‘Unidentified’ เธอและเขาสนทนาในชุดดำ

 

1

ข้อความด้านล่างคือกลุ่มประโยคของผู้ชมต่อละครเวทีเรื่องหนึ่ง:

Unidentified คือการตั้งวงอภิปรายเรื่องความตาย ความเงี่ยน และการเ-็ด (นี่ข้าพเจ้าใช้คำตามนักแสดงตามท้องเรื่อง) ของสองผัวเมียที่กำลังจะไปงานศพเพื่อน แต่ไม่มีเงินค่ารถ ทั้งสองกลับเข้าที่รโหฐาน สนทนาเรื่องดังกล่าว

สองผัวเมียผลัดกันตั้งคำถามและตอบ ตายแล้วไปไหน อยากให้งานศพเป็นอย่างไร เราออกแบบงานศพให้ตนได้มั้ย

ส่วนตัวคิดว่าประเด็นเหล่านี้มันเปล่าประโยชน์ที่จะตั้งคำถาม ถ้าเราคิดว่าการแต่งงานคือพิธีกรรมเพื่อคนอื่น ความตายก็เช่นกัน มันไม่ใช่เรื่องของเรา ตายแล้วก็ตายเลย ชีวิตต่างหากที่ควรจัดงานเฉลิมฉลองให้มันในทุกนาที

เราจะออกแบบงานศพให้ตนได้มั้ยจึงเป็นคำถามที่เป็นเหมือนอาภรณ์ฟุ่มเฟือย แต่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถาม ส่วนจะได้คำตอบที่พอใจมั้ย ก็สุดความสามารถจะรู้ได้

ส่วนที่ดีคือการใช้ร่างกายในฉากเซ็กส์ มันดุเดือด อิมโพรไวส์ แล้วนักแสดงที่เล่นเป็นเมียก็โพล่งคำถามถึงความเท่าเทียมในความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายหญิง ซึ่งก็ดูเหมือนจะรุงรังและไม่จำเป็นกับเรื่องเท่าไร

แต่ก็ชอบที่เรื่องให้พื้นที่เรื่องความเงี่ยนและการเ-็ด เพราะมันคือบทที่หนึ่งหลังจากความตายได้เริ่มขึ้น

 

2

มันยากที่จะพูดคุยเรื่องความตาย พอๆ กับความยากที่จะเขียนถึงละครเวที

ความตายเป็นประสบการณ์องค์รวม (เดี๋ยวนะ…เรานับความตายเป็นประสบการณ์ได้ไหม ในเมื่อมันเป็นประสบการณ์ที่ไม่อาจถูกถ่ายทอดด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ภาษาที่ใช้นำส่งประสบการณ์เต็มไปด้วยข้อจำกัด เหมือนคุก ไม่น่าแปลกใจที่ร่างกายนั้นสื่อสารได้ตรงยิ่งกว่า

ในความมืดของโรงละคร ผู้ชมบางคนจดยุกยิกลงในสมุดเล่มเล็กที่กางบนตัก เดาว่าเขาคงจดไดอะล็อกระหว่างผัวเมียนักแสดงทั้งสอง ประมาณ:

“ถ้าไม่มีการสอบ เราจะอ่านหนังสือไหม”
“ก็คล้ายๆ ความตาย ถ้าเราไม่ตาย เราจะใช้ชีวิตไหม”

ฯลฯ

เราสามารถอัดเสียง แล้วนำประโยคเหล่านั้นมาต่อท่อน ร้อยเรียงจนเต็มหน้ากระดาษ คุณอาจจะอ่านออกเสียงไปด้วยก็ได้ แต่นั่นไม่มีสิ่งใดเฉียดใกล้แม้เพียงนิดกับการชมละครเวที

นักแสดงทั้งสองอุ้มละครไว้ทั้งเรื่อง กว่าสามในสี่เป็นบทสนทนาของทั้งคู่ที่คุยกันโดยเริ่มจากความตายของใครคนอื่น แต่จากเรื่องนั้น ระหว่างคุย ระหว่างเปลี่ยนเสื้อผ้า ระหว่างข้างในและข้างนอก เหตุอื่นๆ ก็อุบัติได้ (อย่างในละครเรื่องนี้ ผัวสะกิดบอกว่า เขาเกิดอารมณ์) หลายเรื่องที่คุยไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมามาเล่าซ้ำ มันไหลไปเหมือนกระแสน้ำ ประเด็นของบทสนทนาไหลไป อาจจะขัดกันเองบ้างด้วยจังหวะการรับส่งมุกที่พยายามมากเกินไปสักนิด

แต่เมื่อใกล้จบวัน คำพูดเริ่มไม่เพียงพอ ภาษากายพูดคุยกันได้ดีที่สุด ตรงส่วนนี้เราว่าเขาเหมือนผัวเมียกันจริงๆ ยิ่งกว่าตอนสนทนา

ข้าพเจ้าเดาว่าผู้กำกับอยากให้เราไปต่อบทสนทนาข้างนอกโรงละคร เกี่ยวกับเรื่องชีวิตและความตาย หรืออาจจะเกี่ยวกับงานศพก็เป็นได้

 

3

ขอดีเฟนด์ให้การออกแบบงานศพหน่อย

มีงานออกแบบมากมายที่ตัวผู้ออกแบบไม่ได้อยู่ดูผลลัพธ์ ยกตัวอย่าง ซากราดาฟามีเลีย (Sagrada Família) โบสถ์ที่เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 1882 จวบปัจจุบันก็ยังไม่เสร็จ ‘ตามดีไซน์’ ของ อันโตนิโอ เกาดี สถาปนิกผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถรางชน

โดยมาก ความตายเป็นอุบัติเหตุ เหมือนที่เกาดีคงไม่อาจหยั่งรู้ว่าจะตายตอนนั้น และร่างของเขาจะถูกฝังในสุสานของโบสถ์หลังนั้น แต่ภารกิจของการออกแบบนั้นเสร็จสิ้นลงแล้ว

การออกแบบงานศพจึงเสร็จแล้วตั้งแต่ตอนที่เจ้าตัวยังไม่ตาย แต่จะได้นำมาปฏิบัติจริงหรือไม่คงเป็นเรื่องนอกเหนือการควบคุม

เหมือนแนวคิด ‘ความตายของผู้ประพันธ์’ (ในที่นี้คงเป็นความตายของผู้กำกับ) เมื่อผู้ชมเดินออกมาจากห้องทำการแสดง ละครเรื่องนั้นก็ไม่ใช่ของผู้กำกับอีกต่อไป ตัวละครก็ต่างมีชีวิตของตนเอง ยากมากที่เราจะนึกถึงความตายในแง่อื่น นอกจากในมุมของการยังมีชีวิต งานศพมิได้มีศพเป็นพระเอก รูปถ่ายใส่กรอบไฟประดับและโลงคือของประกอบฉาก

เพราะฉะนั้นมันจะเหลือเพียงสองทางชัดๆ ให้เราคิด คือ คิดแบบคนยังไม่ตาย กับ อยู่ๆ ก็ตายโดยไม่ทันได้คิด


Unidentified ยังแสดงถึง 6 สิงหาคม 2560
(ยกเว้นวันจันทร์ อังคาร และศุกร์) อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในอีเวนท์เพจ ที่นี่

 

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า