เรื่องสั้นตามใจชอบ ลำดับที่ 2: ลูกคนยากที่ถูกลืม จ.ไตรปิ่น

ได้เกริ่นไปแล้วว่า ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ หมายถึงอะไร

1. หมายถึงเรื่องสั้นที่สามารถนำเอา ‘เอกสารชั้นต้น’ มาแสดงได้ว่ามีแหล่งก่อเกิดครั้งแรกเมื่อไร ที่ไหน และถ้าสามารถบอกได้ว่า ใครเป็นบรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ก็จะเป็นการให้เกียรติแก่ระบบหนังสือมากขึ้น คือจะสามารถระบุได้ทั้ง time & place & person

2. หมายถึงเรื่องสั้นของนักเขียนที่ ‘ล่วงสมัย’ ไปแล้ว คำว่า ‘ล่วงสมัย’ ในที่นี้ นอกจากจะหมายถึงไทม์ไลน์ในทางประวัติศาสตร์สังคมที่ไม่ใช่ ‘ร่วมสมัย’ หรือ contemporary แล้วยังให้หมายถึงนักเขียนที่เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น

3. หมายถึงช่วงเวลาในแต่ละทศวรรษที่กำหนดมาจากปีพุทธศักราชเป็นหลัก (ถ้าต้องการทราบเป็นคริสต์ศักราช ให้เอา 543 ไปลบ) และได้จำหลักไว้ทั้งหมด 10 ทศวรรษ โดย ‘นับย้อนกลับ’ ไปตั้งแต่ทศวรรษ 2490-2500 จนถึงทศวรรษ 2410-2420 ที่เป็นจุดก่อเกิดครั้งแรกของงานเขียนในรูปแบบ prose narrative (ร้อยแก้วแนวใหม่) ที่เป็นต้นกำเนิดของงานเขียนในแบบเรื่องสั้น นวนิยาย สารคดี ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมสมัยใหม่ของสยาม

4. หมายถึงเรื่องสั้นที่ถือเอา ‘ตามใจ’ ของผู้คัดสรรโดยให้ความสำคัญกับ ‘เอกสารชั้นต้น’ ที่มีอยู่ใกล้ตัวเป็นหลัก และเลือกเอา ‘ตามใจ’ โดยไม่ใช้มาตรฐานทางคุณภาพ หรือมาตรฐานทางวรรณศิลป์มาเป็นตัวกำหนด

‘จ.ไตรปิ่น’ เป็นนามปากกาของ นายจิตร์ ไตรปิ่น เป็นนักเขียน นักประพันธ์ ที่มีชื่อเสียงขึ้นมาในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 2490 และ 2500 จะเรียกว่าเป็นนักเขียนแนวตลาดล่าง หรือแนวมหาชนในแบบที่เรียกว่า roman populaire หรือ popular novel จัดเป็นนิยายปกอ่อน ราคาถูก เนื้อหาไม่ซับซ้อน มุ่งเน้นความบันเทิงเป็นหลัก หรือที่มีศัพท์เรียกกันว่า pulp fiction หรือ dime novel

จ.ไตรปิ่น

กลุ่มนักเขียน นักประพันธ์ แนวมหาชน ที่ว่านี้  ว่าไปแล้วก็มีตัวอย่างกันมาตั้งแต่ ‘เหม เวชกร’ ‘ส.บุญเสนอ’ ‘มนัส จรรยงค์’ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ‘ป.อินทรปาลิต’ ‘ลพบุรี’ ‘อรวรรณ’ ‘ยาขอบ’ ‘อิงอร’ เรื่อยไปจนถึง ‘พนมเทียน’ ‘รพีพร’ ‘ส.เนาวราช’ ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ต่างล้วนอยู่ในระนาบที่เรียกว่าแนวมหาชน หรือ roman populaire ทั้งสิ้น กล่าวคือสร้างความนิยมชมชอบให้กับตลาดหนังสือทั้งระดับล่างและระดับกลาง ก่อนิสัย ‘รักการอ่าน’ ให้เกิดขึ้นกับบรรดานักอ่านในรุ่นเมื่อเกือบหนึ่งศตวรรษก่อน เช่น เมื่อเอ่ยถึง ‘ป.อินทรปาลิต’ นักอ่านรุ่นนั้นก็มักจะนึกไปถึง ‘จ.ไตรปิ่น’ ควบคู่กันไปพร้อมๆ กับนามประพันธ์ของนักเขียนในแนวมหาชนตลาดล่างอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มักจะถูกมองว่า “ไม่ประเทืองปัญญา”

