14 ตุลา
“…ขอโทษนะครับเพื่อนๆ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนพ่อแม่พี่น้องประชาชนที่เคารพรัก มีกลอนบทหนึ่งที่เขียนสะท้อนยุคมืดเผด็จการนี้ว่า เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวจนเยี่ยวหด บรรจงตดเบาๆ อย่างเศร้าหมอง เห็นไหมครับว่าบ้านเมืองนี้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่รู้จะทำอะไรจนต้องมานั่งดมตดตัวเอง”
เสียงหัวเราะที่มีอยู่เบาๆ แต่แรกกลายเป็นเสียงฮาใหญ่…
บทเปิดในบทที่ 2 ของ ด้วยรักและอุดมการณ์ คล้ายกับจะเป็นการบอกไม่เพียงแต่อารมณ์ของตัวละคร/ผู้เขียน เท่านั้น แต่ยังบอกถึงมวลความรู้สึกที่ประชาชนคนไทยมีต่อสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบเผด็จการในห้วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่จะว่าไปแล้วช่างไม่ต่างจากสภาพการณ์ปัจจุบันหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมาแล้วสี่ปีแต่อย่างใด
ด้วยรักและอุดมการณ์ คือ นิยายที่เขียนขึ้นโดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนที่จำต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศในยุคสมัยที่แวดวงวรรณกรรมครั้งหนึ่งเคยมีคำว่า ‘เพื่อนพ้องพี่น้องน้ำหมึก’ แต่สีหมึกนั้นจางไปแล้วสิ้นเมื่อแวดวงวรรณกรรมต่างเฉย ไม่รู้ร้อนรู้หนาว กลายเป็นสังคมเพื่อนพ้องที่วัฒน์ได้แต่หล่นคำพูดไว้ว่า “สังคมที่ไร้ความรู้สึก ใครจะอยู่ก็อยู่ไป ผมไม่เอาด้วย”
นิยายเล่มนี้วัฒน์เขียนขึ้นในกาลเวลาที่ต้องเผชิญและผ่านพ้นความเลวร้ายของเดือนตุลาคมสองครั้งซ้อนด้วยกัน คือ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 อีกทั้งสิ่งที่วัฒน์เขียนไว้คำนำในวาระการตีพิมพ์ครั้งที่ 5 เมื่อปี 2556 ดูราวกับจะเป็นการทำนายอนาคตได้อย่างแม่นยำ และยังกลับกลายเป็นความจริงอันขมขื่น
โดยวัฒน์ได้เขียนไว้ว่า
…บางผู้บางเหล่า ไม่ค้นหาความจริง แล้วยังทำเป็นลืม…เฉย ไปยืนอยู่ฝ่ายเดียวกับฆาตกรใหญ่ 6 ตุลา แบบไม่รู้สึกรู้สาก็มี ดังนั้น นวนิยายที่เลือกเปิดเรื่องกับ 14 ตุลาคม 2516 และจบเรื่องที่ 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นเครื่องช่วยเตือนความจำได้ตามประสงค์…
อันที่จริงด้วยกาลเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่ปี 2524 ที่ ด้วยรักและอุดมการณ์ ได้รับการตีพิมพ์ ผ่านพ้นวันเวลามาจนถึงปัจจุบันในปี 2561 แทบไม่จำเป็นด้วยซ้ำในการจะบอกเล่าเนื้อหาของนิยายเล่มนี้ เพราะผู้อ่านหลายต่อหลายท่านอาจเคยผ่านมาแล้ว ทว่าอาจจะด้วยเพราะเหตุนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำไมการบอกเล่าถึงนิยายเรื่องนี้ในกาลเวลาปัจจุบันจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ทำไมคำกล่าวของ พิน บางพูด ตัวละครเอกที่แทบจะเป็นเนื้อเดียวกับ วัฒน์ วรรลยางกูร จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องทบทวน แม้จะเป็นคำกล่าวในเชิงตลกขบขันหากพิจารณาตามเนื้อหาที่ปรากฏ แต่ใช่หรือไม่ว่าคำกล่าวของพินนั้นแฝงนัยต่อความเป็นสังคมไทยที่อุดมไปด้วยเรื่องขำขัน
