WAY Dialogue 02: อยากให้ชาวกรุงเป็นคนแอคทีฟ

youpin-talk

เรื่อง: ปริชาติ หาญตนศิริสกุล
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

ถ้าคุณเป็นคนดูโทรทัศน์อยู่บ้าง และไม่รังเกียจรังงอนที่จะดูข่าวจากช่องหลายสี คุณน่าจะพอรู้จักมักจี่กับช่วงร้องเรียนปัญหาสาธารณูปโภค อย่าง ‘ช่วงนี้ชี้แนะ’ ที่จะมีน้ำเสียงของลุงคนหนึ่งคอยอ่านข่าวคราวความเดือดร้อนของชาวบ้านเป็นจังหวะจะโคน พร้อมฉายภาพปัญหาต่างๆ ตามท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำประปาเข้าไม่ถึง ป้ายจราจรไม่ชัดเจน สะพานชำรุด ฯลฯ ซึ่งส่วนมากจะเป็นปัญหาจากต่างจังหวัด แต่อย่ากระนั้นเลยในกรุงเทพฯ ที่น่าจะเป็นศูนย์กลางความเจริญก็ยังมีปัญหาทำนองนี้เช่นกัน

ทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีพัฒนามาไกลมากขึ้น แพลตฟอร์มอย่าง ‘ยุพิน’ ก็กำลังทำหน้าที่คล้ายๆ กับการรวบรวมปัญหาที่ทุกคนพบเจอในเมือง จากนั้นมีการจัดลำดับความสำคัญ แล้วจึงส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ

ฟังเผินๆ ‘ยุพิน’ เป็นเสมือนคนกลางทำหน้าที่ประสานงานระหว่างผู้ประสบปัญหากับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น ถ้าแฟนน้องสมศักดิ์เดินตกท่อ น้องสมศักดิ์ก็สามารถหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูป และเข้าไปฟ้อง ‘ป้ายุพิน’ ได้ทันที พร้อมแชร์โลเคชั่นที่ไม่มีฝาท่อให้ป้ายุพินรู้ จากนั้นป้ายุพินก็จะรับปัญหาแล้วแจ้งไปยัง กทม. ให้รับทราบ เพื่อมาแก้ไขตามจุดที่น้องสมศักดิ์บอกไว้

‘ยุพิน’ เกิดจากอาสาสมัครราว 20 ชีวิต ที่มีทั้งนักออกแบบ โปรแกรมเมอร์ วิศวกร นักคิด และนักพัฒนา มารวมตัวกันเพื่อสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งในเพจก็จะมี ‘ป้ายุพิน’ เป็น facebook messenger bot (ระบบตอบรับข้อความอัตโนมัติในเฟซบุ๊ค) แต่อย่ากังวลใจว่าป้ายุพินจะตอบคำถามคุณอย่างตัดรอนไมตรี เพราะไม่ว่าปัญหานั้นอาจเล็กจ้อยเกินกว่าจะออกสื่อ แต่ทุกข้อมูลนั้นจำเป็นต่อการพัฒนาเมือง

โจ้-ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ หนึ่งในทีมงานยุพิน ได้อธิบายแนวคิดและการทำงานของยุพินให้พวกเราฟังดังนี้

img_3855youpin
โจ้-ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ หนึ่งในทีมงานยุพิน

คอนเซ็ปต์ของยุพินคืออะไร

ยุพินเกิดขึ้นจากคอนเซ็ปต์ที่ว่า ถ้ามีบริการที่มีการรับฟีดแบ็คจากผู้ใช้งานหรือประชาชน นำฟีดแบ็คไปสู่คนที่มีหน้าที่แก้ไข คนที่มีหน้าที่แก้ไขก็นำฟีดแบ็คเหล่านั้นไปปรับปรุงบริการของตัวเอง แล้วแจ้งกลับไปให้ผู้ใช้งานรู้ว่า ฟีดแบ็คของคุณแก้แล้วนะหรือแก้ไม่ได้ยังไง ซึ่งวงจรนี้จะทำให้บริการทุกอย่างดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบีทีเอส กทม. หรือในมหาวิทยาลัย เราก็เลยทำยุพินขึ้นมา เพราะเรามองว่ากรุงเทพฯ มันเหมือนมีวงจรที่ยังไม่เวิร์ค มันไม่ปะติดปะต่อกัน

แสดงว่าปัญหาในกรุงเทพฯ มีเยอะมาก?