‘จ.ไตรปิ่น’ เป็นบุตรชายคนเดียวของ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ที่มีประวัติว่าเป็นนักเขียนการ์ตูนล้อคนแรกของสยาม เปล่ง ไตรปิ่น เป็นคนรุ่นรัชกาลที่ 5 ที่มีโอกาสไปเรียนวิชาวาดเขียนที่ประเทศอังกฤษ เคยเดินทางไปในอีกหลายประเทศ (ไม่ทราบไปโดยวิธีใด ไม่มีหลักฐานว่าเป็น ‘นักเรียนนอกทุนหลวง’ แบบเช่น ‘แม่วัน’ หรือ ‘ครูเหลี่ยม’) และต่อมาได้กลับมารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 6 มีราชทินนามว่า ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต เป็นผู้นำวิธีการทำบล็อกมาใช้กับระบบงานพิมพ์ในสยาม เคยเป็นนักถ่ายหนังให้กับกรมรถไฟหลวง และเป็นครูสอนวิชาวาดเขียนที่โรงเรียนเพาะช่างในรุ่นยุคบุกเบิก

ว่าไปแล้วขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต หรือ นายเปล่ง ไตรปิ่น ดูเหมือนจะมีผู้เก็บประวัติเอาไว้มากกว่าประวัติของ นายจิตร์ ไตรปิ่น หรือ ‘จ.ไตรปิ่น’ ผู้เป็นบุตรชาย กระนั้นก็ยังไม่สามารถสืบค้นประวัติของคนทั้งสองให้ละเอียดมากขึ้นว่าเกิดเมื่อใด ตายเมื่อใด นับเป็นความบกพร่องในไทม์ไลน์ของประวัตินักเขียนในระบบหนังสือบ้านเราที่มีให้เห็นจนเป็นเรื่องปกติ และกลายเป็นเหมือน ‘ข้อต่อที่หายไป’ ในประวัติศาสตร์ทางความคิดของสามัญชน

ในฐานะนักเขียนแนวมหาชน ขวัญใจนักอ่านตลาดล่าง ‘จ.ไตรปิ่น’ มีงานเขียนนิยายชุด ‘ลูก’ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ในช่วงรุ่นทศวรรษ 2490 เช่น ลูกคนยาก ลูกอนาถา ลูกสลัม ลูกผู้ดี และในชุด ‘น้ำตา’ เช่น น้ำตาแม่ค้า น้ำตาคนยาก น้ำตาสาวจีน ฯลฯ

นิยายซีรีส์ หรือจะเรียกว่า ‘นิยายต่อเนื่อง’ ที่เขียนเป็นตอนๆ ในชื่อชุดต่างๆ ข้างต้นนั้น ลูกคนยาก มี 45 เล่มจบ ลูกสลัม มี 11 เล่มจบ น้ำตาคนยาก มี 3 เล่มจบ นิยายชุด ลูกคนยาก ของ ‘จ.ไตรปิ่น’ เป็นซีรีส์ที่เขียนเปลี่ยนปกในแต่ละตอนไปเรื่อย เช่น ลูกบางหลวง (เล่มปฐมฤกษ์) ผิดหวัง เสือสังเวียน เวทีชีวิต สองพี่น้อง รักพี่เสียดายน้อง ศึกหัวใจ นองน้ำตา รักไม่ลืม ฯลฯ และเล่มสุดท้ายคือ อวสานลูกคนยาก นิยายชุด ลูกคนยาก นี้เป็นผลงานที่นำชื่อเสียงเงินทองมาให้ ‘จ.ไตรปิ่น’ มากที่สุดในช่วงปี พ.ศ. 2496  นับเป็นนักเขียนยอดนิยมที่มียอดจำหน่าย ‘ขายดี’ ที่สุดในรุ่นนั้น จะเป็นรองก็แต่ ผู้ชนะสิบทิศ ของ ‘ยาขอบ’  

นิยายชุด ลูกคนยาก มีทั้งหมด 45 เล่มจบ สำนักพิมพ์อภิรมย์พิมพ์ครั้งแรกในระหว่างช่วงปี พ.ศ. 2496-2497 โดยจัดพิมพ์จำหน่ายเป็นรายสัปดาห์ แต่ละเล่ม แต่ละชื่อปก ขนาด 16 หน้ายก ความหนาประมาณ 32 หน้า ราคาจำหน่าย 1 บาท ลูกคนยาก เป็นนิยายชุดที่มีสถิติการพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง (แต่ไม่ทราบถึงประวัติการพิมพ์ว่ามีกี่ครั้ง ทราบแต่ว่า ‘จ.ไตรปิ่น’ ได้รับความสำเร็จจากนิยายชุดนี้จนสามารถสร้างบ้านได้ 1 หลัง) และนิยายชุดนี้ต่อมายังสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางช่อง 7 สี เมื่อปี 2517 อีกด้วย

นี่คือนิยายแนวมหาชนตลาดล่างในช่วงที่ผมอายุ 9-10 ขวบ เรียนชั้นประถม 4 ขึ้นต่อชั้นมัธยม 1 (คือ ป.5 ในปัจจุบัน) ผมอ่านหนังสือคล่องแล้ว แอบขโมยสตางค์ในเชี่ยนหมากแม่ไปซื้อหนังสือจำพวกนี้มาอ่านจนติดเป็นนิสัย อาจกล่าวได้ว่านี่คือช่วงผลัดจากการอ่านหนังสือนิยายภาพ (ก็คือหนังสือการ์ตูนนั่นแหละ) มาอ่านหนังสือ ‘นิยายชุด’ ที่พิมพ์ต่อเนื่องออกมาเป็นเล่มๆ กำหนดออกวางตลาด 3 วันบ้าง 7 วันบ้าง มีขนาดใหญ่กว่าฝ่ามือเล็กน้อย พกใส่กระเป๋ากางเกงไปอ่านในห้องเรียนได้สบาย

