เราต่างอยู่ในกาลเวลาที่เป็นเหมือนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำได้เพียงมองดู
คนพวกนี้ไร้เดียงสา…ไร้เดียงสาจนนึกว่าความยากจนเป็นอาชญากรรมที่ความร่ำรวยจะช่วยให้พวกเขาลืมได้
จากสมุดบันทึกของ เจลาล ซาลิก
จากคำโปรยก่อนเข้าสู่เนื้อหาของนิยายที่บอกเล่าเรื่องราวของความรักของชายร่ำรวยกับหญิงสาวต่ำต้อยใน The Museum of Innocence ผลงานของ ออร์ฮาน ปามุก (Orhan Pamuk) นักเขียนรางวัลโนเบลปี 2006 ที่น่าจะสรุปเรื่องราวกว่า 621 หน้าได้ทั้งหมด
แต่ถ้าเรื่องราวของคนคนหนึ่งจะถูกสรุปลงเหลือแค่เพียงไม่กี่บรรทัด กล่าวอย่างถึงที่สุด ประวัติศาสตร์ก็คงไม่มีความจำเป็นต้องร่ำเรียน และทุกๆ อย่างก็เป็นเหมือนวัตถุในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทำได้เพียงมองดู ไม่อาจแตะต้อง
จริงๆ แล้ว คำถามสำคัญ อาจอยู่ที่ว่า “รู้แล้วได้อะไร?” น่าจะเหมาะสมมากกว่า
อิสตันบูลในยุคเดียงสา
เรื่องราวใน พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา เริ่มต้นในวันที่ 25 พฤษภาคม 1975 ตรงกับ พ.ศ. 2518 เป็นห้วงเวลาที่กรุงพนมเปญถูกยืดโดยกองกำลังเขมรแดง สงครามเวียดนามสิ้นสุดไปแล้วก่อนหน้านั้น และเป็นช่วงเวลาสามวันก่อนชนกลุ่มน้อยในพม่ารวมตัวกันเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหาร บ่ายวันนั้น เคมาล ชายหนุ่มวัย 30 เพิ่งจะร่วมรักกับ ฟูซุน เด็กสาวจากร้านขายของ ซันลิเซ ผู้มีสถานะเป็นญาติห่างๆ ของเขาเสร็จสิ้นด้วยความสุขสม ในขณะที่ตัวเคมาลนั้นมีคู่หมั้นที่ชื่อ สิเบล อยู่แล้ว และฟูซุนก็มีสถานะเป็นเพียงเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่กำลังเตรียมตัวเข้าสอบมหาวิทยาลัย
เรื่องราวความรักของเคมาลและฟูซุนเริ่มต้นแบบนั้นจากบทบอกเล่าในฐานะบุรุษที่หนึ่งโดยตัวเคมาลเอง แต่แท้จริงแล้วความรักของทั้งสองเริ่มต้นก่อนนั้นในวันที่ 27 เมษายน และดำเนินอย่างหลบซ่อนด้วยสถานะที่เคมาลมีคู่หมั้นแล้วประการหนึ่ง และด้วยสถานะที่พวกเขาต่างไม่พยายามมองมันอย่างแท้จริง (ซึ่งเราอาจจะคิดในทีหลังเมื่อปิดหน้าหนังสือลงแล้ว คือด้วยสายตาของนักเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่มองหาร่องรอยปริแตกของความทรงจำ) สถานะของความแตกต่างด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในเรื่องแต่งประโลมโลกความเรียง อันเป็นคำที่ ครูเหลี่ยม (หลวงวิลาศปริวรรต) ใช้เรียกนวนิยายไทยครั้งแรก พยายามจะบอกว่า ต่อให้ยากดีมีจนหรือร่ำรวยอย่างไร หากรักกันแล้ว เงินทองไม่ใช่อุปสรรคขวางกั้น
พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา จึงใช้เนื้อที่ของกระดาษไปทั้งหมด 621 หน้าเพื่อจะยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยบอกเล่าผ่านวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่เคมาลเก็บรวบรวมมาตลอดเวลานับตั้งแต่ปี 1976 ภายหลังความเดียงสานั้นได้สิ้นสุดหลังพิธีหมั้นอันหรูหราฟู่ฟ่าที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเขาและฟูซุน ที่ไม่ใช่ถูกขวางกั้นด้วยการที่เคมาลมีคู่หมั้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นอีกแล้ว
