เรื่องสั้นตามใจชอบลำดับที่ 3: ถวัลย์ วรดิลก นักเขียนสตรีในตระกูล ‘วรดิลก’ ที่ตกสำรวจ

มีนักเขียนสตรีจำนวนไม่น้อยที่ถูกมองข้าม หรือไม่ก็ ‘ตกสำรวจ’ ไปอย่างไม่ตั้งใจ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระบบจัดเก็บข้อมูลว่าด้วย ‘ประวัติวรรณกรรมสมัยใหม่’ ในประเทศนี้ไม่เคยมี database ที่เป็นระบบ ถ้าจะว่าไป คำว่า ‘ประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่’ นับไทม์ไลน์มาตั้งแต่หมอบรัดเลย์ได้จุดประกายก่อเกิด หนังสือจดหมายเหตุ Bangkok Recorder เมื่อ พ.ศ. 2387 (ค.ศ. 1844) ประวัติศาสตร์การเขียน การพิมพ์ ในประเทศนี้ก็เหมือนจะปะติดปะต่อกันมาเรื่อย ตามใจรักของผู้บันทึก หรือไม่ก็ตามแต่เอกสารชั้นต้นที่ค้นพบ ดังนั้นจึงแทบไม่มีหนังสือในเชิงประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยเล่มไหนที่มีความสมบูรณ์แบบอ้างอิงได้ หรือไม่บางทีนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์ ตลอดรวมทั้ง ‘คนทำหนังสือ’ ที่อยู่ในเส้นทางนี้จำนวนไม่น้อย ต่างก็เหมือนถูกลืมเลือนไปเพราะความไม่รู้ และความไม่มีระบบในการจัดเก็บข้อมูลของเอกสารชั้นต้นของแต่ละยุคสมัย ภาพรวมของคำว่า ‘ประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่’ แม้ในปัจจุบันนี้จึงยังต้องปะติดปะต่อกันต่อไป เพราะไม่สามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างมีระบบจากแหล่งจัดเก็บ หรือจาก database ของระบบหนังสือประเภท ‘นามานุกรม’ ที่มีอยู่น้อยมากในประเทศนี้ และที่มีก็มีอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่สมบูรณ์ ไม่อ้างอิงที่มาของเอกสารชั้นต้น และไม่มีอะไรที่เป็น ‘ฉบับทางการ’ เพื่อการ ‘ต่อยอด’ ของคนรุ่นต่อไปได้อย่างมีระบบ

ตัวอย่างเช่นถ้ามีคนถามผมว่าใครคือ The First Women Writer ของประวัติวรรณกรรมสยาม-ไทยสมัยใหม่ในประเทศนี้ ผมก็ให้คำตอบไม่ได้ เพราะไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่จะมายืนยันได้แน่ว่าเป็นใคร แม้จะชัดเจนว่าไม่น่าจะใช่ ‘ดอกไม้สด’ หรือ ‘ก.สุรางคนางค์’ เช่นที่มีบางตำราวรรณกรรมที่ใช้สอนนักเรียน นักศึกษา ได้ระบุไว้ก็ตาม (ทั้งนี้ไม่นับ ‘คุณพุ่ม’, ‘คุณสุวรรณ’ กวีสตรีในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีชีวิตอยู่ก่อนการมาถึงแท่นพิมพ์ )

ในเชิงประวัติวรรณกรรมไทยสมัยใหม่ นักอ่านส่วนใหญ่ในบ้านเราก็มักจะคุ้นเคยกับชื่อเสียงของคนชื่อ สุวัฒน์ วรดิลก และ ทวีป วรดิลก มากกว่าคุ้นเคยกับคนชื่อ ถวัลย์ วรดิลก ที่เป็นพี่น้องร่วมตระกูล ‘วรดิลก’ สองคนแรกมีทั้งประวัติชีวิตและภาพถ่ายให้ใช้อ้างอิงมากมาย แต่กับนักเขียนสตรีที่ชื่อ ถวัลย์ วรดิลก ซึ่งก็มีผลงานด้านการประพันธ์และงานหนังสือพิมพ์อยู่ในไทม์ไลน์ใกล้เคียงกัน แต่ประวัติและผลงาน (รวมทั้งภาพถ่าย) ของ ถวัลย์ วรดิลก กลับตกสำรวจและถูกลืมไปเหมือนไม่มีตัวตน เพราะในบ้านเราตั้งแต่เริ่มมีการพิมพ์หนังสือในระบบ ‘แท่นพิมพ์’ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เราไม่เคยให้ความสำคัญกับการไล่ล่าจัดเก็บ ‘สิ่งพิมพ์ต่างๆ’ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ‘สิ่งพิมพ์’ รายวัน รายปักษ์ รายเดือน รายสามเดือน รายเฉพาะกิจ และรวมทั้ง ‘สิ่งพิมพ์’ ที่เก็บเล่มหนังสือในไทม์ไลน์ต่างๆ ไว้อย่างมีระบบ

ว่ากันว่าบรรดา ‘สิ่งพิมพ์กระดาษ’ เหล่านี้จะค่อยๆ สูญหายไปในอีกไม่ช้า แต่ทว่าระบบจัดเก็บ ‘เอกสารชั้นต้น’ ของเรากลับดูเหมือนยังไล่ล่ากันแบบ ‘ตามมีตามเกิด’ เฉพาะ ในหมู่ผู้ที่สนใจเท่านั้น จนมองเห็นช่องว่างของไทม์ไลน์ที่ค่อยๆ หายไปเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือมีแต่ชื่อ หรือ ‘นามปากกา’ ของนักเขียน นักประพันธ์ คนนั้นคนนี้ที่มีผู้เอ่ยกล่าวไว้ แต่กลับควานหาผลงานไม่พบ (เช่น ความไม่พยาบาท ของ ‘นายสำราญ’ ที่ถือเป็น novel ในประวัติวรรณกรรมไทย ผมต้องใช้เวลาตามหาร่วมสี่ทศวรรษ กว่าจะพบการมีอยู่จริงของหนังสือเรื่องนี้) นอกจากนั้นเมื่อค้นพบแล้วก็ยังต้องคลำต่อไปว่า ชื่อนั้น นามปากกานั้นเป็นของใครกันแน่ บางคนสืบหาแทบไม่ได้เลยว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร เกิด-ตาย เมื่อไร ภูมิหลังการศึกษาเป็นอย่างไร มีผลงานในรูปแบบไหน บางคนกว่าจะควานหา ‘ภาพถ่าย’ มาได้ต้องใช้เวลานับทศวรรษ (เช่นภาพถ่ายของ ส่ง เทพาสิต และ จันตรี ศิริบุญรอด และแม้จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่พบภาพถ่ายของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ทั้งๆ ที่ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ก็เกิดและมีชีวิตอยู่ในไทม์ไลน์ที่มีทั้งกล้องถ่ายภาพและกล้องถ่ายหนังอยู่ในบ้านเราแล้ว)

