Chef’s Table หยุดขี้เถ้าในป่าภาคเหนือ ก่อนส่งตรงถึงจานอาหาร

Our Mountain, Our Breath

แสบจมูก แสบตา หายใจไม่ออก

ย้อนไปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 พื้นที่ภาคเหนือในหลายจังหวัดต้องเผชิญกับสถานการณ์มลพิษทางอากาศ ประชาชนทุกคนต้องอยู่กับอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินกว่าค่ามาตรฐาน วิกฤตหมอกควันกลืนเมือง ส่งผลให้จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศแย่ที่สุดในโลก ปัญหาที่ตามมาคือผลกระทบด้านสุขภาพ เกิดเป็นอาการเจ็บป่วยต่างๆ หลายครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเพราะต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลตนเอง การค้าขายเงียบเหงา โรงเรียนหยุดเรียน แหล่งท่องเที่ยวซบเซา

ไม่ต่างจากหลายพื้นที่ในเขตเมือง เราต้องจำใจปะทะหน้ากับฝุ่น PM 2.5 จากระบบขนส่งและโรงงานอุตสาหกรรมอย่างอดกลั้น ไม่รู้ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีอะไรได้ดีไปกว่าการต่อแถวซื้อเครื่องฟอกอากาศในห้างสรรพสินค้าจนขาดตลาด หรือการหาซื้อหน้ากากอนามัยลักษณะพิเศษที่เคลมประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นขนาดเล็กได้มาสวมใส่ 

ความปั่นปวนของคุณภาพอากาศในประเทศที่ดูเลวร้ายเช่นนี้ กำลังเปิดไซเรนบอกกับเราว่าโลกกำลังตกอยู่อันตราย

นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เกิด ‘ป่าเขา..ลมหายใจเรา’ โครงการ Chef’s Table ที่จัดขึ้นเพื่อระดมทุนจัดซื้อวัสดุและอุปกรณ์เพื่อรับมือกับไฟป่าตามความต้องการของพี่น้องทั้ง 9 ชุมชน 9 พื้นที่นำร่องในภาคเหนือ ทั้งจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 นี้ พื้นที่ที่ประสบกับปัญหา มีดังนี้ 

  • บ้านปางมะกล้วย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
  • บ้านดอนเจียง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
  • บ้านห้วยอีค่าง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
  • ชุมชนบ้านมอวาคี อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่
  • บ้านหนองเต่า จ.เชียงใหม่
  • บ้านหินลาดใน บ้านหินลาดนอก บ้านผาเยือง จ.เชียงราย
  • บ้านป่าเกี๊ยะ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

แน่นอนว่าเป้าหมายของงานนี้มิใช่เพียงแค่การระดมทุนจีดซื้ออุปกรณ์ดับไฟเท่านั้น แต่ต้องการสร้างความตระหนักในเรื่องไฟป่า ให้เข้าใจปัญหา รู้สาเหตุที่มาที่ไป และชวนสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม จัดโดยเชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตริยเสนวรรธน์ เชฟและเจ้าของร้าน Samuay & Sons, ชัยธวัช จอมติ ปราชญ์ชาวบ้านและนักอนุรักษ์บ้านห้วยหินลาดใน, กัลยา เชอมือ นักสื่อสารด้านอาหารชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงเชฟอาสาอีกหลายท่านที่มารวมตัวกันเพื่อปักธงความสำเร็จ เพื่อร่วมสื่อสารถึงปัญหา