ในเวลานั้น ท่ามกลางฟลอร์เต้นรำ และเสียงแห่งความสุขในพิธีงานหมั้นที่ใครๆ ต่างกล่าวขานว่า ทั้งสิเบลและเคมาลนั้นเหมาะสมกัน และคงจะแต่งงานกันไม่นานหลังจากนั้น ภาพที่ปรากฏต่อหน้าฟูซุนคือตุรกีทั้งประเทศที่มีเส้นของความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนขวางกั้นระหว่างพวกเขาทั้งสองอยู่ และต่อให้รักกันเพียงไร หรือต่อให้เธอเชื่อว่าเคมาลจะยอมเลิกกับคู่หมั้นที่เหมาะสมกับเขาทุกประการ ทั้งด้วยสถานะการศึกษา ชาติตระกูล
ขนบธรรมเนียม และประเพณีอันเก่าแก่ก็ขวางกั้นไม่ให้เธอได้สมหวัง ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นพิธีหมั้น ฟูซุนจึงเลือกไปจากเคมาล เพื่อจะเติบโต เพื่อจะเรียนรู้ให้ซึ้งถึงสิ่งที่แม้เธอจะเฝ้าฝันให้ได้มาเพียงไร สิ่งๆ นั้นก็ไม่มีวันมาถึง และในครั้งนี้ คนที่ทำหน้าที่กั้นขวางเธอจากปรารถนากลับเป็นตัวเคมาลเอง
อิสตันบูลหลังจากนั้น
เรื่องราวต่อมาหลังจากความเดียงสาที่จบสิ้นลงไปในห้วงเวลาไม่กี่เดือนระหว่างฟูซุนและเคมาล ทิ้งไว้เพียงแต่คำถามในใจชายหนุ่มว่าฟูซุนทิ้งเขาไปเพราะเขาหาต่างหูที่ทำหล่นระหว่างร่วมรักในวันที่ 25 พฤษภาคม ไม่เจอ และไม่ยอมมากินอาหารมื้อค่ำที่บ้านของเธอเท่านั้นน่ะหรือ
เป็นเวลาเกือบปี ในวันที่ 19 พฤษภาคม 1976 เคมาลจึงได้เดินทางไปพบกับครอบครัวฟูซุน หลังยกเลิกการหมั้นกับสิเบล หลังพยายามตามหาฟูซุนทุกๆ ช่องทาง ทุกๆ ถนน ที่เขาเชื่อว่าเธอเคยย่ำผ่าน เพื่อสูดกลิ่นของความทรงจำที่เชื่อว่าเธอได้ทิ้งร่องรอยเอาไว้ แล้วจากนั้น เคมาลจึงใช้เวลาอีกแปดปี ทำสิ่งเดียวคือ ไปกินมื้อค่ำที่บ้านของฟูซุนที่ปรากฏว่าได้แต่งงานไปแล้วทุกๆ วันตลอดแปดปี โดยรับรู้ว่าการที่แม่ของฟูซุนเปิดทางให้เขามาร่วมรับประทานอาหารเพื่อให้เขาช่วยลูกเขยผู้เป็นนักเขียนบทภาพยนตร์เล็กๆ สานฝันความอยากจะเป็นดาราของลูกสาวให้เป็นจริงด้วยสถานะจากความร่ำรวยของตัวเคมาล
ทว่าทั้งด้วยความหึงหวง ที่เคมาลไม่เคยมองตัวเองเหมือนกับหลายๆ สิ่งของวัตถุที่เขาเก็บรวบรวมมาตลอดเพื่อจะทำได้เพียงมองดูมันเท่านั้นใน พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ในอีก 20 ปีให้หลัง เคมาลขวางกั้นความฝันฟูซุนจากสถานะของความเป็นชายตามจารีตอิสลามในตุรกีที่ยังหน้าบางในการยอมรับให้หญิงคนรักของตนเองทำงานเป็นนักแสดง
จนกระทั่งเมื่อเคมาลต้องสูญเสียฟูซุนไปอีกครั้ง และครั้งนี้อย่างไม่มีวันหวนกลับ สิ่งที่เขาทำได้จึงมีเพียงการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ทั่วโลก เพื่อกลับมาเปิด พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา ซึ่งแม้ตามจุดประสงค์ความตั้งใจของเคมาล คือเพื่อจะบอกใครๆ ที่ได้มาเยี่ยมชมว่าฟูซุนนั้นงดงามเพียงไร และชีวิตของเขาที่ได้มีโอกาสรักเธอนั้นมีความสุขเพียงไร
แต่ที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงของ พิพิธภัณฑ์แห่งความไร้เดียงสา คงจะเหมือนที่ฮอร์อาน ปามุก ซึ่งมาปรากฏตัวในเรื่องแต่งตัวเองในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวของเคมาลและฟูซุนด้วยสายตาบุรุษที่หนึ่งของเคมาลเอง ได้ปรารภไว้มากกว่าว่า
เมื่อผู้มาชมชื่นชมกับข้าวของและระลึกถึงฟูซุนกับเคมาลด้วยความเคารพตามควร พวกเขาจะเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของคนรักแบบเดียวกับเรื่องเล่าของเลย์ลากับมัชมัน หรือฮุซน์กับอัชค์ แต่เป็นเรื่องราวของอาณาจักรแห่งหนึ่ง ซึ่งก็คืออิสตันบูล
…แด่ เอวารินทร์