เพลิงไพรวิทยา: วิทยาศาสตร์ของไฟป่าและสายลมที่รักษาสมดุลโลก

“ช่วงนี้มองเห็นดอยสุเทพไหม?”

“มองไม่เห็นมาหลายวันแล้ว ฝุ่นเยอะจนขาวโพลนไปหมดเลย”

บรรทัดแรกคือสิ่งที่ผมถามเพื่อนที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกครั้งก่อนจะเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าเพื่อเตรียมตัวไปเดินป่าและดูดาว ส่วนบรรทัดที่สองคือสิ่งที่เพื่อนของผมตอบกลับมาในช่วงหลายปีมานี้

คงไม่เกินจริงนักที่จะกล่าวว่าคนเชียงใหม่มี ‘ดอยสุเทพ’ เป็นเครื่องบ่งบอกคุณภาพอากาศของจังหวัดตัวเอง และเป็นเรื่องน่าเจ็บปวดอีกเช่นกันที่คนไทยต้องเผชิญกับฤดูฝุ่นควัน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการป่วยและโรคร้ายนานาประการติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปี เพราะความไร้ประสิทธิภาพและมนุษยธรรมของรัฐบาลเผด็จการ

ฝุ่นละอองที่คุกคามพวกเรามีแหล่งกำเนิดจากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมในครัวเรือน การคมนาคม การทำเกษตรกรรม การทำอุตสาหกรรม การผลิตไฟฟ้า การกำจัดของเสีย และปรากฏการณ์ธรรมชาติ

สำหรับบทความนี้ ผมจะเล่าสาระทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับ ‘ไฟป่า’ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของฝุ่นควันที่พรากอากาศบริสุทธิ์ สุขภาพที่ดี และชีวิตที่ยืนยาวไปจากพวกเรา

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไฟป่า

ไฟป่า (wildfire) หมายถึง เปลวไฟที่แผดเผาพืชพรรณและสิ่งมีชีวิตภายในป่าอย่างไร้การควบคุม ไฟป่าสามารถเกิดจากฝีมือมนุษย์ ปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือทั้งสองสาเหตุร่วมกัน การศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของไฟป่า พฤติกรรม ผลกระทบ การรับมือ และวิธีคาดการณ์ เรียกว่า วิทยาศาสตร์ของไฟป่า (wildfire science) แต่ผมชอบเรียกว่า ‘เพลิงไพรวิทยา’ หรือ ‘อัคคีไพรวิทยา’ มากกว่า (แม้จะขัดใจนักภาษาศาสตร์สักหน่อยก็ตาม)

ไฟป่าตามธรรมชาติมักจะเกิดเมื่อเงื่อนไขทางสิ่งแวดล้อมอยู่ในสภาวะ ‘ร้อนและแห้ง’ นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไฟป่าเริ่มปรากฏในช่วงปลายฤดูหนาว ปะทุอย่างรุนแรงระหว่างฤดูร้อน และหายไปอย่างรวดเร็วเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน โดยไฟป่าจะเริ่มลุกไหม้จากจุดเล็กๆ แล้วลามไปบนเชื้อเพลิงตามทิศทางที่ลมพัดผ่าน ปกติแล้วไฟป่าจะลามค่อนข้างช้าบนพื้นราบ แต่จะลามอย่างรวดเร็วบนพื้นลาดชัน เพราะปลายยอดของเปลวไฟและสะเก็ดไฟจะสัมผัสกับเชื้อเพลิงบนที่สูงแล้วลุกลามต่อไปเรื่อยๆ หากไฟป่ามีขนาดใหญ่และมีกำลังแรงมากพอ มวลของอากาศร้อนรอบกองไฟจะยกตัวสูงขึ้นแล้วทำให้เปลวไฟไต่ลามขึ้นไปตามเนินเขา เรียกว่า ผลกระทบปล่องควัน (chimney effect)

