คำนำสำนักพิมพ์บอกกล่าวไว้ว่า
…เชื่อว่า ‘หมายเหตุสังคม’ เล่มนี้คงช่วยคลายความคิดถึงของผู้อ่านที่มีต่อนักเขียนลงไปบ้าง แต่น่าจะดีกว่า ถ้ามันส่งผลให้ ‘เรา’ เข้าใจกันมากขึ้น เบียดเบียนกันน้อยลง!…
กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ในวาระอันใกล้งานปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ วันที่ 9 มีนาคม 2561 ที่จะถึงนี้ องค์ปาฐกของปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16 คือ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กับหัวข้อปาฐกถา ‘ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย’ พลันที่ชื่อของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้รับการเผยแพร่ผ่านคลิปวีดิโอออกไปในวงกว้าง น้ำเสียงของการรอคอยจากผู้ให้ความนับถือและเคารพในตัวตนของอดีตผู้นำศึกษาเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจไม่แตกต่างมากนักกับคำกล่าวที่ เวียง-วชิระ บัวสนธ์ ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์สามัญชน ซึ่งจัดพิมพ์ผลงานของเสกสรรค์ทุกเล่ม เขียนไว้ในคำนำของ เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ หนังสือที่รวมบทความของเสกสรรค์จากหนังสือพิมพ์ ในช่วงระหว่าง ปี 2545-2546
ทั้งหนังสือเล่มนี้ที่ตีพิมพ์ออกมาในห้วงปี 2547
ทั้งปาฐกถาที่ใกล้จะมาถึงในเดือนมีนาคม 2561
อาจแตกต่างในแง่ของการนำเสนอ แต่เชื่อว่า ‘สาร’ ที่แฝงอยู่ในเนื้องานและคำพูดของเสกสรรค์คงช่วยให้ผู้เขียน-ในฐานะผู้ติดตามงานของนักเขียนผู้นี้มาตั้งแต่วัยละอ่อนกระทั่งเฉียดใกล้กลางคนเข้าไปทุกขณะ ได้คลายความคิดถึงลงไปได้บ้าง ดั่งที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ได้เขียนไว้ และคงจะดียิ่งขึ้น ถ้ามันส่งผลให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เบียดเบียนกันน้อยลง!
เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ เปิดเล่มด้วย ‘ปลายฝนต้นหนาว’ บทความซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ด้วยประโยคในท่อนสุดท้ายของพารากราฟหน้าที่ 17 ไว้ว่า
…ความผันแปรของฤดูกาล…จะว่าไปก็มีอะไรละม้ายกับบรรยากาศในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่ยังไม่ลงตัวแบบบ้านเรา ซึ่งดีชั่วอยู่เคล้าระคน มืดสว่างแย่งกันเป็นเจ้าของพื้นที่ กระทั่งบางครั้งบางทีต้องเลือกรักบ้านเมืองคราวละหนึ่งห้วงยาม…
แค่ถ้อยคำในท่อนนี้จากประวัติศาสตร์บนสื่อสิ่งพิมพ์เมื่อ 16 ปีก่อน ใช่หรือไม่ว่าอดไม่ได้ที่จะหวนกลับมาดูสภาวการณ์ในปัจจุบันของสังคมที่นิยามความดี/ความชั่วกลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่นำมาสู่การแย่งชิงพื้นที่ทางการเมือง กระทั่งไม่อาจปฏิเสธว่ากลายเป็นเหตุผลสำคัญที่นำไปสู่การรัฐประหารเมื่อเกือบสี่ปีที่ผ่านมา
แม้เนื้อหาในบทความนี้จะเล่าถึงคนสองคนที่เคี่ยวกรำตัวเองในสายอาชีพแตกต่างกัน คนหนึ่งมุ่งไปสู่การเป็นนักเทนนิสระดับโลก ขณะที่อีกคนมุ่งไปสู่ห้องขังในฐานะอดีตนายแพทย์ที่สังหารคนรักตัวเอง คำถามสำคัญในประเด็นของบทความนี้จึงอยู่ที่สังคมแบบไหนผลิตคนสองคนที่แตกต่างกันออกมา และเลยไปถึงผู้คนแบบใดที่แยกไม่ออกระหว่างฆาตกรกับหน้าตาทางสังคมที่ถูกแขวนลอยไว้กับคำว่า ‘นายแพทย์’
พูดก็พูดเถอะ ไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่า ผู้คนในปัจจุบัน กระทั่งย้อนถอยกลับไปก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่างก็แยกแยะไม่ออกระหว่างเผด็จการกับความดีที่ควรเป็นในฐานะของอาชีพอาชีพหนึ่งที่ควรดำเนินตนในครรลองที่ควร มิใช่ถือตนว่ามีอำนาจจากปืนและรถถังจะเที่ยวสถาปนาตนและพวกพ้องเป็นคนดี แล้วไล่ล่าคนคิดต่างไปจำคุกเพื่อจะธำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใต้ความมั่นคงแห่งชาติ
