…ลึกลงไปในใจเขานั้นมีแนวคิด มุมมอง หรือแม้กระทั่งอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเขาไม่เคยกล่าวถึงและไม่อาจกล่าวกับมนุษย์หน้าไหนได้เว้นแต่เพียงชายหนุ่มไร้ชื่อเท้าเปลือยเปล่าผู้อยู่ตรงหน้า เอลีชามาเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียกกันว่าสุขนาฏกรรม ในเรื่องราวชนิดนี้เองที่คนคนหนึ่งอาจกล่าวความจริงออกมาได้ในที่สุด…
เวลาที่อ่าน ‘นิทาน’ หรือ ‘ตำนานปรัมปรา’ เคยนึกสงสัยว่าเรื่องเล่าเหล่านั้นมีอยู่จริงที่ไหนสักแห่งไหม?
สักครั้งหนึ่งในชีวิตของคนเรา จะมีเรื่องเล่าที่ผ่านเข้ามาในความนึกฝันและปรารถนาอยากให้เป็นจริง เรื่องราวใน ตำนานนิรันดร์ ผลงานเขียนของ ไอแซค ไดนีเสน (Isak Dinesen) นามปากกาของ บารอนเนส คาเรน บลิกเซน (Baroness Karen Blixen) ผู้เขียน Out of Africa อันโด่งดัง ก็เป็นเช่นนั้น
ตำนานนิรันดร์ เล่าเรื่องราวของมหาเศรษฐีแห่งเกาะกวางเจาชาวอังกฤษที่เราอนุญาตให้รู้จักในชื่อ ‘มิสเตอร์เคลย์’
มิสเตอร์เคลย์เป็นชายชราในวัย 90 ไม่นิยมในเรื่องแต่งใดๆ ทุกประเภท เขาเป็นมนุษย์แบบที่ยึดถือแต่ข้อเท็จจริงเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งเขาได้รู้ว่าเรื่องเล่าที่ตนได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก เรื่องราวของกะลาสีหนุ่มและเศรษฐีชรา ซึ่งเศรษฐีชราได้มอบโอกาสแห่งชีวิตที่กะลาสีหนุ่มไม่มีวันลืมนั้น เป็นแค่ ‘เรื่องเล่าปากต่อปาก’ หาได้มีข้อเท็จจริงตามที่มิสเตอร์เคลย์ยึดถือแม้แต่น้อย เขาจึงวางแผนด้วยอำนาจเงินทองที่มีเปลี่ยนเรื่องแต่งให้กลายเป็นจริงที่จะมีกะลาสีคนหนึ่งบนโลกสามารถ ‘เล่าเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมรายละเอียดทุกประการที่ได้เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ’
บทบาทของพระเจ้าและการฝ่าฝืนโชคชะตา
ความคิดที่อยากจะเปลี่ยนเรื่องแต่งของมิสเตอร์เคลย์ไม่เคยอยู่ในความคิดของเขามาตลอดช่วงชีวิต จนกระทั่งวันที่ได้รับฟังเรื่อง ‘คำพยากรณ์ของอิสยาห์’ จากปากของ เอลีชามา เสมียนหนุ่มชาวยิว ผู้เปรียบบ้านไม่ต่างจากหลุมฝังศพ และมีความคิดที่ใกล้เคียงกับมิสเตอร์เคลย์
เหตุที่มิสเตอร์เคลย์ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนเรื่องแต่งให้กลายเป็นเรื่องจริงที่ทุกคนจะต้องเล่าเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมรายละเอียดทุกประการ เพราะมิสเตอร์เคลย์ ‘เชื่อมั่น’ มาตลอดว่าเรื่องเล่าที่ตนได้รับฟังมา ‘เป็นเรื่องจริง’ จนกระทั่งวันที่ได้รู้ว่าบนโลกนี้มี ‘เรื่องแต่ง’ อีกประเภทในนามของคำพยากรณ์ทำนายถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด ซึ่งในห้วงเวลาของมิสเตอร์เคลย์ ‘คำพยากรณ์ของอิสยาห์’ คือเรื่องเล่าที่ผ่านพ้นไปนานแล้วนับพันปี และไม่มีประโยชน์ที่จะนำกลับมาเล่าในกาลเวลาปัจจุบัน เมื่อนั้นเอง เขาจึงเล่าเรื่องราวของตนให้เอลีชามา ก่อนจะพบว่าเรื่องเล่าของตนเองนั้น กะลาสีทุกคนบนเรือที่ข้ามฟากไปมาระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ล้วนเคยได้ฟัง และไม่เคยมีเรื่องไหนจริง แม้รายละเอียดบางประการจะตรงกัน แต่ทุกๆ เรื่องล้วนเป็นเรื่องโกหกทั้งสิ้น
ถึงจุดนั้นเองที่มิสเตอร์เคลย์พบว่าชีวิตที่เขาดำรงมาตลอดกำลังสั่นคลอน
มิสเตอร์เคลย์จึงใช้อำนาจที่ตนมีโดยไม่เกี่ยงเรื่องเงินทอง เนื่องจากเขามีมหาศาลประการหนึ่ง อีกประการเพราะเขาพบว่าตนเองใกล้จะจบชีวิต ปรารถนาของมิสเตอร์เคลย์จึงเหลือเพียงให้เรื่องราวที่เขาเป็นผู้ขีดเขียนจากเรื่องเล่าที่ได้ฟังมาแต่เด็กเกิดขึ้นจริง
ถึงจุดนี้เอง ในฐานะคนอ่าน เราได้พบว่า มิสเตอร์เคลย์ได้เปลี่ยนบทบาทตัวเองให้กลายเป็นพระเจ้า ถ้าหากเขาไม่เคยรู้ถึงอำนาจนั้นอยู่แล้ว เขาก็กำลังจะได้รู้ หากแต่สิ่งที่มิสเตอร์เคลย์ไม่ได้คาดคิด นั่นคือ โชคชะตาที่เขาคิดว่าตนเองสามารถขีดเส้นให้ตัวละครที่ใช้อำนาจเงินซื้อมาได้นั้น มี ‘ชีวิต’ เป็นของตัวเอง และคนทุกคน พอถึงจุดหนึ่งก็ล้วนต้องการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง ไม่ใช่เรื่องราวที่ถูกกำหนดมาให้เป็น โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นมีความรักเข้ามาเกี่ยวพัน
ตำนานนิรันดร์ ที่มิสเตอร์เคลย์ปรารถนาให้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ทุกคนจะต้องเล่าตรงกันกลับกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า และชีวิตมนุษย์ล้วนปรารถนาที่จะเล่าเรื่องราวของตัวเองทั้งสิ้น
ไม่ว่าเรื่องนั้นจะถูกเก็บไว้กับตัวไม่เคยถูกเล่าขาน หรือเรื่องเล่านั้นจะเป็นเพียงเรื่องที่คนคนเดียวได้รับฟังก็ตาม
ตำนานนิรันดร์ ISAK DINESEN เขียน อรจิรา โกลากุล แปล สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม |