สุดชีวิต: แอลิซ มันโร กับตัวละครชำรุดซ้ำซากของเธอ  

รู้สึกมาสักพักใหญ่ๆ แล้วล่ะ โอ… ไม่สิ ความจริงเรื่องนี้อยู่ในหัวคุณมานานแล้ว เพียงแต่คุณยังไม่มีชื่อเรียกมันเท่านั้น

คุณพบว่าวรรณกรรมมอบสิ่งวิเศษที่หนังสือประเภทอื่นให้คุณไม่ได้ วรรณกรรมยื่นโอกาสให้คุณสวมบทบาทเป็นคนอื่น มอบความรู้สึก น้ำหนักนึกคิด เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ ในขณะที่คุณละเลียดสายตาไปตามแถวอักษรแห่งสถานการณ์แผกต่างหลากหลาย

วันฟ้าโปร่ง คุณหยิบหนังสือรวมเรื่องสั้นของ แอลิซ มันโร ขึ้นมาถือไว้ สุดชีวิต มันคือวรรณกรรมเล่มสำคัญ คุณรู้ คุณได้ยินกิตติศัพท์เกี่ยวกับมันมานานพอดู ทว่าคุณเพิกเฉย ทำท่าเป็นไม่แยแส ทั้งที่ความจริงคุณอยากลิ้มลองมัน และวันนั้นมาถึงแล้ว

ไล้ลูบนิ้วไปบนปกสีชมพูอ่อนๆ คุณเห็นลายเค้าโครงของมนุษย์ เห็นดอกไม้ และเห็นริ้วเส้นฝนขีดทบไปทบมาจนยุ่งเหยิง คุณยิ้ม คาดเดาได้ถึงบางสิ่งที่คุณจะได้รับจากเรื่องสั้นทั้ง 14 เรื่องของนักเขียนรางวัลโนเบลคนนี้

“อยากให้มันเป็นเรื่องราวของชีวิตที่ไม่ใช่แค่ทำให้คนอ่านเห็นพ้องว่ามันช่างสมจริง” มันโรกล่าว “แต่ยังทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไปเมื่ออ่านจบ”

คุณพลิกไปที่ปกหลัง สายตาปะทะเข้ากับข้อความสั้นๆ ในอัญประกาศ คุณยิ้มอีก ปฏิเสธที่จะเชื่อ คุณหัวรั้น จิตใจอันเป็นขบถของคุณสั่งให้คุณทำเช่นนั้น คุณจะยังไม่ระบุถึงข้อความนั้นในตอนนี้ คุณอำพราง ซ่อนเร้น ก่อนพลิกกลับมาปกหน้า เริ่มต้นอ่านหนังสือในมือ ช้าช้า ช้าๆ

เมื่อจบเล่ม คุณเลิกคิ้วด้วยความแปลกใจ ว่านี่แหละ คือเสน่ห์ในงานเขียนของมันโร

มันโรชำนาญในการเล่นกับการรับรู้ของคนอ่าน ดีลกับความทรงจำก่อนหลังของคนได้อย่างอยู่มือ อำพรางและซ่อนเร้น เลือกจุดนี้มาเล่าก่อน จุดโน้นทีหลัง กลวิธีนี้ส่งผลให้เรื่องราวธรรมดาๆ กลายเป็นเรื่องเล่าที่น่าทึ่ง เมื่อมันเดินทางถึงจุดเฉลยก็สามารถทำให้คนอ่านประหลาดใจ

อีกทั้งการวางเงื่อนไขให้คนอ่านเทความสำคัญไปให้ตัวละครหนึ่ง แต่จู่ๆ ก็พลิกน้ำหนักไปสู่อีกตัวละครหนึ่ง คือความเก่งฉกาจของมันโร

ตามความเห็นส่วนตัว ทั้งหมดเป็นเรื่องของคนตัวเล็กๆ ที่มิได้มีความสลักสำคัญอันใด ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงโลกอันยิ่งใหญ่เลยด้วยซ้ำ ทว่ามันโรเขียนผ่านสายตาสุดละเมียดเเละเจนโลก

“…เขาตัดผมสั้นเกรียนซึ่งเป็นสไตล์ของช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นอะไรอย่างเช่นวิศวกร ผิวกระจ่างใสของเขาไม่เคยแดงเรื่อเหมือนของเธอ ไม่เคยกระดำกระด่างจากแสงอาทิตย์ แต่เป็นสีแทนเสมอกันหมดไม่ว่าฤดูไหน