ไฮไลท์ของ ‘ป่าเขา..ลมหายใจเรา’ อยู่ที่การหยิบยกเอา ‘อาหาร’ ขึ้นมาเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับผู้ที่สนใจเข้าด้วยกัน การันตีด้วยฝีมือขั้นเทพของเชฟอาสารวม 10 ชีวิต เช่น เชฟตาม-ชุดารี เทพาคำ แชมป์จากรายการทำอาหาร Top Chef Thailand,  เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ เจ้าของร้าน Blackitch Artisan Kitchen ร้านอาหารสไตล์ Chef’s Table ชื่อดังในจังหวัดเชียงใหม่ และเหล่าเชฟอีกมากมายที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่น่าประทับใจของแต่ละพื้นที่ ผ่านรสชาติของวัตถุดิบที่ถูกรวบรวมจากป่า จากชุมชน หรือทรัพยากรนำมารังสรรค์เป็นเมนูต่างๆ โดยอาหารจะถูกเสิร์ฟเป็นสำรับ อาหารทุกเมนูจะมีบทบาทเสมอกัน ไมมีจานใดเด่นกว่าใคร เหมือนเชฟแต่คนละที่มารวมตัวออกแบบอาหารให้มันไปด้วยกัน เช่น แกงหยวกกล้วยนวล โดยต้นกล้วยนวล เป็นต้นกล้วยที่ลำต้นใหญ่ มีรสชาติหวาน รสชาติของวัตถุดิบเหมาะกับกินกับข้าวสวยร้อนๆ เช่นเดียวกับเมนูน้ำพริกถั่ว ซึ่งเป็นเมนูเอกลักษณ์ของชาวปกากะญอที่กินกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนกลายเป็นวัฒนธรรมก็จะเป็นหนึ่งในเมนูที่เสิร์ฟด้วย

โดยระหว่างทางไม่ลืมที่จะสื่อสารให้เข้าใจถึงปัญหาเรื่องไฟป่า ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สื่อสารองค์ความรู้ในการดับไฟที่สอดคล้องกับภูมิปัญญา รวมถึงการปรับตัวตามสถานการณ์ไฟป่าของพี่น้องในพื้นที่และการดำรงอยู่เพื่อส่งต่อฐานทรัพยากรอาหารให้ได้ 

ในแง่ของโลกทุนนิยม ทั้ง 9 หมู่บ้านเหล่านี้อาจจะสอบตกทางเศรษฐกิจ แต่ในแง่ของความยั่งยืนทางธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของวัตถุดิบ และเสน่ห์ของคนในหมู่บ้านที่ยังคงดำรงวิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้แทบร้อยเปอร์เซนต์ – นี่คงเป็นเหตุผลที่นำเชฟทั้งหลายมารวมตัวกัน เพื่อเปลี่ยน ‘ห้องครัว’ เป็น ‘ห้องเรียนรู้ป่า’

เขา คือ ภูเขาและป่าไม้

“เมื่อก่อนผมคิดว่าป่าคือเรื่องน่ากลัว ป่าต้องมีเสือ มีสัตว์ร้าย แต่เมื่อเราได้ไปสัมผัสจริงๆ การที่ป่ามีเสือ มันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว มันน่าดีใจมากนะ เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่ดีบอกว่าป่าสมบูรณ์ และชีวิตผมเปลี่ยนไปจากหลังตีนเป็นหน้ามือตั้งแต่เจอธรรมชาติ ผมรู้สึกเหมือนเราตัวเล็กนิดเดียว” 

เชฟแวน-เฉลิมพล โรหิตรัตนะ หนึ่งในเชฟอาสา เล่าถึงสาเหตุหนึ่งที่เลือกเข้ามาช่วยในโครงการนี้ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนโลก ตัวเองเป็นเพียงเชฟธรรมดาที่ถูกชักชวนมาเป็นส่วนหนึ่งโครงการ แต่สิ่งที่เชฟแวนอยากสื่อสารผ่านจานอาหารในครั้งนี้ แค่ต้องการอยากสะกิดโลกให้หันมามองดูว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้นกับป่าบ้าง

แม้ว่าปัญหาหมอกควันจากไฟป่าจะอยู่คู่ภาคเหนือมานานนับ 10 ปี แต่การสืบหาต้นตอของปัญหาไฟป่าในบางพื้นที่กลับกลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ไฟป่ามาจากไหน เราจุดไฟเพื่ออะไร จุดไฟเพื่อทำการเกษตร จุดไฟเพื่อหาของป่า หรือจุดไฟเพื่อต้องการโหมความขัดแย้งในพื้นที่  

ประเด็นหนึ่งที่หลีกไม่ได้ เมื่อไรก็ตามที่เกิดสถานการณ์มลพิษหมอกควันและไฟป่าในภาคเหนือ – ทำไมกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนที่อยู่กับป่ามักถูกแปะป้ายให้กลายเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้เผาป่า?