งานเขียนซีรีส์ หรือนิยายชุด ‘ลูก’ และชุด ‘น้ำตา’ ของ ‘จ.ไตรปิ่น’ ว่าไปก็คือนิยายราคาถูก พล็อตเรื่องง่ายๆ ว่าด้วยเรื่องรักโศก ชิงรักหักสวาท รักพี่เสียดายน้อง ในภาพรวมก็เพียงอ่านเล่นเอาความบันเทิง แต่ถ้าจะมองให้ลึกลงไปอีกแบบ งานง่ายๆ ธรรมดาๆ ของ ‘จ.ไตรปิ่น’ ก็เหมือนเป็นภาพสะท้อนสังคมทางชนชั้นของสังคมไทยในรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าด้วยชนชั้นกลางระดับล่างที่ต้องต่อสู้เพื่อปากท้อง และเพื่อศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของตน ในสังกัดที่ผู้ประพันธ์เรียกว่า ‘คนยาก’ ‘คนอนาถา’ หรือเป็น ‘ลูกแม่ค้า’ ‘ลูกคนใช้’ ‘ลูกคนขับรถราง’ ที่ต้องต่อกรกับ ‘ลูกผู้ดี’ ‘ลูกขุนนาง’ ‘ลูกเศรษฐี’ ที่เป็นชนชั้นนำ หรือชนชั้น ‘คนมีเงิน’ ในยุคนั้นสมัยนั้น

ว่าไปแล้วมันก็ไม่น่าจะต่างไปจากการต่อสู้ของ ‘สาย สีมา’ ในเรื่อง ปีศาจ ของ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ แต่เมื่อ ‘จ.ไตรปิ่น’ ถูกมองว่าเป็นนักเขียนตลาดล่างเสียแล้ว แง่มุมในการประเมินคุณค่าจึงมักถูกมองว่าเป็นแค่เรื่องรักโศกสะเทือนใจ อ่านเอาน้ำตาอย่างเดียว

ในช่วงที่นิยายชุด ลูกคนยาก พบความสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2496  ‘จ.ไตรปิ่น’ ได้เคยเขียนเล่าถึงชีวิตของเขาในช่วงที่มีชื่อเสียงไว้อย่างน่าสนใจ เขาเล่าว่า ตอนนั้นมีนายทุนเจ้าของโรงพิมพ์ตามมาเอาใจหลายรูปแบบ ซื้อเรื่องของเขาตอนละ 200 บาท (เวลานั้นเทียบได้กับราคาทองหนัก 1 บาท) ในหนังสือชื่อ โลกของคนขายฝัน (สำนักพิมพ์วิทวัส พ.ศ. 2522) ที่ต่อมานำมาพิมพ์ซ้ำในชื่อ ผู้บรรลุ (สำนักพิมพ์บางหลวง พ.ศ. 2537) ‘จ.ไตรปิ่น’ ได้เล่าความหลังของเขาไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ปี พ.ศ. 2496 เป็นปีที่ผมประสบความสำเร็จในทางการประพันธ์ นวนิยายที่ผลิตออกไปทุกเรื่องมีคนนิยมอ่านมาก เงินทองก็ไหลมาเทมา ในปี พ.ศ.ดังกล่าวนี้ ผมมีรายได้จากการเขียนหนังสือวันละ 500 บาท ลูก 1 เมีย 1 แล้วก็ตัวเอง รายได้วันละ 500 บาท มันสบายขนาดไหน…”

นิยายชุด ลูกคนยาก มีรายละเอียดที่ ‘จ.ไตรปิ่น’ เล่าไว้เองว่า

“…ความหนาของหนังสือ 32 หน้า (2 ยก) คิดเป็นหน้ากระดาษพิมพ์ 10-12 แผ่นต่อ 1 เล่ม กำหนดวางตลาด 3 วันต่อ 1 เล่ม ความยาวทั้งหมดรวม 116 เล่ม ถ้าผู้ซื้อหนังสือเรื่องนี้ติดต่อกันตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะต้องสิ้นเงิน 116 บาท… ในยุคนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 1 บาท… นิยายที่ผมแต่งเรื่องนี้ก็ไม่ใช่จะวิเศษวิโส… แท้จริงแล้วก็เป็นเรื่องตลาดพื้นๆ ใช้สำนวนธรรมดา อ่านเบาสมอง เรียกกันในยุคปัจจุบันว่านิยายน้ำเน่าอะไรเทือกนั้นแหละครับ…”