ซึ่งก็น่าสนใจใช่ไหม สังคมแบบใดที่หวาดกลัวกันได้ขนาดนั้น ถึงกับยินยอมให้เขาเข้ามากระชากอำนาจและแย่งชิงทุกอย่างไปจากมือ แต่กลับยิ้มร่าทั้งน้ำตาด้วยความปีติพลางกู่ร้องยินดี
ท่ามกลางกระแสความคิดที่มองว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง และเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเสียงที่มีคุณภาพ บ่อยครั้งด้วยซ้ำไปที่เสียงส่วนใหญ่นำมาซึ่งทรราช ซึ่งกลายเป็นชุดความคิดที่แพร่หลายในหมู่ชนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยในนามของมวลมหาชน การอ่าน เมื่อโลกไม่มีประวัติศาสตร์ อีกครั้งในห้วงยามปัจจุบันทำให้ทบทวนถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรจะไปได้ไกลกว่าการกำหนดนิยามทางการเมืองไว้แค่เพียงคำว่า ‘ความดี/ความชั่ว’ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเสรีภาพที่มักจะถูกค่อนขอดว่าต้องมีมาพร้อมหน้าที่ และหน้าที่นั้นหมายความเพียงแค่การทำตามคำสั่งโดยไม่ปริปากตั้งคำถาม ซึ่งเสกสรรค์ได้แสดงทัศนะในเรื่องนี้ไว้ในบท ‘สังคมไทยกับ ‘วันประชาธิปไตย’ ‘ ว่า
…เสรีภาพส่วนตัวนั้นดีแน่ แต่ความหมายของมันจะหมดสิ้นไปทันที ถ้าคุณคิดว่า นั่นเป็นแค่การเฉือนโลกบางส่วนเสี้ยวมาถือครองโดยลำพัง…
ไม่ได้จะบอกว่าการเฉือนโลกบางส่วนเสี้ยวของฟากฝั่งใดเป็นการถือครองโดยลำพังมากกว่า หากแต่การเสียสละภายใต้วาทกรรมของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มันไม่ควรเป็นการอนุญาตให้อำนาจนอกระบบถือปืนเข้ามาปล้นชิงสิ่งที่ควรเป็นของประชาชน ขณะเดียวกันกลับเงียบงันเมื่อเห็นฟากฝั่งที่ตนกู่ร้องยินดี ซึ่งอีกนั่นแหละ เสกสรรค์ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ให้เทียบเคียงในบท ‘อิทธิพลและความเอื้ออาทร’ ว่า
…ในบ้านเรา ผู้คนจำนวนมากยังมีชีวิตที่เสียเปรียบในเชิงโครงสร้าง ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าการฝากเนื้อฝากตัวอยู่ในความอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อเป็นทางออกอย่างหนึ่ง ทำให้ได้รับทั้งผลประโยชน์และความมั่นคงปลอดภัย…
และ
…กลุ่มอิทธิพลในเมืองไทยจึงไม่ได้มีแต่ด้านที่เป็นมิจฉาชีพอย่างเดียว หากยังมีด้านที่เป็น ‘บารมี’ พึ่งพาอาศัยได้ในสายตาของคนจำนวนไม่น้อย เมื่อคนเหล่านี้คิดจะแปรอิทธิพลทางสังคมให้กลายเป็นโอกาสทางการเมืองก็ย่อมทำได้โดยไม่ยากนัก…
กระทั่ง
…ระบอบประชาธิปไตยนั้นถือกำเนิดมาจากแนวคิดที่เชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ แม้ว่าจะมอบสิทธิ์ในการบริหารบ้านเมืองให้กับคณะบุคคล โดยผ่านการเลือกตั้งเป็นระยะๆ แต่ความสัมพันธ์หลักในสังคมก็ยังเป็นแบบแนวราบ คือเน้นเสรีภาพของบุคคลและความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางการเมือง…
กล่าวอย่างถึงที่สุด หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของพรรคไทยรักไทย โดยมีนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกลายมาเป็นผู้บ่อนทำลายชาติไทย และสร้างความแตกแยกอย่างร้าวลึกที่สุดในทัศนะของฟากฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ในปัจจุบัน หากแต่การย้อนกลับไปอ่านแง่มุมทางความคิดของเสกสรรค์ต่อการบริหารประเทศของพรรคไทยรักไทย ซึ่งกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาผลิตซ้ำในแง่มุมของทรราชเผด็จการรัฐสภาแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นในปัจจุบันของรัฐบาลที่ฉีกทึ้งคุณค่าของประชาธิปไตยเพราะมองว่า หากเสียงส่วนใหญ่ไม่มีคุณภาพ ก็ควรสถาปนาเสียงจากฟากฝ่ายตนขึ้นมาแทน
ใช่หรือไม่ว่าวาทกรรมของการสาดโคลนที่ไร้สำนึกทางประวัติศาสตร์จึงเป็นได้แค่กระจกที่สะท้อนเพียงรูปเงาอันหลงตัวตนที่มองไม่เห็นความชั่วร้ายซึ่งซ่อนอยู่ในความเป็นคนดี