การลามของไฟป่าตามทิศทางลม / photo: ดัดแปลงจาก Wikipedia

เมื่อไฟป่าแผดเผาเชื้อเพลิงจนหมด เปลวไฟจะมอดดับลง ทิ้งไว้เพียงเศษซากไหม้ดำของสิ่งมีชีวิต เถ้าถ่านบนพื้นดิน และฝุ่นควันที่ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า กระแสลมจะพัดพาเขม่าควันให้แพร่กระจายไปยังสถานที่ต่างๆ ก่อนจะร่วงหล่นลงสู่พื้นผิวโลกอีกครั้ง แต่หลายครั้ง เขม่าควันเหล่านั้นก็อาจเข้ามาตกค้างอยู่ภายในระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิตและสร้างปัญหาทางสุขภาพเรื้อรังในระยะยาว การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับไฟป่าจึงเป็นสิ่งสำคัญ

การเกิด การลุกลาม และประเภทของไฟป่า

หลายสิบปีที่ผ่านมา หนังสือเรียนและแหล่งอ้างอิงส่วนใหญ่จะบอกว่าไฟป่าเกิดจากการเสียดสีกันของกิ่งไม้แห้ง อากาศที่ร้อนจัด และฟ้าผ่า แต่ความจริงแล้ว สะเก็ดไฟที่เกิดจากการตกกระทบกันของก้อนหิน การปะทุของภูเขาไฟ และพฤติกรรมของสัตว์บางชนิดก็เป็นสาเหตุของไฟป่าได้เช่นกัน

นกบางชนิดจะคาบกิ่งไม้ติดไฟมาทิ้งลงบนทุ่งหญ้าเพื่อไล่ต้อนสัตว์ขนาดเล็ก / photo: Bob Gosford

การลุกไหม้ของไฟสามารถอธิบายด้วย ‘สามเหลี่ยมแห่งไฟ’ (fire triangle) ที่ประกอบด้วยเชื้อเพลิง (fuel) ความร้อน (heat) และออกซิเจน (oxygen) แต่บางครั้งจะมีการนำปัจจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาลูกโซ่ (chain reaction) ที่ส่งผลต่อการลุกไหม้ของไฟเข้ามาพิจารณาด้วย แล้วเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า จัตุรมุขแห่งไฟ (fire tetrahedron)

ตามหลักการแล้ว สามเหลี่ยมแห่งไฟยังไม่เพียงพอที่จะนำมาอธิบายพฤติกรรมของไฟป่าได้อย่างครบถ้วน เพราะมันสามารถอธิบายได้เพียง ‘การลุกของไฟ’ เท่านั้น แต่ไม่สามารถอธิบาย ‘การลามของไฟ’ ได้ ซึ่งตรงจุดนี้เราจะต้องนำ ‘สามเหลี่ยมพฤติกรรมแห่งไฟป่า’ (wildland fire behavior triangle) ที่ประกอบด้วยลักษณะของเชื้อเพลิง ลมฟ้าอากาศ (weather) และภูมิประเทศ (topography) เข้ามาช่วยอธิบาย หากสภาวะดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและคงอยู่เป็นเวลานานหลายสิบปี เราอาจพิจารณาลักษณะของไฟป่าด้วยภูมิอากาศ (climate) การเผาไหม้ (ignition) และพืชพรรณ (vegetation) เรียกว่า ระบบแห่งไฟ (fire regime)

ลักษณะของไฟป่าที่แปรผันตามขนาดของพื้นที่และระยะเวลา / photo: ดัดแปลงจาก Moritz et al. (2005).

พูดง่ายๆ คือ ไฟป่าจะ ‘ลุก’ และ ‘ลาม’ ได้ง่าย หากพื้นที่บริเวณนั้นหันหน้ารับแสงอาทิตย์ที่ร้อนแรงเป็นเวลานาน มีความลาดชันที่เหมาะสม มีฝนตกน้อย มีความชื้นในดินต่ำ มีลมพัดแรง และมีพืชพรรณที่ติดไฟง่ายกระจายตัวอยู่ กรณีที่เชื้อเพลิงมีปริมาณ ขนาด รูปร่าง น้ำมันในเนื้อเยื่อ ความชื้น ลักษณะการวางตัว และระยะเวลาสัมผัสความร้อนที่เหมาะสม เมื่อไฟป่าลุกไหม้ขึ้นมา เปลวไฟจะลามเลียไปบนเชื้อเพลิงจนยากที่จะหยุดยั้ง