“ความเห็นของเขาก็เป็นอะไรที่เหมือนลักษณะผิวของเขานั่นล่ะ เวลาที่ทั้งคู่ออกไปดูหนังสักเรื่อง เขาไม่เคยคิดจะพูดคุยเรื่องหนังหลังดูจบ แต่จะบอกแค่ว่าหนังดี หรือก็ดี หรือก็ใช้ได้ เขาไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องไปไกลกว่านั้น…” (จากหน้า 11)

มีฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์สงคราม เรื่องทางชนชั้น ความยากจน ดำดิ่งสู่บาดแผลแต่หนก่อน ปมทางจิตอันลึกลับ มันโรทำให้คุณรู้ว่ามนุษย์มีความคลอนแคลนซุกซ่อนอยู่ตลอดเวลา เปราะบาง และหมิ่นเหม่ แต่นั่นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจ นั่นแหละมนุษย์

จริงๆ แล้วคุณชอบทั้ง 14 เรื่อง แต่คุณอยากหยิบมาเล่าสัก 2 เรื่อง เล่าสั้นๆ ก็พอ มันเป็นเรื่องที่มีฉากร่วมคือรถไฟ เพราะคุณรักรถไฟ บรรยากาศเฉพาะบนนั้นบ่งบอกคุณว่าชีวิตคือการเดินทาง

เรื่องแรกเป็นชีวิตของ เกรตา-ผู้หญิงที่ปรารถนาจะเป็นกวี ที่แน่ๆ เธอเป็นทั้งภรรยา เป็นแม่ของลูก เป็นคนที่แอบมีใจให้ชายอื่น แทบจะร้องไห้ด้วยความโหยหาเลยด้วยซ้ำ ในความคิดของคุณ หากจะมีอะไรผิดพลาดน่าตำหนิ ก็เป็นตัวเกรตาเองล้วนๆ เธอทำมันกับมือตนเองทั้งนั้น (ชื่อเรื่อง- ‘ไปถึงญี่ปุ่น’)

อีกเรื่องมีชื่อตรงตัวว่า ‘รถไฟ’ จู่ๆ ทหารผ่านศึกก็กระโดดลงจากขบวนกลางคัน พบเจอผู้หญิงบางคน ใช้ชีวิตร่วมกัน เขาเดินจากเธอด้วยความจับพลัดจับผลู อากาศอันไร้ที่มาที่ไปอบอวลชวนสงสัย จนเมื่อมันโรขมวดปมเเล้วคลี่ให้กระจ่างในตอนจบ คุณถึงกับต้องอุทาน โอ้โห! เขียนได้ฉลาดจริงๆ คุณเข้าใจแล้วว่า ทำไมมันโรต้องวางฉากนั้นไว้ตอนต้นเรื่อง

 

ก็คนเรามิใช่น้อยชอบทำผิดซ้ำซากแล้วยังชอบหนีปัญหากลางคันเสมอ

เปล่าเลย, ในงานเขียนของมันโรแทบไม่มีสายตาของนักจับผิด ไม่มีการเทศนา ไม่สั่งสอน ไม่พิพากษา เธอเพียงแสดงหลายชีวิตออกมาให้เราดู เป็นที่สุดของชีวิต คล้ายๆ คำระบุบนปกหลัง

“เราพูดถึงบางสิ่งที่ไม่น่าให้อภัย หรือสิ่งที่เราจะไม่มีทางให้อภัยตัวเอง แต่เราก็ยังทำ เราทำเช่นนั้นกันอยู่ตลอดเวลา”

ปีเตอร์ อิงลุนด์ เลขาธิการถาวร สภาราชบัณฑิตสวีเดน ระบุ นักวิจารณ์จำนวนหนึ่งพิจารณาว่า แอลิซ มันโร เป็นเหมือน อันตัน เชคอฟ แห่ง แคนาดา งานเขียนของเธอมักมีลักษณะพรรณนาถึงชีวิตประจำวัน แต่จุดประกายให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถาม

ชีวิตประจำวันอันดาษดื่น ของคนธรรมดาสามัญที่มีโอกาสผิดพลาดอยู่เสมอๆ

 

สุดชีวิต
แอลิซ มันโร เขียน
อรจิรา โกลากุล, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา แปล
สำนักพิมพ์บทจร 

 

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า