นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ: อ่านอิตาลีในประเทศตาสว่าง

“นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ เป็นนักแปลงานประพันธ์อิตาลีเป็นภาษาไทยคนสำคัญที่สุดในปัจจุบัน…”

คือคำประกาศมอบรางวัล “ผลงานแปลแห่งชาติ” สาขารางวัลพิเศษ ประจำปี 2019 โดยกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอิตาลี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เธอแปล

นักอ่านไทยรู้จักผลงานของ มิเลนา อากุส จอร์โจ บัสซานี อิตาโล คัลวีโน อุมแบร์โต เอโค เอเลนา แฟร์รานเต ดาชา มาราอินี มาร์กาเร็ต มัซซันตีนี มาร์โค มิสซีรอลี ลุยจิ ปิรันเดลโล อันตอนีโอ ตาบุคคี ผ่านสำนวนการแปลของ นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ผ่านการจัดพิมพ์ของสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี

ตาสว่าง นิยายภาพสัญชาติอิตาลีที่เล่าเรื่องการเมืองไทย คือผลงานแปลของเธอและสำนักพิมพ์อ่านอิตาลีที่กำลังได้รับความสนใจจากนักอ่านไทยจนต้องพิมพ์ซ้ำในเวลาอันรวดเร็ว ปัจจุบัน นันธวรรณ์พำนักอยู่อิตาลีกับครอบครัว ทำงานแปลทุกวัน และมีอารมณ์ทุกครั้งตามประสาคนที่ไม่พอใจกับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ประเทศอันเป็นบ้านเกิดของเธอ

photo: Wekin Massimo Palandri

กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (แห่งสาธารณรัฐอิตาลี)

ประกาศว่า

นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ได้รับรางวัล “ผลงานแปลแห่งชาติ” สาขารางวัลพิเศษ ประจำปี 2019 โดยคณะกรรมการตัดสินให้เหตุผลดังต่อไปนี้

“นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ เป็นนักแปลงานประพันธ์อิตาลีเป็นภาษาไทยคนสำคัญที่สุดในปัจจุบัน  มีผลงานแปลจำนวนมากซึ่งล้วนแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและความรู้ในภาษาอิตาลีเป็นอย่างดี ส่งผลให้เลือกใช้คำอย่างประณีตยิ่งในทางสุนทรียภาพ โดยระมัดระวังเป็นพิเศษในการถ่ายทอดโครงสร้างสำนวนโวหาร  และใช้ภาษาพูดกับภาษาเขียนอย่างมีสัดส่วนสมดุลกัน   นอกจากนั้น ผลงานแปลของเธอ ซึ่งผสมผสานด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันละเอียดอ่อน และความเคร่งครัดในระเบียบวิธี ยังเป็นหัวข้อการสนทนาแลกเปลี่ยนและตรวจสอบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนภาษาอิตาลีแห่งเดียวในประเทศไทย  เธอแปลงานประพันธ์ของ มิเลนา อากุส (จากดวงจันทร์) จอร์โจ บัสซานี (แว่นตากรอบทอง) อิตาโล คัลวีโน (เมืองที่มองไม่เห็น, มาร์โควัลโด, หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง) อุมแบร์โต เอโค (บันทึกในกลักไม้ขีด, วิธีเดินทางกับแซลมอน) เอเลนา แฟร์รานเต (เพื่อนคนเก่ง) ดาชา มาราอินี (มาเรียนนา) มาร์กาเร็ต มัซซันตีนี (อย่าไปไหน) มาร์โค มิสซีรอลี (สำนึกของช้าง) ลุยจิ ปิรันเดลโล (ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์) อันตอนีโอ ตาบุคคี (เพลงรัตติกาลในอินเดีย, เปเรย์รายืนยัน)  นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ ผู้ทำงานแปลมาเป็นเวลาหลายปี จึงเป็น “ทูต” ของวรรณกรรมอิตาลีในประเทศไทยอย่างแท้จริง และสมควรได้รับรางวัลสำหรับความทุ่มเทในการทำงานของเธอเป็นอย่างยิ่ง”