‘จ.ไตรปิ่น’ เล่าไว้อีกว่า เป็นเพราะเขาใช้เงินที่ได้มาวันละ 500 บาทไปในเรื่องเที่ยวเตร่ ไม่รู้จักเก็บออม กอบโกยหาความสำราญไปกับสุรา นารี พาชี กีฬาบัตร (กีฬาบัตร หมายถึง ‘เล่นไพ่’) เขาจึงต้อง ‘ตกทุกข์’ เมื่อหนังสือขายไม่ออกในเวลาต่อมา และแทบไม่มีโรงพิมพ์ไหนซื้อเรื่องของเขาไปพิมพ์ จากเงินค่าเขียนที่ได้วันละ 500 บาท ค่อยๆ ลดลง จนเหลือ 50 บาท “… บางแห่งถ่มถุยใส่หน้าอย่างสาสมใจ”

‘จ.ไตรปิ่น’ เล่าไว้ว่า ในช่วงที่เขาโด่งดัง และพบความสำเร็จนั้น เขาจะเรียกร้องอย่างไร นายทุนเจ้าของโรงพิมพ์ก็ยอมทั้งนั้น

“…ผมนั่งเขียนที่บ้านไม่ได้ ชอบเปลี่ยนบรรยากาศไปเขียนหนังสือนอกบ้าน ที่ประจำในกรุงเทพฯคือเขาดิน และสวนลุม …ทั้งสองแห่งนี้ผมไปนั่งเขียนในบาร์เครื่องดื่ม…ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนในตอนเช้าของทุกๆ วัน ก็จะต้องอุ่นเครื่องด้วยครอสเตอร์เสียก่อน 2 ขวดเป็นประจำ แล้วจึงจะเริ่มลงมือเขียน พอถึงเที่ยง หยุดกินข้าว ก็เติมครอสเตอร์เข้าไปอีก 2 ขวด” (สมัยนั้น เบียร์ครอสเตอร์ เป็นเบียร์นอกมีระดับจากเยอรมัน ราคาจำหน่ายขวดละ 25 บาท ก๋วยเตี๋ยวในเวลานั้นชามละ 50 สตางค์ – 1 บาท  ไข่เป็ดฟองละ 1 สตางค์)

‘จ.ไตรปิ่น’ เล่าว่า ในช่วงที่นิยายชุด ลูกคนยาก โด่งดัง บรรดานายทุนเจ้าของโรงพิมพ์ต่างๆ ในเวิ้งนาครเขษม (ในยุคทศวรรษต่อมา ก็คือบรรดานายทุนที่เป็นเจ้าของร้านขายหนังสือในวังบูรพา และทำสำนักพิมพ์ในชื่อต่างๆ ด้วย เช่น ผดุงศึกษา คลังวิทยา โอเดียนสโตร์ เกษมบรรณกิจ ก้าวหน้า ฯลฯ) จะเอารถมาบริการถึงบ้าน โดยรับเขาออกไปหาบรรยากาศนั่งเขียนหนังสือที่เขาดิน สวนลุม หนักเข้าก็ให้ขับรถไปหาบรรยากาศถึงบางปู บางแสน หัวหิน และเลยไปไกลจนถึงเชียงใหม่ เงินรายได้วันละ 500 บาท เมื่อต้องพบกับครอสเตอร์ นารี พาชี กีฬาบัตร รวมทั้งบรรดามิตรสหาย ‘คอทองแดง’ รายได้ที่ได้มาก็ค่อยๆ หมดไป

‘จ.ไตรปิ่น’ ได้เขียนเล่าไว้อีกว่า ครั้งหนึ่งที่ขึ้นไปหาบรรยากาศถึงเชียงใหม่ เขา “…มีกุหลาบเวียงพิงค์ไปเป็นเพื่อนคอยให้ความช่วยเหลืออยู่ข้างๆ คนหนึ่ง ผมเป็นคนบอกให้เธอเขียน เขียนเสร็จแล้วก็ให้ม้วนส่งทางไปรษณีย์ถึงสำนักพิมพ์ในกรุงเทพฯ ทางสำนักพิมพ์ก็จัดส่งเงินค่าเรื่องให้ทางธนาณัติ…”  

ในที่สุดเมื่อค่อยๆ หมดความนิยม เงินที่เคยหาได้ก็ค่อยๆ หายไปจนหมด จากตัวเลขที่เคยหาได้วันละ 500 บาท ก็ค่อยๆ ลดลงเหลือ 400 บาท 300 บาท 200 บาท จนเหลือเพียงแค่ 50 บาท จากนิยายชุดในชื่อต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมียอดพิมพ์ถึง 10,000 เล่ม ก็เหลือเพียงเจ้าของสำนักพิมพ์บางแห่งรับซื้อเรื่องไว้ด้วยความเกรงใจและรำคาญ

“…นี่คือความผิดพลาดในชีวิตบัดซบของผม …นักเขียนรุ่นหลังโปรดพึงสังวร ระมัดระวังไว้ให้ดี…จะสามารถคงชื่อเสียงไว้ได้ หรือจะสิ้นชื่อก็อยู่ที่ตรงนี้”