ถวัลย์ วรดิลก นักเขียน นักประพันธ์สตรี ในรุ่นไทม์ไลน์แห่งทศวรรษ 2490-2500 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ผมยังไล่หาภาพถ่ายไม่พบ แม้จะทราบว่าเป็นน้องสาวของ สุวัฒน์ วรดิลก และเป็นพี่สาวของ ทวีป วรดิลก เป็นพี่น้องร่วมตระกูล ‘วรดิลก’ กันมา ที่น่าจะหาภาพถ่ายได้ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มี database ทั้งภาพถ่ายและประวัติปรากฏอยู่ในหนังสือจำพวก ‘นามานุกรม’ ที่เป็นประวัตินักเขียน นักประพันธ์ ทั้งในรุ่นอดีตและรุ่นปัจจุบัน พูดกันตรงๆ ก็คือไม่มีข้อมูลให้สืบค้นอย่างเป็นระบบ ต้องมาปะติดปะต่อเอาเอง เหมือนเช่นนักเขียน นักประพันธ์ ‘ล่วงสมัย’ อีกจำนวนมากที่ถูกกาลเวลากลืนกิน

หรือว่าเพราะ ถวัลย์ วรดิลก เป็นนักเขียนสตรีที่มีชื่อเสียงเป็นรองจากพี่ชายและน้องชาย ดังนั้นการให้ความสำคัญจึงเป็นไปเหมือนมีอคติ ทั้งที่ในความเป็นจริง ถวัลย์ วรดิลก เคยมีตัวตนและมีชื่อเสียงทางการประพันธ์ และการงานด้านหนังสือพิมพ์อยู่ในไทม์ไลน์มาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2490 คือเข้ามาสู่แวดวงในช่วงใกล้เคียงกับ ‘สุวัฒน์’ และ ‘ทวีป’ แต่เธอได้ยุติบทบาท (อาจเป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง) และอพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกา ชื่อเสียงและผลงานที่เคยปรากฏจึงถูกลืมเลือน ยิ่งเธอเป็นนักเขียนสตรีที่อยู่ท่ามกลางสองยักษ์ทางวรรณกรรมที่เป็นนักเขียนบุรุษ ชื่อของเธอที่เคยปรากฏในช่วงทศวรรษ 2490 ก็เลยเหมือนถูกกลบทับ เมื่อไม่มีผลงานต่อเนื่องก็เลยถูกลืมไปในที่สุด และแวดวงในปัจจุบันแทบไม่มีใครรู้จัก ภาพถ่ายของเธอที่เชื่อว่าหาได้ง่าย แต่แล้วก็ยังหาไม่พบ (และผมก็ไม่มีเวลาที่จะไปถามหาจาก ‘นารียา’ เจ้าของงานแปลนิยายเรื่อง ไอ้เหลือบ ผู้เป็นน้องสะใภ้ของเธอ)

ถวัลย์ วรดิลก เป็นใคร?

ถวัลย์ วรดิลก เป็นบุตรีของอำมาตย์โท พระทวีปธุระประศาสน์ (วร พรหมบุตร) กับนางทวีปธุระประศาสน์ (จำรัส ชีวกานนท์) มีพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน 9 คน ต่อมาเกิดปัญหา ‘เมียน้อย-เมียหลวง’ ในระบบครอบครัวแบบเจ้าขุนมูลนายในสมัยก่อน ครอบครัวของอำมาตย์โท พระทวีปธุระประศาสน์ ผู้นี้จึงพบกับปัญหา ‘บ้านแตก’ ดังนั้นจากที่เคยใช้นามสกุล ‘พรหมบุตร’ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘วรดิลก’ พี่น้องทั้ง 9 คน ที่เกิดจากอำมาตย์โทพระทวีปธุระประศาสน์ มีที่เสียชีวิตไป 1 คน เหลือ 8 คน และต่างก็ได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล ‘วรดิลก’ ทุกคน รวมทั้งพี่ชายที่ชื่อ สุวัฒน์ วรดิลก และน้องชายที่ชื่อ ทวีป วรดิลก ด้วย

ประวัติและภูมิหลัง รวมทั้งภาพถ่ายในตระกูลที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่น วรดิลก ไม่น่าจะหายาก แต่ก็กลับหายาก ต้องปะติดปะต่อเอาเอง และข้อมูลที่พบก็มักจะมีแต่ประวัติและภูมิหลังของ วรดิลก ที่เป็นพี่ชายและน้องชายมากกว่า

เอกสารชั้นต้นที่ค้นได้ก็เช่นเรื่องสั้น เจ้าขุนมูลนาย ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร กะดึงทอง รายเดือน ฉบับประจำเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 และผมขอนำมาเป็น ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ใน WAY of WORDS วาระนี้ เหตุผลง่ายๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประเมินเชิงคุณภาพของชิ้นงานก็คือ มันสะท้อนภาวะบ้านแตกของตระกูล ‘พรหมบุตร’ ที่ต่อมาได้เปลี่ยนใหม่มาเป็น ‘วรดิลก’ ถวัลย์ วรดิลก คงจะนำภูมิหลังในชีวิต ‘บ้านแตก’ บางประการมาเขียนเป็นเรื่องสั้นในชื่อ เจ้าขุนมูลนาย เรื่องนี้ เพราะมันเป็นเหมือนจิตใต้สำนึกของเธอเองกับบรรดาพี่ๆ น้องๆ ในสมัยวัยเด็ก

เท่าที่ค้นได้จากเอกสารชั้นต้นหลังน้ำท่วมที่เหลืออยู่ ถวัลย์ วรดิลก เคยมีผลงานเรื่องสั้นรวมพิมพ์เป็นเล่มเมื่อ พ.ศ. 2499 อยู่เล่มหนึ่งในชื่อ ชั่วนิรันดร (หนังสือเป็นซอมบี้และปกหลุดหายไป จึงเอามาแสดงไม่ได้ ท่านผู้ใดมีหนังสือเล่มนี้ช่วยนำมาเผยแพร่ด้วย) เนื้อหาของรวมเรื่องสั้น ชั่วนิรันดร เล่มนี้ประกอบไปด้วยเรื่องสั้น 22 เรื่อง
ถวัลย์ วรดิลก ได้เขียน ‘คำนำ’ ลงเวลาวันที่ 22 พฤษภาคม 2499 บอกความในใจของเธอไว้เอง มีความตอนหนึ่งว่า

“ … บทประพันธ์ เป็นภาพสะท้อนของสังคมแต่ละยุค แต่ละสมัย ผู้ประพันธ์ได้ร่วมอยู่ในสังคมยุคใด สมัยใด งานของเขาก็จะสะท้อนภาพต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเขาออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด จะโดยสำนึกหรือไม่ก็ตาม งานประพันธ์ของข้าพเจ้าได้สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายเช่นนี้

“โดยที่สังคมรอบตัวเราในปัจจุบัน มีทั้งความน่ารักและน่าชัง มีทั้งความงดงามและโสมม แสงสว่างและความมืด ผลงานเรื่องสั้นแต่ละเรื่องของข้าพเจ้า ซึ่งได้รวบรวมพิมพ์เป็นครั้งแรกในเล่มนี้ (เริ่มแต่ พ.ศ. 2490-2499) จึงแตกต่างกันตามกาลเวลา ซึ่งเห็นได้ชัดว่าชั่วระยะสิบปีที่แล้วนี้ สังคมของเราได้เปลี่ยนโฉมหน้าจากเดิมมากมาย มันได้สะท้อนออกมาซึ่งภาพต่างๆ ในภาวะแวดล้อมตัวเราอยู่ บางเรื่องอาจโหดร้ายทารุณเกินไปสำหรับผู้อยู่ในความสว่างและความน่ารัก แต่สำหรับคนที่มีชาตาชีวิตมืดมน ย่อมจะเห็นเรื่องฝันหวานเป็นของขัน น่าหัวเราะ จนเกินกว่าจะเป็นจริงได้

“ข้าพเจ้าตั้งใจสร้างสรรค์ประพันธ์ที่รักขึ้นด้วยจุดหมายดังนี้ แต่ปัญหาที่ว่าจะประสบผลสมหวังตั้งใจหรือไม่นั้น ย่อมอยู่ที่ท่านผู้อ่านจะวินิจฉัย”

หนังสือรวมเรื่องสั้น ชั่วนิรันดร ของเธอเล่มนี้ประกอบด้วยเรื่องสั้นที่พิมพ์ในนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ. 2490-2499 (เสียดายที่เธอก็ไม่ได้ระบุแหล่งพิมพ์ครั้งแรกของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเช่นเดียวกัน) แต่เรื่องสั้น เจ้าขุนมูลนาย ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร กะดึงทอง เมื่อ พ.ศ. 2497 นั้น เธอกลับไม่ได้นำมารวมพิมพ์ไว้ในเล่มนี้ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุผลใดจึงไม่ได้นำมารวมพิมพ์ไว้ด้วย

เรื่องสั้น 22 เรื่องในหนังสือ ชั่วนิรันดร ประกอบด้วย

1. ‘ดาวไถ’ (เรื่องสั้นขนาดยาว) 2. ‘เดียวดาย’ 3. ‘จันทร์แรมรันทด’ 4. ‘วัยรุ่น’ 5. ‘ชั่วนิรันดร’ 6. ‘ระลึกถึงใยบัว’ 7. ‘สิ่งที่ชีวิตต้องการ’ 8. ‘เหมือนเมฆและเหมือนฝัน’ 9. ‘หล่อนคือโลก’ 10. ‘ทรามวัยใน (สี) ฟ้า’ 11. ‘Ship-A hop’ 12. ‘ตันหยงมาส’ 13. ‘ฝันจนกว่าจะรุ่ง’ 14. ‘ไทรสามต้นในทะเลเงิน’ 15. ‘พรุ่งนี้-ยังมีอยู่’ 16. ‘มะมิ่นกับเชียงดาว’ 17. ‘ค่อนคืนที่ปางอโศก’ 18. ‘รักข้ามขอบฟ้า’ 19. ‘ทองกวาวดอกนั้น’ 20. ‘ชีวิตเริ่ม’ 21. ‘ผู้ชนะ’ และ 22. ‘ชีวิตยังไม่สิ้น’

 

ถ้าจะจัดหมวดหมู่กันแล้ว ต้องนับว่า ถวัลย์ วรดิลก เป็นนักเขียนสตรีในแนวทาง ‘เพื่อชีวิต’ ในยุคบุกเบิก และถือเป็นนักเขียนสตรีในกลุ่มความคิดก้าวหน้าแห่งทศวรรษ 2490 แต่ก็ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดเธอจึง ‘ตกสำรวจ’ ไป ไม่มีใครเอ่ยถึงมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับนักเขียนสตรีในกลุ่มก้าวหน้าของยุคนั้น เช่น ‘ร.จันทพิมพะ’ ‘อุชเชนี’ ‘อ.ไชยวรศิลป์’ ‘แขไข เทวินท์’ ฯลฯ หรือบางทีเธออาจถูกรัศมีของ ‘วรดิลก’ ทั้งคนพี่และคนน้องบดบังเอาไว้ก็ได้

