WAY to READ: ความเงียบอันอึกทึก

คุณไม่จำเป็นต้องออกไปจากห้อง นั่งนิ่งๆ ที่โต๊ะ ขอเพียงนั่งนิ่งๆ อยู่กับความวิเวก โลกจะเผยตนต่อคุณอย่างอิสระ

– ฟรันซ์ คาฟคา

 

เมื่อแรกที่ได้อ่าน The Spirit of Silence ของ จอห์น เลน (John Lane) หรือ ความเงียบ ในชื่อภาษาไทยจากสำนวนแปลของ สดใส ขันติวรพงศ์ ‘เท่’ เป็นคำแรกที่ผุดขึ้น ประการต่อมาเป็นความรู้สึกที่ค่อนไปในทางที่หากจะว่าด้วยสำนวนสมัยใหม่คือ ‘วัลลาบี’

เป็นความวัลลาบีที่อยากจะเป็นได้อย่างคาฟคา

เป็นความวัลลาบีที่อยากจะเข้าถึงความเงียบแบบที่ เซซาน เขียนภาพเงาไม้ในป่าเปลี่ยว กระทั่งตระหนักซึ่งการอยู่อย่างเงียบๆ ในห้องของตนเอง

หากจะจัดนิยามให้ ความเงียบ อยู่ในหมวดหนังสือปรัชญาก็อาจได้ หรือหากจัดอยู่ในหมวดพัฒนาตัวเองก็ไม่ขัดเขินแต่อย่างใด แต่สำหรับเรา ความเงียบ เป็นเรื่องของประสบการณ์ของผู้ที่มีชีวิตอยู่ด้วยการตระหนักซึ่งโมงยามของการทำงานในแต่ละวันของชีวิต

โดยไม่จำกัดที่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง

แน่นอนว่าด้วยท่าทีปัญญาชนของหนังสือเล่มนี้ พอจัดวางมุมมองด้วยวิธีคิดอีกแบบ เราอดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่จะอ่าน ความเงียบ แล้วเสพซึ้งซึ่งความเงียบอาจมีเพียง “นักบวชหญิงชาย นักปราชญ์ นักปรัชญา นักรหัสยนัย นักจัดสวน นักเขียน ศิลปินผู้ทำงานสร้างสรรค์ ชาวนา พยาบาลและแม่” – หน้า 35

ขณะเดียวกันก็กลับวางท่าทีหยามหมิ่นอาชีพอื่นในลักษณะ “จะพบความสุขที่แท้ก็แต่ในการกระทำทางกาย เช่น เดินทางท่องเที่ยว เล่นสกี เล่นกีฬาทางน้ำ แข่งกรีฑา หรือแม้แต่การเดินซื้อสินค้าตามห้าง” – หน้า 35

เอาล่ะ ถ้าให้แฟร์กับเลน อาจผิดแต่แรกที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน (อีกครั้ง) ในบริบทที่แตกต่างไปค่อนข้างมากแล้วทั้งต่อตัวเอง และต่อ ความเงียบ ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่เมื่อ 11 ปีก่อน โดยเฉพาะการนำกรอบความคิดที่มีต่อลัทธิทางการเมืองที่อันตรายโดยตัวมันเองมาตีกรอบสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงของผู้คน

ในอดีตความเชื่ออย่างลัทธิบอลเชวิก และลัทธินาซีได้เคยมีอำนาจขับเคลื่อนผู้คนนับล้านๆ ให้กระทำการที่พวกเราที่พวกเขาคิดว่าเป็นการเสียสละ ส่วนในปัจจุบันลัทธินิยมความทันสมัย (modernism) ได้ยึดกุมผู้คนนับล้านๆ ไม่แต่ในยุโรป แต่รวมถึงประเทศจีน อินเดีย และภูมิภาคต่างๆ ในตะวันออกกลาง นี่คือความใฝ่ฝันที่ อีริค ฟรอมม์ เรียกว่า “ความหวังอย่างใหญ่หลวงของความก้าวหน้าที่ไร้ขีดจำกัด” หรือพูดอีกอย่างได้ว่า “ความหวังที่จะครอบครองธรรมชาติ ความหวังความมั่งคั่งทางวัตถุ หวังอิสรภาพส่วนตนอย่างไร้สิ่งกีดขวาง และหวังความสุขอย่างล้นเหลือ”  