กรุงโรม, 28 มกราคม 2020

รัฐมนตรี

อยากให้ช่วยเล่าหน่อยครับว่า รางวัล ‘Premi Nazionali per la Traduzione’ ที่คุณเพิ่งได้รับคือรางวัลเกี่ยวกับอะไร แนวคิดของรางวัลนี้เป็นอย่างไร

เป็นรางวัลที่กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของอิตาลีมอบให้นักแปล สำนักพิมพ์อิตาลี รวมถึงสำนักพิมพ์ต่างประเทศอื่นๆ ที่เผยแพร่วัฒนธรรมอิตาลีในต่างประเทศ หรือเผยแพร่วัฒนธรรมต่างประเทศในอิตาลี มอบเป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 1989

ตาสว่าง หรือ IL RE DI BANGKOK คือนิยายภาพอิตาลีที่เล่าเรื่องสังคมการเมืองไทยคือผลงานล่าสุดของสำนักพิมพ์อ่านอิตาลี คุณคิดว่าจะได้รับเสียงตอบรับจากนักอ่านดีขนาดนี้ไหม

ไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับดีขนาดนี้ เป็นโชคล้วนๆ ที่ออกหนังสือเล่มนี้ในช่วงนี้พอดี ความจริงเราแค่ตั้งใจจะออกให้ทันงาน LitFest2020 เพราะเราออกบูธ แต่แทบไม่มีหนังสือใหม่เลย รู้สึกอายคนอ่าน เลยเร่งทำเล่มนี้ ซึ่งตามสัญญาลิขสิทธิ์ต้องพิมพ์ภายในเดือนมีนาคม 2563

ทำไมจึงเลือกพิมพ์ ตาสว่าง

เหตุผลหลักๆ เพราะหนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติไทยและคนไทย ทั้งทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่เราในฐานะสำนักพิมพ์ต้องช่วยเก็บรักษาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ก็ในเมื่อมีคนศึกษาค้นคว้า รวบรวมข้อมูล และสร้างมันออกมาเป็นงานศิลปะบวกวรรณกรรมขนาดนี้แล้ว เราจะไม่พิมพ์ได้ยังไง

แต่อันที่จริง เนื่องจากสำนักพิมพ์มีต้นทุนน้อย และค่าพิมพ์ graphic novel สี่สีทั้งเล่มนั้นสูงเกินกำลัง ตอนแรกจึงลองเสนอสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ก่อน พอเขาปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่เราเองก็เข้าใจ เราจึงหาทางพิมพ์เอง โชคดีที่ทางมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ทำงานอยู่ ให้เงินช่วยเหลือมาจำนวนหนึ่ง เราจึงตัดสินใจพิมพ์

สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ที่ปฏิเสธ เหตุผลในการปฏิเสธเป็นเรื่องการเมืองหรือธุรกิจหนังสือ

เหตุผลของเขาคือ เนื้อเรื่องของนิยายภาพเล่มนี้ เป็นการฉายภาพซ้ำที่คนไทยรู้ดีอยู่แล้ว อาจน่าสนใจสำหรับชาวต่างชาติ แต่สำหรับคนไทยมันเป็นเรื่องราวเดิมๆ หรือที่เขาเรียกกันว่า cliché แต่เหตุผลสำคัญคือมันไม่คุ้มในทางธุรกิจ เพราะต้นทุนสูง และ graphic novel ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย

จดหมายแนบมาในหนังสือฉบับภาษาอิตาลี ปรึกษาเรื่องการพิมพ์

ถ้าให้วิเคราะห์ ทำไม Graphic Novel ที่ไม่เป็นที่นิยมในเมืองไทย แต่ ตาสว่าง กระแสดีมาก

