เราล่องเรือไปบนคลองแคบ สองฝั่งคลองขนาบข้างด้วยต้นกระจูด ต้นเสม็ดขาว และนานาพันธุ์พืชที่ผมไม่รู้จัก เสียงสัตว์นานาชนิดคือเพลงบรรเลงในป่าพรุ เรือหางยาวลำเล็กพาผมกับโกวิท โพธิสาร บรรณาธิการข่าว WAY เดินทางเข้าไปในป่าพรุ น้ำขังเป็นแอ่งบนท้องเรือ ที่ซึ่งในอนาคตกระเป๋าเป้ของผมจะหย่อนจมลงแช่น้ำโดยไม่รู้ตัว ในนั้นมีหนังสือ ความลี้ลับของเวลา แท่นชาร์จแบตกล้อง DSLR หูฟังอินเอียร์ ผ้าพันคอยี่ห้อ RITIMIAN เลนส์ระยะกว้าง และโทรศัพท์มือถือ และเมื่ออนาคตที่ว่ามาถึง (ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว) ก้นกระเป๋าบนหลังของผมก็จมลงน้ำขังท้องเรือ กว่าจะรู้ตัวน้ำก็ได้เข้าไปอยู่ในช่องเก็บของเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างยังคงใช้งานได้ ยกเว้นโทรศัพท์ รู้ตัวอีกทีมันแน่นิ่งสนิท ไม่ฟื้นขึ้นมาอีกเลย
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางไปทำสารคดีให้กับ WAY Documentary ที่อำเภอชะอวด นครศรีธรรมราช การไม่มีโทรศัพท์ทำให้ชีวิตไม่ค่อยปกติ อย่างน้อยที่สุดผมสูญเสียการรับรู้เวลาอย่างแม่นยำ เพราะเครื่องวัดเวลาของผมอยู่ในโทรศัพท์ ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมคงจะปรับสายกระเป๋าให้สูงขึ้น หรือไม่ก็จะระวังมากกว่านี้ หรือถ้าให้ดีกว่านั้นก็จะวางโทรศัพท์ไว้บนรถ แต่เราสามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอดีตได้ก็แต่ในความคิดในจินตนาการ และในไวยากรณ์ทางภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะรูปประโยคที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘ถ้า’
เรื่องนี้คือพื้นฐานของระเบียบเวลา Carlo Rovelli ผู้เขียนหนังสือ The Order of Time หรือ ความลี้ลับของเวลา อธิบายเรื่องพื้นฐานนี้ผ่าน ‘หลักข้อที่สองของอุณหภูมิศาสตร์’ ความร้อนผ่านจากสิ่งที่ร้อนไปสู่สิ่งที่เย็นเท่านั้น ไม่มีทางเป็นตรงข้ามได้ หากสภาพแวดล้อมของวัตถุไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ความร้อนเดินทางจากวัตถุเย็นไปสู่วัตถุร้อนไม่ได้ อดีตและอนาคตจึงแตกต่างจากกันและกัน เหตุย่อมมาก่อนผล ความเจ็บปวดเกิดหลังได้รับบาดเจ็บ โทรศัพท์พังหลังจากที่ลงไปแช่ในน้ำ ฯลฯ
นี่คือกฎพื้นฐานเดียวของฟิสิกส์ที่แยกอดีตออกจากอนาคต
ทุกครั้งที่ปรากฏความแตกต่างระหว่างอดีตกับอนาคต ความร้อนจะเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ในทุกลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและไม่อาจถอยกลับได้นั้น จะมีบางสิ่งร้อนขึ้นเสมอ
เมื่อไม่มีโทรศัพท์ ผมไม่รู้เวลาที่แน่ชัด นอกจากการกะประเมินคร่าวๆ ยามตื่นลืมตามองหาแสงที่ปริล้นลอดผ่านผ้าม่าน ปริมาณแสงที่เข้มข้นจะบอกว่าเป็นเวลาที่ผมควรจะตื่นได้แล้วในขณะที่นายหัวโกวิทยังคงหลับใหลอยู่ในราตรีกาลที่อ่อนจางลงเรื่อยๆ และนาฬิกาของเขายังไม่บอกเวลาตื่น เมื่อไม่มีเครื่องบอกเวลา ผมจึงใช้วิธีโบราณกาล สังเกตการเคลื่อนของดวงอาทิตย์ นับเวลาจากรอยต่อระหว่างกลางคืนและกลางวัน หรือไม่นานๆ ครั้งผมก็จะถามเขาว่าตอนนี้กี่โมงแล้ว
เมื่อไม่มีโทรศัพท์ ผมไม่รู้ว่าตอนนี้คนที่เรารักทำอะไรอยู่ เธอกำลังเผชิญห้วงความรู้สึกแบบไหน โดยเฉพาะในตอนนี้ตาของเธอเพิ่งเสียชีวิต ผมไม่สามารถดูแลความรู้สึกของเธอได้ในตอนนี้ ไม่สามารถเดินทางไปร่วมพิธีกรรมได้ในตอนนี้