ขำขันแม้ในความตายของผู้อื่นได้อย่างไม่รู้สึกรู้สาเฉกเช่นภาพที่เราคุ้นเคยในเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพนั้น
ใช่ เพราะเราคือไทยแลนด์แดนสมายล์ เราเป็นประเทศสารขัณฑ์
เราขำกันจนไม่แยกแยะความเจ็บปวด ความตายของผู้อื่น
ขณะเดียวกัน เราก็ขำเพราะมันเป็นวิถีทางเดียวที่จะผ่านพ้นสภาวะการถูกกดขี่
คนตัวเล็กตัวน้อยจึงแปรความรู้สึกอับจนข้นแค้นเหล่านั้นเป็นเพลง เป็นบทกลอนที่ร้องผ่านในลำคลองและท้องทุ่ง เป็นเพลงลูกทุ่งที่ผูกพันชีวิตของวัฒน์กับความเป็นคนบ้านนอกโดยมี พิน บางพูด เป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของคนที่ถูกกระทำ คนที่ทำได้เพียงหัวเราะ แม้ทั้งน้ำตาอาบหน้า
6 ตุลา
คุณจะเจ็บปวดเพียงไหน เมื่อกระดูกของคุณ ถูกดึงรั้ง กระชาก ทุบตี จนแตกหัก
เย็นวันที่ 5 ผมเข้าไปที่ธรรมศาสตร์ เห็นคนแจกใบปลิวอยู่หน้าธรรมศาสตร์ ลงรูปถ่ายกล่าวหาฝ่ายที่ต่อต้านถนอมว่าแสดงละครดูหมิ่นทายาทประมุขของประเทศ
หากจะบอกกล่าวว่าบทที่ 29 ในนิยายเล่มนี้ บันทึกของ พิน บางพูด ได้เปลี่ยนแปลงอารมณ์ของเรื่องราวจากเมื่อบทเปิดบทที่ 2 ไปสู่ความเจ็บปวด เจ็บแค้น และความโศกเศร้าเกินหยั่งในฐานะตัวละครที่วัฒน์เสกสร้างขึ้นได้อย่างน่าสลดใจ
และเราอาจจะเพียงแค่รู้สึกว่านี่เป็นอีกเรื่องที่อ่านแล้วชวนให้รู้สึกหดหู่เท่านั้น ถ้าเพียงแต่เหตุการณ์ที่พินบันทึกไว้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ บนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อัปยศที่สุดครั้งหนึ่ง
ถ้าเพียงแต่ความเศร้าของพิน ไม่ใช่ความเศร้าของ วัฒน์ วรรลยางกูร
เป็นความเศร้าที่ไม่เพียงในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ต้องทนเห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันล้มตายอย่างทารุณไปต่อหน้า หากแต่เมื่อเวลาผ่าน บางเพื่อนที่เคยเจ็บปวดเจ็บแค้นด้วยกันกลับกลายไปเข้ากับอีกฝ่ายที่ตนเคยเกลียดชัง หัวใจธรรมดาที่เจ็บเป็นย่อมรู้สึกช้ำชอกอยู่ข้างในไม่น้อย
หากจะบอกว่า ด้วยรักและอุดมการณ์ เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของประชาชนคนหนึ่งก็ไม่ผิดนัก แต่ขณะเดียวกันสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าการได้อ่านนิยายเล่มนี้อีกครั้งในบริบทประวัติศาสตร์ ที่แม้คนรุ่นหลังวัฒน์อาจไม่ทันทั้งเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา แต่เหตุการณ์ทั้งสองครั้งในเดือนพฤษภาฯ ทั้งในปี ’35 และ ’53 ล้วนแล้วแต่ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าต้องอีกกี่ครั้งที่เราจะไม่ต้องหวนกลับมาอ่านบันทึกของ พิน บางพูด อีก
อีกกี่ครั้งที่เราจะได้ปลดปล่อยผู้เสียสละ เหยื่อทางการเมืองตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ไปสู่สุคติเมื่อประชาธิปไตยหวนกลับมาสู่มือประชาชนอย่างแท้จริง