บทบาทอื่นๆ ในแนวทางความคิดก้าวหน้าของเธอก็คือบทบาทการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายปักษ์ ถวัลย์ วรดิลก เคยเป็นทั้งบรรณาธิการและเจ้าของผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสาร ดวงดาว รายปักษ์ที่ก่อเกิดขึ้นมาในช่วงรอยต่อของทศวรรษ 2490 และ 2500 คือเป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาทำรัฐประหารยึดอำนาจครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้ให้จอมพลถนอม กิตติขจร ทำเป็นเท่ ก่อนที่ตนเองจะเข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2501 และมีการเริ่มจับนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ที่เชื่อว่าเป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ อย่างขนานใหญ่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2503 นิตยสาร ดวงดาว รายปักษ์ที่ ถวัลย์ วรดิลก เป็นทั้งเจ้าของและบรรณาธิการฉบับนี้ แวดวงในปัจจุบันแทบไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่เป็นนิตยสารแนว ‘ก้าวหน้าเพื่อชีวิต’ ที่จัดทำโดยผู้หญิง เพื่อผู้หญิง ของผู้หญิง โดยมีแนวสนับสนุนออกไปทางความคิดสังคมนิยม ไม่แตกต่างไปจากนิตยสาร สายธาร รายเดือน ของกลุ่มนักเขียนก้าวหน้าในช่วงเดียวกัน ที่มักจะมีผู้อ้างถึงมากกว่า

นิตยสาร ดวงดาว รายปักษ์ ของถวัลย์ วรดิลก มีคติพจน์บนหัวหนังสือของตนว่า ‘เพื่อชีวิตและความใฝ่ฝัน’ ซึ่งก็เป็นคติพจน์ที่เหมือนจะจำลองมาจากวิธีคิดในแบบก้าวหน้าของ ‘นายผี’ และ ‘บรรจง บรรเจิดศิลป์’

คณะนักเขียนของนิตยสาร ดวงดาว รายปักษ์ ที่มีชื่อปรากฏประกอบด้วยกวี นักเขียน นักแปลสตรีล้วนๆ เช่น ‘จูเลียต’ ‘อ.สนิทวงศ์’ ‘อ.ไชยวรศิลป์’ ‘อุชเชนี’ ‘แขไข เทวินทร์’ ‘นารียา’ ‘เทพธิดา’ ‘เถาวัลย์ มงคล’ ‘กิติมา อมรฑัต’ ฯลฯ
ถ้าเอกสารชั้นต้นไม่เหลือรอดจากน้ำท่วมมาบ้าง ผมเองก็คงลืมไปแล้วว่าเคยมีนิตยสารฉบับนี้อยู่ในบ้าน

สำหรับเรื่องสั้น เจ้าขุนมูลนาย ที่นำมาเป็น ‘เรื่องสั้นตามใจชอบ’ ในวาระนี้ เอกสารชั้นต้นที่เป็นการก่อเกิดครั้งแรกของเรื่องสั้นเรื่องนี้ ก็คือนิตยสารรายเดือน กะดึงทอง ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497

นิตยสาร กะดึงทอง รายเดือนเป็นสิ่งพิมพ์ในเครือของบริษัทไทยพณิชการ ที่ก่อตั้งขึ้นโดย นายอารีย์ ลีวีระ นายไชยยงค์ ชวลิต เป็นผู้อำนวยการ และ นายสาทิศ อินทรกำแหง เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา

2 พฤศจิกายน 2561

 


 

เจ้าขุนมูลนาย

ถวัลย์ วรดิลก

 

พี่จ๋า- –ขอน้ำให้แดงหน่อย – -” คนไข้อายุเพียงหกขวบเฝ้าวอนขอน้ำจากเด็กหญิงผู้พี่อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยดวงตาที่แห้งโหย ตัวร้อนรุ่มไปด้วยพิษไข้ อาการเพียบหนักจนไม่อาจจะดิ้นกระวนกระวายได้เหมือนวันก่อนที่เพิ่งจะเริ่มเจ็บ เสียงเริ่มอ่อนลงทุกๆ ที และถูกกลบด้วยเสียงโขลกน้ำพริกดังสนั่นอยู่ข้างๆ ตัว เพราะกระท่อมน้อยคับแคบเกินไป ห้องนอน- -ครัวและที่นั่งเล่น ก็คือห้องๆ เดียวแคบๆ กั้นฝาไว้ด้วยใบจากเพียงสามฝา

แม่สาละวนจัดผักใส่หาบจนเต็มแปล้อย่างเร่งร้อน เพื่อจะรีบให้เสร็จก่อนตะวันกล้า จะได้ขายหมดเร็วๆ ตั้งแต่เช้า แล้วแลกข้าวมาให้ลูกทั้งห้าที่รอคอยอยู่ แม่ไม่มีเวลาจะพยาบาลเจ้าแดงลูกรักแม้แต่น้อย อย่าไปพูดถึงหมอหรือยาเลย ในยามยากอย่างนี้ เพียงข้าวสารกรอกหม้อก็หาได้ไม่เต็มอิ่มแก่ลูกทุกคนเสียแล้ว

“แม่ แดงอยากน้ำ- -” เจ้าแดงหันมาอ้อนขอแม่เปนครั้งสุดท้าย แม่ซึ่งยกหาบผักวางบ่าจะเริ่มก้าวเดินอยู่แล้ว ต้องหยุดชะงักเมื่อได้ยินเสียงลูกชายคนเดียว จึงร้องสั่งไว้ก่อนออกเดินว่า

“อีหนู- -เอาน้ำให้น้องหน่อยต๊ะ…” แม่เปนชาวภาคใต้โดยกำเนิด เปนคนพื้นเมืองแท้ๆ ไม่เคยไปกรุงเทพฯ เลยสักครั้งเดียว แม่จึงพูดได้แต่ภาษาที่มีสำเนียงของชาวใต้ ผิดกับพ่อซึ่งเคยเปนขุนน้ำขุนนาง มียศถึงชั้นพระยาพานทอง และมีศักดิ์ศรีเปนเจ้าบ้านผ่านเมืองมาแล้ว แม้จะได้พ้นหน้าที่ราชการมาแล้ว แต่พ่อก็ยังมีวิชาความรู้สูงพอจะทำมาหากิน และใช้ชีวิตได้อย่างมีหน้ามีตาในชนบทเล็กๆ อย่างนี้

