WAY to READ: On Dialogue สุนทรียสนทนา

ในฐานะของนักฟิสิกส์ และในฐานะที่ร่างวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรก ผู้ถูกกีดกันจากการมีส่วนร่วมเพราะแนวความคิดทางการเมืองแตกต่างจากลัทธิเอียงขวาในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น เดวิด โบห์ม (David Bohm) อาจถูกรู้จักในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานกับไอน์สไตน์ และเป็นผู้เขียน ‘ทฤษฎีควอนตัม’ ซึ่งกล่าวอย่างตรงไปตรงมาก็อาจมองได้ว่าควอนตัมเป็นเรื่องที่อยู่พ้นการรับรู้ของบุคคลทั่วไป

จะมีสักกี่คนที่เข้าใจจริงๆ ว่าควอนตัมคืออะไร?

หากพิจารณาจากหนังสือในเล่มต่อๆ มาของโบห์ม อาจพอเห็นร่องรอยได้ว่าความสนใจของนักฟิสิกส์ผู้นี้ไม่ได้มองขึ้นไปยังเวิ้งฟ้าเบื้องนอกโลกของเราอย่างที่นักฟิสิกส์หรือนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมักเป็น โบห์มสนใจเรื่องสำรวจจิตและการเติบโตด้านในของตัวเอง ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของสำนักพิมพ์ที่ระบุว่า

…งานเขียนของเดวิด โบห์ม ว่าด้วยความสร้างสรรค์ (On Creativity) อาจจะเป็นที่รู้จักไม่น้อยไปกว่า ว่าด้วยสุนทรียสนทนา (On Dialogue) โดยเขาชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของสองสิ่งนี้ การจะค้นพบแหล่งความสร้างสรรค์ ซึ่งโดยทั่วไปเชื่อว่าความสร้างสรรค์นั้นซ่อนอยู่ในความลึกซึ้งของจิตและห้วงคำนึงของปัจเจกบุคคล หากโบห์มเชื่อว่าเกิดจาก ‘พื้นที่ว่าง’ ของกลุ่มสนทนาที่เอื้อต่ออิสรภาพแห่งการสนทนาแบบไม่วางเงื่อนไข เปิดหน้าต่างสู่ขอบฟ้ากว้างต่อมุมมองอันสร้างสรรค์และความเป็นไปได้

ต่างๆ…ระหว่างสสาร

เอาแค่ความเข้าใจเบื้องต้นก่อน เรารับรู้กันว่า ‘สสาร’ นั้นอยู่รอบตัว กระทั่งในตัวเรา ตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ควบแน่นอยู่ภายในสิ่งที่เรียกว่าอะตอม คำถามของนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์คือมีอะไรอยู่ระหว่างอะตอมไหม?

On Dialogue คือหนังสือที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อตอบคำถามนั้น แต่เป็นคำตอบเพื่อสร้างสิ่งที่สำคัญกว่าการค้นหาลงไปในอะตอมว่ามีอะไรอยู่ระหว่าง คำตอบนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของการสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เพื่อสร้างสันติสุข สร้างไมตรีให้เกิดขึ้นระหว่างบุคคลไปจนถึงระดับรัฐต่อรัฐ

โบห์มเขียนไว้ว่า

…เป้าประสงค์ของสุนทรียสนทนามิได้เป็นไปเพื่อวิเคราะห์สิ่งใดๆ หรือเพื่อเถียงให้ชนะ หรือเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เป็นไปเพื่อระงับยับยั้งความคิดของคุณเอง และคอยมองความคิดเห็นนั้น คอยรับฟังความคิดเห็นของทุกๆ คน และระงับยับยั้งมันไว้ และเฝ้ามองว่าสิ่งเหล่านั้นหมายถึงอะไร…

เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าอะตอมในร่างกายมนุษย์กับอะตอมในท่อนเหล็กท่อประปา และในแก้วน้ำที่เราดื่ม เป็นอะตอมเดียวกัน แต่มนุษย์แยกแยะสิ่งที่นำเข้าร่างกายได้กับสิ่งที่นำเข้าร่างกายไม่ได้ น้อยคนที่จะกินแก้วน้ำเปล่าๆ หรือท่อนเหล็กทั้งดุ้น ถ้าฟันคุณแข็งแรงพอ คงไม่มีใครห้าม

ทว่า…หากลองคิดตามสิ่งที่โบห์มเขียน แม้เรากับสิ่งต่างๆ จะประกอบสร้างขึ้นจากอะตอมเดียวกัน เมื่อเราตาย หรือเมื่อสิ่งต่างๆ นั้นถูกทำลายไป อะตอมทั้งหลายจะลอยล่องไปในช่องว่างระหว่างอากาศและเวลา