กรุงเทพฯ นี่ใหญ่กว่าสิงคโปร์อีก แล้วผมก็คิดว่าปัญหาในกรุงเทพฯ เยอะมากๆ มันมีข้อมูลที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ มีความพังในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นเยอะมากในแต่ละวัน และมีเรื่อยๆ การจ้างเจ้าหน้าทีเพื่อรับรู้ปัญหาคอขวดเดียวแล้วให้มาตามเก็บเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นประเทศที่เขาเล็งเห็นตรงนี้ เขาถึงโยนหน้าที่นี้ให้เป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองด้วย ให้มีส่วนในการที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปได้ ทำให้ลดเวลาลง

มีคำว่า active citizen ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่อนข้างขาดในสังคมเรา เรามักจะรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ หรือไม่สามารถจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงได้ เราคงจะต้องเป็นอย่างนี้ต่อไป ซึ่งเป็นชุดความรู้อะไรก็ไม่รู้

ยกตัวอย่างประเทศที่เจริญแล้วให้ฟังหน่อยได้ไหม

ถ้าเป็นประเทศที่เจริญแล้วก็จะมีเครื่องมือเหล่านี้พร้อมให้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือล่าสุดก็เป็นของสิงคโปร์ ครบวงจรลูปของ smart city

แฟนของผมเป็นคนเกาหลี วันหนึ่งที่ผมนั่งรถเมล์ที่เกาหลีกับแฟน แล้วเขาเห็นอะไรไม่รู้ที่ผิดปกติขณะนั่งรถเมล์ สิ่งที่เขาทำคือหยิบมือถือขึ้นมา แล้วรายงานไปที่รัฐบาลของเขาว่า มีอันนี้เกิดขึ้นว่ะ เหมือนเป็นแอพฯของรัฐบาล เราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยมีอย่างนี้ด้วยว่ะ เป็นเหมือนกับว่า Aha moment ที่เกิดขึ้น ประชาชนรีพอร์ทไปให้รัฐบาลแบบนี้เลยเหรอวะ ผมก็เลยถามเขาแบบ ปกติเป็นแบบนี้เหรอ เขาก็บอก คนเกาหลีเถื่อนนะ เจออะไรไม่ดีบ่นเลยนะ อะไรที่ไม่ชอบมาพากล หรือว่าไม่ควรเป็นแบบนี้ ฉันจ่ายเงินฉันต้องโวยได้ทันที อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น

img_3876

พอกลับมากรุงเทพฯ คุณเปลี่ยนอะไรไปบ้าง

เราเปลี่ยนมุมมองกับเมืองไปในลักษณะหนึ่ง เนื่องจากผมเป็นนักออกแบบ ในใจของนักออกแบบทุกคนก็จะรู้สึกว่ามันจะดีกว่านี้ได้ไหม คิดว่าดีไซเนอร์ที่มีความสงสัย ชอบออกแบบ เดินอยู่บนถนนที่กรุงเทพฯ มันก็เก็บกด ก็เลยคิดว่า เมืองมันไม่ใช่แบบนี้ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราควรจะได้รับ เราคิดว่าจะทำยังไงดี เราก็เลยไปค้นในเน็ตนั่นแหละ ว่าจะบอก กทม. ยังไงดี แล้วเราก็ไปเจอว่า กทม. ก็มี channel สายด่วน แจ้งเหตุอะไรสักอย่าง ผมจำได้อย่างเดียวว่าคือเบอร์ 1555

และอันแรกสุดที่ผมรายงานเป็นฝาท่อ ถ้าเราเป็นคนทั่วไปเห็นฝาท่อยุบลงไป เราก็จะเดินไป ‘อุ๊ย ฝาท่อหายอีกแล้ว ไปกินกาแฟกันแก’ แต่วันนั้นผมกลับไปที่ออฟฟิศก่อน แล้วผมก็เข้าไปที่เว็บ ถ่ายรูปใส่ข้อมูลเสร็จปุ๊บ ส่งไปให้ รออีกประมาณสิบนาทีเขาก็โทรกลับมาว่าคุณแจ้งรายงานอย่างนี้ตรงนั้น ย้ำว่าตรงนั้นผมก็เล่าเออ ตรงนั้นแหละ เสร็จแล้วเขาก็บอกเดี๋ยวส่งคนไปดู

แล้วมาเป็นยุพินได้ยังไง

ผมเป็นดีไซเนอร์แล้วก็ทำงานด้านเทคโนโลยีด้วย ผมก็รู้สึกว่าเมืองสามารถดีได้กว่านี้อีก ก่อนหน้านี้ผมก็พยายามประชาสัมพันธ์ว่า กทม. มี channel เราโทรไปที่นี่กันเถอะ บอกเพื่อนส่งเมสเสจแล้วเมืองจะดีขึ้น เพื่อนๆ ก็จะแบบ เออๆ ดีเนอะ แต่เราก็ไม่รู้เขาจะรายงานรึเปล่า เพราะว่าเว็บไซต์มีภาพลักษณ์ที่เก่ามาก เหมือนเราเปิดเว็บแล้วเจอคุณยาย เราอยากเจออะไรที่ใช้ภาษาเดียวกัน หรือว่าใช้เวลาน้อย โหลดเร็ว ดูบนมือถือง่ายๆ ผมก็เลยคิดว่าทำไงให้มันง่ายกว่านี้ คนก็จะไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้ออ้างว่าทำไมไม่รายงานให้ กทม. ทราบ

img_3923youpin

คุณคิดว่าหน่วยงานของ กทม. แก้ปัญหาได้?

