WAY to READ: ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง

นักเขียนคนหนึ่งจะก่นด่าในความผิดพลั้งของตัวเองถึงกี่ครั้งจึงจะตระหนักได้ว่า เราไม่เคยเป็นเจ้าของความรัก

ไม่ว่าทั้งรักด้วยตัวบุคคล

ไม่ว่าทั้งรักด้วยการงานที่แปะป้ายบอกใครๆ ว่านี่แหละตัวเรา

เราจะอ่านงานเขียนที่ไม่มีตัวตนหรือส่วนหนึ่งของพวกเขาได้ไหม?

เราจะเชื่อมโยงระหว่างความเศร้าของนักเขียนกับความเหงาของพนักงานกะดึกในนิคมอุตสาหกรรมที่จากบ้านมาไกลได้ไหม?

เหลือเพียงกลิ่นโคลนสาบควายหรือโรแมนติกแค่เพียงแสงไฟจากเสาริมถนนกลางสายฝน

รวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง ของ อุทิศ เหมะมูล ให้ความรู้สึกเช่นนั้น

เรื่องสั้นแต่ละเรื่องในเล่มนี้พูดถึงสภาวะติดจ้อง ติดขัดอยู่ในสถานการณ์ และความรู้สึกบางอย่างเหมือนๆ กัน

แน่นอนว่านั่นอดทำให้หวนมองดูทุกสิ่งรอบตัวไม่ได้ เพราะไม่เพียงแต่การเขียนที่พอดิบพอดีคำที่แตกต่างอย่างมากกับงานชิ้นมโหฬารอย่าง จุติ ที่เขียนขึ้นเมื่อสามปีก่อน

แต่ในความลดทอน น้อยแต่มาก กลับเจอน้ำเสียงของคนที่ผ่านความเศร้าเค้นลึกในอารมณ์จนถึงขั้นปลงไม่น้อย กระนั้นอุทิศก็ยังเป็นอุทิศ เราไม่อาจวางใจในแต่ละประโยคของอุทิศได้เลย

หากถามว่ารวมเรื่องสั้นเล่มนี้เป็นเรื่องของความรักของคนที่อยู่ในอาชีพนักเขียนก็ไม่ผิดนัก

ในขณะที่เราเห็นการกล่าวโทษอีกฝ่าย

เราก็เห็นการกล่าวโทษตัวเอง

พูดอีกแบบคือ รวมเรื่องสั้นเล่มนี้ไม่ขาดตกหล่นในรายละเอียดเล็กๆ ที่หากเขียนโดยนักเขียนคนอื่นไม่ใช่อุทิศแล้วคงขยี้ให้โศกาบรรลัยแน่ ยกตัวอย่าง

…อยู่ด้วยกันมา 9 ปี ควรจะได้เดินทางท่องเที่ยวไกลๆ ด้วยกันบ้าง เดินทางไกลเหมือนระยะเวลาที่อยู่ร่วมกันมา อยู่ๆ จะขาดผึงตรงหน้าห้องน้ำหญิงในสนามบิน เรื่องเล็กๆ ที่ชวนจะขาดกันบ่อยๆ ‘คุณเอาแต่ใจจะตาย’ เขาพูดในใจ มองเธออีกครั้ง เอื้อมมือไปลูบผมเธอ ‘ป่ะ พร้อม’ เขาบอก

– หน้า 25

หรือ…

…ผู้ชายหลายใจ รักไม่บันยะบันยัง ไถ่ถอนตัวเองจากความทรงจำผ่านงานเขียน สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นใหม่ในเรื่องเล่า แต่ก็ทำร้ายความรู้สึกของผู้หญิงที่รักเขา

– หน้า 47

ลักษณะการเขียนที่ไม่ฟูมฟายเช่นผู้ผ่านวัยวันของคนหนุ่มมาอย่างเข้าใจในความเจ็บปวด ทำให้มองเห็นถึงร่องรอยบางอย่างในชีวิตสะท้อนลงมาในเนื้องาน และแม้เราไม่จำเป็นต้องรู้อะไรเกี่ยวกับนักเขียนในด้านส่วนตัว แต่มุมมองที่ปรากฏผ่านบทบาทตัวละคร ผ่านเสียงสนทนาในฉากต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากตัดเอาเสื้อคลุมที่สวมใส่ให้ตัวละครออกไป

เราเองแทบไม่ต่าง

สุดท้ายแล้วอาการติดข้อง ติดขัดจาก ‘อะไรสักอย่าง’ ทั้งในด้านส่วนตัวและบางสิ่งที่ใหญ่ของตัวละครสะท้อนกลับมายังตัวเรา – ในฐานะผู้อ่าน และผู้ติดอยู่ระหว่างการเดินทางเหมือนกัน คงเป็นเหมือนบทรำพึงเชิงทดท้อในเรื่องสั้น ‘สาบสูญที่พาราณสี’ ที่อุทิศได้เขียนบอกเล่าความรู้สึกของอดีตนักเขียนดาวรุ่งที่กลายมาเป็นบรรณาธิการไว้ว่า

…สิ่งเดียวที่คุณไม่ได้ทำคือเขียนหนังสือเล่มใหม่ ทุกครั้งที่เริ่มเขียน ถ้อยคำคล้ายค่อยๆ เลือนจางไปจากหน้ากระดาษสีขาว หายสาบสูญไปต่อหน้าเหมือนหมอกควัน…

– หน้า 57

เราแค่หวังว่าไม่จำเป็นที่เราจะต้องทิ้งตัวสู่แม่น้ำคงคาเพื่อการโอบกอด อย่างตัวละครในเรื่อง ‘ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้โรแมนติก’


ติดอยู่ระหว่างการเดินทาง
เขียน: อุทิศ เหมะมูล
สำนักพิมพ์: จุติ

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า