น้ำแท้ มีบุญสล้าง: เมื่อกฎหมายไทยไร้ราก ความอยุติธรรมจึงบังเกิด

น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ในประเทศที่เหลื่อมล้ำ และความยุติธรรมยังคงชำรุด ผู้คนจึงได้รับการปฏิบัติด้วยความไม่เท่าเทียม ตามสถานะทางสังคม อำนาจ บารมี และความรวยความจน บรรทัดถัดจากนี้คือมุมมองต่อกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมของ น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี

ความเหลื่อมล้ำแปลว่าไม่เสมอภาค หลักหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมคือ ทุกคนต้องเสมอภาคภายใต้กฎหมาย หรือหลักที่เราเรียกว่า ‘the rule of law’ หมายความว่า คุณจะจน คุณจะรวย คุณต้องถูกบังคับใช้กฎหมายเดียวกัน คุณจะมีนาฬิกากี่เรือน คุณจะแจ้งไม่แจ้ง คุณต้องโดนบังคับใช้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าจะมีใครได้รับการยกเว้น หากเป็นเช่นนั้นแสดงว่ากระบวนการยุติธรรมไม่เสมอภาค

เมื่อเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม คนไม่ได้รับความเป็นธรรมจะทำอย่างไร ทางเลือกที่ 1 คือวิ่งไปหาสื่อมวลชน ทางเลือกที่ 2 คือวิ่งเข้าหามูลนิธิต่างๆ ทางเลือกที่ 3 ไปขอให้ทนายนั่นทนายนี่ช่วย แปลว่าโดยตัวกระบวนการเองไม่สามารถให้ความเป็นธรรมคุณได้ แท้ที่จริงกระบวนการควรที่จะต้องให้ความเป็นธรรมคุณได้ คุณไม่จำเป็นต้องวิ่งออกไปนอกกระบวนการ แต่ทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมให้ความเป็นธรรมได้

กระบวนการยุติธรรมที่ให้ความเป็นธรรมได้ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนเสมอภาคกัน ดังนั้น เจ้าหน้าที่รัฐไม่จำเป็นต้องมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวเลยว่า ผมยืนยันจะทำคดีเหล่านี้อย่างเป็นธรรม เพราะระบบที่ดีจะเป็นระบบที่ไม่มีสิทธิไปบิดเบือนอะไรได้ เราต้องสร้างระบบที่กระบวนยุติธรรมต้องตรงไปตรงมา พยานหลักฐานทุกอย่างเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครมาตัดต่อ บิดเบือน ลบทิ้ง หรือมีก็บอกว่าไม่มี ซึ่งกระบวนการยุติธรรมเช่นนั้นมีอยู่จริง ในยุโรป อเมริกา

สำหรับในเอเชีย ประเทศไทยมีวิธีพิจารณาความอาญาแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกคือทุกประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีวิธีพิจารณาความอาญาเหมือนกัน แต่ไม่ใช่กับประเทศไทย

วิธีพิจารณาความอาญาบ้านเราก็คือ ‘กฎหมายที่ใช้ในการดำเนินคดี’ กับ ‘กฎหมายที่บัญญัติความผิด’ ไม่เหมือนกัน เป็นคนละเรื่อง ถามว่ากรณีกัญชาผิดกฎหมายไหม จะยกเลิกโทษประหารชีวิตดีไหม เป็นเรื่องที่สังคมจะต้องเห็นพ้องต้องกัน แต่วิธีพิจารณาความอาญาเป็นเรื่องของสากล จะจับอย่างไร จะขังอย่างไร จะค้นอย่างไร จะดำเนินคดีอย่างไร จะแจ้งข้อหาแบบไหน เรื่องเหล่านี้ต้องเป็นสากล

