เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานว่าน้ำเปล่าบรรจุขวดเมื่อเก็บไว้นานๆ ดื่มแล้วเป็นอันตรายหรือไม่
เบื้องต้น ดร.เคลลอกก์ ชวาบบ์ ผู้อำนวยการสถาบันน้ำ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ ให้ข้อมูลว่าทันทีที่จิบน้ำ ริมฝีปากและจุลินทรีย์ก็จะเข้าไปในน้ำดื่ม และเมื่อรวมตัวกับอุณหภูมิห้องในบ้านหรือที่ทำงาน แสงแดดที่ผ่านเข้ามาทางกระจก จุลินทรีย์ต่างๆ เหล่านี้จะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
“ถ้าในแก้วสะอาดบรรจุน้ำสะอาด แน่นอน คุณดื่มภายใน 1 วัน คุณไม่เป็นอะไร” ชวาบบ์เสริมอีกว่า ถ้าจิบน้ำที่กรอกไว้นานกว่า 12 ชั่วโมง และพบว่ารสชาติน้ำแปลกๆ นั่นเพราะคุณสมบัติน้ำเริ่มเปลี่ยน เพราะคาร์บอกไดออกไซด์จากอากาศจะทำปฏิกิริยากับน้ำในแก้วหรือขวด ค่าพีเอชหรือค่าความเป็นกรดและด่างในน้ำจะค่อยๆ ลดลง แต่ก็ยังดื่มได้อย่างปลอดภัย
แต่การใช้ภาชนะเช่นขวดหรือแก้วที่ไม่ได้ล้างติดต่อกันหลายวัน เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะถ้าคนอื่นๆ มาจิบน้ำจากภาชนะเดียวกัน ก็ยิ่งเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปอีก
ยกเว้นกรณี ที่เอานิ้วสกปรกไปสัมผัสขอบแก้วหรือปากขวด โดยเฉพาะคนที่ลืมล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำ เนื่องจากมีเชื้อโรคมากมาย เช่น แบคทีเรียในอุจจาระ,ปัสสาวะ และถ้าใช้มือไม่สะอาดถือแก้ว แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะเข้าไปผสมในน้ำ
สำหรับขวดน้ำพลาสติกที่นิยมวางทิ้งไว้ในรถ ชวาบบ์กล่าวว่า ความร้อนและพลาสติกเมื่อผสมกันแล้วถือว่าอันตราย สารเคมีที่เรียกว่าบิสฟีนอลเอ หรือ บีพีเอ (BPA) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติก จะเข้าไปผสมกับน้ำ ถ้าขวดได้รับความร้อนและตากแดดเป็นระยะเวลานาน
บีพีเอเป็นสารรบกวนฮอร์โมน ที่งานวิจัยยืนยันว่าเป็นที่มาของหลายโรค โดยเฉพาะโรคหัวใจและโรคมะเร็ง
ชวาบบ์ บอกว่าพลาสติกชนิดที่ใช้ผลิตขวดน้ำไม่ได้ผลิตมาเพื่อใช้ซ้ำ ควรใช้ครั้งเดียวทิ้งและนำไปรีไซเคิล หรือถ้าต้องการใช้ขวดรีฟิลล์จริงๆ ควรเลือกที่ทำจากโลหะหรือแก้ว
ส่วนการเก็บน้ำไว้เป็นระยะเวลานาน เซน แซทเทอร์ฟิลด์ นักวิทยาศาสตร์ที่ ศูนย์บริการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนียร์ บอกว่า โดยทั่วไปน้ำขวดที่ปิดผนึกอย่างดีควรเก็บไว้บนเชลฟ์ไม่เกิน 6 เดือน หลังจากนั้นประสิทธิภาพคลอรีนจะค่อยๆ ลดลง ขณะที่แบคทีเรียและตระไคร่จะเจริญเติบโตแทนที่ และจะยิ่งโตเร็วมากขึ้นเมื่อเก็บขวดน้ำเหล่านี้ไว้ในที่ที่อากาศร้อนและโดนแสงแดด
********************************************
(ที่มา : time.com)