เขาสั่งสอนตัวเองไว้เช่นนั้น

เท่าที่ทราบ ยังไม่เคยมีประวัติของ ‘จ.ไตรปิ่น’ ปรากฏในหนังสือประเภท ‘นามานุกรมนักเขียน’ ในบ้านเรา ผมเองก็ไม่ทราบไทม์ไลน์ที่เป็นวันเกิด-วันตายของเขา ได้แต่เดาเอาว่า เขาคงจะเป็นคนคลองบางหลวง (เพราะนิยายชุด ลูกคนยาก มีอยู่เล่มหนึ่งใช้ชื่อว่า ลูกบางหลวง) และทราบข้อมูลมาว่าสมัยรุ่นหนุ่มเคยรับราชการเป็นเสมียนอยู่ในสังกัดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงที่ หลวงวิจิตรวาทการ เข้ามาเป็นอธิการบดี แต่ด้วยความอหังการ อายุเพียงแค่ยี่สิบกว่าๆ เขาก็ลาออกจากงานประจำมาเป็นนักเขียนอาชีพ เขียนหนังสือขายอย่างเดียว และไม่มีอาชีพอย่างอื่นรองรับ

‘จ.ไตรปิ่น’ เกิดปีไหนยังไม่ทราบแน่ชัด นอกจากเข้าใจว่าคงจะเป็นคนฝั่งธนฯ ในพื้นที่คลองบางหลวง เรียนหนังสือจบชั้นมัธยม และจากข้อมูลที่ทราบมาว่าเขาเป็นนักเขียน ‘รางวัลนราธิป’ ที่ก่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2544 ‘รางวัลนราธิป’ นั้นเขามีกฎเกณฑ์ประกาศเกียรติให้กับนักเขียนที่มีอายุยืนเท่านั้น คือต้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป นั่นก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่าในปี พ.ศ. 2544 นั้น ‘จ.ไตรปิ่น’ คงจะมีอายุ 80 ปี หรืออาจจะมากกว่า 80 ปีแล้ว และเท่าที่ทราบในอีก 1-2 ปีต่อมา มีข่าวว่าเขาก็เสียชีวิต ดังนั้นถ้านับจากไทม์ไลน์ของ ‘รางวัลนราธิป’ โดยเอาปี พ.ศ. 2544 เป็นตัวตั้งแล้วนึกย้อนกลับไป ก็คาดไปว่า ด.ช.จิตร์ ไตรปิ่น คงจะเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2464 และถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ต่อมาจนถึงในปีนี้ เขาก็คงจะมีอายุ 97 หรือ 98 ปี โดยประมาณ (ญาติมิตรหรือครอบครัวช่วยให้ข้อมูลที่ถูกต้องด้วย) ในแง่ของไทม์ไลน์ก็ต้องนับว่า ‘จ.ไตรปิ่น’ เป็นนักเขียน นักประพันธ์ ในรุ่นร่วมสมัยเดียวกับ ‘นายผี’ ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ และ ‘จันตรี ศิริบุญรอด’

เรื่องสั้น วันนี้กับ 5 ปีก่อน ของ ‘จ.ไตรปิ่น’ ที่นำมาปรากฏนี้ มาจากเอกสารชั้นต้นที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ปิยะมิตรวันอาทิตย์  ปีที่ 1 ฉบับที่ 43 วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 เข้าใจว่าคงจะเป็นเรื่องสั้นชิ้นแรกๆ ในชีวิตการประพันธ์ของ ‘จ.ไตรปิ่น’ ก่อนที่ต่อมาเขาจะมีชื่อเสียงกับงานเขียนนิยายชุด ‘ลูก’ คือ ลูกอนาถา ในปี พ.ศ. 2492 และที่โด่งดังสร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุด จนสามารถปลูกบ้านได้ 1 หลัง ก็คือ  ลูกคนยาก ในปี พ.ศ. 2496

30 กันยายน 2561

 


 

วันนี้กับ ๕ ปีก่อน

จ.ไตรปิ่น

 

๕ ปีเต็มๆ ที่ได้ธรรมชาติ ความสงบ กลิ่นไอของทุ่งนา ย้อมชีวิตจิตต์ใจ มันทำให้ฉันเพลิดเพลิน และเกือบจะลืมเรื่องร้ายๆ ของชีวิต ซึ่งอุบัติในดินแดนศิวิลัยได้อย่างสนิท มันเปนความสุขและสันโดษ เหมือนผู้สละแล้วซึ่งโลกีย์วิสัย มีชีวิตห้อมล้อมอยู่ด้วยทุ่งนา ป่าละเมาะ กลิ่นสาปควาย สายลมแสงแดดฯลฯ เหมือนดนตรีสวรรค์ที่กล่อมปลอบประโลมให้ฉันลืมทุกๆ สิ่งได้อย่างดี เปนโอสถขนานวิเศษขนานเดียวที่เยียวยาโรคร้ายให้หายวันหายคืนโดยรวดเร็ว