เข้าใจว่าคนที่ซื้อ ตาสว่าง ส่วนใหญ่คงไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่า มันคือ graphic novel สิ่งที่โดนใจและจูงใจให้ซื้อน่าจะเป็นเรื่องราวของมัน หรือสิ่งที่มันพูดถึง พอดีหนังสือออกในช่วงที่เมืองไทยของเรากำลังอยู่ในสภาวะมืดมนไร้ทางออก และประชาชนส่วนหนึ่งก็กำลังทนไม่ไหวแล้ว หลายคนเกิดภาวะตาสว่าง แม้บริบทจะแตกต่างจากในหนังสือเล่มนี้ แต่เข้าใจว่า คนอ่านน่าจะซื้อไปปลอบประโลมใจตัวเอง หรือเพื่อหาคำตอบบางอย่าง ซึ่งอาจไม่เจอ

สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี แปลงานวรรณกรรมอิตาลี แต่อะไรคือสิ่งที่บอกคุณว่าเล่มนี้ ต้องแปล

ขอเล่าที่มานิดนึง เราเป็นชนชั้นล่างสุดๆ โตขึ้นมีโอกาสเรียนหนังสือก็อยากทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคม อยากเป็นอาสาสมัครต่างๆ นานา ตอนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ตรงดิ่งไปสมัครเข้าชมรมพัฒนาชนบท แต่เนื่องจากเป็นคนขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน เลยโดนรีไทร์ แล้วพอดีช่วงนั้นได้อ่าน เฒ่าผจญทะเล ของ เฮมิงเวย์ เลยหลงรักวรรณกรรม

ต่อมาจึงสอบเข้าคณะอักษรฯ จุฬาฯ และอักษรฯ ก็สอนให้มองเห็นความเป็นสีเทาของคน เราได้อะไรเยอะมากจากการเรียนที่อักษรฯ จากการเรียนวรรณกรรม ฉะนั้นเวลาเราเลือกหนังสือมาพิมพ์ มันจึงโยงไปถึงพื้นฐานตรงนั้นของเราบวกกับความอยากช่วยเหลือสังคม ซึ่งเอาเข้าจริง เราก็ไม่ได้ทำอะไรในส่วนนี้เลย เพราะเมื่อมีครอบครัว เรายอมรับว่า สิ่งแรกที่เรานึกถึง และสำคัญที่สุดสำหรับเราคือครอบครัว

สรุปก็คือ หนังสือที่เราเลือกมาพิมพ์ คือวรรณกรรมที่น่าจะมีคุณค่าต่อสังคม หรือไม่ก็เป็นงานที่เรารักโดยส่วนตัว เช่นเรื่อง เปเรย์รายืนยัน ซึ่งเรารักหัวใจอันอ่อนโยนของเปเรย์รา หรือเป็นงานที่คนอิตาลีถือว่าทรงคุณค่า และเราก็ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดเป็นภาษาไทย เพราะลูกเราก็จะได้ภูมิใจด้วย แต่บางครั้งเราก็แค่อยากพิสูจน์ฝีมือตัวเองว่าจะทำได้ไหม ก็แค่นั้นแหละ

คุณบอกว่า เป็น ‘ชนชั้นล่างสุด’ ก็เลยทำให้นึกถึงตัวละครใน ตาสว่าง ชีวิตของคุณเหมือนหรือต่างอย่างไรกับชีวิตของตัวละครใน ตาสว่าง บ้างครับ พอจะเทียบเคียงให้ฟังได้ไหม

เป็นลูกชาวนาเหมือนกัน แต่อยู่ขอนแก่น ไม่ใช่อุดรฯ เหมือนตัวละครในนิยายเล่มนี้ ตอนเด็กๆ ก็ทำนา ถอนกล้า ดำนา หาบกล้า ตีข้าว เลี้ยงควาย ถ้าไม่ใช่ฤดูทำนา ก็ทอเสื่อ ทำตั้งแต่อายุประมาณเก้าหรือสิบขวบ ทอเสื่อก่อนไปโรงเรียน และหลังเลิกเรียน