– หน้า 71

 

ปัญหาของแนวความคิดนี้ของเลนอยู่ตรงที่กรอบความคิดของเลนเอง (ซึ่งเป็นนักธรรมชาตินิยม) การเปรียบเทียบการนิยมความทันสมัยด้วยกรอบที่ว่า หากไม่รู้เท่าทัน กระแสความนิยมนี้ที่แพร่ลามไปเหมือนลัทธินาซี จะทำให้เราหลงลืมคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิต

ทว่าเลนกลับไม่ได้พูดถึงโครงสร้างของความเหลื่อมล้ำที่กดทับให้บางอาชีพ บางผู้คนทำได้แต่มองการบริโภคสินค้าผ่านชนชั้นกลางระดับบนไปจนถึงชนชั้นสูง ในท้ายสุดแล้ว ความอยากได้ใคร่มีของกลุ่มคนชนชั้นล่างกลับกลายเป็นความผิดบาป กลับกลายเป็นการไม่รู้ซึ้งซึ่งความหมายของความเงียบในชีวิต

แน่นอน (อีกนั่นแหละ) บทเรียนวิชาสื่อสารมวลชนเบื้องต้น บอกเราว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพคือการสื่อสารสองทาง แต่ประเด็นที่เราอยากสื่อสาร แน่นอนว่าไม่ใช่กลุ่มชนชั้นล่างที่ปรารถนาความสุข อาจเป็นแค่การได้ช็อปปิ้งเสื้อผ้าที่เล็งไว้นานแล้ว จนถึงการไปกินอาหารในห้างสักมื้อในราคาเหยียบพัน

ลึกๆ แล้ว เราเป็นคนชื่นชอบความเงียบ แต่ในความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า กับบางความเงียบ คงดีถ้าเรารับฟังบ้าง คงดีถ้าเรา – โดยทุกๆ อาชีพ – สามารถเข้าใจความเงียบที่ดำรงอยู่ในตัวคนทุกคนที่บางคนไม่เคยเอ่ยออกมา และทำให้…

ความเงียบ ความวิเวก และความเนิบช้าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความกลมกลืน และความเป็นระเบียบให้แก่โลกที่ปั่นป่วนสับสน

– หน้า 172

 


วิถีแห่งเต๋า ฉบับสมบูรณ์

ปราชญ์เหลาจื่อ
พจนา จันทรสันติ: แปลและเรียบเรียง
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน

สั่งซื้อเล่มนี้มาอ่านอีกรอบ เนื่องจากมิตรสหายผู้ประกอบการท่านหนึ่งแจ้งมาว่า ได้ยิน แจ็ค หม่า พูดว่าเขาใช้แนวคิดเต๋าในการทำธุรกิจ จึงอยากลองอ่านลองศึกษาบ้าง ขอให้แนะนำหนังสือเกี่ยวกับเต๋าให้หน่อย

เลือกเล่มนี้ส่งให้เพื่อน เพราะเป็นการแปลและเรียบเรียงโดยผู้ศึกษาเต๋ารุ่นบุกเบิกตัวจริงของจริง เข้าใจแก่นแท้ ถ้อยคำภาษาสวยงาม อีกทั้งน่าจะผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุดแล้วในบรรดางานเต๋าที่แปลออกมา

หลังจากส่งหนังสือให้เพื่อนเสร็จ ก็มาเห็นคนแชร์บทสัมภาษณ์แจ็ค หม่า พูดทำนองว่า – – – อย่าไปเชื่อหนังสือมาก

ไม่แน่ใจว่าบทสัมภาษณ์ทั้งสองครั้งนั้น แจ็ค หม่า ได้พูดจริงหรือไม่ แต่หากพูดจริงทั้งสองครั้ง นั่นย่อมแสดงว่า…แจ็ค หม่า เข้าใจวิถีแห่งเต๋าโดยแท้