๕ ปีเต็มๆ ที่ฉันจากกรุงเทพฯ และวันนี้ฉันกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ ดินแดนที่ทั้งเกลียดและทั้งกลัวอีกครั้งหนึ่ง โดยกิจธุระจำเปนทางราชการ ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงบิดพลิ้วได้ ทั้งๆ ที่ใจไม่อยากมา ๕ ปีที่จากไปไม่ได้ทำให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากจะเพิ่มความศิวิลัยมากยิ่งขึ้น ถนนหนทางยัดเยียดด้วยยวดยานพาหนะ คนสัญจรไปมา ตึกรามอาคารถูกสร้างขึ้นมากมายจนผิดหูผิดตา ฉันไม่สนใจต่อสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ มันคือภาพลวงที่หลอกไว้เพียงชั่วขณะเท่านั้น เมื่อถึงกรุงเทพฯ โดยไม่รีรอฉันรีบทำธุระของทางราชการโดยด่วน ฉันต้องการอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยเวลาอันสั้นที่สุด เพียงคืนเดียวเท่านั้น แล้วก็จะกลับ ความคิดคำนึงในอันจะเที่ยวเตร่ สนุกสนานเช่นคนหนุ่มทั้งหลาย ที่นานๆ มาจากต่างจังหวัดสักครั้ง ไม่เคยมีอยู่ในความรู้สึกของฉันเลย

สำหรับคืนเดียวในกรุงเทพฯ นี้ โรงแรมตุ้นกี่เปนที่พำนักชั่วคราวของฉัน หลังจากทำธุระทางราชการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ฉันหมกตัวอยู่แต่ในห้องพักของโรงแรมตลอดเวลา มีหนังสือเปนเครื่องแก้เหงา ในใจนึกเร่งเวลาอยากให้ถึงวันรุ่งขึ้นเสียเร็วๆ จะได้ขึ้นรถด่วนกลับ จากดินแดนซึ่งมีความหลังอันขมขื่นอย่างร้ายกาจ ฉันอดที่จะนึกและคิดถึงมันเสียมิได้เลย เมื่อย่างเข้ามาในดินแดนซึ่งสร้างความหลังอันขมขื่นให้

มันเปนอดีตที่ผ่านมาร่วม ๕ ปี แต่ภาพเก่าๆ ก็ยังตรึงอยู่ในความรู้สึกของฉัน ยังอยู่ในความทรงจำเสมอ

มันเปนเรื่องของความรักที่เริ่มต้นด้วยน้ำผึ้ง และจบลงด้วยยาพิษ หล่อนเคยอยู่ในอ้อมอกของฉัน  เปนของฉันทั้งกายและใจ ขณะเมื่อสภาพฐานะความเปนอยู่ของฉันพอที่จะพะเน้าพะนอและให้ความสุขแก่หล่อนอย่างเต็มเปี่ยม หล่อนว่าหล่อนรักและซื่อสัตย์ต่อฉันคนเดียวเท่านั้น น้ำผึ้งยังคงเปนน้ำผึ้งอันแสนหวานอยู่เมื่อฉันมีความสามารถที่จะพะเน้าพะนอและให้ความสุขแก่หล่อน แต่มันค่อยๆ จางเปนยาพิษทีละน้อยเมื่อฉันล้มเจ็บลง หมดความสามารถที่จะพะเน้าพะนอหาความสุขให้แก่หล่อนได้ หล่อนก็เริ่มแปรภักตร์ เพราะทนความบีบคั้นความลำเค็ญไม่ไหว หล่อนทิ้งฉันไปทั้งๆ ที่ฉันกำลังเจ็บหนัก และความตายกำลังคืบคลานมาทุกขณะ ฉันเองก็ไม่นึกว่าจะมีชีวิตรอดมาได้จนทุกวันนี้ มันเปนการรอดตายอย่างน่าประหลาดที่สุด เมื่อฉันพาร่างอันผอมโกโรโกโสซมซานไปโรงพยาบาล และได้รับการต้อนรับอย่างดี ได้รับการพยาบาลจากนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ในที่สุดฉันก็รอดตาย แต่ฉันทราบข่าวว่าหล่อนแต่งงานใหม่แล้ว ช่างเถอะ ฉันไม่โกรธและลงโทษหล่อนหรอก ฉันควรจะโกรธและลงโทษตัวของฉันเองมากกว่าที่เข้าใจหล่อนผิด อ่านหล่อนไม่ออก เพราะหน้าของหล่อนสวย แววตาของหล่อนอ่อนโยน แต่ดวงใจของหล่อน…เลวยิ่งกว่าสัตว์ป่า