แม้อาชีพหลักของกลุ่มชาติพันธุ์คือการทำเกษตรกรรมหมุนเวียนเป็นหลัก แน่นอนว่าหลีกเลี่ยงการเผาวัชพืชและเศษใบไม้แห้งเพื่อเตรียมพื้นที่ไม่ได้ เพราะการเผาเป็นวิธีที่คุ้มค่า สืบสานมากันตั้งแต่โบราณ การเผาทำให้ดินดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้สารเคมี และทำได้ง่ายเพราะใช้ต้นทุนต่ำ 

“แต่เมื่อไรก็ตามที่ชาวบ้านในพื้นที่จะเผาป่า จะผ่านการวางแผนมาแล้ว และจะเผาด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม เช่น การใช้วิธีการดูเหตุการณ์ทางธรรมชาติ ฟังเสียงจั๊กจั่น เพราะเสียงจั๊กจั่นจะช่วยบอกว่าอีกประมาณ 7 วันฝนจะมา รวมถึงจะต้องมีการวางแนวกันไฟ เช่น เผารอบๆ ให้ลามมาเจอกันตรงกลาง” ชัยธวัช เล่า 

บนพื้นที่ล่อแหลมที่ชวนให้เกิดเชื้อเพลิง กัลยา เสริมว่า

“ทุกครั้งได้ยินแบบนี้แล้วรู้สึกเจ็บปวด ด้วยความที่เราเป็นชาติพันธุ์ เราไม่มีทางทำลายป่าที่เป็นบ้านของเราอยู่แล้ว เราถูกโยนให้เป็นผู้ร้าย เวลามีไฟป่าทำไมต้องนึกถึงเราตลอด”

“ลองนึกดูนะครับ คนที่เข้าอยู่ในป่า นอนกับป่า หากินกับป่า เขามีความเชื่อว่าตัวเองเกิดมาจากต้นไม้ เวลาไฟไหม้ป่าก็หมายถึงไฟไหม้บ้านเขา ฉะนั้นเขาจะเผาบ้านตัวเองทำไม” เชฟแวนเสริม

การระดมทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าในครั้งนี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเบาแรงชาวบ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพในการดับไฟแต่นี่ไม่ใช่เพียงช่องทางเดียว อุปกรณ์ดับไฟไม่ได้มีพลังวิเศษขนาดที่จะยุติปัญหาไฟป่าได้ อย่างไรเสียนโยบายของรัฐจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการออกแบบแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

แต่เมื่อมองย้อนกลับไปพบว่าการแก้ไขที่ปลายเหตุอย่างนโยบายการควบคุมการเผาของรัฐบาลดูเหมือนจะไม่ค่อยได้ผล สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอยู่ 

“ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ก็มีวิธีและระบบการจัดการไฟป่าที่เป็นของเขาเอง ไม่ควรกำหนดเป็นแบบเหมารวม ควรกำหนดการควบคุมให้สอดคล้องกับพื้นที่ บางพื้นที่ควรชิงเผา บางพื้นที่บอบบางต่อการเผา การเหมารวมโดยการกำหนดว่าวันไหนเผาได้ วันไหนเผาไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหากระทบถึงโครงสร้างในการจัดการ พอพ้นวันที่กำหนด ปรากฏคนเผาป่าทั้งเมือง” ชัยธวัช ทิ้งท้าย

‘ป่าเขา…ลมหายใจเรา’ เป็นหนึ่งเสียงเล็กๆ ที่ช่วยบอกว่า เขาในที่นี้ไม่ใช่เขาของใคร แต่เขาคือ ภูเขาและป่าไม้และลมหายใจของเราทุกคน 

อย่าปล่อยให้ป่าสีเขียว กลายเป็นขี้เถ้าที่มอดไหม้

อย่าปล่อยวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัตถุดิบอันล้ำค่าจางหายไปเหมือนกับควันไฟป่า

แม้เวลาจะพาให้เปลี่ยนไปใช้กระดาษหลากสีแลกกับอาหาร มนุษย์ทุกคนไม่ต้องขุดเผือกขุดมันหรือล่าสัตว์ในป่าเฉกเช่นอดีต แต่ธรรมชาติและระบบนิเวศยังคงส่งพลัง และช่วยเติมเต็มจิตวิญญาณให้ใครหลายคนอยู่

ติดตามรายละเอียดของกิจกรรม ‘ป่าเขา ลมหายใจเรา’ เพิ่มเติมได้ ที่นี่

 

Author

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า