เด็กหญิงพนาวางสากชั่วครู่ จ้วงตักน้ำในไหซองเล็กๆ มุมห้อง แล้วยกศีร์ษะน้องชายขึ้น จรดขันน้ำที่ปาก เจ้าแดงดื่มรวดเดียวหมดขัน หอบถี่อย่างเหนื่อยอ่อน – –

“พี่- -แดงท่าจะตายแน่คราวนี้”

“ไม่ตายหรอกน่า- -” พี่ปลอบน้องบ้าง

“ตายเสียก็ดี แม่จะได้ไม่ลำบากหาข้าวมาให้กิน- -พ่อไม่เห็นมาหาแดงมั่ง- -” เด็กน้อยกล่าวอย่างขมขื่น พร้อมๆ กับรำลึกไปถึงวันเวลาล่วงแล้ว ตั้งแต่เกิดและเติบโตมาในวงแขนอันอบอุ่นไปด้วยความรัก – ความสนใจใยดีของแม่และพ่อ- -แต่มาบัดนี้สิ เมื่อพ่อได้ถูกแย่งชิงจากเขาไปด้วยหญิงชาวกรุงแสนผู้ดีและมั่งคั่ง เขาจึงต้องจากบ้านที่เคยอยู่อย่างแสนสุขกับพ่อแม่และพี่ๆ น้องๆ อพยพกันมาอยู่กระท่อมกลางนาของลุงป้า- -พี่ของแม่ เขายังจำได้ดีถึงวันนั้น และคืนนั้น ที่พ่อไล่ตีแม่ออกจากบ้านอย่างทารุณโหดร้าย เขายังเห็นใบหน้าอันเศร้าหมองอาบไปด้วยน้ำตาของแม่ ที่รีบห่อเข้าของอย่างงกเงิ่น อุ้มน้องเล็ก จูงเขาและพี่ๆ ที่ช่วยกันหอบเสื้อผ้าและถ้วยชามหม้อไหเล็กๆ น้อยๆ พะรุงพะรัง เดินตามกันมา ท่ามกลางแสงหลุบหลู่ของจันทร์เสี้ยวซึ่งลอยฟ่องฟ้าอยู่ไกลลิบเหนือยอดไผ่สล้าง น้องเล็กร้องไห้งอแง แต่แล้วก็หลับไปอย่างเหนื่อยอ่อนบนบ่าอันแข็งแรงของแม่ ตัวเขาเองทั้งๆ ที่อยากจะร้องไห้เหลือเกินด้วยความเงียบเหงา ว้าเหว่ และเศร้าสร้อย ตลอดทางเดินอันขรุขระเปนหลุมเปนบ่อของทุ่งนากว้างไกล และยาวเหยียด นับเปนชั่วโมงๆ จนดึกครึ่งคืนจึงถึงบ้านป้า- -หรือพูดให้ถูก- -ถึงกระท่อมกลางนานั่นเอง

พ่อ- -พ่อ- -หากดวงใจเล็กๆ ที่กำลังเต้นอ่อนลงทุกๆ ทีนั้น อาจจะส่งเสียงเรียกออกมาได้ มันก็คงจะเปล่งออกมาแต่คำรำพรรณถึงพ่อบังเกิดเกล้า ผู้เคยเปนที่พึ่ง…และความอบอุ่นจากความรักความเอ็นดูของเด็กเล็กๆ เช่นเขา เพราะแล้วๆ มาพ่อเคยบันดาลทุกอย่างให้เขาสมปรารถนาอยู่เสมอ- -บัดนี้เล่า เขาเริ่มกระสับกระส่ายกระวนกระวายยิ่งขึ้นด้วยพิษไข้ เขาต้องการเหลือเกินที่จะได้บิดามาช่วยปัดเป่า แก้ไขให้เขาพ้นความทรมานอยู่อย่างนี้

เจ้าแดงเริ่มหอบถี่ยิ่งขึ้น จนไม่อาจจะพูดหรือรำพรรณเพ้อถึงพ่อของเขาได้อีกต่อไป พี่สาวเหลือบมองดูน้องแล้วก้มหน้า ยกมือปาดน้ำตามิให้ไหลลงใส่ครกน้ำพริกที่วางนิ่งอยู่ตรงหน้า กระเถิบเข้ามาใกล้แล้วเอ่ยถาม

“แดง- -แดงเปนอะไรนั่น -”

เปล่า ไม่มีคำตอบจากแดงจนคำเดียว เด็กน้อยหอบถี่ยิ่งขึ้น น้องเล็กในเปลที่ทำด้วยผ้าผูกไว้กับเสาทั้งสองพลิกตัวตื่นพอดี ส่งเสียงร้องจ้า เด็กหญิงพนาวิ่งออกมาข้างนอก ป้องปากตะโกนเรียกพี่คนโตอีกคนหนึ่ง ซึ่งออกไปเก็บผักและหาฟืนแต่เช้าตรู่พร้อมๆ กับลุงป้าที่ออกดำนาตั้งแต่ตีสาม

“ณี- -ณีเอ๊ย- -ณี- -” วิ่งไปตะโกนร้องเรียกไปจนสุดเสียง แต่ไม่มีคำขานรับแม้แต่เสียงร้องกู่ตอบมา จึงบ่ายหน้าเข้ากระต๊อบอีกครั้ง น้องเล็กคงร้องไห้อยู่งอแง แต่เจ้าแดงสิมีอาการที่เปลี่ยนไป- -มันกำลังชักตาตั้ง อกแอ่น นิ้วมือหงิกงออยู่ผงับๆ พี่สาวร้องไห้โฮ เข้ากอดร่างอันร้อนผ่าวของน้องไว้ แล้วเขย่าอยู่ไปมา – –

แม่รีบก้าวเดินรวดเร็วเหมือนจะวิ่ง กลับจากตลาด พร้อมด้วยข้าวสารเล็กน้อยและยาของเจ้าแดง กับขนมขี้หนูห่อหนึ่ง ซึ่งลูกชายเคยชอบ แม่ตกใจมากทีเดียวเมื่อหมอออกความเห็นว่า เจ้าแดงคงเปนปอดบวมแน่ เงินขายผักเช้านั้นยังไม่พอค่ายา เพราะต้องซื้อข้าวสารมื้อเย็นมาด้วย ต้องอ้อนวอนขอเชื่อหมอเขาไว้ครึ่งหนึ่งก่อน – –