อ้อ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีมิตรสหายนักปั่นจักรยานผู้เป็นเอตทัคคะด้านจีนศึกษาอีกท่านหนึ่ง จู่ๆ ก็โพล่งถามเหมือนเก็บความสงสัยมานานว่า ชื่อนิตยสาร WAY มาจากเต๋า ใช่หรือไม่

ผมตอบว่า – ใช่ครับ

แต่อันที่จริง ถ้าจะตอบแบบผู้ศึกษาเต๋า เขาต้องตอบว่า…ทั้งใช่และไม่ใช่

 

I’am Crazy (1945)

J. D. Salinger
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน

ถ้าเคยผ่านตางานชิ้นเอกของ เจ. ดี. ซาลิงเจอร์ คือ The Catcher in the Rye (1951) หรือในฉบับแปลไทย จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น คุณจะต้องรู้จักกับ โฮลเดน คอลฟิลด์ เด็กหนุ่มผู้ซุกซ่อนแววตาแปลกแยก ขบถ ไม่เป็นมิตร และมีหมวกล่าสัตว์สีแดงเป็นกำแพงกั้นระหว่างเขากับโลกภายนอก

แต่ The Catcher in the Rye ไม่ใช่พื้นที่แรกสำหรับ โฮลเดน คอลฟิลด์ I’m Crazy คือปฐมบทของโฮลเดน ในภาคที่ซาลิงเจอร์สวมบทบาทบุรุษที่หนึ่ง หลังสงครามโลก ซาลิงเจอร์ออกจากสถานบำบัดอาการทางจิตในนูเรมเบิร์ก โดยหอบร่างต้นฉบับของ ‘โฮลเดน’ ติดมือมาหกชิ้น โฮลเดน คอลฟิลด์ คือผลผลิตจากการบำบัด PTSD เอาเศษซากในด้านมืดออกมาปั้นเป็นตัวละครในเรื่องสั้น I’m Crazy ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร Collier ปี 1945

ปัญหาคือ ผมมี I’m Crazy (ที่เอามาจากไหนก็จำไม่ได้) พิมพ์ใส่กระดาษไว้ แต่หาไม่เจอ และเท่าที่เช็คราคา Collier ฉบับนั้นก็พบว่า มูลค่าของมันคือ 1,500 ดอลลาร์…

 

เมื่อปลาจะกินดาว ปีที่ 15

จัดทำโดย: ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
คีรีบูน วงษ์ชื่น: อ่าน

ในขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐอเมริกาออกมาประกาศปาวๆ ว่าเขาไม่เชื่อเรื่องโลกร้อน ปฏิเสธข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งในวันที่เกิดสุริยุปราคา ถึงขนาดแหงนหน้ามองดูด้วยตาเปล่ามาแล้ว

หลายปี หายนะที่เกิดขึ้นในชั่วอายุของเรา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เกิดจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลายอย่างไม่หยุดหย่อน และเราเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้

สำหรับปีนี้ หายนะที่จะเกิดจากทัศนคติความเชื่อของทรัมป์ การระเบิดแก่งแม่น้ำโขง การสูญพันธุ์ทางชีวภาพ ขยะมหาศาลที่ไม่มีทางกำจัดหมด โยงไปถึงเด็กหญิงฟ้าที่แม่เมาะกับร่างกายเล็กๆ ของเธอที่ต้องทนรับสารพิษจากถ่านหิน ฯลฯ คือคลื่นยักษ์ที่ยังคงโถมกระหน่ำโลกอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปลาจะกินดาว ของชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ทำหน้าที่บันทึกสถานการณ์สิ่งแวดล้อมมาแล้วถึง 15 ปี อาจช่วยเปิดโลกและใจให้พบหนทางสว่างเล็กๆ ได้บ้างก็ยังดี

เสียดายจังที่ทรัมป์ยังไม่ได้อ่าน

 

