ทั้งหมดนี้คือความนิ่งงันที่สร้างภาพลวงตาของการเคลื่อนไหว
ผลงานเล่มใหม่ของผู้เขียน คนแคระ และ หลงลบลืมสูญ เล่าเรื่องราวใน ‘คอมมูน’ แห่งหนึ่ง
ซึ่งในฐานะคนอ่านไม่อาจจับทิศได้ว่าอยู่ที่ไหน ภูมิประเทศคือที่ใด หากไม่มีการระบุชื่อของตัวละครที่ทำให้พอรู้ว่าเรื่องราวใน อนุสาวรีย์ อยู่ที่ใดสักที่หนึ่งข้างนอกนั่นที่เราอาจรับรู้การมีอยู่ว่า ณ ตรงนั้น บางสิ่งได้สถิตตระหง่านอยู่ และเราได้ถูกทำให้รู้สึกอยู่เพียงสองอย่าง คือ เฉยเมย หรือ สยบสมยอม
ถ้าจะบอกว่าเรื่องราวใน อนุสาวรีย์ มีเพียงเท่านี้ก็ทั้งถูกและผิดในเวลาเดียวกัน
เรื่องราวใน อนุสาวรีย์ ไม่ได้ซับซ้อน ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา เรื่องราวใน คนแคระ และ หลงลบลืมสูญ ก็เช่นกัน
หากทว่าจุดเด่นในงานของ วิภาส ศรีทอง ไม่เคยอยู่ที่พล็อตอันสลับซับซ้อนน่าตื่นตะลึง
แต่อยู่ที่การตั้งคำถามกับระบบความคิดของตัวละครต่อตัวละคร และตัวบทต่อตัวเรา
…ไม่ว่าพวกเขาเห็นต่างกันเช่นไร ถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็รู้สึกพ้องกันประการหนึ่งว่า เสียงตะโกนถามอันคับแค้น อย่างน้อยก็ยังพอเป็นเครื่องยืนยันอะไรสักอย่างอันเป็นตัวแทนของพวกเขา
– หน้า 61
…พวกเขาต่างสำนึกในความไร้ความหมายของตัวเอง ขณะเดียวกันก็มองเห็นตัวเองเป็นหนึ่งในองคาพยพที่สูงส่ง…
– หน้า 74
คำถามของตัวบทที่วิภาสส่งต่อมาให้เราในฐานะผู้อ่านค่อนข้างทื่อ ตรงไปตรงมา และหากจะเป็นสัญลักษณ์ของอะไรสักอย่างที่สูงส่ง อนุสาวรีย์ ของวิภาสก็ค่อนข้างจะหยาบทื่อจนอคิดไม่ได้ว่า ระดับวิภาสน่าจะเขียนได้ดีกว่านี้ แต่นั่นแหละ ทันทีที่คิดเช่นนั้น พลันตระหนักขึ้นมาจากสังหรณ์ในฐานะผู้อ่านว่า เพราะเป็นวิภาสน่ะสิ ความหยาบทื่อก็อาจซ่อนนิยามอันชวนชี้ให้สำเหนียกต่อบางสิ่งที่ตั้งตระหง่าน บางสิ่งที่เห็นจนชินตา กระทั่งมองความงดงามของผลรวมทั้งหมดเป็นแค่ความจงรักและภักดีอย่างสูง และการประพฤติผิดไปจากครรลอง
จนกระทั่ง…บางทีเราอาจต้อง ค้นให้ลึกลงถึงก้นบึ้งของการระเบิดระบาย พร้อมทั้งสัมผัสถึงความหฤหรรษ์ของการทำสิ่งท้าทายและสุ่มเสี่ยง เพื่อทวงถามต่อเงาที่ทอดทะมึนของอนุสาวรีย์