แต่ทว่าถึงแม่จะรีบเร่งเดินสักเพียงใด- -ก็ยังช้าเกินไปอีกน่ะแหละ- -เพราะเมื่อแม่ย่างเท้าเข้าบ้านก็ได้ยินเสียงลูกคนใหญ่ร้องไห้กันอยู่ระงมแล้ว เจ้าแดงนอนนิ่ง สงบเงียบเหมือนพักผ่อนอยู่เต็มที่…แต่เปนการพักผ่อนตลอดชีวิตน้อยๆ ที่มีวัยเพียงหกปี เพราะร่างกายอันร้อนรุ่มด้วยพิษไข้ ค่อยๆ เย็นซีด และมีสีเขียวคล้ำทั่วไปตลอดร่างเล็กๆ

แม่โผเข้ากอดลูกรักยิ่งดวงใจ ส่งเสียงครวญครางอย่างปวดร้าว ราวหัวใจจะแยกเปนเสี่ยงๆ หมดแล้ว- -แม่หมดทุกๆสิ่ง แม่เสียเจ้า- -ก็เท่ากับได้สิ้นแล้วทุกๆ อย่าง…

บ้านใหญ่กลางสวนกว้างที่กำลังสะพรั่งไปด้วยผลไม้นานาชนิด เงาะ มังคุด รังสาด และทุเรียน กำลังออกผลอยู่เต็มต้น ประดับประดาให้สวนที่เคยมืดครึ้มสวยงามขึ้นบ้าง- -ที่นั่น แม่ต้องเดินซมซานด้วยน้ำตาอาบหน้าเข้าไปหาพ่อ- – พ่อกำลังนั่งไขว่ห้าง สูบบุหรี่ฝรั่งอย่างดี ซดกาแฟร่วมกับภรรยาคนใหม่ ผู้ร่ำรวยและสูงศักดิ์ด้วยตระกูลผู้ดีมาหลายชั้น ใบหน้าพ่ออิ่มเอิบไปด้วยริ้วรอยของความสุขสมบูรณ์ด้วยการกินดีอยู่ดีสมฐานะ สมยศชั้นพระยาพานทอง

แม่พาร่างอันผ่ายผอม ซวนเซ ลงทรุดนั่งกับขั้นบันได น้ำตาคงพร่างพรูหลั่งไหลไม่ขาดสาย

“เจ้าแดงตายแล้ว- -”

พ่อชะงักเล็กน้อย แต่แล้วก็ระงับไว้ได้

“เปนอะไร- -”

“หมอว่าเปนปอดบวม- -”

พ่อลุกขึ้นเดินไปมา- -ภรรยาคงพ่นควันบุหรี่ฝรั่งราคาแพงอย่างเฉยเมย ด้วยท่าทีอันเปนตัวของผู้ได้ชัยชะนะ- -ชะนะในการแย่งผัวจากหญิงที่น่าสมเพช และพ่อของทารกผู้ไร้เดียงสา!

“แกมันเลี้ยงลูกไม่เปน” พ่อสรุปออกมาในที่สุดอย่างอัดอั้นตันใจ และสะเทือนใจบ้าง ยังผลให้แม่ร้องไห้โฮออกมาอีก พ่อไม่เคยยอมรับผิดอะไรเลยตลอดชีวิตของพ่อ ที่ขยันสร้างความขมขื่น เจ็บปวดรวดร้าวให้ผู้เปนเมียและลูกมาแล้วนับด้วยจำนวนสิบ พ่อเคยมีเมียมาหลายคนก่อนจะได้กับแม่ และมีลูกมากกว่าสิบ แต่ไม่เคยรับผิดชอบชีวิตใคร นอกจากชีวิตอันเสพย์สุขของพ่อเอง และเมียคนใหม่ๆ ที่กำลังลุ่มหลง

แม่เดินโซเซออกจากบ้านใหญ่หลังนั้น เสียงหัวเราะแหลมๆ อย่างเย้ยหยันของภรรยาคนใหม่เอี่ยม ดังตามหลังแม่ออกมา มันเสียดแทงความรู้สึกของเด็กหญิงเล็กๆ จนสุดจะทน

“ในที่สุดก็ต้องซมซานเข้ามาหา- -ฮะ ฮะ สมน้ำหน้า ไม่มีปัญญาจะเลี้ยงลูก อยากปากเก่ง หึงเก่งนัก ในชีวิตฉันไม่เคยแพ้ใครหรอก” เสียงแว่วๆ ดังตามมาเหมือนสายลม เด็กหญิงพนาจึงนึกขึ้นได้ว่าแม่เคยหึงหวงด่าทอหญิงผู้นี้มาครั้งหนึ่ง เมื่อคราวหล่อนมาติดพ่อ ความตายของเจ้าแดงจึงเปนความสะใจและดีใจของหล่อน ผู้ดีชาวกรุงนักหนา เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็เปนหลักประกันได้ว่า ผลประโยชน์ของพ่อที่อาจจะไปตกอยู่กับลูกเก่าๆ บ้างเล็กๆ น้อยๆ จนบางครั้งที่อาจนึกเวทนาขึ้นมา จะได้ไม่ต้องสูญเสียไป และตกอยู่ในกำมือหล่อนเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น!

ศพเจ้าแดงถูกอุ้มใส่โลงเลวๆ พ่อมายืนดูอยู่ครู่หนึ่ง ส่งเงินให้แม่สามสิบบาท แล้วกลับไป!

