทำงาน painting ก่อนหน้านั้นเขาทำงานในประเด็นเรื่องคนหายมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นคนหายในลักษณะของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งมิติของการลี้ภัยทางการเมือง คือการเดินทางของมนุษย์ที่ต้องอยู่ไกลบ้าน และประสบการณ์การลี้ภัยมักไม่ได้เกิดในช่องทางปกติ แต่เกิดขึ้นอย่างลับๆ ในช่องทางธรรมชาติ หรือบริเวณตามพรมแดนต่างๆ

ดังนั้นงานที่ออกมาจึงเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงภาพทิวทัศน์ เป็นรูปยอดภูเขาสูง นอกจากนั้นยังมีงานที่เขียนภาพพื้นที่แลนด์มาร์คของประเทศต่างๆ โดยที่งานทั้งหมดทั้งมวลสื่อถึงประเทศปลายทางที่กลุ่มคนเหล่านี้ลี้ภัยและย้ายตัวเองเข้าไปอยู่ 

เมื่อเรารู้แล้วว่างานของศิลปินมีแนวทางประมาณไหน หน้าที่ของ curator ก็คือการมาคุยกันว่าจะสื่อสารออกมาอย่างไร เมื่อมาดู setting ที่จะจัดแสดง อย่างที่กล่าวไปว่าในบ้านสี่เสาเทเวศร์ จะมีห้องรับแขกหลัก ที่มีภาพถ่ายที่ถูกจัดแขวนไว้ เราก็ล้อไปกับรูปแบบเดิม โดยเอารูปของศิลปินของเราจัดวางแทน

นิทรรรศว่าด้วยโลกเสมือน เป็น Virtual Exhibition ความแตกต่างในการทำงานเช่นนี้ต่างจากนิทรรศการทั่วๆ ไปอย่างไร

ต่างกันนะ ต่างในแง่ของความเป็นไปได้

การทำงานในโลกเสมือนมันหลุดโลกดี เราอยากให้มีฝนตกในบ้านก็ทำได้ อยากให้น้ำท่วมก็ทำได้ หรืออยากจะทำอะไรที่ในโลกจริงต้องใช้ต้นทุนเยอะๆ เราก็พอจะสร้างได้ในโลกเสมือน แต่ข้อจำกัดก็คือ การที่มันเป็นของใหม่มากๆ เราก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราอยากให้เกิดตามจินตนาการของเรานั้นจะทำได้ไหมในทางเทคนิค ในส่วนนี้ต้องขอบคุณทางทีมเทคนิคจริงๆ ที่เขาสามารถเนรมิตให้พวกเราได้

อะไรเป็นเรื่องที่สนุกที่สุดในการ Curate งานในโปรเจ็คต์นี้

ตอนนี้กระบวนการสร้างนิทรรศการทั้งหมดคืบหน้าไปแล้ว 45 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่สนุกที่สุดสำหรับเราคือการเข้าถึงและคัดเลือกศิลปินนะ เราว่าขั้นตอนของการเลือกและจับคู่ว่าจะเอางานหรือศิลปินคนไหนไปจับคู่กับเรื่องราวใดในบ้านสี่เสาเทเวศร์ เราว่ามันสนุกดี แต่เอาจริงๆ การทำงานแบบรวมทีมหลากหลาย ทำงานกับคนหลายแขนงอย่างที่เรากล่าวไปก็มีความสนุกมากๆ อยู่แล้วเหมือนกัน ซึ่งไม่รู้ว่าพอถึงขั้นตอนเชิงเทคนิคจะสนุกอยู่หรือเปล่า (หัวเราะ)

วันที่พลิกเอาแปลนของบ้านสี่เสาเทเวศร์มาเป็นพื้นที่จัดแสดง ก็เป็นอีกวันที่สนุกที่สุด เหมือนกับได้ปลดล็อคว่า เออ…นี่แหละ! มันเป็นไปได้ว่ะ เป็นเหมือนวันเริ่มต้นที่เราจะคิดงานต่อ อีกอย่างที่สนุกก็คือการระดมไอเดียกับศิลปินด้วย การร้อยไอเดียของศิลปินเข้ากับเรื่องที่เราอยากนำเสนอก็เป็นอีกส่วนที่สนุกและท้าทาย 

คำพูดว่างานศิลปะต้องไม่รับใช้ใคร แล้ว Curator ต้องรับใช้ใครไหม

curator ต้องรับใช้ใครไหมน่ะเหรอ (หัวเราะ)

