แนวคิด ‘เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน’ เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่ก็เช่นเดียวกับหลายๆ เรื่องในเมืองไทย คือ ต้องมีพื้นที่นำเสนอข้อมูลทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
เพราะโครงการพัฒนานั้นสามารถคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการทำกำไรได้ แต่ถ้าหวังเพียงผลตอบแทนเฉพาะหน้า แล้วในระยะยาวทิ้งปัญหาเอาไว้ให้ลูกหลานช่วยกันแก้ จะถือว่าเป็นโครงการที่เหมาะสมหรือไม่
โดยคำสั่ง คสช. สามฉบับที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนโดยตรง ก็คือ คำสั่งฉบับที่ 3, 4 และ 9/2559 ที่ภาคประชาสังคมและประชาชนในหลายพื้นที่ออกมาคัดค้านแทบจะทันทีที่มีประกาศออกมา
แต่จริงๆ แล้ว ก่อนหน้าคำสั่ง คสช. เมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีผลให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยทุกกำลังการผลิต ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) จากเดิมกรณีมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป ต้องจัดทำรายงาน EIA โดยให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) แทน
คำสั่งซึ่งมีผลปลดล็อคโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิง หรือ ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ ก็คือ คำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ในการยกเว้นผังเมืองสำหรับกิจการพลังงานและขยะ พูดง่ายๆ ว่า จากนี้ไป สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ที่ผังเมืองไม่อนุญาตได้ทันที
ความต่างของขยะไทย-สวีเดน
ฟังเผินๆ คำว่า ‘โรงไฟฟ้าขยะ’ น่าจะมาช่วยลดปัญหาขยะในชุมชนได้ แถมได้พลังงานออกมาใช้อีกต่อหนึ่ง อย่างที่เราได้ยินได้ฟังกรณีสวีเดนที่ต้องนำเข้าขยะจากนอกประเทศเพื่อนำมาป้อนให้โรงไฟฟ้าขยะในประเทศ แล้วระบบโรงไฟฟ้าขยะของไทยเหมือนหรือต่างกับสวีเดนหรือเปล่า
ในด้านระบบเตาเผาขยะอาจไม่ต่างกัน เพราะเป็นการนำขยะที่คัดแยกหรือปรับปรุงสภาพแล้ว เข้าเตาเผาโดยตรง (Incinerator) แต่ส่วนที่ต่าง นักวิชาการไทยตั้งข้อสังเกตไว้สองประการด้วยกัน
ความต่างแรกคือ ลักษณะขยะของสวีเดนและไทยต่างกัน ปริมาณขยะในประเทศสวีเดนที่ส่งเข้าโรงไฟฟ้าขยะอยู่ที่ร้อยละ 10 เนื่องจากประชาชนมีการแยกขยะ ประกอบกับการลดใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ และนำขยะไปรีไซเคิล รวมทั้งไม่มีขยะอันตรายในกลุ่มโฟม พลาสติก หรือขยะพิษจากชุมชนปะปน ขยะอีกร้อยละ 90 จึงต้องนำเข้ามาจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และไอร์แลนด์
นอกจากนั้น ปริมาณขยะกากอุตสาหกรรม และกากอุตสาหกรรมอันตรายในสวีเดนค่อนข้างต่ำ และยังไม่มีรายงานปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมปนมากับขยะมูลฝอยทั่วไป
ปัญหาหนักหนาของขยะในไทยคือ ไม่สามารถคัดแยกขยะได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น อีกปัญหาสำคัญก็คือการคอร์รัปชัน
สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ข้อมูลว่า มีความเป็นไปได้ในการคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยตั้งข้อสังเกตเรื่องตัวเลขปริมาณขยะสะสมและปริมาณขยะใหม่ที่สูงเกินจริง เพื่อหนุนให้เกิดความต้องการโรงไฟฟ้าขยะทั่วประเทศ และการผลักดันระบบเผาไหม้ที่ยังก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์หรือส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ไม่สนใจความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้น ไปจนถึงผลกระทบร้ายแรงในอนาคต
เผาได้ ใช่หมดปัญหา
ขยะที่คัดแยกแล้วจะถูกนำเข้าเตาเผา แล้วนำความร้อนไปผลิตไฟฟ้าด้วยไอน้ำ ปกติขยะสด 300 ตัน จะแยกเป็นขยะที่เข้าเตาเผาจริงได้ 100 ตัน ซึ่งจะออกมาเป็นพลังงาน 1 เมกะวัตต์
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการเผา ขยะจะถูกแปรสภาพเป็นเถ้าหนักและเถ้าลอย ประมาณ 20-40 เปอร์เซ็นต์ของขยะที่เผา ซึ่งต้องผ่านการตรวจสอบปริมาณไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง รวมถึงโลหะหนักอื่นๆ ขี้เถ้าที่ได้ต้องนำไปฝังกลบในบ่อขยะได้มาตรฐาน
