‘ความเงียบ’ บรรจุโลกได้ทั้งใบ

อะไรทำให้คนอย่าง อาร์ลิง คอกเก (Erling Kagge) พิสมัยความเงียบเสียเต็มประดา แล้วความเงียบสำหรับคุณล่ะ เชื่อมโยงไปถึงสิ่งใดบ้าง

ความเหงา ความว่างเปล่า สูญเสีย หรือหวิวหวั่นหวาดระแวง กระทั่ง การถูกบังคับให้เงียบไร้ปากเสียงโดยระบอบเผด็จการทหาร ความเงียบผูกยึดไว้กับด้านลบมากกว่าบวก ความเงียบเป็นหัวขบวนของความสงบก็จริง ทว่าคงไม่คุ้นชินนักกับคนเมืองอย่างเราๆ

แล้วตกลงอะไรทำให้คนอย่าง อาร์ลิง คอกเก หลงใหลความเงียบจนเขียนหนังสือออกมาได้เป็นเล่มๆ

จากประวัติ เขา-คนเขียนหนังสือเล่มนี้เป็นชาวนอร์เวย์ เป็นนักสำรวจคนแรกที่เดินกว่า 800 ไมล์ ไปยังขั้วโลกใต้ตามลำพัง เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่พิชิตสามขั้วโลก ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ และยอดเขาเอเวอเรสต์ ระหว่างการเดินทาง เขาต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเงียบเป็นเวลานาน เป็นผลให้พยายามทำความเข้าใจประสบการณ์ลึกลับนี้ หลังกลับมาอยู่ท่ามกลางชีวิตยุ่งวุ่นวายในโลกสมัยใหม่

เมื่อพลิกอ่านผ่านไปแต่ละหน้า แน่นอน-ในความเงียบ คนเขียนจะค่อยๆ เปิดมิติและประสบการณ์อันน่าทึ่งเกี่ยวกับความเงียบอย่างละเมียดละไม เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และมุมมองภายใน แทบไม่น่าเชื่อว่าเราจะละเลยความสำคัญของความเงียบไปได้มากมายขนาดนี้

ความเงียบสอนให้มนุษย์รู้จักการอดทน ซึ่งเป็นศิลปะแห่งชีวิตอันง่ายงาม ท้าทายยิ่งในการจำแนกความเงียบอันมีเป้าหมาย ออกจากความไร้สาระและเบาหวิว

ในฐานะศิลปินเพลง การรู้จักจัดวางความเงียบไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม คือการชำระหูคนฟังเพื่อเตรียมรับสารที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า

ความเงียบก่อให้เกิดความคาดหวังและความรู้สึกว่าอะไรบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น – เขาเขียนไว้ในบางหน้า

ในศาสตร์แห่งการเพอร์ฟอร์มานซ์ เขายกตัวอย่างการแสดงสดของ มารีนา อบราโมวิช ศิลปินหญิงผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งการปลุกเร้าผู้ชมอย่างเข้มข้น ในปี 2010 เธอนั่งเป็นเวลา 736 ชั่วโมง กับ 30 นาที ใน MoMA พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยในนิวยอร์ค สบตาผู้มาเยือน 1,545 คน โดยปราศจากคำพูด เธอใช้งานความเงียบแบบเดียวกับที่นักดนตรีใช้เสียง

มันเป็นไปได้ที่ทุกคนจะค้นพบความเงียบนี้ภายในตัวเอง มันอยู่ที่นั่นตลอดเวลาแม้ในยามที่เราแวดล้อมด้วยเสียงที่ดังอย่างสม่ำเสมอ ลึกลงไปใต้มหาสมุทร ภายใต้เกลียวคลื่นและระลอกคลื่น คุณสามารถพบเจอความเงียบภายใน – เขาเขียนไว้ในอีกหน้า

พี่เชื้อที่เคารพรักท่านหนึ่งเคยแสดงทัศนะไว้ประมาณ ยุคที่เสียงนกหวีดดังจนแสบแก้วหู ต้องเป็นคนจิตแข็งเอามากๆ ถึงจะปฏิเสธการร่วมสังฆกรรมได้ชนิดเด็ดขาด จำถ้อยความได้ไม่แม่นยำนัก แต่คงราวๆ นี้ ก็ไหนจะวาทกรรมกู้ชาติกู้แผ่นดินเอย ไทยเฉยเอย พวกขี้ข้านักการเมืองเอย กระทั่งไม้ตายเด็ดอย่างปฏิรูปให้สะอาดเสียก่อนค่อยเลือกผู้แทน ถ้าสมาธิไม่แก่กล้าพอ ก็คงมีเป๋เอาได้ง่ายๆ

ในปัจจุบันที่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า การทำลายหลักการ โดยใช้หลักกูเป็นที่ตั้ง มันมิได้นำไปสู่การปฏิรูปใดๆ เลย ถ้าจะมี ก็คงมีแต่การ ‘ปฏิดูด’ นักการเมืองหน้าเดิมๆ มาเป็นมือเป็นไม้สำหรับแผนการยาวๆ 20 ปี ของเหล่าท่านผู้เฒ่า นี่ยังไม่พูดถึงตรรกะวิธีคิดอันพังพินาศป่นปี้เป็นของแถม ไม่มีใครสงสัยในความโกงกันอีกแล้ว หนำซ้ำคำที่คนทั่วโลกยึดอย่าง สิทธิและเสรีภาพ กลายเป็นศัพท์แสลงหูได้อย่างน่าอัศจรรย์

กล่าวโดยสรุป ภาวะเงียบในอีกแง่สำคัญ จึงนับเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง ความเงียบที่ไม่ได้หมายถึงแค่ออกไปปลีกวิเวกอยู่ตามป่าเขา ริมทะเล หรือใช้ชีวิตช้าๆ จิบชาจิบกาแฟแต่เพียงอย่างเดียว เราอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอึกทึกก็ได้ อยู่กลางเมือง กลางแสงสีก็ได้ ขอเพียงเปิดโอกาสให้ตนเองถอยเข้าสู่ภาวะเงียบงัน เงียบเพื่อให้ความเงียบนั้นกรุยเปิดพื้นที่สำหรับถมเติมโลกอันไร้อคติ

โลกสดใหม่ทั้งใบของเรา

เงียบ
Silence: In the Age of Noise
Erling Kagge เขียน
วรรธนา วงษ์ฉัตร แปล
สำนักพิมพ์ OMG books

 

Author

สันติสุข กาญจนประกร
อดีตบรรณาธิการเครางาม ปลุกปั้นและปล้ำ WAY มาในยุคนิตยสาร นักสัมภาษณ์ที่ไม่ยอมให้ข้อสงสัยหลงเหลือในประโยคพูดคุย เรียบเรียงถ้อยคำความหล่อบนบรรทัดด้วยทักษะแบบนักประพันธ์ หลังออกไปบ่มเพาะความคิด สันติสุขกลับมาพร้อมรสมือและกลิ่นกายที่คุ้นชิน และแน่นอน ทักษะด้านการเขียนที่ผ่านการเคี่ยวกรำมาย่อมแม่นยำกว่าเดิม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า