จริงๆ เรามองว่าศิลปะอยู่อย่างโดดเดี่ยวไม่ได้หรอก ศิลปะมันทำงานร่วมกับบางสิ่งบางอย่างอยู่แล้ว ที่ผ่านมาในโรงเรียนศิลปะก็ทำงานกับระบบการศึกษา ศิลปะเข้าไปทำงานกับสิ่งต่างๆ เราว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่อยู่อย่างโดดเดี่่ยว หรือเป็นเอกเทศขนาดนั้น พรมแดนของศิลปะมันขยับขยายและครอบคลุมอยู่คู่กับทุกสิ่งไปแล้ว

เรามองว่าคำว่า ‘รับใช้’ มันเป็นเทรนด์จาก อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี (อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) เราเข้าใจ แต่จริงๆ คำว่าศิลปะรับใช้ มันเป็นวิธีคิดของยุคสมัยหนึ่งที่มองว่าศิลปะถูกสร้างขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนา รับใช้กลุ่มคนชนชั้นสูง ดังนั้นศิลปะในยุคแรกๆ จึงถูกพูดในมิติของการว่าจ้าง การรับงานมาเพื่อสร้างชิ้นงานบางอย่างโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ เช่น ว่าจ้างให้วาดภาพเหมือนของราชวงศ์ วาดภาพพระเจ้า หรือการว่าจ้างใช้ศิลปินวาดภาพในโบสถ์ นั่นคือฟังก์ชั่นของศิลปะและศิลปินในยุคนั้น

แต่ในยุคนี้ที่ศิลปะมัน individual มากขึ้น ศิลปะยืนด้วยขาด้วยตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องสร้างงานเพื่ออะไรหรือเพื่อใครอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว มันเหมือนเปิดประตูเพิ่มช่องมากมายในการสร้างงานศิลปะมากขึ้น เช่นเดียวกัน เราว่ามันอยู่ที่มุมมองด้วย เช่น ในมิติของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา การนิยามของ ‘ศิลปะ’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมวัฒนธรรมอยู่แล้ว 

เราเข้าใจความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นนะ เพราะเราพยายามจะเชื่อกันว่า ‘ศิลปะจะต้องตั้งอยู่บนความอิสระ’ คือมันย้อนแย้งนะ เราอาจเพียงต้องกลับไปเข้าใจมันมากกว่าว่าศิลปะในยุคไหนเป็นอย่างไร ถ้านับก่อนในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส โอเค ศิลปะเป็นแบบนั้น ศิลปะเป็นเครื่องมือและเป็นส่วนหนึ่งของการรับใช้จริงๆ เราว่าการพยายามอธิบายมันด้วยยุคสมัยอาจจะทำให้เราเข้าใจศิลปะได้ง่ายมากขึ้น

เราชอบคำอธิบายหนึ่งในมิติสังคมวิทยาที่บอกว่า การทำงานศิลปะก็เหมือนการทำวงออร์เคสตรา กล่าวคือ ศิลปะไม่อาจจะทำได้อย่างโดดเดี่ยว เมื่อเกิดงานขึ้น งานชิ้นนั้นก็จะถูกผลักเข้าระบบตามกลไก อาจจะมีคนซื้อ คนสะสม คนวิจารณ์ มีแกลเลอรี ที่สำคัญคุณจะทำงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้น คุณจะทำมันไม่ได้ ถ้าคุณไม่เจอคนขายสี ขายกระดาษ ขายวัตถุดิบให้คุณ 

ท้ายที่สุดก็กลับไปที่คอนเซ็ปต์ตั้งต้นที่เราพยายามทำ Waiting You Curator Lab ขึ้นมา นั่นคือ การนำเสนอว่าศิลปะไม่สามารถอยู่ด้วยตัวคนเดียวได้ โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทยที่ต้องยอมรับว่าตลาดของศิลปะมันไม่ได้ใหญ่ การคาดหวังให้คนเดียวทำจบงานทุกแขนงในตัวเอง มันทำไม่ได้ เราเลยรู้สึกว่าการผลักให้ศิลปินหรือคนในแวดวงนี้ก้าวไปข้างหน้าคือการสนับสนุนให้คนหลายๆ ส่วนลุกขึ้นและทำให้พวกเขาเห็นโอกาส เห็นความเป็นไปในได้ในสิ่งที่เขาทำ คุณไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน หรือเป็นภัณฑารักษ์ คุณเป็นคนขายสี เป็น Art Manager ก็ได้ แต่ทุกคนควรจะอยู่รอดไปด้วยกัน ได้รับเกียรติและศักดิ์ศรีในแบบเดียวกัน

ตลาดศิลปะเป็นอย่างไรในตอนนี้ เพราะปัจจุบันเรามองเห็นช่องทางใหม่ในวงการนี้มากขึ้น เช่น NFT ตลาดศิลปะ