สามสิบบาทสำหรับการตายอย่างโดดเดี่ยวเพราะถูกขับไล่และทอดทิ้ง จากผู้บังเกิดเกล้าผู้สูงศักดิ์ถึงชั้นพระยา และมีฐานะดี มันเปนราคาที่ถูกเกินไป และไม่พอเพียงกับค่าทำศพเสียเลย- -แม่ต้องวิ่งหยิบยืมจากคนรู้จักหาเช้ากินค่ำด้วยกันคนละเล็กละน้อย จึงเผาเจ้าแดงได้ ท่ามกลางความเศร้าสลด เสียใจ- -อาลัยรักของลุง ป้า- -แม่ และพี่ๆ ทั้งสองของเขา น้องหญิงเล็กๆ ทั้งคู่ยังเยาว์เกินกว่าจะรับรู้ความรู้สึกใดๆ ได้

เวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้า อ้อยอิ่งสำหรับชีวิตเล็กๆ สามสี่ชีวิตในความรับผิดชอบของแม่ผู้ยากไร้ ต้องหาเช้าแลกข้าวมากินค่ำอย่างไม่สู้พอเพียงนัก แม้กับปากเล็กๆ กระเพาะน้อยๆ เพียงสามสี่ปาก ความตายของเจ้าแดงเปนผลดีแก่พี่น้องของเขาบ้าง โดยที่พ่อให้คนมาตามลูกๆ ไปอยู่ด้วย มณีพี่คนโตจึงอุ้มและจูงน้องเล็กๆ ทั้งคู่ไปอยู่กับพ่อ

ทุกอย่างดูน่าจะเรียบร้อย และเงียบเชียบ แต่ไม่เปนเช่นนั้น แม่เลี้ยงผู้ดีมักมีเรื่องฟ้องพ่ออยู่เนืองนิจ ในที่สุดมณีซึ่งเพิ่งรุ่นสาว ต้องวิ่งหนีพ่อกระเซอะกระเซิงไปกระโดดน้ำตาย เพราะถูกเด็กชายรุ่นหนุ่มข้างบ้านเข้าหา และแม่เลี้ยงก็ดูช่างรู้เวลาการเข้าหากันแน่นอนอย่างประหลาด พาพ่อเข้าไปพบจนได้! มีคนเล่าว่านางแม่เลี้ยงเจ้าอุบายแอบจ้างผู้ชายให้เข้าหา

มณีรอดตายมาได้เพราะชาวประมงค์นั่งดักปลาใต้สะพานเข้าช่วยไว้ จึงหนีเตลิดเข้าป่าดงต่อไป พร้อมๆ กับน้องหญิงคนเล็กต้องถูกแม่เลี้ยงอัปเปหิไปยัดเยียดให้ใครทางกรุงเทพฯ คงเหลือไว้แต่พนาไว้ใช้งานหนักเบาสารพัดในบ้าน กับน้องหญิงรองลงมา ซึ่งโตพอทำงานรับใช้ได้เหมือนกัน

แม่ล้มเจ็บด้วยความชอกช้ำใจแสนสาหัส ชีวิตแม่เริ่มต้นด้วยการเปน “เมียบ่าว” หรือจะกล่าวให้ตรงความหมาย คือเปน “ที่ระบายความใคร่” ของพ่อ พระยาพานทอง เมื่อคุณหญิงเอกภรรยาถูกทุบตี ขับไล่ เตลิดหนีไปพร้อมกับลูกทั้งโขยงร่วมโหล แม่ก็ค่อยหายใจคล่องขึ้นบ้าง แม้จะยังอยู่ในสภาพ “ขี้ข้า” นั่นเอง จนกระทั่งพ่อผลัดเมียอีกคนหนึ่ง ซึ่งร่ำรวยและสูงศักดิ์กว่าแม่มากมายนัก ถึงคราว “รุ” แล้ว แม่ก็ต้องหอบหิ้วลูกๆ ทั้งสี่ห้าคนกระเจิดกระเจิงกลับท้องนาตามพื้นเพเดิม

ในที่สุดของที่สุด- -เมื่อคับแค้นหนักเข้า- -ร่างกายทรุดโทรมลง แต่ความหิว และความไข้ยังคงอยู่ แม่ก็ต้องยอมรับความอุปการะของพ่อหม้ายผู้หนึ่งซึ่งเปนเพื่อนลุง ไปมาหาสู่อยู่เสมอ หายไข้แล้วแม่ก็ย้ายไปอยู่บ้านพ่อใหม่ในป่าลึก

เมื่อมีที่อยู่ที่กิน ค่อยสะดวกสบายขึ้นบ้าง- -แม่ก็คงเปนแม่อยู่นั่นเอง แม่ออกติดตามมณี จนพบ…แล้วรับไปอยู่ด้วย พนายังเรียนหนังสือ ไปอยู่กับแม่ไม่ได้ คงอยู่รับใช้พ่อต่อไป- -แม่เริ่มติดต่อขอน้องเล็กทั้งสองจากพ่อ ก็ไม่ได้ผลอย่างไร แม่ร้องไห้ทุกครั้งที่พ่อเฉยเมยทำไม่รู้ร้อน- -แม้ว่า- -พ่อเองก็เพิ่งจะได้รู้สึกถึงความใจดำอำมหิตของเมียใหม่อยู่เหมือนกัน ที่เสือกไสไล่ส่งลูกเล็กไปไว้กับใครทางกรุงเทพฯ ซึ่งเปนนักเลงเหล้า ผู้แม้แต่ตัวเองก็ยังเลี้ยงไม่ได้! เด็กถูกทุบตีเพราะฤทธิ์เมาทุกวันจนบอบช้ำและเจ็บ ทนความทารุณจากตีนมือของคนเลี้ยงขี้เมาไม่ได้ ก็แอบหนีออกจากบ้านไปทั้งๆ ที่มีอายุเพียงสี่ขวบ ตำรวจพบ พากลับมาคืนสู่ความเลวร้ายอีก ข่าวครั้งหลังสุด มีคนใจดีลอบอุ้มเด็กหนีไป แม่คิดถึงลูกเล็กใจแทบขาด- -ก็ได้แต่เพียงคิดถึงอยู่เท่านั้น แม่มือสั้นเกินไป- -เกินกว่าจะสืบสาวราวเรื่อง เรียกลูกกลับมาสู่อ้อมอกได้ครบถ้วน

มณีแต่งงานไปกับชาวไร่หนุ่มที่ดี มีอันจะกิน ถึงอย่างนั้น แม่ก็ยังไม่หายห่วง เวียนตามไปเยี่ยมเยียนลูกๆ ทุกคนที่สามารถจะไปถึงได้ โดยเฉพาะมณี ซึ่งตั้งครรภ์ ยิ่งครรภ์แก่มากขึ้น แม่ก็ไปเยี่ยมบ่อยครั้งขึ้น

