คุณน่าจะเคยได้ยินวลี ‘เงียบจนแสบแก้วหู’ อยู่บ้าง
และถ้าคุณเข้าใจความรู้สึก ‘เงียบ’ นี้ เมื่อคุณฟังตัวละครพูดพล่ามในละครเวทีเรื่อง ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ คุณคงคลับคล้ายคลับคลา กระทั่งอาจมีประสบการณ์ร่วม ในการส่งเสียงเพียงเพื่อยังให้รู้ตัวว่ากล่องเสียงยังใช้การได้อยู่
‘make noise’ เขากล่าวเหยียดหยาม
‘นิ่งเสียตำลึงทอง’ เขาสำทับด้วยสุภาษิตครึ่งท่อน
ละครเรื่องนี้มีต้นทางจากเรื่องราว 5 เรื่อง (จากผู้เขียนบท 5 คน — คำ ผกา, โตมร ศุขปรีชา, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และประจักษ์ ก้องกีรติ) เรื่องราวนั้นเป็นอิสระต่อกัน แล้วถูกนำมาตัด หั่น บด ต้ม บ้างเป็นชิ้นชิ้นพอเคี้ยว บ้างกลืนกลายหายไปในน้ำซุป โดยผู้รับหน้าที่ผสมเครื่องปรุงคือผู้เขียนบทคนที่ 6 (รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค เคยฝากผลงานหนังสั้นรสเผ็ด แหม่มแอนนา หัวนม มาคารอง โพนยางคำ และการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
เวทีนั้นแบ่งเป็นสองห้อง และมีทางเชื่อมแคบๆ ตรงกลางอันสามารถมองเห็นจากในห้องทั้งสอง ผู้ชมสามารถเลือกได้ว่าจะนั่งชมการแสดงในห้องไหน เมื่อละครเริ่ม เรื่องราวนั้นโอบคลุมทั้งสองห้อง แต่เราจะเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นแค่เพียงบางส่วน (แต่มีการถ่ายทอดเสียงจากอีกห้องให้เราได้ยินด้วย) รวมทั้งบางฉากบางตอนที่เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นที่ทางเชื่อมตรงกลาง และผู้ชมจะเห็นเพียงห่างๆ
เรื่องราวส่วนที่โดดออกมาเหมือนชิ้นเนื้อในซุปผัก น่าจะเป็นเรื่องของ ‘หอยสุมอย’
หอยสุมอยเป็นวัตถุในประวัติศาสตร์หลายร้อยปี เป็นสมัยที่หอยแสดงอภินิหาริย์ต่างๆ มากมาย ให้ทั้งคุณและโทษ รวมทั้งมีความศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย จนกระทั่งเราจะเรียกหอยเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องเรียกให้เต็มยศว่า ‘หอยสุมอยในตำนาน’
แต่ในบทสนทนายาวเหยียดโอบล้อมตะล่อมหอยนั้น ก็ไม่ได้พูดตรงๆ เลย แม้ในปัจจุบันนี้ที่หอยคลายความศักดิ์สิทธิ์แล้ว (ตามท้องเรื่องในละครเวที) แต่ตัวละครมาดนักวิชาการ หรืออาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างก็กล้าๆ กลัวๆ และชุดคำที่ใช้เวลากล่าวถึงหอย ก็เต็มไปด้วยความคลุมเครือ
ละครเวทีนั้นเป็นศาสตร์ของการใช้พื้นที่อย่างฉลาด ห้องแคบๆ นั้นสามารถจำแลงเป็นทั้งห้องส่งรายการโทรทัศน์ ห้องนอน ห้องเลคเชอร์ขนาดใหญ่ หรือกระทั่งมิวเซียมแสดงงานศิลปะจัดวาง และในละครเรื่องนี้ บางช่วงสั้นๆ เวทีก็กลับมาเป็นเวที
