WAY of WORDS: เรื่องสั้นตามใจชอบ สุชาติ สวัสดิ์ศรี

โครงการ WAY of WORDS ประกอบไปด้วย 1. ส่วนของเรื่องสั้นและบทกวีที่มีผู้ส่งเข้ามาให้พิจารณา และ 2. ส่วนของ ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ที่จะใช้อัตวิสัยตามใจชอบของผม นำเอา ‘เรื่องสั้นในอดีต’ กลับมาให้อ่านกันอีกครั้ง โดยการนำกลับมานั้นจะแบ่งเวลาในการปรากฏตาม ‘เอกสารชั้นต้น’ ของเรื่องสั้นในช่วงระยะเวลา 10 ทศวรรษด้วยกัน และจะนำกลับมาเฉพาะเรื่องสั้นของนักเขียนไทยในอดีตที่ ‘ล่วงสมัย’ หรือเสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น

ในแต่ละทศวรรษของตัวบทที่แบ่งไว้ ผมจะให้ความสำคัญกับการอ้างอิง ‘เอกสารชั้นต้น’ ในการก่อเกิดครั้งแรกเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ‘ไทม์ไลน์’ ทางประวัติศาสตร์สังคมและประวัติศาสตร์วรรณกรรม โดยจะไม่ใช้มาตรฐานทางคุณภาพของงานเป็นตัวกำหนด  แต่จะใช้การก่อเกิดที่ปรากฏขึ้นครั้งแรก (ที่เรียกว่า First Printing) ในสื่อสิ่งพิมพ์ ที่มีทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสารต่างๆ และรวมทั้งการปรากฏในฐานะ ‘รวมพิมพ์ครั้งแรก’ ในรูปเล่มหนังสือ (ที่เรียกว่า First Edition) มาเป็นตัวบ่งชี้ ‘ตัวบท’ ในแต่ละทศวรรษ

โครงการ ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ที่ผมดูแลนี้ จะประกอบไปด้วยเรื่องสั้นสยาม-ไทยที่เป็นงานร้อยแก้วแนวใหม่ [Prose Narrative] ในอดีตที่ ‘ล่วงสมัย’ ไปแล้ว รวมทั้งหมด 10 ทศวรรษ นับเวลาย้อนถอยกลับไปตามไทม์ไลน์ตั้งแต่ทศวรรษ 2510 จนถึงทศวรรษ 2410 (ใช้ไทม์ไลน์แบบ ‘พุทธศักราช’ เป็นตัวกำหนด)

เริ่มต้นกันตั้งแต่

2510-2500

2500-2490

2490-2480

2480-2470

2470-2460

2460-2450

2450-2440

2440-2430

2430-2420

2420-2410

ในช่วงไทม์ไลน์แรกของวาระนี้ ผมจะใช้อาการ ‘ตามใจชอบ’ ของผม เริ่มต้นถอยหลังจากทศวรรษ 2490-2500 เป็นประเดิมก่อน ส่วนในทศวรรษ 2500-2510 ที่อยู่ใกล้ตัวเข้ามานั้น เคยมีตัวบทของเรื่องสั้นที่นำมาปรากฏให้เห็นไว้บ้างแล้วในหนังสือวรรณมาลัย ชุด แล้งเข็ญ ถนนที่นำไปสู่ความตาย เหมือนอย่างไม่เคย และ คำขานรับ ที่เคยจัดทำให้สำนักพิมพ์ดวงกมล เมื่อ พ.ศ. 2518