นอกจากขี้เถ้า ข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (US Environmental Protection Agency: US EPA) จากการสำรวจเตาเผาและโรงไฟฟ้าจากขยะสองแห่ง ประจำปี 2013 พบมลพิษที่มีอันตรายสูง เช่น ไดออกซิน สารหนู แบริลเลียม แคดเมียม โครเมียม ตะกั่ว ปรอท ฝุ่นละอองขนาดเล็ก และก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรด
นอกจากนั้น กิจการโรงไฟฟ้าขยะต้องใช้น้ำในปริมาณไม่น้อย โดยทุกๆ 1 เมกะวัตต์ ใช้น้ำ 120 ลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่กำลังจะตั้งอยู่ในข่ายไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (โครงการก่อนปี 2558 เพื่อต้องการเลี่ยง EIA) ส่วนของเสียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ อาทิ กากตะกอนและน้ำเสีย ก็ต้องผ่านการบำบัดอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ฝันที่เป็นจริง
ตามแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559-2564 โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จากนี้ไป ประเทศไทยจะมีโครงการโรงไฟฟ้าขยะทยอยก่อสร้าง 53 แห่ง โดยรัฐต้องควักเงินลงทุนราว 94,600 ล้านบาท และเอกชนร่วมทุนอีกประมาณ 84,000 ล้านบาท
“มีการวางแผน 53 โรง ทะเลาะกันไปแล้วหลายพื้นที่ แล้วจะมีโรงไฟฟ้าเช่นนี้ไปขึ้นตามที่ต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในร่างของกรมควบคุมมลพิษอีกหลายพื้นที่” สมนึกให้ข้อมูล และตั้งข้อสังเกตกับโครงการที่จะเกิดขึ้นในพัทลุงเป็นพิเศษ
“พัทลุงบอกว่ามีตัวเลขขยะ 500 ตันต่อวัน ซึ่งพัทลุงเป็นจังหวัดเล็กมาก เขาบอกว่าอุตสาหกรรมมีขยะ 500 ตัน ซึ่งใช้วิธีคำนวณอย่างไรผมก็ไม่ทราบ สรุปคือต้องมีโรงไฟฟ้าขยะสองโรง” สมนึกกล่าว
แนวคิด ‘เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน’ เป็นเรื่องน่าสนใจ แต่เมื่อเทียบผลได้ผลเสีย อาจจะต้องกลับมาคิดให้มากๆ เพราะสิ่งที่ได้จากการคัดแยกขยะไม่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมีการปนเปื้อนขยะพิษหรือกากอุตสาหกรรมอันตราย เมื่อผ่านการเผาจะยิ่งก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นสารไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง สารตะกั่ว ปรอท และโลหะหนักอื่นๆ ส่วนก๊าซจากการเผาไหม้ ก็สร้างมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำเสียหรือกากตะกอน ก็อาจปนเปื้อนสารอันตราย และต้องการการจัดการอย่างถูกต้อง
ขณะนี้ในกรุงเทพฯ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในเขตหนองแขม ด้วยระบบเผาตรงไม่ต่ำกว่าสองโรง ได้แก่
- โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยบริษัท C&G Environmental Protection (ประเทศจีน) กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ [สถานะ: กำลังก่อสร้าง]
- โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ [สถานะ: ระหว่างเจรจาขออนุมัติ]
ส่วนโรงไฟฟ้าขยะที่ตำบลเชียงรากใหญ่ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี วางแผนก่อสร้างสามโรง กำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ ขณะนี้มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ทำการก่อสร้างรวมตัวกันคัดค้าน เนื่องจากโครงการจะตั้งห่างจากชุมชนในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตรเท่านั้น
ที่สำคัญ โครงการนี้ตั้งอยู่ไม่ห่างจากจากสถานีน้ำดิบสำแล และโรงงานสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาค ซึ่งอยู่ในเขตอนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปานครหลวง ตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2522 ที่ถือเป็นต้นทางน้ำประปาของคนกรุงเทพฯ
เรื่องน่าห่วงขณะนี้คือ โรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน ก็สามารถตั้งได้ทุกที่ เพราะคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ปลดล็อกให้แล้วเรียบร้อย