WAY to READ: การเมืองพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

…อำนาจของรัฐบาลจอมพล ป. เสื่อมลงอย่างรวดเร็วภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500

– หน้า127

อย่างที่คนติดตามการเมืองไทยยุคใหม่มาพอสมควรต่างรู้กันดีว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในปี 2500 นับเป็นการเลือกตั้งสกปรกที่สุดครั้งหนึ่งจากการแทรกแซงจนทำให้พรรคเสรีมนังคศิลาของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้รับที่นั่งในสภา 85 ที่นั่งชนะพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้ที่นั่งไปเพียง 28 ที่นั่ง

กล่าวได้ว่าการพยายามกลับมาครองอำนาจอย่างชอบธรรมของจอมพล ป. ผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้กลับกลายเป็นการกรุยทางให้ขุนพลข้างกายขึ้นมามีอำนาจ และสถาปนารัฐเผด็จการอย่างยาวนานต่อเนื่องจนมาสิ้นสุดในอีก 16 ปีต่อมาก็ว่าได้

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือขุนพลผู้นั้น

ถ้าคุณถามผมโดยตรงผมจะตอบว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรก สกปรกที่สุด ทุกๆ คนโกง

– หน้า 128

ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขียนถึงยุคสมัยของประเทศก่อน 14 ตุลา 2516 ในหนังสือ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ โดยถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนจะได้รับการแปลเผยแพร่ในภาษาไทยภายใต้หนังสือชุดประวัติศาสตร์การเมืองไทยร่วมสมัยเนื่องในโอกาส 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และในวาระ 50 ปี มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พ.ศ. 2509-2559

ก่อนจะเข้าใจการสถาปนารัฐเผด็จการ ซึ่งก่อตัวขึ้นภายหลังรัฐประหาร 2490 ทักษ์ทบทวนประวัติศาสตร์ (โดยตัวหนังสือเองก็นับเป็นการทบทวนประวัติศาสตร์ เพราะทักษ์เริ่มต้นทำวิจัยในปี 2513 ภายหลังการอสัญกรรมจอมพลสฤษดิ์ไปแล้ว) พาเราย้อนกลับไปยังบรรยากาศทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับตั้งแต่รัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 การช่วงชิงอำนาจภายในกันเองของกองทัพ การพยายามกลับมายึดอำนาจของปรีดีและพันธมิตรทหารเรือ จนนำไปสู่เหตุการณ์ ‘กบฏแมนฮัตตัน’ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2494 ก่อนจะเกิดรัฐประหารเงียบผ่านวิทยุกระจายเสียงในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2494 จนมาจบตอนที่ 1 ของหนังสือด้วยบทที่ว่าด้วยการแตกคอของจอมพลสฤษดิ์กับจอมพล ป.

ภายหลังวิกฤตการณ์ต่อเนื่องมายังคดีฉ้อโกง เมื่อ นายเทียม คมกฤช ออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ยุคนั้นว่า… “บุคคลที่มีอำนาจบางคนในรัฐบาลต้องการจะตั้งบริษัทป่าไม้แห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งจะรวมเอาบริษัทเอกชนอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกันหมด เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นการผูกขาดอุตสาหกรรมทำไม้และไม้สัก” (นอกตัวบท คงน่าสนใจ หากเราย้อนกลับไปดูการพยายามรุกไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เมื่อรัฐบาลปัจจุบันขึ้นมาครองอำนาจ)

สิ่งที่น่าสนใจ อันที่จริง ‘น่าสนใจ’ เป็นคำที่ให้คุณค่าหนังสือน้อยกว่าความเป็นจริง ต้องกล่าวด้วยซ้ำว่า ‘คุณูปการ’ ของหนังสือเล่มนี้คือการเฉือน กระเทาะ ให้เรามองเห็นถึงแก่นกระพี้ของการก่อตัวขึ้นมาของรัฐไทย ภายใต้ระบบ ‘พ่อ’ ปกครอง ‘ลูก’ ที่สฤษดิ์นำมาใช้ภายหลังการเข้าไปมีส่วนในคณะรัฐประหารตั้งแต่ปี 2494 จนกระทั่งเริ่ม ‘เล่นการเมือง’ เป็นตลอดช่วงรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคมนังคศิลาที่มีจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ ก่อนที่คลื่นของความไม่พอใจของประชาชนที่มาชุมนุมในวันที่ 15 กันยายน 2500 เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกตามการยื่นขาดของจอมพลสฤษดิ์ต่อสภาสองวันก่อนหน้าที่จะพากันเคลื่อนขบวนมายังบ้านพักของ ‘ผู้บัญชาการทหารบก’ ซึ่งที่นั่นจอมพลสฤษดิ์ได้รอคอยที่จะกล่าวปราศรัยอยู่แล้ว