แต่ละทศวรรษของตัวบท ‘ตามใจชอบ’ เหล่านี้ ผมจะไม่ใช้มาตรฐานเชิงคุณภาพมาตัดสิน แต่จะใช้แง่มุมของความเป็น ‘เอกสารชั้นต้น’ ในไทม์ไลน์ที่ก่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษนั้นๆ มาตัดสิน และจะพยายามปรากฏ ‘ตัวบท’ ที่แสดง ภาวะล่วงสมัย [out of date] เหล่านั้น ทั้งจากงานเขียนของนักเขียนบุรุษและนักเขียนสตรี โดยจะกำหนดไว้ 10-12 เรื่องในแต่ละทศวรรษ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะค้นหา ‘เอกสารชั้นต้น’ ที่เป็น Primary Source ของชิ้นงานเหล่านั้นได้แบบไหน นับเป็นงานที่ตั้งค่าไว้แบบ ‘แบกหิน’ โดยแท้ แต่ทั้งนี้ก็เพื่อจะพยายามมองภาพรวมกว้างๆ ของวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่ ที่มาจากตัวบทอันเป็น ‘เอกสารชั้นต้น’โดยตรง  ไม่ใช่จาก ‘ชั้นสอง’ หรือ ‘ชั้นสาม’ และการนำย้อนกลับมาปรากฏนั้นจะยังคงสำนวนภาษา สะกดการันต์ และวรรคตอนใน ‘ไทม์ไลน์’ ของผู้ประพันธ์แต่ละคนไว้เหมือนเดิมทุกประการ เช่นถ้าเป็นเรื่องสั้นในยุค ‘รัฐนิยม-อักขรวิบัติ’ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็จะยังคงความเป็นอักขรวิบัติดังกล่าวนั้นไว้ตามเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นภาษาในเวลาปัจจุบัน (ยกเว้นแต่ที่เห็นว่าในต้นฉบับอาจจะ ‘ปรูฟผิด’)

ผมไม่ทราบว่าโครงการ WAY of WORDS ในส่วน ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ที่ตั้งค่าไว้แบบนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลว (เข้าใจว่าคงจะ ‘ล้มเหลว’ ไม่มีใครสนใจ เพราะ ‘ล่วงสมัย’ ไปแล้ว) ในวาระแรกนี้จะขอเสนอตัวบทจาก ‘เอกสารชั้นต้น’ ในช่วงทศวรรษ 2490-2500 เป็นประเดิมก่อน

ปัญหาของผมก็คือ ‘เอกสารชั้นต้น’ ที่เป็นวารสาร, นิตยสาร, หนังสือพิมพ์ และ หนังสือเล่มต่างๆ ในไทม์ไลน์ต่างๆ ของแต่ละทศวรรษที่ผมเคยสะสมไว้ ส่วนหนึ่งได้สูญหายไปกับ ‘น้องน้ำ’ มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือรอดก็ยังไม่ได้สำรวจว่ามีรอดอยู่แบบไหน อีกทั้งส่วนใหญ่ที่เป็น ‘หนังสือเล่ม’ ของนักเขียน นักประพันธ์ในบ้านเราแต่ละคนนั้น ขอบอกกันตรงไปตรงมาว่าใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในฐานะของ ‘เอกสารชั้นต้น’ แทบไม่ได้เลย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการอ้างอิงแหล่งพิมพ์ที่เป็น First Printing ของชิ้นงานต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นร่วมสมัยได้ศึกษาไทม์ไลน์ที่ครั้งหนึ่ง ‘เคยมีชีวิตอยู่’ ในทศวรรษนั้นๆ