เราสามารถแบ่งไฟป่าออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. ไฟใต้ดิน (ground fire) คือ ความร้อนของไฟป่าที่ระอุอยู่ใต้พื้นดิน ไฟป่าประเภทนี้จะสังเกตเห็นได้ยาก
  2. ไฟผิวดิน (surface fire) คือ ไฟป่าที่เผาผลาญสิ่งต่างๆ บนพื้นดินและสามารถลามขึ้นสู่ยอดไม้ได้
  3. ไฟเรือนยอด (crown fire) คือ ไฟป่าที่ลุกไหม้เรือนยอดของต้นไม้และสามารถลามไปที่ยอดไม้ข้างเคียงได้
ประเภทของไฟป่า / photo: Government of Ontario

เมื่ออุณหภูมิของอากาศใกล้พื้นผิวโลก (near-surface air temperature) มีค่าประมาณ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) มีค่าประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ และมีความร้อนสะสมบนพื้นผิวโลกต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง สภาวะดังกล่าวถือเป็น ‘จุดเสี่ยง’ ต่อการเกิดไฟป่า

หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าข้อมูลนี้มีจุดสังเกตที่น่าสนใจ เพราะแม้ว่าแดดของประเทศไทยจะร้อนแรงราวเพลิงนรก แต่ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยกลับมีค่าสูงถึง 76 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่าไฟป่า ‘เกือบ’ ทั้งหมดในประเทศไทยเกิดจากฝีมือมนุษย์นั่นเอง!

นักวิทยาศาสตร์คาดเดาได้อย่างไรว่า ไฟป่าเหตุการณ์ไหนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไฟป่าเหตุการณ์ไหนเกิดจากฝีมือมนุษย์ คำตอบคือ ‘การวิเคราะห์วิถีไฟ’ (fire path analysis) เพราะไฟป่าตามธรรมชาติมักจะลุกลามเป็นหย่อมและเกิดในช่วงเวลาบ่าย ส่วนไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มักจะลุกลามเป็นทางยาวและเกิดหลายแห่งพร้อมกันแบบไม่เลือกช่วงเวลา

ไฟป่าที่เกิดจากฝีมือมนุษย์มักจะลุกลามเป็นทางยาว

หากผู้อ่านท่านใดเป็น ‘สายเนิร์ด’ สักหน่อยอาจลองศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลุกและการลามของไฟป่าจากทฤษฎีของจอร์จ บายแรม (George M. Byram) และริชาร์ด โรเทอร์เมล (Richard C. Rothermel) เพราะทั้ง 2 ท่านถือว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ ที่นำความรู้ทางฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาวางรากฐานเกี่ยวกับการสร้างแบบจำลองเพื่อทำนายพฤติกรรมของไฟป่าเลยทีเดียว

ผลกระทบของไฟป่า

ไฟป่ามีผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างทั้งตอนที่กำลังลุกโชนและหลังจากมอดดับไปแล้ว โดยเราสามารถจำแนกผลกระทบของไฟป่าออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  1. ผลกระทบต่อบรรยากาศ
  • มลภาวะอากาศและก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาลถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศ
  • อากาศร้อนรอบไฟป่าที่ลอยตัวสูงขึ้นจะทำให้แบคทีเรียและเชื้อราบนพื้นดินบางชนิดลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า แล้วปลิวไปตามกระแสลมเป็นระยะทางไกล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ การศึกษาดังกล่าวเรียกว่า อัคคีอากาศชีววิทยา (pyroaerobiology)
  • เกิดเมฆฝนฟ้าคะนองจากไฟป่า เรียกว่า ไพโรคิวมูโลนิมบัส (pyrocumulonimbus)
  • ท้องฟ้าบางแห่งกลายเป็นสีส้ม-แดง เพราะฝุ่นละอองทำให้แสงอาทิตย์เกิดการกระเจิงแบบเรย์ลี (Rayleigh Scattering)
  • ไฟป่าขนาดใหญ่จะส่งความความร้อน กระแสลม ความชื้น และฝุ่นละออง ให้ลอยไปยังสถานที่ห่างไกล แล้วทำให้พายุมีความรุนแรงมากขึ้น
  • ฝุ่นสีดำจากไฟป่าที่ปลิวไปตกบนธารน้ำแข็งจะทำให้ค่าการสะท้อนรังสี (albedo) ลดลง น้ำแข็งจึงสะสมความร้อนได้ง่ายและละลายเร็วขึ้น
  • เกิดการอุ่นขึ้นอย่างกะทันหันของบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ (sudden stratospheric warming)
  • เกิดการทำลายโอโซน (ozone depletion) ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์
  • ฝุ่นละอองทำให้เกิดภาวะโลกมัว (global dimming) คุณภาพอากาศและอุณหภูมิของโลกจึงลดลง
  1. ผลกระทบต่อดิน
  • ไฟป่าจะเร่งการผุพังของดิน ตะกอนจึงถูกลมและน้ำกัดเซาะได้ง่ายขึ้น
  • ค่าความเป็นกรด-เบสของดินเปลี่ยนแปลงไป
  • ความอุดมสมบูรณ์และความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของดินลดลง
  1. ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ
  • ตะกอนบนหน้าดินที่ถูกน้ำกัดเซาะจะไหลลงสู่แหล่งน้ำ น้ำจึงขุ่น ตื้นเขิน และเกิดน้ำท่วมได้ง่าย
  • ปริมาณธาตุอาหารในแหล่งน้ำแปรปรวนจนเกิดปรากฏการณ์สาหร่ายสะพรั่ง (algal bloom)
  • คุณภาพของน้ำลดลง
  1. ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต
  • ความร้อนและฝุ่นละอองจากไฟป่าเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
  • ไฟป่าทำลายความอุดมสมบูรณ์ของจุลินทรีย์ เห็ดรา พืช สัตว์ และระบบนิเวศโดยรวม
  • ตะกอนที่ไหลลงสู่แหล่งน้ำจะทำให้ระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำเกิดการอุดตัน

แม้ว่าไฟป่าจะมีผลเสียต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรวม แต่ไฟป่าก็มีผลดีต่อพืชและสัตว์บางชนิดด้วยเช่นกัน เพราะไฟป่าจะช่วยขับไล่สิ่งมีชีวิตต่างถิ่น (alien species) ออกไปจากระบบนิเวศ ช่วยควบคุมจำนวนของพืชในป่าไม่ให้มีมากจนเกินไป ช่วยกระตุ้นการงอกของเมล็ดพืช (serotiny) ที่เป็นอาหารของสัตว์ ช่วยทำลายใบของพืชที่ย่อยสลายยากให้กลายเป็นธาตุอาหาร (เช่น พืชตระกูลสน) และช่วยกำจัดแมลงกับเชื้อราที่กำลังกัดกินพืช ศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศกับไฟมีชื่อว่า นิเวศวิทยาไฟ (fire ecology)

ไฟป่ากระตุ้นการแตกเมล็ดของต้น Banksia serrata / photo: Kurt Stüber

ความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับไฟป่า

หลายสิบปีที่ผ่านมามีความเชื่อว่า ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสน และป่าทุ่ง จำเป็นต้องถูกไฟเผา เพราะหากไม่มีไฟป่า ป่าเหล่านี้จะแปรเปลี่ยนไปเป็นป่าแบบอื่น ใบไม้จะสะสมตัวเป็นเวลานานหลายปีจนกลายเป็นเชื้อเพลิงปริมาณมหาศาล และไฟป่าจะช่วยกระตุ้นให้เมล็ดพืชงอกได้เยอะขึ้น ความเชื่อดังกล่าวกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้คนบางกลุ่มเริ่มจุดไฟเผาป่า เพราะคิดว่าพวกตนกำลังช่วยเหลือธรรมชาติ 

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าความเชื่อข้างต้นอาจไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงด้วยเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1: การที่ป่าแบบหนึ่งจะแปรเปลี่ยนไปเป็นป่าอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของ ‘เงื่อนไขการเกิดป่า’ ได้แก่ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น ไฟป่าตามธรรมชาติที่นานทีปีหนจะเกิดขึ้นสักครั้งจึงเพียงพอแล้วที่จะรักษาเสถียรภาพของป่า การจุดไฟเผาป่าบ่อยๆ ต่างหากที่เป็นการเร่งให้ระบบนิเวศของป่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบผิดธรรมชาติ

ประการที่ 2: ใบไม้ที่ตกอยู่บนพื้นดินจะช่วยลดการระเหยของความชื้นในดิน (คล้ายหลักการฟางคลุมดิน) เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ซากใบไม้จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์และสัตว์ขนาดเล็กแล้วกลายเป็น ‘ปุ๋ยธรรมชาติ’ ที่คอยหล่อเลี้ยงผืนป่า ในทางกลับกัน การจุดไฟเผาป่าบ่อยๆ จะเป็นการทำลายจุลินทรีย์และสัตว์ขนาดเล็กที่ช่วยกำจัดซากใบไม้ เร่งการเกิดฝนกรด (acid rain) ที่สามารถชะลอการผุพังของซากใบไม้ และทำให้ความเป็นกรด-เบสของดินเปลี่ยนแปลงไป

ความจริงแล้ว แร่ในดินและเศษซากของใบไม้ก็คือ ‘ธาตุอาหาร’ นั่นเอง แต่ธาตุอาหารเหล่านี้ไม่ได้หล่อเลี้ยงเฉพาะสิ่งมีชีวิตภายในป่าเท่านั้น เพราะเมื่อฤดูแล้งหรือพายุมาเยือน กระแสลมจะพัดผ่านพื้นผิวดินที่แห้งผาก ธาตุอาหารจึงปลิวไปตามลม ก่อนจะร่วงหล่นลงสู่พื้นดินและมหาสมุทร ระบบนิเวศของบริเวณที่อยู่ห่างไกลออกไปจึงถูกหล่อเลี้ยงด้วยฝุ่นแร่ (mineral dust) ที่พัดมากับลม กลไกทางธรรมชาติที่คอยเกลี่ยธาตุอาหารบนพื้นผิวโลกสามารถพบในทะเลทรายและภูเขาไฟได้เช่นเดียวกัน การศึกษาดังกล่าวเรียกว่า นิเวศวิทยาของฝุ่น (ecology of dust) และนี่คือที่มาของสิ่งที่ผมเรียกว่า ‘สายลมที่รักษาสมดุลโลก’

ฝุ่นแร่ถูกพัดพาไปตามลมเป็นระยะทางไกล / photo: NASA Earth Observatory

ประการที่ 3: พืชส่วนใหญ่มีพฤติกรรมทางนิเวศวิทยาประชากร (population ecology) ที่เรียกว่า เส้นโค้งการรอดชีวิตแบบที่ 3 (survivorship curve type III) พูดเป็นภาษามนุษย์ทั่วไปก็คือ พืชจะมีการปล่อยสปอร์ (spore) และเมล็ด (seed) ออกสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก เมล็ดส่วนใหญ่จะฝังตัวอยู่ในดิน เรียกว่า ธนาคารเมล็ดพันธุ์ (seed bank) เมล็ดส่วนหนึ่งจะกลายเป็นอาหารของสัตว์กินเมล็ด (seed predator) เมล็ดอีกส่วนหนึ่งจะตายจากไปตามธรรมชาติ และมีเพียงเมล็ดจำนวนน้อยนิดที่สามารถงอกเป็นต้นที่สมบูรณ์ สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะธรรมชาติจำเป็นต้องควบคุมจำนวนของพืชในป่าไม่ให้มีมากเกินไปจนแก่งแย่งอาหารและที่อยู่ของกันและกัน

ปกติแล้ว เมล็ดที่ฝังตัวอยู่ในดินจำเป็นต้องจำศีลอยู่ในสภาวะพักตัว (dormancy state) เพื่อรอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการเติบโต แต่เมื่อป่าถูกเผาด้วยไฟ เมล็ดภายในดินจะถูกกระตุ้นให้งอกออกมาพร้อมๆ กัน พืชจำนวนมากจึงถูกผลักเข้าสู่สภาวะการแข่งขัน (competition state) เพื่อแย่งชิงทรัพยากรจากกันและกัน ผลที่ตามมาคือ พืชที่แข็งแกร่งจะเอาชนะพืชที่อ่อนแอ พืชบางชนิดอาจลดจำนวนลง หรือพืชจำนวนหนึ่งอาจอยู่ในสภาวะแคระแกร็น ผลลัพธ์สุดท้ายคือมวลรวมของเนื้อไม้จะถูกจำกัดอยู่ที่ตัวเลขค่าหนึ่ง เรียกว่า กฎการบางตัวด้วยตนเอง (self-thinning rule) และเมื่อไฟป่ารอบใหม่กลับมาเยือน ลำต้นของพืชที่เบียดเสียดติดกันจะยิ่งทำให้เปลวไฟสามารถลามจากไม้ต้นหนึ่งไปสู่ไม้อีกต้นหนึ่งได้ง่ายขึ้น คราวนี้แหละหายนะของจริง!