๓ ทุ่มตรง ความมืดแผ่สร้านปกคลุมไปทั่วหากเปนจังหวัดที่ฉันอยู่ แต่นี่ในกรุงเทพฯ พระมหานครเมืองแมนแดนสวรรค์ กลางวันและกลางคืนมีความหมายเท่ากัน ความสว่างจากโคมไฟตามอาคารบ้านเรือนดูเหมือนจะเบ่งรัศมีประกวดประชันกัน…DeSoto รุ่นใหม่ๆ วิ่งกันขวักไขว่สับสน โชว์ความมั่งคั่งของผู้เปนเจ้าของ ผู้คนหนาแน่นยิ่งกว่าในตอนกลางวัน ซึ่งตรงข้ามกับจังหวัดที่ฉันอยู่ ขณะนี้ก็คงมีแต่ต้นตาลใหญ่ที่ยืนทะมึนอยู่กลางทุ่งแต่โดดเดี่ยว ล้อมรอบด้วยสายลม กลิ่นไอของธรรมชาติแต่อย่างเดียวเท่านั้น นี่แหละเมืองสวรรค์ละ

พอ ๓ ทุ่ม ฉันก็ปิดไฟ ล้มตัวลงนอน พยายามหลับตาจะให้หลับเสียโดยเร็ว เพื่อจะให้รุ่งเช้า และจับรถกลับ

ขณะที่กำลังจะงีบหลับ หูของฉันแว่วเสียงคนเดินมาหยุดยืนอยู่หน้าประตูห้อง ได้ยินคนสนทนากัน

“ห้องนี้น่ะหรือ เถ้าแก่”

ได้ยินเสียงจีนเจ้าของโรงแรมตอบว่า

“ไม่ใช่ครับ ห้องนี้มีคนอยู่ ห้องข้างๆ นี่ครับ”

ได้ยินเสียงผู้ชายคนนั้นร้อง

“อ้อ”

แล้วก็ได้ยินเสียงบานประตูห้องข้างๆ เปิดออก พร้อมทั้งได้ยินเสียงฝีเท้าของคนเดินเข้ามาในห้องข้างเคียง ไม่ใช่ฝีเท้าของคนๆ เดียว อย่างน้อยต้องสองคนขึ้นไป ได้ยินเสียงประตูปิด และขณะนั้นเองได้ยินเสียงแหลมเล็กๆ ของผู้หญิง

“อุ๊ย – มืดจังค่ะ คุณวุฒิ”

ฉันได้ยินเสียงไฟฟ้าในห้องเปิด และได้ยินเสียงห้าวๆ ของผู้ชายคนนั้นว่า

“เธอไม่ชอบมืดๆ หรือกัลยา”

ฉันสดุ้ง เมื่อได้ยินเสียงผู้ชายเรียกชื่อผู้หญิงว่ากัลยา เพราะมันเปนชื่อที่เสียดแทงความรู้สึกสะเทือนใจอย่างยิ่ง ฮะ-ฮะ-ผู้หญิงคนนี้เกิดมาชื่อเดียวกับคนที่ทำให้ฉันต้องเนรเทศตัวออกจากกรุงเทพฯเสียด้วย ในภวังค์ที่กำลังระลึกถึงความหลัง มันยิ่งก่อความเดือดแค้นให้ฉันมากยิ่งขึ้น เมื่ออุปาทานคิดไปว่าผู้ชายและผู้หญิงซึ่งเข้ามาในห้องข้างเคียงขณะนี้ ฝ่ายหญิงนั้นคือคนที่เปนดวงใจของฉันมาก่อน และแน่ละ  ความหมายของผู้หญิงผู้ชายที่ขึ้นมาบนโรงแรมในยามวิกาลเช่นนี้ เด็กเล็กๆ มันก็ตอบได้ถูก

หัวใจของฉันเริ่มเต้นแรงเมื่อได้ยินเสียง

“วุ๊ย อย่าเพิ่งค่ะคุณวุฒิ ร้อนออกจะตาย อะไรก็ไม่รู้ ทำเปนคนตายอดตายอยากไปได้ อุ๊ย วุ๊ย บอกว่าอย่า”

“ฉันรักเธอแทบจะคลั่งเปนบ้าตายอยู่แล้วละกัลยา เปนของฉันเสียเถิด” ได้ยินเสียงห้าวๆ ตอบ และเสียงเหมือนคนไล่กัน เสียงผู้หญิงที่ชื่อกัลยาหัวเราะคิ๊กๆ ปากร้องอุ๊ย – วุ๊ย อยู่ตลอดเวลา สักครู่ก็ได้ยินเหมือนวัตถุสองสิ่งกระทบกัน เสียงฟอดๆ เสียงอุ๊ย เสียงฟอด ดังสลับกันไป แล้วเสียงก็เงียบหาย สักครู่ได้ยินเสียงผู้หญิงที่ชื่อกัลยาฉอเลาะอย่างแผ่วเบา แต่ฉันก็ได้ยินถนัดว่า

“คุณวุฒิรักฉันจริงๆ หรือคะ”

“ยิ่งกว่าชีวิตจิตต์ใจของฉันอีก” ผู้ชายตอบ

“ปากหวาน”

“ฉันรักเธอจริงๆ กัลยา”

“รักแล้วอย่าลืมกัลยาเสียนะคะ”

“จนตายฉันก็ไม่ลืม เธอล่ะกัลยา เธอรักฉันไหม?”