จากดวงจันทร์

Milena Agus
นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ: แปล
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน

ข้อดีของนิยายดีๆ เล่มหนึ่ง มันมักทำให้เราฉงนฉงายไปกับความมหัศจรรย์ของความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ตัวละครแอบย่องเข้าไปในประวัติศาสตร์ กระโดดโลดเต้นบนเก้าอี้ที่ครั้งหนึ่งบุคคลจริงเคยนั่ง ทบทับเป็นชั้นเป็นเชิงของเรื่องเล่า ไม่ใช่การป่นปี้ประวัติศาสตร์หรือป่าวประกาศว่า ความจริงตายแล้ว แต่เพื่อเพ่งพินิจมันอย่างรอบด้านขึ้น ทั้งประวัติศาสตร์และชีวิตที่แอบย่องเข้าไป

เหมือนกิจกรรมบ้าๆ กิจกรรมหนึ่ง การที่ใครบางคนเขียนเรื่องแต่งขึ้นมา และมีใครคนหนึ่งอ่านมัน

จากดวงจันทร์ ในภาษาไทย หรือ Mal di Pietre ในภาษาอิตาลี ละเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง เรื่องราวชีวประวัติของปู่ย่าตายายของตัวละครรุ่นหลานผู้รับหน้าที่เล่าเรื่องอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สิ่งที่เป็นจริงที่สุดในนวนิยายเล่มนี้ก็คือ เรื่องเล่าครอบครัวของเธอถูกตีความ คัดเลือก ทำความเข้าใจ บิดผัน วางตำแหน่ง และเล่าโดยเธอ หญิงสาวผู้เป็นบุตรหลานของชาวซาร์ดิเนียแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เธอกำลังจะแต่งงานและกลับมารีโนเวทและใช้ชีวิตในบ้านหลังที่กำเนิดเรื่องราวของบรรพบุรุษ เธอเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตของครอบครัวตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยังไม่หนีไปจากอิตาลี จนกระทั่งวันที่ย่าของเธอ จุดศูนย์กลางของเรื่องแต่งเรื่องนี้ตายลง

พี่ท่านหนึ่งผู้กำลังศึกษาเรื่องเต๋าเคยบอกว่า เราต่างถือพล็อตนิยายครอบครัวกันคนละเรื่อง ถ้อยความนี้จริง เป็นเรื่องจริงที่เราต่างมีเรื่องแต่งเกี่ยวกับครอบครัวของเรากันอย่างน้อยคนละหนึ่งเรื่อง

จากดวงจันทร์ เป็นทั้งนิยายรักและนิยายครอบครัว ใช้คำน้อย บางบทมีหนึ่งหน้า สนใจความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง และความเป็นไปได้ไม่รู้สิ้นในตัวตนมนุษย์คนหนึ่ง อากาศในนิยายค่อนข้างร้อน ฟ้าสีเนวีบลู มีเสียงคลื่นกับลม เสียงเปียโนและฟลุต ไวน์ขาววางบนโต๊ะริมทะเล ใกล้ๆ กันนั้นมีจานพาสต้าพื้นเมืองชาวเกาะซาร์ดิเนีย นกนางนวลบินว่อนบริเวณท่าเรือ นิยายเรื่องนี้มีกลิ่น กลิ่นเหงื่อไคลร่วมรักดื่มด่ำตอนกลางวัน และเสียงร่วมรักดำดิ่งและบ้าคลั่งยามค่ำคืน ฯลฯ

อ่านชีวประวัติย่าของตัวละคร ‘ฉัน’ แล้วนึกถึงคนอย่าง มาร์กาเร็ต คีน (Margaret Keane) ศิลปินหญิงชาวอเมริกัน และ วิเวียน ไมเออร์ (Vivian Maier) ช่างภาพหญิงชาวอเมริกัน ถูกกีดกันจากกิจกรรมสร้างสรรค์งานศิลปะ เพียงเพราะเป็นหญิง แต่ย่าถูกมองว่าเป็นบ้า

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า