น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ในอดีต วิธีพิจารณาความอาญาของเรานั้นไม่เป็นสากล เราจึงถูกบังคับใช้กฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต คนต่างชาติก็เลยไม่ขึ้นศาลบ้านเรา ตรงนี้ถ้ามองถึงระบบกฎหมายบ้านเรา ผมไม่ได้มองแค่ว่ากระบวนการยุติธรรมชำรุด แต่ผมมองว่าวิธีพิจารณาความอาญาของเราวิปลาส

ความวิปลาสนั้นปะผุไม่ได้ ใครที่บอกว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบ้านเราดี ผมว่าคุณอินโนเซนส์มาก ทั้งในเชิงกฎหมาย ทั้งในทางประสบการณ์การบังคับใช้คดี

กฎหมายไทยนั้นผิดตั้งแต่เรื่องปรัชญา ซึ่งปรัชญากฎหมายมีอยู่ว่า ปล่อยคนผิด 10 คน ดีกว่าดำเนินคดีกับคนบริสุทธิ์หนึ่งคน ตรงนี้คือหลักการตั้งต้นที่มีมาตั้งแต่ยุคกรีกโรมัน

น้ำแท้ มีบุญสล้าง

เซอร์วิลเลียม แบล็คสโตน นักกฎหมายชาวอังกฤษเขียนไว้ ผมพอจะอ้างอิงเป็นตัวบุคคลได้ก็เมื่อปี 1765 ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ เราจะดำเนินคดีอะไร รัฐจะต้องทุ่มเท จะต้องใช้หลักทรัพยากรมาพิสูจน์จนมาถึงหลัก prove reasonable doubt – ต้องปราศจากข้อสงสัยในการดำเนินคดี

หลักต่อมาก็คือ ต้องสันนิษฐานว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการเหล่านี้จะต่อเนื่องกัน ทั้งหลักการฟังความสองฝ่าย ถ้าจะเอาเรื่องเขา คุณต้องฟังเขาก่อนว่าเขาจะให้การอย่างไร

น้ำแท้ มีบุญสล้าง

ทีนี้มาในเรื่องสมัยใหม่หน่อย คือเรื่องของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ว่าห้ามจับตามอำเภอใจ ห้ามขังตามอำเภอใจ อำเภอใจคืออะไร อำเภอใจก็คือเขาไม่ผิดก็ไปจับเขา เขาไม่ผิดก็ไปขังเขา

กติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมือง คนที่ถูกจับจะต้องนำตัวไปทันที ไปให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ เป็นผู้ตรวจสอบ และใครที่ถูกจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย โดยในเมืองไทยยังไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายจากการจับโดยมิชอบ นอกจากนี้การดำเนินคดีต้องเป็นธรรม ต้องพิสูจน์ตามกฎหมายในทุกชั้น ตั้งแต่ชั้นอัยการ ชั้นตำรวจ ไม่ใช่ว่าทดลองฟ้องไปก่อน แล้วให้ศาลบอกว่าไม่ผิดคุณค่อยมาดีใจว่าคุณบริสุทธิ์

อันนี้คือวิธีคิดที่วิปลาสของกฎหมายไทยที่ไม่รู้หลัก ไม่รู้ตัวบทกฎหมาย เรียนกฎหมายแบบตัวบทฎีกา จึงไม่มีราก เป็นวิชาที่สายวิชาชีพอื่นเขาดูถูก

ผมคุยกับคนในกระทรวงสาธารณสุข เขาบอกว่า เป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขคือ บุคลากรคนในกระทรวงนี้ เวลาเกิดคนเจ็บคนป่วยขึ้นมา เขาจะระดมสรรพกำลัง แพทย์ พยาบาล นักกายภาพ เภสัชกร เพื่อจะช่วยคนคนนี้ให้มีชีวิตอยู่รอดได้ แล้วกระบวนการยุติธรรมล่ะเป็นอย่างไร ถ้าเกิดเรื่องขึ้นมาเรื่องหนึ่ง เขาก็บอกว่า กลุ่มหนึ่งก็บ้าอำนาจ อยากจะสั่งอย่างเดียว ไม่มีความรับผิดชอบอะไร กลุ่มหนึ่งก็จะคอยตลบตะแลง หาหลักฐานเท็จหลักฐานลวงอันจะช่วยให้คนผิดกลายเป็นคนถูกให้ได้ อีกกลุ่มหนึ่งก็หากินกับสำนวน เวลาเกิดเรื่องจะหาช่องทางหาเงินอย่างไร นี่คือการทำงานในกระบวนการยุติธรรมบ้านเรา ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อความยุติธรรม

ยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา การดำเนินคดีในชั้นอัยการ ในชั้นฟ้องคดี จะต้องรวดเร็วและเป็นสาธารณะ อัยการจะมีเวลาเพียง 72 ชั่วโมงเท่านั้นในการตัดสินว่าจะแจ้งข้อหา นี่คืออำนาจในการแจ้งข้อกล่าวหาของอัยการ ไม่ใช่ให้ตำรวจแจ้ง ตำรวจจับแล้วจะต้องมาถามอัยการว่าเขาผิดไหม อัยการมีเวลา 72 ชั่วโมง ถ้าไม่แจ้งต้องปล่อย

ตรงนี้เป็นเรื่องของการถอยได้ เพราะวิธีการจับ วิธีการคิดในหลักสากล ถ้ามีเหตุให้จับ มีเหตุอันควรสงสัย ก็จับได้ พอจับได้แล้วอัยการบอกว่าไม่ผิดก็ปล่อย ตรงนี้ไม่โดนมาตรา 157 (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด) นักกฎหมายไทยไม่รู้จักท่อนนี้ เพราะจับแล้วพบว่าจับผิดตัว ยัดยามันเสียเลย จะได้ไม่ย้อนกลับมาเล่นงานเราด้วยมาตรา 157 ในฐานะที่ผมทำคดีช่วยคนบริสุทธิ์ กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย

อันนี้เป็นกฎหมายรัฐบาลกลางของอเมริกาที่บอกว่า ถ้าคุณจะออกหมายจับใคร คุณจะต้องได้รับการรับรองจากอัยการก่อน เราจะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศยากหมดเลย การจะดำเนินคดีกับใครเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นไปตามปรัชญาตั้งต้น ตรงนี้นักกฎหมายไทยจะต้องมาเปลี่ยนปรัชญาวิธีคิดกันใหม่

การออกหมายจับนั้นต้องออกตาม probable cause คือต้องมีเหตุอันควร อัยการเท่านั้นที่จะเป็นคนคิดว่าหลักฐานพอหรือเปล่า เพราะเขาเป็นคนฟ้องคดี เป็นคนตัดสินใจดำเนินคดี แต่บ้านเรากระบวนการยุติธรรมที่จะมีให้ประชาชนหายไป ผมจึงจำเป็นต้องเอาตัวบทของต่างประเทศมาให้ดูเปรียบเทียบกับไทย

ผมเป็นอัยการ ผมถึงได้รู้ว่าผมช่วยอะไรไม่ได้เลย เห็นความอยุติธรรมผมก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องรอจนกว่าจะส่งสำนวน จะเป็นปีหรือกี่ปีก็ตาม แล้วพยานหลักฐานหายหมด จะมาร้องให้ผมช่วยอะไร ไม่มีทางหมดแล้ว นอกจากนี้ 30 วันหลังจากจับมาแล้ว อัยการต้องฟ้อง ไม่ฟ้องไม่ได้

ยกตัวอย่างวิธีการพิจารณาคดีความอาญาในต่างประเทศ เริ่มต้นจากนอร์เวย์ ซึ่งสภาพของคุณจะเป็นผู้ต้องหาก็ต่อเมื่ออัยการแจ้งข้อกล่าวหา แต่การจับจะเป็นการจับตามเหตุสงสัย ตำรวจจะเป็นผู้แจ้งให้ทราบว่า ณ วันนั้น สถานที่นั้น เวลานั้นคุณทำ อะไร ที่ไหน อย่างไร แจ้งให้ทราบพฤติการณ์ เพราะว่าผู้ต้องหาไม่ทราบ ทุกคนไม่มีทางทราบว่าข้อกฎหมายที่ว่านั้นคืออะไร