นักเขียน นักประพันธ์ และบรรณาธิการในบ้านเราแต่อดีตนั้น ไม่ค่อยสนใจสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลา’ และ ‘สถานที่’ [time & place] ในฐานะที่เป็นเครื่องทางประวัติศาสตร์ความคิดของยุคสมัยแต่อย่างใด เวลานำผลงานเรื่องสั้น บทกวี หรือชิ้นงานต่างๆ มารวมพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในฐานะ First Edition เจ้าของผลงานแต่ละคนในบ้านเราทั้งอดีตและปัจจุบัน แทบจะไม่ใส่ใจในเรื่องการลงเวลาและที่มาเอาไว้แต่ประการใด (ครั้งหนึ่งในผมเองก็เป็นเช่นนั้น) ไม่มีระบบบรรณาธิการ ไม่มีระบบวรรณมาลัย ไม่มีระบบการเขียน ‘บทกล่าวนำ’ ให้เห็นถึงความเป็นมาในบางแง่มุม เพื่อให้ ‘คนรุ่นหลัง’ ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ยิ่งระบบการพิมพ์ของโรงพิมพ์ในอดีต ตลอดเวลา 150 ปีที่ผ่านมาในบ้านเรา มันก็ ‘โรงพิมพ์ของคนจีน’ ที่ทำธุรกิจพิมพ์หนังสือของนักเขียน นักประพันธ์ ขาย ดูจากงานที่ปรากฏ โรงพิมพ์หลายแห่ง ‘สุกเอาเผากิน’ ไปตามเรื่อง นักเขียน นักประพันธ์ก็แค่รวบรวมเรื่องมาเสนอขาย แล้วก็รับเงินไป ได้พิมพ์ก็นับว่าได้เผยแพร่ผลงานแล้ว ระบบโรงพิมพ์ ทั้งของหลวง ของเจ๊ก ของฝรั่ง มันเหมือนจะเป็นเช่นนั้นมาตั้งแต่เริ่มต้นการมีแท่นพิมพ์ในสยามประเทศ อาจกล่าวได้ว่า ในสิ่งที่เรียกว่า ‘วัฒนธรรมหนังสือ’ หรือ ‘วัฒนธรรมการพิมพ์’ ในบ้านเราแต่ยุคบุกเบิกเริ่มต้นนั้นไม่เคยมีระบบบรรณาธิการที่เข้มงวดแบบสากลนิยมแต่อย่างใด ไม่เคยมีการเรียนรู้ รับรู้ ในสิ่งที่นักวิชาการสมัยนี้เรียกว่า ‘ระบบหนังสือแห่งชาติ’ แต่ประการใด

การรวบรวมงานเขียนต่างๆ มาพิมพ์เป็นเล่ม เปรียบไปจึงเป็นคล้าย ‘ปลาอัดกระป๋อง’ เสียมากกว่าเป็น ‘ระบบหนังสือ’ ที่มีการรับรู้ร่วมกันอย่างเป็นสากล ดังนั้นจึงแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลาและสถานที่’ แต่อย่างใด เช่น ไม่ให้ข้อมูลพื้นฐานในการอ้างอิง ‘ไทม์ไลน์’ จากการพิมพ์ในวาระต่างๆ ไม่ว่าจะ ‘ขายดี’ พิมพ์สักกี่ครั้ง ก็ไม่สนใจที่จะเก็บรักษาประวัติการพิมพ์ของตนเอาไว้อย่างเป็นระบบทั้งนั้น (และด้วยเหตุนี้เอง นักศึกษาในรุ่นหลังที่เพิ่งเริ่มต้นอ่านของนักเขียนไทย จึงอาจมีคำถามแปลกๆ เช่น “มนัส จรรยงค์ ได้รางวัลซีไรต์หรือยังคะอาจารย์” เรื่องนี้จะไปโทษเด็กคงไม่ได้ เพราะเด็กสนใจจึงถาม เนื่องจากเพิ่งเคยอ่านและเพิ่งเคยได้ยินชื่อ มนัส จรรยงค์ เป็นครั้งแรก และก็พาซื่อเห็นว่าหนังสือรวมงานเรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ เล่มนั้นเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปีที่แล้วนี่เอง เด็กมันประทับใจจึงอยากให้ มนัส จรรยงค์ ได้รางวัลซีไรต์ ไปโทษเด็กไม่ได้ ต้องโทษ ‘ระบบหนังสือแห่งชาติ’ หรืออะไรในทำนองนั้นมากกว่า