ในนามของกองทัพบกและผู้แทนประเภทสอง ข้าพเจ้าได้กระทำการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประชาชนและประโยชน์ของประชาชน การมาของท่าน ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าถือว่าเป็นการให้การสนับสนุนกำลังใจแก่ข้าพเจ้าที่จะดำเนินการสืบไป

เช้าวันต่อมา ตามคำของทักษ์ กลไกของกองทัพที่มีการเตรียมพร้อมไว้อย่างดีแล้วก็กระทำการรัฐประหารแบบสายฟ้าแลบ รหัสในการปฏิบัติการนี้มีชื่อว่า ‘ฤกษ์ดีธนะรัชต์’

ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ปรากฏว่าตอนที่จอมพลสฤษดิ์กระทำรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 นั้น จอมพลสฤษดิ์มิได้มีความคิดแจ่มชัดนักว่าจะปกครองประเทศอย่างไร

– หน้า 162

แน่ล่ะ, การจะกล่าวว่าหนังสือเล่มหนึ่งมีคุณูปการต่ออะไรก็ตามจำเป็นต้องมี (ถ้าพูดด้วยสำนวนราชการหน่อยๆ) ตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ ส่งผลอย่างไรต่อแวดวงการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตัวเลขนักศึกษาที่แห่กันไปสมัครเรียนคณะรัฐศาสตร์?

อย่าลำบากค้นไปถึงกระนั้นเลย คำว่าคุณูปการ สำหรับผู้เขียนเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เพราะทักษ์ เฉลิมเตียรณ ไม่เพียง เฉือน กระเทาะ ให้เรามองเห็นถึงแก่นกระพี้ของการก่อตัวขึ้นมาของรัฐไทย ภายใต้ระบบ ‘พ่อ’ ปกครอง ‘ลูก’ เท่านั้น แต่ยังสางเงื่อนปมที่มัดกันยุ่งขิงในใจผู้เขียนว่าอะไรคือ ‘ประชาธิปไตยแบบไทย’ ด้วยการกลับไปเลือกหยิบแนวความคิด ‘พ่อขุน’ มาอธิบายความเป็นผู้นำของจอมพลสฤษดิ์ แม้ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ จะกล่าวโทษว่า…

ได้ชักนำให้แก่ความรู้สึกและต่อการสร้างบางสิ่งขึ้นมาที่สามารถขายได้ ชาญวิทย์เชื่อว่าจอมพลสฤษดิ์เป็น เผด็จการ ไม่มีอะไรนอกเหนือจากการเป็นเผด็จการคนหนึ่งเท่านั้น

– หน้า 23

ที่ต้องยกความรู้สึกส่วนตัวมารบกวนพื้นที่ผู้อ่านก็เพื่อจะบอกว่า หากทักษ์ไม่เขียนหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนก็อาจไม่เข้าใจเลยว่าแนวคิดในแบบพ่อปกครองลูกมาแฝงฝังอยู่ในความเป็นเผด็จการของผู้นำคนหนึ่งที่ประกาศประโยคอมตะ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ซึ่งได้ยินมาตั้งแต่เด็กได้อย่างไร

เหมือนที่ทักษ์ได้เขียนไว้นำคำนำว่างานชิ้นนี้เป็นความพยายามที่จะทำความเข้าใจ อะไรคือประชาธิปไตยแบบไทยไปจนถึงแนวคิดในเรื่องการเป็นตัวแทนและอภิสิทธิ์ของผู้นำนั้นแตกต่างจากความเข้าใจในโลกตะวันตก ซึ่งแนวความคิดพ่อขุน ยังส่งต่อมายังสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบของพลเอกเปรม กระทั่งในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยของ ทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าประวัติศาสตร์จะบอกกล่าวเช่นไรต่อความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดของจอมพลสฤษดิ์ก็ตาม (ซึ่งก็ขออนุญาตกล่าวถึงผู้ชื่นชมความเด็ดขาดแบบทหารๆ หน่อยว่า ที่ท่อนหนึ่งในเพลงชาติเขียนไว้ว่าไทยนี้รักสงบ ท่านไม่รู้สึกว่ามันช่างยัอนแย้งหรืออย่างไร หรือจะบอกว่าก็เพราะ แต่ถึงรบไม่ขลาด ทว่าตลอดประวัติศาสตร์หลังปี 2500 ศัตรูส่วนหนึ่งที่ทหารรบมาตลอดคือประชาชนนะท่าน) หนังสือเล่มนี้พาผู้เขียนไปไกลกว่าในฐานะผู้อ่านด้วยการทำความเข้าใจว่าทุกๆ องคาพยพที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นคำหนึ่งคำอันมีพลังมหาศาลนั้น หาได้เกิดจากคุณลักษณะอันกลายเป็นที่จดจำของจอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้เพียงอย่างเดียว แต่เราๆ ในฐานะประชาชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกันสร้างเผด็จการขึ้นมา


การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ
เขียน: ทักษ์ เฉลิมเตียรณ
แปล: พรรณี ฉัตรพลรักษ์
มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า