เราก็กำลังศึกษาเรื่อง NFT อยู่ ถ้าถามว่าในภาพรวมส่งผลอะไรต่อวงการศิลปะ แน่นอนว่าก็มีผลอยู่ เพราะมันเป็นช่องทางเชื่อมต่อทำให้คนที่ appreciate ต่องานของศิลปินจริงๆ หรือบางคนก็ซื้อเพื่อเป็นการลงทุน 

ประเด็นนี้เราอยากชวนคุยนิดหนึ่ง เราว่าตลาด Cryptocurrency มันลดช่องว่างไปเยอะเหมือนกัน คือคุณไม่จำเป็นต้องซื้องานผ่านพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องผ่าน curator อีกต่อไปแล้ว งานถึงมือคุณได้เลย แน่นอนคุณอาจจะต้องแลกกับความเสี่ยง เพราะคุณไม่มีผู้ช่วยมาการันตี หรือมาคัดสรรงานและคอยบอกคุณว่างานชิ้นนี้มันดีอย่างไร อีกอย่างคือคุณก็ต้องมีต้นทุนที่จะต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงนั้นด้วย

แต่ในแง่ดีก็มี เพราะเท่าที่เห็นแกลเลอรีหลายแห่งก็ปรับตัวมาเป็นเหมือนคนกลางที่เขาจะเสียค่าธรรมเนียม (Gas) ให้ระบบเอง เราว่าตลาดก็ดูเป็นระบบขึ้น คนทั่วไปก็เข้าถึงงานศิลปะได้ง่ายขึ้นด้วย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าตลาดในลักษณะนี้จะอยู่ยาวหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตาม

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะแชร์ เราว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 วงการศิลปะมีความครึกครื้นขึ้น อารมณ์เหมือนคนอยู่ในบ้านกันนานขึ้น คนโฟกัสเรื่องความเป็นบ้านมากขึ้น สินค้าของแต่งบ้านก็ขายดี งานศิลปะก็ด้วยเหมือนกัน 

แปลว่าตลาดนี้เพิ่มโอกาสให้ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยได้ขายงานศิลปะเพิ่มมากขึ้นหรือเปล่า

อย่างที่บอกว่าตลาด NFT มันก็มีต้นทุน การที่คุณจะเข้าไปอยู่ในนั้นได้ก็มีขั้นตอนหลายอยู่ การที่จะทำให้ศิลปินลืมตาอ้างปากได้ เป็นประเด็นใหญ่มาก ตลาดมีกว้างขึ้นก็จริง รสนิยมหรือแพทเทิร์นในวงการศิลปะบางอย่างก็ยังคงขายได้อยู่ตั้งแต่อดีต เช่น ภาพเขียน หรืองานจิตรกรรม แต่ในยุคสมัยนี้ที่เรามองเห็นศิลปินที่ทำงานในเชิง Contemporary Art หรือศิลปะร่วมสมัยเพิ่มขึ้น เขาก็มีสไตล์หรือวิธีอีกอย่างหนึ่งที่ทำงานในประเด็นใหม่ๆ โดยใช้ช่องทางอื่นๆ ที่ต่างไปจากเดิม 

เรายังพบศิลปินที่ทำงานศิลปะในระดับท้องถิ่น เช่น งานศิลปะที่ขายในตลาดนักท่องเที่ยว (tourism art) หรือ crafts and folk art เขายังขับเคลื่อนได้นะ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพาตัวเองมาอยู่ในตลาดนี้ แต่ช่วงสถานการณ์นี้อาจจะอยู่ลำบากหน่อย 

แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเรามองว่าตลาดศิลปะในไทยบางตลาดมันผลักให้ศิลปินหลายแขนงไปอยู่ชายขอบ ต่างจากต่างประเทศที่เขาให้ความสำคัญ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องการลืมตาอ้างปากของศิลปิน ตอนนี้มันก็ยากหมด แต่อย่างน้อยๆ ประเทศควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้อาชีพศิลปินมีโครงสร้างที่สนับสนุนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของคนทำงานศิลปะนะ แต่เป็นเรื่องของอาชีพนอกระบบ ศิลปินก็คือฟรีแลนซ์ ก็เหมือนแรงงานในภาคเกษตร หรืออาชีพอื่นๆ ที่เขาไม่มีอะไรให้ยึดพิง

ถ้ามองในมุมเศรษฐกิจ ศิลปินคือแรงงานที่มีความเสี่ยงสูง คืออาชีพที่ไม่สามารถประเมินผลกำไรได้ ในขณะที่ศิลปินบางคนถ้ามีกำไร เขาก็จะมีเยอะมากเลย เมื่อเรามองมันด้วยระบบ เราตั้งคำถามว่าจะมีวิธีใดที่จะจัดการความเสี่ยงเช่นนี้ได้บ้าง 