ชีวิตลำบากอยู่เหมือนกัน เพราะอาศัยอยู่กับญาติ พ่อแม่แยกทางกัน ตอนเล็กกว่านั้นอยู่สมุทรปราการ แม่เป็นคนพิษณุโลก พ่อเป็นคนขอนแก่น ถ้าเข้าใจไม่ผิด ทั้งคู่ทำงานในโรงงานทอผ้าอยู่แถววัดตำหรุ บางปูใหม่ แล้วเขาก็ฝากให้ตายายคู่หนึ่งเลี้ยงเรา

ต่อมาเขาแยกทางกัน แม่พาลงหนังสือพิมพ์เพื่อประกาศหาผู้อุปการะ แล้วได้ไปอยู่บ้านของใครคนหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่เราทะเลาะกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่อยู่ที่นั่นมาก่อนเรา จำได้ว่าเขาชอบแกล้ง วันหนึ่งตอนขึ้นรถเมล์ไปโรงเรียนอนุบาลด้วยกันทุกคน เราไม่ขึ้นไปกับเขา รู้สึกจะเป็นสาย 3 ถ้าจำไม่ผิด แต่ตอนนั้นอายุคงราวๆ 6 หรือ 7 ขวบ เราเดินไปขึ้นสาย 25 เพราะจำได้ว่า มันผ่านปากน้ำ และจากปากน้ำก็นั่งสองแถวต่อไปลงวัดตำหรุ ไปหาตายายคู่นั้น ซึ่งเรารัก จำได้ว่าไม่มีเงินจ่ายค่ารถ แต่สมัยนั้นเด็กนักเรียนไม่ต้องจ่ายค่ารถ ก็ไปอยู่กับตายาย และพี่ๆ ซึ่งเป็นลูกๆ ของตากับยาย ต่อมาไม่รู้ยังไง แม่ตามให้กลับ แต่เราไม่ยอมกลับกับแม่ แม่เลยต้องฝากเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดตำหรุ เข้า ป.1 ที่นั่น จำได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในวัยเด็ก เล่นหมากเก็บกับพี่ๆ จับปูแสม ตอนกลางคืนไปดูลิเก คณะสมศักดิ์ ภักดี แต่พอจะขึ้น ป.2 ญาติฝ่ายพ่อไปรับให้กลับไปอยู่ขอนแก่น ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป แต่ไม่ขอลงรายละเอียด

ตอน ม.2 หนีไปกรุงเทพฯ ตั้งใจจะไปอยู่กับพ่อ แล้วก็กลับไปขอนแก่นอีก ตอน ม.4 ออกจากโรงเรียน ไปทำงานเป็นคนรับใช้ที่ระยอง ต่อมาก็ลาออก ไปขออาศัยอยู่กับพ่อที่สมุทรปราการ ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนป้อมนาคราชสวาทยานนท์ ที่พระสมุทรเจดีย์ จนจบ ม.6 ก็เอ็นฯ ติดคณะเกษตร ม.เกษตร แล้วโชคดี จับฉลากได้อยู่หอของมหาวิทยาลัย ซึ่งค่าหอถูกมาก ตอนนั้นมีเงินติดตัวไปนิดเดียว อาจารย์ที่โรงเรียนให้ ช่วงแรกๆ ก็อาศัยกินแต่ฝรั่ง เพราะมันอิ่มท้อง ต่อมาก็ได้ทุนของมหาวิทยาลัย และได้ทำงานในโรงนมของคณะเกษตร และอาจารย์ที่ปรึกษาก็เมตตา

