Main Way
นี่คือพิพิธภัณฑ์เทียม ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงสิ่งของสะสมของประเทศ กล่าวกันว่าสถานที่ตั้งหรือพิกัดที่พอจะบอกได้แน่ชัดก็คือประเทศไทย แต่ไม่มีใครสามารถระบุพิกัดแน่ชัดของมันได้
แต่มองไม่เห็นใช่ว่าไม่มีอยู่
สิ่งของที่นำมาจัดแสดงภายในนิทรรศการนี้เป็นสิ่งของสะสมและหมักหมมในประเทศ ถามว่าเหตุใดภัณฑารักษ์ยังคงเก็บของสะสมที่หมักหมมเหล่านั้นมาจัดแสดงอย่างลอยหน้าลอยตา ก็เพราะประสงค์ให้เกิดการเรียนรู้อีกด้านของความรู้
แต่สิ่งของที่นำมาจัดแสดงเหล่านั้นยังคงเปิดโอกาสให้ผู้คนและกาลเวลาพิสูจน์ความจริงของมัน แต่เราก็อาจจะพูดได้ว่า เนื้อหาที่ถูกจัดแสดงภายในนิทรรศการคือการบอกเล่าอีกด้านของความรู้ ถ้าถามว่าอีกด้านของความรู้คือสิ่งใด หรือมีสิ่งใดซ่อนอยู่เบื้องหลังความรู้ คำตอบก็คือ ‘ความรู้’ หาใช่ ‘ความไม่รู้’ ไม่
WAY ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เขาไม่ประสงค์ออกนามและไม่ยินยอมให้สัมภาษณ์
“สิ่งของที่ผมนำมาจัดแสดงเหล่านี้จะบอกตัวตนของผมเอง ให้พวกมันสนทนากับพวกคุณเองเถอะ” เขากล่าวจบแล้วเดินไปอย่างไม่รีบร้อน
เขาเพียงอนุญาตเมื่อเราหยิบสูจิบัตรการจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์มาเผยแพร่ในนิตยสารที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้
Interview
ก่อนที่จะมาเป็นนักวิชาการประจำศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ (Public Outreach) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อย่างทุกวันนี้ มติพล ตั้งมติธรรม เคยเกลียดวิชาฟิสิกส์มาก่อน แต่เมื่อค้นพบว่า ‘สิ่งที่ซับซ้อนสามารถอธิบายได้ด้วยส่วนย่อยๆ ที่ไม่ซับซ้อน’ และศักยภาพในการอธิบายทุกอย่างของฟิสิกส์ มติพลจึงเดินทางมาสู่จุดที่มีอาชีพเป็น ‘นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์’
และด้วยหัวข้อที่ WAY วางไว้เป็นหลักหมายของการสนทนาก็คือ ‘ความไม่รู้’ หรือพูดอีกแบบว่า เราสนใจความรู้เทียมที่เวียนวนในสังคมไทย ซึ่งบางประเด็นก็เป็นหัวข้อที่ซับซ้อน เราเชื่อว่าสิ่งที่ซับซ้อนสามารถอธิบายได้ด้วยส่วนย่อยๆ ที่ไม่ซับซ้อน บทสนทนาจึงเริ่มตั้งแต่เรื่องฟิสิกส์ ระบบการศึกษา ดวงดาว ความเชื่อ ผีสาง มนุษย์ต่างดาว และไม่วาย – แอบนินทาพระพุทธเจ้า
Face of Entertainment
งาน ‘Bangkok Book Festival 2015’ ที่จะจัดขึ้นวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2558 ณ หอศิลป์ฯ เป็นการสมคบคิดกันของเหล่าสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเพื่อจะทำให้เห็นว่า หนังสือเล่มหรืองานวรรณกรรมนอกจากจะใช้วิธีเสพด้วยการอ่านแล้ว ยังสามารถนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการศิลปะได้เช่นกัน เพราะหนังสือที่จัดว่าเข้าท่าเข้าทาง ย่อมประกอบสร้างด้วยความพิถีพิถัน เปรียบเหมือนงานฝีมือประเภทหนึ่ง
หากผู้เสพได้เสพ ‘สาร’ ที่ดีก็มีโอกาสที่จะตื่นรู้เองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งวิตามินบี 12
คุ่น-ปราบดา หยุ่น นักเขียนซีไรท์ และ จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล แห่งโรงพิมพ์ ’ภาพพิมพ์’ รับประกันคุณภาพ
Sub Way
พูดแบบให้เห็นภาพ คนกลั่นเหล้าเป็นเหมือนพวกจักรยานแม่บ้าน ส่วนคนทำคราฟท์เบียร์นั้นจักรยานทัวริ่ง ราคาแพงกว่า…แต่งตัวดีกว่า แต่พูดแบบเอาเรื่องก็ต้องว่า คนทั้งสองกลุ่มต่างเผชิญชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือถูกกีดกันให้ห่างจากโอกาสในทางธุรกิจ ถ้าเราเชื่อว่าประเทศไทยใช้ระบอบประชาธิปไตยในการอยู่ร่วมกัน การต้มเหล้าหมักเบียร์ของคน 2 กลุ่มนี้ ก็คือภาพจำลองของชะตากรรมของคนทั้งประเทศ