กระนั้น ในฐานะที่เปรียบตัวเองเป็นสิ่งภูมิปัญญาที่สุดบนพื้นพิภพ มนุษย์เรายังเต็มไปด้วยปัญหาของการสนทนาทั้งในระดับปัจเจกไปจนถึงระดับชาติ

ลำพังแค่จะคุยกับคนรักเช่นไรไม่ให้เกิดปัญหายังเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าขบโจทย์คณิตศาสตร์ขั้นสูงด้วยซ้ำ

โบห์มจึงเสนอแนวคิดที่จะศึกษาแก่นแกนของบทสนทนาในทุกๆ ระดับ ซึ่งเบื้องต้นคือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าสุนทรียสนทนาคือการระงับความคิดเห็นของตัวเราเอง

เคยเป็นใช่ไหม เวลาทุ่มเถียงทะเลาะกับใครด้วยเรื่องอะไร เราจะลืมสำรวจตรวจสอบอารมณ์ความคิดตัวเอง เราปล่อยให้ความโกรธ อคติ อีโก้ ชักนำไปจนที่สุดก็ทำลายไม่เพียงการสนทนา แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างกัน ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะวางอยู่ในมิติของเพื่อน ครอบครัว คู่รัก รัฐชาติ

บทสนทนาในความเงียบ

โบห์มเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างไอน์สไตน์และบอห์ร (Niels Bohr) สองนักฟิสิกส์ที่เคยเป็นเพื่อนและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน แต่ต่างมีชุดความจริงคนละแบบ ที่สุดแล้วทั้งสองก็แยกทางกันไป กระทั่งหลายปีต่อมาเมื่อกลับมาพบกันที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน ทั้งสองก็ไม่รู้จะพูดคุยอะไรกัน ทั้งที่เคยพูดคุยกันมากมาย

เวลาเราโกรธกับเพื่อน คนรัก หรือในครอบครัว คำพูดที่มักได้ยินบ่อยๆ คือ แยกๆ กันไปก่อน ให้อารมณ์สงบลง อันที่จริงพอพิจารณาตามสิ่งที่โบห์มเขียน น้อยคนจริงๆ ที่จะเข้าใจว่าอารมณ์สงบไม่ได้หมายถึงอารมณ์นั้นหายไป แท้ที่จริงความโกรธและปมปัญหาระหว่างกันยังคงอยู่ มันถูกฝังในความเงียบของการไม่สนทนาระหว่างกัน

คำถามคือระหว่างความเงียบนั้น ถ้าคนหนึ่งใส่ใจที่จะยังสานสัมพันธ์ต่อ ความเป็นไปได้ในการก่อสนทนาขึ้นใหม่ก็จะเกิดขึ้น หากไม่แล้ว ความเงียบก็จะกลายเป็นการยุติความสัมพันธ์ไปในที่สุด โดยระยะเวลาของการผูกพันจะกลายเป็นความว่างเปล่าไปในทันที

ความคิดเช่นนี้จะโดยบังเอิญหรือไม่ก็ตาม พ้องกับสิ่งที่โบห์มเขียนไว้ในบทย่อย ‘เหนือสุนทรียสนทนา’ ที่ว่า

…ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารและแบ่งปันความหมายร่วมกัน ความรักก็จะจืดจางลง ความรักระหว่างไอน์สไตน์และบอห์รจางหายไปเพราะพวกเขาไม่สื่อสารกันได้ แต่ถ้าเราสื่อสารกันได้อย่างแท้จริง มิตรภาพ การมีส่วนร่วม ความสมานฉันท์ และความรักก็จะเจริญงอกงาม…

ไม่ได้จะบอกว่าเวลาโกรธ เกลียด ให้นั่งลงคุยกันดีๆ เพราะในห้วงอารมณ์เช่นนั้น โดยส่วนมากเรามักไม่ค่อยเห็นตัวเองอย่างแท้จริง การแยกตัวเองออกมาจากสถานการณ์เช่นนั้น ถึงที่สุดก็ยังจำเป็น ดังนั้น โบห์มจึงบอกว่าสุนทรียสนทนาโดยแท้แล้วคือการระงับยับยั้งความคิดตัวเอง เพื่อสร้าง ‘พื้นที่ของความเงียบ’ ระหว่างกัน แต่การสานต่อความสัมพันธ์แม้อีกฝ่ายอาจไม่อยากสนทนาด้วยแล้วก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน

หากไม่ใช่ในระดับปัจเจกที่การกลับมาคืนดีคือการบอกว่าฉันยังรักคุณ ในระดับสังคมและการเมือง สุนทรียสนทนาก็ยังเป็นการบอกว่าเราไม่ต้องมองความจริงเหมือนกัน แต่เราควรเข้าใจความหมายในความจริงของอีกฝ่าย ซึ่งสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรารับฟังความเห็นของผู้อื่น

ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนที่เราเห็นต่างเพียงไรก็ตาม

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า