พอเอ็นฯ เข้าจุฬาฯ ก็ได้อยู่หอของมหาวิทยาลัยอีกเหมือนกัน มีเงินติดตัวไปนิดเดียวอีกเหมือนกัน และได้อาจารย์ที่ปรึกษาที่มีเมตตาสูงมาก เพราะระหว่างที่รอผลการขอทุน อาจารย์ให้เงิน 4,000 บาท สำหรับเรามันเยอะมากๆ อาจารย์ชื่อ ภาวิณี นานา กับสามีชื่อ คุณอรรถ นานา เป็นผู้ที่ทำให้เรามีชีวิตใหม่จริงๆ เออ รู้สึกจะเล่ายาวเกินไปละ

photo: Wekin Massimo Palandri

หลังจากเรียนจบคุณเริ่มทำงานแปลเลยหรือเริ่มจับงานวรรณกรรมอิตาลีได้ยังไงครับ แล้วกลายมาเป็น อ่านอิตาลี ได้ยังไง

เริ่มแปลเรื่องสั้นตั้งแต่เรียนปี 1 ที่คณะอักษรฯ ได้ตีพิมพ์ในนิตยสารลลนา คุณนันทวัน หยุ่น เป็นบรรณาธิการ เรื่องแรกคือ หมีของโจเซฟ ตอนนั้นยังแปลจากภาษาอังกฤษ แปลมาเรื่อยๆ ลงในนิตยสารต่างๆ เช่น แพรวสุดสัปดาห์, ผู้หญิง, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เซ็คชั่นจุดประกายวรรณกรรม

แต่พอเรียนจบ ไปทำงานเป็นเลขาฯ ให้บริษัทที่นำเข้าสปอตไลท์จากอิตาลี เพราะเรียนเอกอิตาเลียน ทำอยู่สองปี ก็เปลี่ยนไปทำที่ฝ่ายต่างประเทศของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในศูนย์สิริกิติ์ แต่ยังแปลเรื่องสั้นตามนิตยสารเป็นงานอดิเรกอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งแปลวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง มัตเตียกับปู่ แล้ว พี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ แห่ง สนพ.แพรวเยาวชน พิจารณาให้ตีพิมพ์ แล้วก็แปลวรรณกรรมเยาวชนเรื่องอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ

จากนั้น ก็พี่เอ๋คนเดิม ชวนให้แปล หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ของ อิตาโล คัลวีโน ซึ่งพี่เอ๋พิมพ์เอง ในนามสำนักพิมพ์หนังสือยามเช้า จากนั้นก็แปลเรื่องอื่นๆ ให้สำนักพิมพ์ต่างๆ

ระหว่างนี้ก็มีความรู้สึกว่า การเสนอหนังสือให้สำนักพิมพ์ต่างๆ ตีพิมพ์ช่างเป็นเรื่องยากเย็น บางสำนักพิมพ์ตอบรับ แต่ให้รอ 4 ปีถึงจะพิมพ์ เช่นเรื่อง เปเรย์รายืนยัน สำนักพิมพ์แรกที่เสนอไปบอกว่าถ้าจะพิมพ์กับเขา ต้องรอ 4 ปี จำได้ว่าวันหนึ่ง ขณะเดินไปไปรษณีย์ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมเราไม่พิมพ์เองเลยล่ะ จะไปง้อทำไม

จำไม่ได้ว่าทำไมถึงเลือกเรื่อง ตัวละครทั้งหกตามหานักประพันธ์  อาจเพราะมันสั้น และเพราะมันเป็นงานสำคัญที่น่าแปลและพิมพ์เผยแพร่ เลยชวน คุณเข้ม-ณขวัญ ศรีอรุโณทัย (บรรณาธิการ WAY) มาช่วยทำ โดยให้ออกแบบโลโก้ ‘อ่านอิตาลี’ ออกแบบปก และจัดหน้าเสร็จสรรพ ตอนถามคุณเข้มว่าสนใจไหม คุณเข้มตอบทันทีว่าสนใจ เพราะชื่อเรื่องดึงดูด ตอนนั้นมีเพจ อ่านอิตาลี อยู่ก่อนแล้ว ทำขึ้นมาเล่นๆ เพื่อเผยแพร่งานแปลของตัวเองบ้าง และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับอิตาลีบ้าง เลยเอาเพจเป็นเพจของ สำนักพิมพ์อ่านอิตาลี เสียเลย