ด้วยเรื่องราวที่แสนจะอลหม่านประหนึ่งจักรวาลอันไร้ระเบียบ นักแสดงแต่ละคนต่างสวมบทเหนือจริง เขาอาจจะเป็นเจ๊เจ้าของร้านเกี๊ยวที่ทำจากเนื้อคน อาจจะเป็นนักวิชาการผู้ชำนาญด้านหอย หรือเกย์หนุ่มผู้กำลังจะมีประสบการณ์เสียวครั้งแรกกับชนกลุ่มน้อย แต่แม้เรื่องราวจะค่อนไปทางเซอร์เรียล แต่ภาวะอารมณ์นั้นมีส่วนจริงอยู่มาก พวกเขาจีบกันเหมือนเวลาเราจีบกัน พวกเขาใช้สื่อเป็นเครื่องมือแบบที่เราใช้กัน พวกเขากล้าๆ กลัวๆ ตอนจะพูดสิ่งที่ไม่พูดเสียดีกว่าเหมือนเรา และพวกเขาก็เล่นไล่จับกับตัวเองเหมือนที่เราเคยเล่น…เวลาไม่มีใครมอง
และบางคราว ตัวละครก็กลับกลายเป็นนักแสดง เราแอบคิดในใจว่า นักแสดงดูสนุกสนานกับการ ‘แสดง’ เป็นตัวเองเสียด้วยซ้ำ …ก็ใช่ อะไรจะสนุกและแสบสันต์เท่ากับการแซะตัวเองอีกเล่า
เป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจ คือละครเมื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมเลือก แต่เป็นการเลือกที่ประหลาด เพราะแต่ละตัวเลือกก็ช่างคลุมเครือ เราแทบจะเลือกโดยสัญชาตญาณเพราะข้อมูลประกอบนั้นน้อยนิด คล้ายๆ คำถามว่าจะเอาหรือไม่เอาหอย ใจจริงเราอาจจะอยากเลือกทางตรงกลาง กลางทางเดินระหว่างห้องซ้ายและห้องขวา เรารู้ว่ามันไม่ใช่ทางเลือกจริงๆ ที่ตรงนั้นไม่มีห้องให้เราเข้าไปอยู่…
แต่ตรงนั้นมีม้านั่งชั่วคราว ว่างเปล่า และโดดเดี่ยวเกินไป รอบที่ผมดู ผู้ชมต่างแออัดอยู่ในห้องหนึ่งจนแทบล้น อีกห้องมีคนเลือกอยู่หรอมแหรม คล้ายๆ ว่าเราต่างรู้ ว่าในพื้นที่ปิดอย่างเช่นโรงละครเล็กๆ นี้ เราล้วนเลือกที่จะเสี่ยง บูชาความอยากรู้อยากเห็น และพร้อมจะเผชิญหน้ากับหอยประหลาดนี้
แต่นอกโรงละคร เราอาจเลือกปลอดภัยไว้ก่อน แม้ความอยากรู้อยากเห็นจะยังเต็มเปี่ยมก็ตาม
ผู้ชมย่อมรู้สึกอึดอัด เพราะ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ เหมือนเพื่อนบางคนที่เจอหน้ากันทีไรก็พูดหยั่งเชิงมากมายและซ่อนนัยในถ้อยคำเต็มไปหมด ถ้าเราไม่รู้ว่าเพื่อนกลัวอะไรเราจะรำคาญเพื่อนคนนี้มาก แต่ถ้าเรารู้ หรืออาจจะแค่เดา… จับความได้เลาๆ ว่าเพื่อนอยากจะพูดอะไร เราจะไม่ถือสากับความเยอะของเพื่อน และแม้เราจะไม่เข้าใจตรงๆ ชัดๆ ในสิ่งที่เพื่อนจะพูด แต่ความอึดอัดนั้นคือสิ่งที่เรามีร่วมกันกับเพื่อน
ถ้านึกสนุก เราอาจผสมโรง make noise ไปด้วยกัน เพราะเราก็ ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ เหมือนกัน แต่เราก็จะพูดต่อไป ส่งเสียงต่อไป บริหารกลไกในช่องท้องและลำคอต่อไป เพราะอย่างน้อยๆ ในขณะที่เปล่งเสียงนั้น เรายังมีตัวตน
เรารู้ ว่าเขาได้ยิน
ละครเวที ‘ไม่มีอะไรจะพูด’ ยังแสดงถึงวันที่ 24 มิถุนายน นี้ วันละรอบ เวลา 20:00 น. (ยกเว้นอังคาร-พุธ) สอบถามรายละเอียดและจองบัตรได้ที่ For What theatre (facebook.com/theatreforwhat)