น้ำแท้ มีบุญสล้าง

เพราะฉะนั้นในชั้นตำรวจ ต้องแจ้งให้เขาเข้าใจสถานการณ์ข้อเท็จจริงเท่านั้นก็พอ แต่คนที่จะสร้างฐานความผิดคืออัยการ เพราะฉะนั้นคุณจะเป็นผู้ต้องหาก็ต่อเมื่ออัยการบอกว่าคุณมีความผิดฐานนี้ อัยการจึงจะดำเนินคดีคุณ  เพราะฉะนั้นการเป็นผู้ต้องหาของนอร์เวย์นั้นยาก ไม่เหมือนเมืองไทย

เรามาดูที่อังกฤษ อังกฤษบอกว่า ถ้าอัยการจะดำเนินคดีใคร อัยการต้องมั่นใจว่าคุณจะได้มาซึ่งคำพิพากษาลงโทษ แต่บ้านเราแค่สงสัยว่ากระทำผิดก็ถูกฟ้องแล้ว วิธีพิจารณาความอาญาของอังกฤษอีกมาตราหนึ่งบอกว่า ให้ศาลยกประโยชน์แห่งความสงสัย ก็คือการยกฟ้อง ซึ่งคดีที่ยกฟ้องแล้วจะฟ้องอีกไม่ได้ หากวันพรุ่งนี้คุณเจอพยานหลักฐานใหม่ก็ฟ้องอีกไม่ได้

ดังนั้น สื่อมวลชนหรือประชาชนต้องทำความเข้าใจว่า ฟ้องช้าแต่ชัวร์ดีกว่า หากพรุ่งนี้คุณพบพยานหลักฐานใหม่ว่าคนนี้ฆ่าคนตายจริงๆ แต่ก่อนหน้านี้คุณดำเนินคดีเขาฐานฆ่าคนตาย แต่พยานและหลักฐานไม่พอ ศาลยกฟ้องไปแล้ว ตรงนี้คุณฟ้องใหม่ไม่ได้

ส่วนกฎหมายญี่ปุ่นบอกว่า เมื่อมีการจับแล้ว ตำรวจจะต้องนำตัวผู้ต้องสงสัยและเอกสารทั้งหมดไปให้อัยการตรวจสอบภายใน 48 ชั่วโมง ตำรวจจะจับใครส่งเดชไม่ได้ และมาตรา 205 บอกว่า อัยการจะขังใครต้องได้รับความยินยอมจากศาลก่อน และอัยการจะต้องตัดสินใจภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้หากจะฟ้องต้องฟ้องภายใน 10 วัน หากไม่ฟ้องภายใน 10 วัน อัยการต้องปล่อย

แต่บ้านเรา 84 วัน ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา เอาตัวไปขออำนาจศาลฝากขัง อัยการสั่งไม่ฟ้อง ถูกขังฟรีไปเลย ชอบไหมครับ ของแถม ติดคุกฟรี แล้วไม่ได้ค่าชดเชยด้วย ซึ่งในญี่ปุ่นระบุไว้ว่า เมื่อคุณจับใครคุณต้องเอาไปให้อัยการดูทันที ดูพยานหลักฐาน ดูว่าซ้อมเขาหรือเปล่า บังคับเขาหรือไม่ จับเขาในเวลาอันสมควร มีเหตุอันควรจับหรือเปล่า เขาจะผิดจริงไหม อัยการจะฟ้องเขาจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าจับใครแล้วไปขังไว้ก่อนค่อยมารออัยการตัดสินใจทีหลัง ผมถึงบอกว่ามันเป็นกระบวนการที่วิปลาส