หนังสือเล่มแรกของ ‘อ่านอิตาลี’

ปัจจุบันคุณใช้ชีวิตที่อิตาลี มีครอบครัวที่นั่น มีการงานที่นั่น เวลามองกลับมาที่การเมืองไทยในปัจจุบัน หรือสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน คุณรู้สึกอย่างไร

รู้สึกว่าเมื่อไหร่ความเหลื่อมล้ำในไทยมันจะน้อยลงเสียที เท่าที่เราเห็นตลอดเวลา 20 ปีที่อยู่ที่นี่ ในอิตาลีประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร เป็นช่างก่อสร้าง ครูอาจารย์ ช่างทำผม พนักงานทำความสะอาด พนักงานในซูเปอร์มาร์เก็ต เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีเกียรติน้อยกว่าคนอื่น เวลาไปหาหมอ คุยกับหมอ ก็ไม่ต้องพินอบพิเทา หรือเวลาไปติดต่อราชการก็เหมือนกัน เรามองเห็นความเสมอภาคของคน อยากให้เมืองไทยเป็นแบบนี้บ้าง ไม่ใช่อำนาจอยู่ในมือของคนกระจุกเดียว แล้วก็มีระบบอุปถัมภ์ พอได้ยินนักการเมืองไทยพูดว่า “ลองไปคุยกับนายดูก่อน” ก็รู้สึกปวดหัวใจ

ตอนที่กลับมาเมืองไทยเมื่อปีที่แล้ว คุณไม่ได้กลับมานานแค่ไหน แล้วความรู้สึกที่กลับมาเป็นยังไง

ไม่ได้กลับมา 20 ปี รู้สึกว่ามีสิ่งก่อสร้างผุดขึ้นเต็มไปหมด สร้างอะไรเยอะแยะไปหมด ทันสมัยมาก สวยหรูมาก โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า แต่ขณะเดียวกัน พอเข้าไปเดินตามตรอกซอกซอย ภาพมันขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง เห็นแล้วรู้สึกหดหู่

คนอิตาลีอ่านอะไรกัน วรรณกรรมอิตาลียังอยู่ได้ไหม ทั้งแง่ความแข็งแรงของวัฒนธรรมการอ่าน และธุรกิจหนังสือวรรณกรรม

ดูจากหนังสือที่เป็นเบสท์เซลเลอร์ คนอิตาลีชอบอ่านนิยายสืบสวนสอบสวนของนักเขียนบางคน คนอ่านรอให้ออกเล่มใหม่อย่างใจจดใจจ่อ คิดว่าวรรณกรรมอิตาลีอยู่ได้นะ เพราะเห็นเขาพิมพ์ซ้ำอยู่เรื่อยๆ อย่างหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งบางคนบอกว่า อาจขายดีเพราะได้รับรางวัล แต่หนาถึงแปดร้อยกว่าหน้า และคนอ่านก็เขียนวิจารณ์เยอะมาก ว่าชอบหรือไม่ชอบอย่างไร แสดงว่าเขาซื้อไปอ่านจริงๆ ไม่ได้ซื้อไปเก็บเพราะมันได้รางวัล สำนักพิมพ์ของอิตาลีก็มีเยอะ และก็ออกหนังสือมาอยู่เรื่อยๆ ก็แสดงว่าเขาน่าจะอยู่ได้

วรรณกรรมอิตาลีร่วมสมัย เขาพูดเรื่องอะไรครับ เขามีเทคนิคการประพันธ์ก้าวหน้าหรือทดลองอะไรๆ น่าตื่นเต้นบ้าง