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรทราบคือ ป่าที่ถูกไฟเผาบ่อยๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานหลายปีอาจกลายเป็น ‘มิออมโบ’ (miombo) ซึ่งเป็นระบบนิเวศแบบทุ่งหญ้าผสมกับไม้พุ่มที่อาจดึงดูดสัตว์บางชนิดเข้ามาแทะเล็มพืชพรรณอย่างผิดธรรมชาติจนทำให้คุณภาพดินเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงไม่ต่างจากการล่อลวงให้สัตว์จากที่หนึ่งย้ายไปหากินอีกที่หนึ่ง เรียกว่า การย้ายถิ่นอาศัย (habitat shift)

ระบบนิเวศแบบมิออมโบ / photo: Thomas Wagner

วิธีการรับมือไฟป่า

ปัจจุบัน พื้นที่ป่าของประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 31 เปอร์เซ็นต์ แถมป่าเหล่านั้นก็ไม่ใช่ ‘ป่าบริสุทธิ์’ เสียด้วย แต่ถูกแบ่งออกเป็นป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน และป่าเศรษฐกิจ ที่มีคนจำนวนหนึ่งเข้าไปใช้ประโยชน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (ทั้งด้านที่เหมาะสมและด้านที่ไม่เหมาะสม) ดังนั้น ตราบใดที่ยังมีคนอาศัยอยู่ในป่า ไฟป่าก็จะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ เราจึงไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าไฟป่าตามธรรมชาติมีจำนวนเท่าใด ไฟป่าจากฝีมือมนุษย์มีจำนวนเท่าใด และทำให้การป้องกันการลักลอบเผาป่าเป็นไปได้ยากยิ่ง

ทุกวันนี้ เราสามารถมองหาจุดร้อน (hot spot) ของไฟป่าด้วยดาวเทียมที่โคจรอยู่ในอวกาศ เฝ้าระวังการลุกไหม้ของไฟป่าด้วยการบินโดรนสำรวจ การติดตั้งกล้องดักถ่าย และการเดินเท้า แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือปัจจุบันมีแนวคิดที่เรียกว่า ‘การชิงเผา’ (early burning) ซึ่งเป็นการเผาซากใบไม้ที่ทับถมอยู่ในป่าให้มีปริมาณลดลงก่อนที่จะถึงฤดูแล้ง โดยทำการควบคุมการเผา (controlled burning) ให้ไฟป่าลุกลามเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด เพราะเชื่อว่าสามารถลดความรุนแรงของไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

ผมต้องขออธิบายก่อนว่า การชิงเผา (เคย) เป็นที่นิยมในต่างประเทศที่มีไฟป่าตามธรรมชาติเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ผลการศึกษาระยะหลังกลับพบว่าการชิงเผาจะเร่งการปล่อยฝุ่นควันออกสู่บรรยากาศโดยไม่จำเป็น ทำลายความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ลดทอนความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ความชุ่มชื้นในดินลดลง และบางครั้งเปลวไฟก็โหมลามอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้การชิงเผาถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นวิธีการควบคุมไฟป่าที่เหมาะสมจริงหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าการชิงเผาไม่เหมาะสมอย่างยิ่งกับภูมิอากาศแบบร้อน-ชื้นของประเทศไทย

สำหรับมาตรการรับมือไฟป่าระยะสั้น รัฐบาลจะต้องจัดการกับการลักลอบเผาป่าอย่างเด็ดขาดและควรมีการปิดป่าชั่วคราวเพื่อป้องกันการบุกรุก ส่วนมาตรการระยะยาวจำเป็นต้องปฏิรูปการเกษตร การจัดสรรที่ดิน และการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยทำการปรับเปลี่ยนชนิดของพืชที่ปลูกพืช กำหนดขอบเขตที่ดินให้ชัดเจน พัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม และทลายกลุ่มคนที่อยู่เบื้องหลังการทำลายป่า

ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งที่มนุษยชาติจำเป็นต้องรีบตระหนักก็คือ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เพราะความแปรปรวนของภูมิอากาศ (climate variation) จะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) คลื่นความร้อน (heat wave) และคู่ขั้วมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Dipole) มีกำลังแรงขึ้น ผลคือ ‘ภาวะแห้งแล้ง’ จะทวีความรุนแรงและยาวนานกว่าเดิม ซึ่งแนวทางการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ยังคงคลุมเครือจนแทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