ทีนี้เรามาดูฝรั่งเศส เขาบอกว่าเมื่อพบการกระทำผิดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่อื่นทันที ไม่ใช่อัยการอย่างเดียว จะต้องแจ้งฝ่ายปกครองด้วย การแจ้งเจ้าหน้าที่อื่นมีผลสำคัญคือ ให้ทุกคนไปรู้เห็นพยานหลักฐานพร้อมกัน

สมมุติเกิดเหตุฆาตกรรมในท้องที่หนึ่ง  มีการฆ่ากันตาย คนที่จะเข้าไปดูก็มีอัยการ ตำรวจ พิสูจน์หลักฐาน ฝ่ายปกครอง ทุกคนเข้าไปถ่ายภาพ ไปรู้ว่ามีพยานหลักฐานอยู่ในเหตุการณ์ ถ้ามีพยานห้าปาก มีอยู่ปากหนึ่งเท่านั้นที่เห็น ตำรวจสอบมาสี่ปาก ถ้าอัยการไม่ไปดูที่เกิดเหตุ อัยการไม่มีทางรู้เลยว่าเบอร์หนึ่งเป็นคนที่รู้ ก็ดูแค่สี่ปาก แต่สี่ปากไม่มีใครรู้เลย พยานหลักฐานไม่พอก็ฟ้องไม่ได้

แต่ถ้าเรามีอัยการ มีฝ่ายปกครองเข้าไปดู แล้วพบว่ามีพยานเบอร์หนึ่งอยู่อีกเบอร์ ต้องเรียกมาสอบ บิดเบือนไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย เขาจะเลือกหยิบหลักฐาน หยิบอะไรเข้าออกไม่ได้ เพราะทุกคนเห็นพร้อมกัน และยังมีการกล่าวว่าถ้าหากจับโดยไม่ชอบ คุณต้องจ่ายค่าชดเชยให้เขาด้วย

ในประเทศเยอรมนีก็มีวิธีการที่ไม่แตกต่างคือ ตำรวจต้องส่งพยานหลักฐานทุกอย่างไปให้อัยการดูโดยไม่ชักช้า ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่อัยการไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่มีการสอบสวนความผิด ถ้าเหตุเกิดที่ตำบลนาโคก อำเภอสมุทรสาคร เขตอำนาจสอบสวนบางโทรัด จับผู้ต้องหาดำเนินคดีจนเสร็จแล้วบอกว่าผิดท้องที่ ไม่มีประเทศไหนในโลกทำเช่นนี้

ที่นี้การแก้ปัญหาแบบไทยๆ พอจับแล้วรับสารภาพ ยัดยา ก็บอกว่าคำรับสารภาพไม่ให้ใช้ ทั้งที่เมื่อก่อนคำรับสารภาพไม่มีเวลาคิด รับสารภาพในทันทีที่ถูกจับ เชื่อว่าจะให้การตามความเป็นจริง

เรื่องของการปล่อยตัว ในยุโรปบอกไว้เลยว่า คุณจะขังใครต้องมีเงื่อนไขข้อ 1 คือเขาจะหนี ข้อ 2 เขาจะต้องทำผิดอาญาร้ายแรง ข้อ 3 จะไปรบกวนกระบวนการยุติธรรม ข้อ 4 จะทำให้เสียประโยชน์สาธารณะหรือเป็นอันตรายต่อสาธารณะ แต่บ้านเราบอกว่า ถ้าจะปล่อย จะต้องมีเหตุ 1 2 3 4 มันเขียนกลับกัน

บ้านเขาถ้าจะขังต้องมีเหตุ 1 2 3 4 บ้านเราถ้าจะปล่อยต้องมีเหตุ 1 2 3 4 เห็นไหมครับ อันนี้ก็เป็นวิธีคิดที่วิปลาส กล่าวโดยสรุปทั้งหลายทั้งปวงที่พูดมาทั้งหมด ควรจะต้องแก้ไข


หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากบทเสวนาในงาน ‘WAY dialogue: ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด’ เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 จัดโดย WAY ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า