เท่าที่ได้อ่าน นอกจากนิยายสืบสวน ก็จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของอิตาลีในศตวรรษที่ผ่านมา แต่เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ เช่นเรื่องราวชีวิตของคนใต้ที่อพยพขึ้นเหนือไปอยู่มิลานในช่วงทศวรรษ 1950 หรือเล่มที่เพิ่งออกไม่นานเป็นเรื่องราวการส่งเด็กๆ ขึ้นรถไฟจากใต้ให้ไปอยู่กับครอบครัวคนเหนือซึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ตามนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น นักเขียนรุ่นใหม่ของอิตาลีคงหลงใหลประวัติศาสตร์อันเข้มข้นของชาติตนและอยากทำความเข้าใจ อย่างเรื่องที่ได้รางวัลสเตรกา (Premio Strega) ปีที่แล้ว ซึ่งหนาแปดร้อยกว่าหน้า ก็เป็นเรื่องของมุสโสลินีกับลัทธิฟาสซิสต์ในรูปแบบของนิยาย

M. Il figlio del secolo (M. The son of the century)

และที่มีไม่น้อยไปกว่ากันก็เป็นนิยายที่วิเคราะห์หรือตีแผ่เบื้องลึกของคน ทั้งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยา พ่อกับลูกชาย แม่กับลูกสาว ฟังเผินๆ เหมือนไม่น่าสนใจ แต่เสน่ห์ของนิยายอิตาลีอยู่ตรงที่ เขาไม่แคร์ว่าต้องอยู่ในกรอบศีลธรรม ไม่แคร์ว่าต้องเป็นคนดีในสายตาคนอ่าน มันจึงเหมือนอ่านสิ่งที่ลึกๆ แล้วเราก็คิด แต่ไม่กล้ายอมรับหรือพูดออกมา หรืออาจปฏิเสธเสียด้วยซ้ำ ส่วนวรรณกรรมแนวทดลองไม่ค่อยเห็นเลยค่ะ

คนอิตาลีรุ่นใหม่ๆ อ่านวรรณกรรมไหม

ถ้าตัดสินจากลูกชายอายุย่าง 17 กับเพื่อนที่โรงเรียนของเขา คิดว่าคงอ่านน้อยมาก บางคนชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่น และเท่าที่รู้ หนังสือที่อาจารย์ให้อ่านนอกเวลา พวกเขาก็ไม่อ่าน อาศัยเสิร์ชเรื่องย่อทางเน็ต แต่ไม่กี่วันก่อน เจอเด็กหนุ่มคนหนึ่งในห้องสมุด อายุคง 20 ต้นๆ เขาเอานิยายหนาปึ้กเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อิตาลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาคืนห้องสมุด เราถามเขาว่าเป็นไงมั่ง เพราะเราไม่เคยอ่าน มันหนาจนน่ากลัว เขาบอกว่า สนุกมาก วางไม่ลง ทำให้เราอยากอ่านบ้าง

ได้อ่านวรรณกรรมไทยบ้างไหมครับ

ซื้อมาเยอะเลยค่ะ แต่อ่านไม่ค่อยจบ รู้สึกว่ามันไม่ค่อยน่าสนใจ ทั้งเรื่องราวและวิธีเขียน คือเรื่องราวเราก็พอจะเดาออก แนวคิดก็ไม่แปลกใหม่หรือลึกซึ้งเท่าไหร่ บางทีก็เหมือนเขาอยากทำเท่เฉยๆ มันไม่ค่อยกระตุ้นต่อมสมอง อ่านไม่สนุกเหมือนวรรณกรรมอิตาลี แต่บางทีก็ต้องบังคับตัวเองให้อ่านให้จบ เพื่อศึกษาสำนวนภาษา ที่พูดนี้ไม่ได้เหมารวมของนักเขียนไทยทุกคนนะคะ หมายถึงเฉพาะเล่มที่เห็นเขาเชียร์กันแล้วซื้อมาอ่าน