สาเหตุหลักในเรื่องราวที่ว่ามานี้ก็คือเราไม่เคยมีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่ [Modern Siam & Thai Literature] ทั้งที่ ‘ล่วงสมัย’ และ ‘ร่วมสมัย’ อย่างเป็นระบบ ไม่มีระบบจัดเก็บ ไม่มี ‘หอหนังสือแห่งชาติ’ ที่ใส่ใจในเรื่องราวของคำว่า ‘วัฒนธรรมหนังสือ’ อย่างมีเอกภาพ (ตรงข้ามกับบางประเทศ เช่นญี่ปุ่น) เมื่อไม่มีข้อมูลเชิงประวัติของ ‘ไทม์ไลน์’ ที่เป็นแหล่งเกิดของชิ้นงานนั้นๆ ให้ ‘คนรุ่นหลัง’ ได้ศึกษาความเป็นมา ประวัติศาสตร์ทางความคิดในบ้านเราจึงมีแต่แหว่งวิ่น และมีแต่ข้อต่อที่หายไป [Missing Link] ในแทบทุกยุคสมัย ยิ่งมีการตัดต่อทางความคิดจากผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (เช่น ‘รัฐประหาร’ หรือชอบเฝ้าระวัง ‘เสรีภาพทางการอ่าน’ ของคนในชาติ) ข้อต่อต่างๆ ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็น ‘ชีวิตทางวัฒนธรรม’ อันหลากหลายของเราจึงหายไปเรื่อยๆ ทั้งโดยตั้งใจ และโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แทนที่จะมีระบบ มีเอกภาพ ก็กลายเป็นไร้ระบบ ไร้เอกภาพ ตามบุญตามกรรม ตัวใครตัวมัน พวกใครพวกมัน ชาติหน้าตอนบ่ายๆ ค่อยพบกัน ภาพรวมเชิงโครงสร้างของคำว่า ‘วรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่’ จึงไม่เคยปรากฏความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อ้างผิดอ้างถูก และส่วนใหญ่ที่อ้างก็มักเป็นเอกสารชั้นสองหรือชั้นสาม ไม่ใช่ ‘ชั้นต้น’ ประวัติของนักเขียนก็ไม่มี ไม่รู้วันเกิดวันตาย ไม่มีภาพถ่ายว่าหน้าตาเป็นเช่นใด หนังสือเก่าหายากของนักเขียนคนนั้นก็ไม่รู้อยู่ที่ไหน เพราะไม่มี ‘ระบบจัดเก็บ’ อย่างเป็นเอกภาพ และสามารถค้นหาได้ทันทีในแบบ 4.0

‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ของนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ของสยาม-ไทยในอดีต ที่ผมนำมาปรากฏนี้ ถือเป็นการปะติดปะต่อแบบบางส่วนเท่านั้น และก็คงจะมองไปไม่ถึง ‘ราก’ ที่มีความเป็นมานับย้อนกลับไปจนถึงปี พ.ศ. 2417 ที่ปรากฏการก่อเกิดชิ้นงานในรูปแบบ  Prose Narrative ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในหนังสือ ดรุโณวาท ของบรรดาขุนนาง นักเรียนนอก ‘กลุ่มสยามหนุ่ม’ ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 หรืออาจจะย้อนไปจนถึง หนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder ของ ‘หมอบรัดเลย์’ ในปี พ.ศ. 2387 เลยก็ถือได้ว่าวิธีการเขียนในรูปแบบ Prose Narrative ได้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ครั้งนั้น

เรื่องสั้นตามใจชอบจาก ‘เอกสารชั้นต้น’ ใน ‘ไทม์ไลน์’ แห่งทศวรรษ 2490-2500 ที่ขอนำมาประเดิมใน WAY of  WORDS ครั้งนี้ ผมขอชิมลางก่อน 12 เรื่อง (เดือนละ 1 เรื่อง) แล้วหลังจากนั้นค่อยว่ากันใหม่ว่าจะ ‘แบกหิน’ ไหวหรือไม่

ผมขอเริ่มต้นที่ จันตรี ศิริบุญรอด ใน ‘ไทม์ไลน์’ ของปี พ.ศ. 2496

1 กันยายน 2561

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า