การฟื้นฟูธรรมชาติหลังการเกิดไฟป่า

ความเชื่อที่ว่า ‘ป่าที่ดี’ คือป่าที่มีพืชพรรณเป็นจำนวนมากและมีสีเขียวขจีตลอดปี ถือเป็น ‘มายาคติ’ ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ความจริงแล้ว ป่าธรรมชาติแบ่งออกเป็นป่าไม่ผลัดใบ (evergreen forest) กับป่าผลัดใบ (deciduous forest) ซึ่งป่าแต่ละแห่งจะมีชนิดและจำนวนของพืชที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่มีป่าแบบใดมีคุณค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าป่าแบบอื่น แต่ไฟป่ามักจะเกิดในป่าผลัดใบมากกว่าป่าไม่ผลัดใบ

หลังจากไฟป่าผ่านพ้นไป ป่าที่เคยเขียวขจีจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นเศษซากไหม้ดำ ภาพที่น่าหดหู่เช่นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าป่าแห่งนั้นได้ตายไปแล้ว แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย เพราะต้นไม้บางชนิดมีเปลือกหนาที่สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดี ส่วนดินก็เป็นวัตถุที่นำความร้อนได้แย่ แต่เก็บรักษาความชื้นได้ดี เมื่อเวลาผ่านไป เมล็ดพันธุ์ในดินจึงงอกขึ้นมาทดแทน เรียกว่า การฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ (natural regeneration) ด้วยเหตุนี้ คำว่า ‘ป่าเสื่อมโทรม’ จึงเป็นเพียงสภาวะชั่วคราวของป่าที่ถูกทำลาย ไม่ใช่สภาวะถาวรของป่าที่จะคงอยู่ตลอดไป

ในทางกลับกัน หากมนุษย์ทำการฟื้นฟูป่าด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมก็อาจนำผลเสียมาสู่ธรรมชาติได้มากกว่าผลดี ตัวอย่างที่พบบ่อยคือการรีบนำต้นกล้าจำนวนมากเข้าไปปลูกทดแทนในป่าที่ถูกทำลาย การโปรยหว่านเมล็ดพันธุ์ทางอากาศ การทำแนวกันไฟ การสร้างฝาย การขุดคลองไส้ไก่ และการทำป่าเปียก เนื่องจากต้นไม้และเมล็ดพันธุ์แปลกปลอมจะเข้ามาแทนที่เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในดิน เรียกว่า ผลกระทบจากการแทนที่ (replacement effect) ส่วนแนวกันไฟ ฝาย คลองไส้ไก่ และป่าเปียก จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับป่าแค่เพียงระยะแรก แต่จะมีผลเสียระยะยาวต่อระบบนิเวศ การถ่ายโอนตะกอน และการกระจายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

ก่อนจบบทความ ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยของอะมิเตช กุพตา (Amitesh Gupta) ซึ่งตีพิมพ์ลงในวารสาร Current Science เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา โดยคณะนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมอะควา (Aqua) และดาวเทียมเทอร์รา (Terra) ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ซึ่งมีระบบ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) สำหรับตรวจวัดการแผ่รังสีความร้อนของแผ่นดิน มหาสมุทร และบรรยากาศ

ผลการศึกษาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะคณะนักวิจัยพบว่าการล็อกดาวน์ (lockdown) เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนของไฟป่าบริเวณด้านตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัยที่ลดลงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับข้อมูลทางสถิติตลอด 15 ปีที่ผ่านมา งานวิจัยนี้จึงเป็นการตอกย้ำว่า ไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์!

ผมหวังว่ารัฐบาลใหม่ (ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย) จะสามารถนำพาคนไทยหลุดพ้นออกจากม่านหมอกของฝุ่นควันได้สำเร็จ ก่อนที่ความเหลื่อมล้ำจากอำนาจรัฐและนายทุนที่ไร้จริยธรรมจะบดบังความหวังของประชาชนไปจนหมดสิ้น เพราะผมเองก็อยากกลับไปเดินป่าและดูดาวบนดอยสุเทพแล้วเหมือนกัน

อ้างอิง:

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า