ในไวยากรณ์ทางภาษา ปัจจุบันขณะหรือตอนนี้ เป็นมุมมองที่ถูกมองมาจากตัวตนผู้พูดหรือผู้เขียนคำนี้ ไม่ว่าเราจะใช้มันเป็นประโยคบอกเล่า ตอนนี้คุณกำลังอ่านรีวิวหนังสือความลี้ลับของเวลาที่ไม่ได้บอกเล่าเนื้อหาในหนังสือเสียเท่าไร หรือประโยคคำถาม ตอนนี้คุณกำลังรู้สึกอย่างไร เพื่อกำหนดการรับรู้ของเราในเรื่องเวลา แต่ถ้าเราถามว่าตอนนี้คุณรู้สึกอย่างไรกับเพื่อนที่อยู่บนดาวดวงหนึ่งที่อยู่ห่างจากโลก 4 ล้านปีแสง คำตอบที่จะได้รับก็คือความรู้สึกของเพื่อนเมื่อ 4 ปีก่อน ถ้าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ อะไรคือความหมายของตอนนี้
ระเบียบของเวลาจึงบอกว่า ตอนนี้ไม่ใช่สิ่งสากลในเอกภพอันไพศาล ตอนนี้ของเราสัมพัทธ์และสัมพันธ์กับปัจจัยมากหลาย ปัจจุบันขณะมีลักษณะเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ ทั่วเอกภพ ปัจจุบันขณะแห่งเอกภพในสายตานักฟิสิกส์อย่าง Rovelli เป็นเรื่องไร้ความหมาย
ผมหลงใหลประโยคที่อธิบายเรื่องปัจจุบันขณะ ของ Rovelli เขาบอกว่า
ปัจจุบันของเราไม่ได้แผ่ขยายครอบคลุมทั้งเอกภพ มันเป็นเหมือนฟองสบู่ที่อยู่รอบๆ ตัวเราเท่านั้น
Rovelli อธิบายว่า ถ้าเรารับรู้เวลาได้เป็นหน่วยนาโนวินาที ปัจจุบันจะมีอาณาเขตครอบคลุมราวสองสามเมตร ถ้ารับรู้เวลาได้เป็นหน่วยมิลลิวินาที ปัจจุบันจะมีอาณาเขตครอบคลุมหลายพันกิโลเมตร เมื่อการรับรู้เวลาของมนุษย์มีจำกัด..
โลกทั้งใบจึงเป็นเหมือนฟองสบู่เดียวสำหรับเรา
หนังสือ ความลี้ลับของเวลา ของผมเล่มนี้แห้งกรอบเพราะจมน้ำใต้ท้องเรือ หน้าปกขาวสะอาดจึงเปรอะเปื้อนและใกล้สภาพชำรุด แต่มันได้อธิบายสิ่งที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็เข้าใจจากมุมมองของเราเอง โลกคือการชุมนุมของเหตุการณ์ที่ไม่เป็นระเบียบตามกาลเวลา มนุษย์ก็คือองค์รวมของเหตุการณ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเหมือนรถม้าของพระนาคเสนเถระในมิลินทปัญหา เราคือกระบวนการ เหตุการณ์ ส่วนประกอบ และจำกัดอยู่ในที่ว่างและเวลาและในเอกภพที่ไร้เวลา
ฟังแล้วเหมือนเราจะไม่มีอยู่จริงในที่ว่างและเวลานี้ แต่สิ่งที่กอปรตัวตนและอัตลักษณ์ของเราขึ้นมา ซึ่งเป็นสิ่งที่หนังสือเล่มนี้พยายามอธิบายในท้ายที่สุด สิ่งนั้นคือร่องรอยที่เกิดจากอดีตที่เกิดขึ้นเสมอด้วยหลักข้อที่สองของอุณหภูมิศาสตร์ ทำให้เรามีอดีตเพื่อคาดการณ์อนาคต พยุงลำตัวให้เดินไปข้างหน้าด้วยความทรงจำ
เราคือร่องรอยของความทรงจำตนเอง อัตลักษณ์ของเรากอปรขึ้นจากความทรงจำของเราเอง เราคือเรื่องเล่า เราคือนวนิยายที่ตนเป็นผู้ประพันธ์ เราคือมาแซล พรุสต์ ที่ได้กลิ่นขนมไข่แล้วหวนนึกไปถึงเหตุการณ์ในวัยเยาว์ อดีตพรั่งพรูเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกแห่งศตวรรษที่ 19 ความทรงจำคือที่ว่างและเวลาอันไพศาลที่มนุษย์ดำรงอยู่
นี่คือข้อสรุปเบื้องต้นที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ในวันคืนที่ไม่มีเครื่องบอกเวลาอยู่ใกล้ตัว
ความลี้ลับของเวลา: ถอดปริศนาแห่งเวลาในสายตาควอนตัมฟิสิกส์ Carlo Rovelli เขียน โตมร ศุขปรีชา แปล สำนักพิมพ์ Salt Publishing |