ชีวิตการทำงานแปลในแต่ละวันเป็นอย่างไร มีพิธีรีตองอะไรไหม

ตอนนี้ลูกชายโตเป็นหนุ่มแล้ว ก็มีเวลาแปลงานมากขึ้น นอกจากงานบ้าน ก็นั่งแปลหนังสือค่ะ ตั้งแต่เช้าเลย แต่แปลไม่ได้เยอะหรอก เพราะบางทีอารมณ์ไม่มา หรือนึกคำไม่ออก ก็นั่งเล่นเกม

photo: Wekin Massimo Palandri

ช่วงต้นคุณบอกว่า “คณะอักษรฯ สอนให้มองเห็นความเป็นสีเทาของคน” อยากให้ช่วยขยายความหน่อยครับ

คนเราไม่มีใครเป็นสีขาวหรือสีดำ ไม่มีใครดีล้วน ชั่วล้วน แต่มีดีมีชั่วปะปนอยู่ในตัวเรา คนเราจึงเป็นสีเทา หลังจากเรียนวรรณกรรมที่อักษรฯ แม้แต่ฆาตกร เรายังไม่กล้าตัดสินเลยว่าเขาชั่ว แต่จะคิดทันทีว่า เขาทำไปเพราะอะไร มีอะไรเป็นเหตุจูงใจ แต่ยังไงก็เถอะนะ ตอนนี้ในวัยเกือบห้าสิบ หลังจากได้เห็นรัฐมนตรีบางคนอภิปรายในสภา เราชักไม่แน่ใจในเรื่องนี้เสียแล้ว แม่ง มึงพูดออกมาอย่างไม่มีความละอายใจเลยสักนิดในสิ่งที่มึงทำไป แล้วแถมตอนชนะโหวต ยังยิ้มร่ากวนส้นตีนมากๆ

photo: Wekin Massimo Palandri

วรรณกรรมที่ดีสำหรับคุณนั้นเป็นอย่างไรครับ

พออ่านหนังสือเล่มไหน แล้วรู้สึกว่าตัวละครมีความทุกข์ หรือมีความซับซ้อน มีความลึกให้ค้นหา เราจะชอบ ชอบงานที่วิเคราะห์คน หรืองานที่มีความทุกข์บางอย่างที่คนต้องเผชิญ อย่างเรื่อง สำนึกของช้าง สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจว่า เรื่องนี้ฉันต้องแปล คือ คำพูดของตัวละครหญิงที่บอกว่า “ลูกในท้องของเธอเป็นลูกของพ่อเธอ” คำพูดนี้อยู่ต้นๆ เรื่อง แต่เราตัดสินใจทันทีว่า ฉันต้องแปล ตอนนั้นไม่รู้จักว่าผู้แต่งเป็นใคร รู้แต่ว่าเป็นหนังสือที่เข้ารอบรางวัลคัมปิเอลโอ (Premio Campiello)

ส่วนวรรณกรรมที่ดีนี่บอกยากนะ มันแล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนด้วย แต่สำหรับเรา อย่างหนึ่งเลยคือ มันต้องจริงใจ ต้องสัมผัสได้ว่าออกมาจากหัวใจของผู้เขียน เช่นงานของ ตาบุคคี หรือถ้าไม่อย่างนั้น ก็ต้องเก่งกาจจนเราทึ่ง อย่างงานของ คัลวีโน หรือปราดเปรื่องอย่างงานของ เอโค หรือเจาะลึกถึงก้นบึ้งอย่าง เพื่อนคนเก่ง  ของ แฟร์รานเต หรือคัดง้างกับความอยุติธรรมอย่างงานของ เลโอนาร์โด ชัชชา

โลกวรรณกรรมบันทึกไว้เสมอว่า ตัวละครตัวนั้นตัวนี้เป็นที่น่าจดจำ ตัวละครตัวไหนเป็นที่น่าจดจำสำหรับคุณ

ซานติเอโก ใน เฒ่าผจญทะเล ค่ะ สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นยำคือ แกไม่เคยคิดสงสารตัวเองเลย แถมยังสงสารนกที่อยู่กลางทะเล แกไม่ฟูมฟาย มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และมีเมตตาด้วย

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า