ประเทศที่มองว่าศิลปะและวัฒนธรรมมีคุณค่า เขาจะมองเห็นและสนับสนุน ในหลายๆ ประเทศมีสภาศิลปะ (Arts Council) ที่อย่างน้อยก็ช่วยกันต่อสู้ให้ศิลปินมีหลักยึด ผ่านการจัดเรตราคา หรือไม่ก็ให้ทุนหลายๆ แบบกับศิลปิน เพราะเราเชื่อว่าการสนับสนุนเช่นนี้จะก่อให้เกิดเป็นแรงผลักดันให้ศิลปินผลิตงานและดันความสามารถของพวกเขาออกมาจนสุดทาง

มิติหนึ่งที่ประเทศไทยยังมองไม่เห็นคือ งานศิลปะมันสร้างความรุ่มรวยทางสุนทรียศาสตร์ รัฐไทยยังมองว่าศิลปะมีไว้สร้างกำไร ทำงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นต้องมีผลตอบแทนที่จับต้องได้ เช่น สร้างงานแล้วจะต้องมีคนมาเที่ยวมากขึ้น แต่บางทีศิลปะมันคือการสร้างความสุขให้มนุษย์ในช่วงเวลาหนึ่งที่อาจวัดเป็นมูลค่าไม่ได้

สุดท้ายแล้วโปรเจ็คต์ Lost and Found จะพาให้ผู้คนรู้สึก สัมผัส หรือต้องการจะบอกอะไรกับสังคม

คุณจะเจออะไรที่หลากหลาย journey  เป็นประสบการณ์แบบใหม่ที่คล้ายกับการเล่นเกม 

คุณจะเจอลุงที่ชื่อพล คอยปัดกวาดทำสวนอยู่กลางบ้าน คุณจะต้องเดินตาม route ที่เราวางไว้ และระหว่างทางคุณจะเจอกับงานศิลปะต่างๆ ไม่ใช่แค่งานภาพเขียนอย่างเดียว อย่างที่บอกว่าในโปรเจ็คต์นี้เราทำงานกับคนหลายแขนง มีทั้งนักกวี มีงานเสียง มีงานภาพถ่าย มีงานวิดีโอ มีงานปั้น หรืองานที่เล่นกับวัตถุต่างๆ 

ด้วยความที่เป็นงาน visual art museum บทพื้นฐานของความเป็นเกม แน่นอนว่ามันจะสร้างความรู้สึกใหม่ๆ รวมถึงประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เราหวังว่าทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม จะมองเห็นภาพสถานการณ์ทางการเมืองและมองเห็นประเด็นการบังคับให้สูญหายได้มากขึ้น เพราะนี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ถ้าเราจะเดินอยู่ในสังคมแบบประชาธิปไตย เราต้องช่วยกันยืนยันว่ารัฐกระทำเช่นนี้ต่อพลเรือนไม่ได้ และในฐานะพลเรือนเองก็ต้องส่งเสียงกลับไปว่าเราไม่ต้องการสังคมแบบนี้ และรัฐจะกระทำเช่นนี้ต่อเราไม่ได้เหมือนกัน

หัวใจของโปรเจ็คต์นี้ จะเป็นการขยายการรับรู้ให้กับผู้คน ข้อดีอย่างหนึ่งคือการจำลองเสมือนจริงและเสริมจินตนาการ ไม่ใช่แค่การจำลองความเหมือนจริงแค่นั้น แต่ยังจำลองความจริงบางอย่าง โดยมีเส้นบางๆ ที่อาจจะสร้างความรู้สึก… ‘ฮึ่ม’ ให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้ 

อีกอย่างคือ ตอนที่ลิสต์รายชื่อศิลปินในโปรเจ็คต์นี้ออกมา เราว่าคนส่วนใหญ่น่าจะชอบนะ แต่ถ้าอยู่ในพื้นที่จริง งานนี้คงไม่ได้โชว์อะ (หัวเราะ) เพราะมันมีความเป็นไปไม่ได้บางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกความเป็นจริง มีความเป็นได้สูงที่ทหารจะสนใจโปรเจ็คต์นี้มากขึ้นก็ได้ 🙂

LOST & FOUND PROJECT | ‘the invisible ones’
a virtual exhibition Website launch 28 July 2021

Artist list:
อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, อริญชย์ รุ่งแจ้ง, อัญชลี อนันตวัฒน์, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, มิตร ใจอินทร์, ไมเคิล เชาวนาศัย, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, นนทวัฒน์ นำเบญจพล, ปพนศักดิ์ ละออ, ทัศนัย เศรษฐเสรี, ธนาวิ โชติประดิษฐ, ซะการีย์ยา อมตยา และ ไม้หนึ่ง ก.กุนที

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า