เรามองในแง่ของเมือง ค่อนข้างชัดเจนเป็นกายภาพ อย่างอะไรที่แก้ปัญหาไม่ยาก เช่น ปัญหาถังขยะ ตู้โทรศัพท์ ซึ่งปัญหาพวกนี้เรารู้ว่าเราแก้ได้แน่ๆ มันไม่ถึงขั้นที่ต้องออก พ.ร.บ. ออกกฎหมายใหม่เพื่อจะทำให้ฝาท่อมันปิดสนิท มันไม่ยากขนาดนั้น มันเป็นอะไรที่แก้ได้เพราะว่าปกติ กทม. เขาก็จะแก้ปัญหาอยู่แล้ว แต่คน กทม. ไม่รู้หรอกว่ามันมีการแก้ไข ซึ่งถ้ามีระบบนี้คนทำงานเขาก็จะได้คำชื่นชมด้วย เช่น มีการแจ้งว่าฝาท่อปิดแล้วนะ ผมก็จะเฮ้ย อันนี้โอเคทำดี ขอแชร์บนเฟซบุ๊ค กทม. ก็ได้หน้าได้ตา เจ้าหน้าที่ก็แฮปปี้มีคนเห็นคุณค่าของเขา สิ่งเหล่านี้มันจะกลายเป็นกลไกที่ทำให้เมืองดีขึ้นได้

กรุงเทพฯ มีแต่ปัญหา?

ตัวผมเองเคยได้ไปเที่ยวหลายที่แล้วก็ได้ไปอยู่ที่อื่นมาบ้าง ก็เห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์มาก มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ทั้งลึกและกว้าง แต่ปัจจัยพื้นฐานหรือโครงสร้างพื้นฐานที่จะฟื้นฟูสิ่งเหล่านี้มีความพังสูงมาก อย่างเช่น ระบบขนส่งมวลชนต่างๆ ความเหลื่อมล้ำ ระบบการแก้ปัญหาอะไรที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ หรือว่าแผนงานที่ดูล้าสมัย มันดูไม่ทันกับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มันมีอะไรบางอย่างที่ติดขัดและทุกคนก็คิดเหมือนกัน

เมื่อวานผมก็เดินอยู่แถวสุขุมวิท ปกติผมนั่งรถไฟฟ้าบีทีเอสนะไม่ค่อยนั่งรถเมล์ ก็มีรถเมล์แบบมินิบัสวิ่งผ่านไป ความคิดหนึ่งแวบเข้ามา รถมินิบัสแบบนี้เหมือนตอนผมอยู่อนุบาลสาม แต่เปลี่ยนเป็นสีส้ม มองเข้าไปข้างในก็เหมือนเดิม คนก็แน่นๆ นั่งกันเต็มเลย เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย นี่เราผ่านมาสามสิบปีเพื่อที่จะเห็นสิ่งเดียวกันเหมือนตอนที่เราอยู่อนุบาล เฮ้ย นี่เป็นวัฒนธรรมไปแล้วป่ะวะ มันไม่ใช่ มันไม่โอเค

สุดท้ายคุณอยากให้คนรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ เป็นคนยังไง

ผมมองความเป็นคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า หรืออะไรก็ตาม มันอาจจะวัดด้วยว่าคุณยังสงสัยอยู่ด้วยรึเปล่า คุณยังสงสัยกับสิ่งที่อยู่รอบตัวคุณ กับชีวิตที่ดำเนินไป กับการงาน กับสิ่งที่ทำอยู่ ถ้าคุณยังตั้งข้อสงสัยแล้วยังคิดว่ามันยังดีได้กว่านี้ นั่นคือความ young ความวัยรุ่นที่ยังอยู่ในใจของเรา

 


 

คุณเชื่อหรือไม่ว่าทั้งหมดที่เล่ามาให้ฟังนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละสามสิบของความคืบหน้าในการทำงาน โจ้พูดให้เราฟังว่าอยากให้พัฒนายุพินให้ไปมากกว่านี้อีก และพร้อมร่วมมือให้ทั้งองค์กรรัฐและเอกชน ไม่ใช่แค่ร่วมมือกับหน่วยงาน กทม. อย่างเดียว ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็นำนวัตกรรมยุพินนี้ไปใช้แล้ว นักศึกษาคนที่ไหนพบความผิดปกติอยู่รอบๆ คณะก็สามารถรายงานปัญหาได้
โจ้เล่าให้เราฟังว่า ในอนาคตอยากให้คนกรุงเทพฯใช้บริการนี้อย่างจริงจัง เพราะยุพินเป็นบริการ commercial live เพื่อให้ ‘คน’ ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ อยู่ใน ‘เมือง’ ที่มีคุณภาพ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า