วันหนึ่ง- -ซึ่งเปนวันถึงที่สิ้นสุดของแม่- -ความร้ายกาจของชีวิต หรือสิ่งใดๆ มักไม่มาเพียงครั้งเดียว ครู่เดียว- – -ในเย็นรอนวันนั้น- -เปนวันสุดท้าย- -วันซึ่งแม่จะไม่มี “ที่สุด” อีกต่อไปแล้ว – –

แม่พายเรือไปส่งมณีข้ามฟากกลับบ้านอย่างเคย ทุกครั้งที่ลูกไปหา- -เย็นนั้น น้ำซึ่งไหลเชี่ยวกรากจากต้นน้ำจากเนินเขาสูง- -พุ่งแรงเอ่อเต็มสองฝั่ง แม่จุ่มพายลงในน้ำอันเย็นเยียบ คัดท้ายเรืออย่างชำนาญ พยายามพาเรือบดเล็กๆ โต้กระแสน้ำอันเชี่ยวและเย็นเฉียบนั้นเพื่อข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งกว้างเปนคุ้งมองเห็นอยู่ข้างหน้า เรือลอยลำอยู่กลางเวิ้งกว้าง – –

กึก- -กึก- -ท้องเรือปะทะเข้ากับของแข็งใต้ผิวน้ำ มณียึดขอบเรือไม้แน่น น้ำพัดท้ายเรือเหเข้าชนอีกครั้งหนึ่ง ดังและแรงจนกิ่งไม้ใหญ่ผลุบโผล่พ้นขอบน้ำอยู่ปริ่มๆ- -แต่ทว่า เรือพลิกท้อง!

แม่โผเข้าช่วยพยุงมณีซึ่งจมมิดลงไปแล้ว โผล่ขึ้น พยายามว่ายประคองลูกรัก ซึ่งมีครรภ์ครบกำหนดคลอดแล้วในเดือนนั้นเข้าสู่ฝั่งด้านใกล้ที่สุดอย่างลำบาก เวลาผ่านไปเนิ่นนานเหลือเกิน สองร่างประคับประคองกันมาใกล้จะถึงฝั่งอยู่แล้ว มณีรู้สึกว่าแขนอันแข็งแรงข้างหนึ่งของแม่ที่โอบประคองลำตัวลูก ค่อยๆ คลายออก แม่หอบถี่- -สั่งลูกเปนครั้งสุดท้ายว่า

“ใกล้ฝั่งมากแล้ว- -แข็งใจว่ายเข้าไปให้ถึงนะลูกนะ อย่าห่วงแม่เลย- -”

มณีพยายามตะเกียกตะกายพุ้ยน้ำพาตัวเข้าฝั่งจนถึงเกาะรากไม้ริมตลิ่งได้ ก็เหลียวกลับมาหาแม่ที่คาดคิดไว้ว่าคงว่ายน้ำกระดิบๆ ตามมาด้วย แต่มณีต้องร้องไห้โฮใหญ่ เพราะว่าแม่กำลังผลุบๆ โผล่ๆ ลอยตามธารน้ำอันเชี่ยวกราก- -ห่างออกไป ไกลออกไปทุกๆ ที จนลับหายสุดตา แลไปในเวิ้งน้ำอันใสเย็นและไหลแรงสม่ำเสมอทุกวันเวลา

รุ่งขึ้น จึงมีคนพบศพแม่ลอยขึ้นอืดไปตามน้ำ- -ลุงติดตามหาน้องสาวคนเล็กสุดของแกจนได้พบ- -แม้ว่าจะเพียงร่างที่ไร้ชีวิต แกก็ต่อหีบใส่แล้วแบกมาทำพิธีเผายังวัดใกล้ๆ บ้าน- -จบไปแล้ว ชีวิตที่สิ้นสุดลงเร็วเกินไปในวัยเพียงสี่สิบของแม่ สุดสิ้นกันเสียทีสำหรับผู้เกิดมาเพื่อประดับบารมีของใครคนหนึ่ง ซึ่งมีอายุยืนยาวด้วยการเสพย์สุข เพราะความเห็นแต่แก่ตัวเพียงคนเดียวในโลก- – ลูกๆ ผู้เปนตัวแทนของแม่ ยังคงดิ้นรนต่อสู้ชีวิต และแหวกว่ายในธารอันคับแคบแห่งความคิดจิตใจของผู้เปนพ่อต่อไปอีก – –

ถ้าเปรียบชีวิตกับบทเพลง- -นิยายนี้เปนเพียงวรรคเดียว บทเดียวของเพลงชีวิตอันเศร้าสลด น่าเวทนา ที่สะท้อนภาพมาจากชีวิตและน้ำตาของผู้ประดับบารมีแห่งคนฉลาดและ “รู้มาก” มีความเปนอยู่อย่าง “เจ้าขุนมูลนาย” ซึ่งจะพบได้ในทุกแห่ง- -ปักษ์เหนือ ภาคกลาง- -อิสาณ และปักษ์ใต้ – –

ยังก่อน- -มันยังบรรเลงไม่สุดสิ้น ซึ่งความหฤโหด ทารุณ ร้ายกาจ จากความเห็นแต่แก่ตัวของมนุษย์ในยุคหนึ่ง ซึ่งกำลังตกตะกอนนอนก้นสังคมไทย และฝังรากลึกแน่นหนามานานแล้ว- -กำลังผุพังเต็มที จวนจะถอนรากตามกาลเวลา.

 

พิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร กะดึงทอง รายเดือน: สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๗
หมายเหตุ: สำนวนภาษา วรรคตอน และการใช้เครื่องหมาย ได้ชำระไว้ตามเอกสารต้นฉบับ

 

Author

สุชาติ สวัสดิ์ศรี
นักเขียนไทยกว่าครึ่งค่อน โดยเฉพาะสายวรรณกรรมสร้างสรรค์ ทั้งผลิตเรื่องสั้นและนวนิยายในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา แทบปฏิเสธไม่ได้ว่าล้วน ‘ผ่านมือชาย’ ที่ชื่อสุชาติ สวัสดิ์ศรี ผู้เป็นเสมือนครูใหญ่แห่งโรงเรียนวรรณกรรมไทยโดยแท้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า