ได้ยินเสียงผู้หญิงกระซิบแผ่วเบา

“ฉันจะรักและซื่อสัตย์ต่อคุณวุฒิคนเดียวเท่านั้น”

ถ้อยคำประโยคนี้ เหมือนหอกทิ่มแทงหัวใจของฉันให้ปวดร้าวสุดประมาณ ฉันเหลือจะนอนทนฟังผีเสื้อราตรีกับชายหนุ่มคนนั้นฉอเลาะกันต่อไปได้ ความรักความหลังในอดีตผุดขึ้นมาหลอกหลอนความรู้สึกของฉันอีกครั้งหนึ่ง ฉันรีบผลุดลุกขึ้นจากเตียงนอน ผลักบานประตูออกไปจากห้องอย่างรวดเร็ว  ฉันหนีต่อสิ่งหลอกลวงเช่นนี้มาร่วม ๕ ปีแล้ว ยังจะมาถูกหลอกหลอนอีก

ฉันหนีลงมานั่งดื่มกาแฟเย็นเงียบๆ อยู่คนเดียวข้างล่าง นั่งคอยเวลาเพื่อให้หนุ่มสาวทั้งสองจบบทรักลงมาเสียก่อน แล้วจึงจะขึ้นไปนอน

ประมาณสักชั่วโมงเศษๆ โดยอาศัยบังตาเปนที่กำบังร่างของฉัน ฉันมองเห็นร่างของผีเสื้อราตรี เดินลงมาจากบันไดชั้นบน หล่อนเดินลงมาคนเดียว พอเห็นรูปร่างและดวงหน้าของหล่อนถนัด ฉันรู้สึกเย็นวาบไปหมดทั้งตัว เหมือนถูกผีหลอก เพราะจำได้อย่างถนัดชัดเจน ว่าดวงหน้าและเรือนร่างของหล่อนคือร่างเดียวกับที่เคยอยู่ในอ้อมกอดของฉันมาก่อน “กัลยา”

เหมือนกับจะแกล้งฉันให้เปนบ้าตาย แทนที่หล่อนจะเดินออกไปจากโรงแรม ฉันเห็นหล่อนกวักมือเรียกใครคนหนึ่งซึ่งอยู่ภายนอก แล้วหล่อนก็เดินมาทรุดกายลงนั่งโต๊ะใกล้ๆ กับฉัน ซึ่งมีผนังและบังตากั้นกลางอยู่หล่อนจึงไม่เห็นฉัน ขณะเดียวกันนั้น มีชายคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายอันซอมซ่อ นุ่งกางเกงขาสั้นและเสื้อชั้นในมีรอยปะชุนเก่าๆ ตัวหนึ่ง เดินมาหาหล่อน ทรุดกายลงนั่งข้างๆ หล่อนอย่างสนิทสนม ได้ยินเสียงหล่อนหันไปสั่งเจ๊กให้เอากาแฟเย็นมาให้ ๒ ถ้วย แล้วหล่อนก็หันมาพูดกับชายคนนั้นด้วยเสียงกระซิบ แต่ฉันได้ยินถนัด

“ไม่ได้ความ พี่เชิด ทั้งตัวมีเงินอยู่ ๓๐ บาทเท่านั้น”

“๓๐ บาทเท่านั้น” เสียงชายคนนั้นครางเบาๆ

“จ้ะ ๓๐ บาทเท่านั้น ป่านนี้คงหลับสบายแล้ว กว่าพิษยาจะจางก็อีกหลายชั่วโมงนัก”

พอดีเจ๊กนำกาแฟมาให้จึงชงักการสนทนาของหล่อนและชายคนนั้นเสียชั่วขณะ เมื่อลับร่างเจ๊กแล้ว ได้ยินเสียงชายคนนั้นเอ่ยขึ้นว่า

“รีบกลับไปเถอะกัลยา ยังไม่ดึกนัก ยังมีเหยื่อคอยอยู่อีกรายหนึ่ง” จบคำพูดของชายคนนั้น ทั้งสองก็พากันทรงกายลุกขึ้น หล่อนโยนธนบัตรฉบับละบาท ๒ ฉบับลงบนโต๊ะ แล้วก็เดินเคียงคู่กันออกจากโรงแรม ฉันมองตามร่างของหล่อนเหมือนถูกมนต์ แลเห็นหล่อนกำลังก้าวขึ้นรถจักรยาน ๓ ล้อคันหนึ่ง ซึ่งจอดอยู่หน้าโรงแรม และชายคนนั้น อนิจจา เขาคือกรรมกร ๓ ล้อคนนั้นนั่นเอง เขาถีบจักรยาน 3 ล้อคันที่หล่อนนั่งเคลื่อนออกจากที่อย่างรีบเร่ง

 

หมายเหตุ: ภาษา สะกดการันต์ และเครื่องหมายวรรคตอน คงไว้ตามต้นฉบับ

พิมพ์ครั้งแรก: ปิยะมิตรวันอาทิตย์  ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔๓ (๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๑)

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า