Ansxer: Love at First Attitude เมื่อเริ่มเปิดใจ จึงขยับเข้าไปใกล้พื้นที่ส่วนตัวของกันและกันมากขึ้น

“ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบกันหรอก”

หลายครั้งความสัมพันธ์อาจจะเริ่มต้นแบบนี้ ทว่าตัดภาพมาที่ปัจจุบัน จากประโยคบอกเล่าอาจกลายเป็นประโยคคำถามที่ว่า “สุดท้ายลงเอยได้ยังไง”

“เราเห็นแล้วว่าหน้าตาไม่ใช่ทุกอย่าง สุดท้ายหลักๆ มักจะเริ่มจากการเปิดใจ ก็คือการลองศึกษาใครสักคนหนึ่งแบบจริงจังนิดๆ หรืออาจจะจริงจังมากก็ได้ เราอาจพบว่าชีวิตเขาน่าสนใจ เขาก็ดีนี่นา เขามีหลายมุมที่ดี”

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่ Ansxer พยายามทำก็คือ อยากให้คนเปิดใจให้กันมากขึ้น”

ส่วนหนึ่งจากบทสนทนาเนื่องในวาระเดือนแห่งความรัก เมื่อความรักไม่มีพรมแดนจำกัดเพียงในโลกออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ผู้คนพบเจอกันยากมากขึ้น โดยเฉพาะโควิด-19 ที่สัมพันธ์กับการเดินทาง การทำกิจกรรม และต้องระมัดระวังการพบเจอคนที่ไม่รู้จักกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวให้กับผู้คนเช่นกัน คนจำนวนหนึ่งจึงแสวงหาทางเลือกอื่นเพื่อพบเจอใครบางคน ไม่ว่าการพบเจอนั้นจะเป็นการพบเพื่อเพียงผ่าน หรือพบจนกลายเป็นความสัมพันธ์ก็ตาม

WAY ชวนสนทนากับ ไอซ์-วิษุวัต วัฒนสุชาติ ผู้ร่วมก่อตั้งแอพพลิเคชั่น Ansxer เพื่อหาคำตอบเรื่องความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์ รวมถึงการเปิดใจและแลกเปลี่ยนทัศนคติ

ในฐานะผู้พัฒนาแอพฯ ที่พูดถึงความรัก ความสัมพันธ์ นิยาม ‘ความรัก’ ของตัวเองว่าอย่างไร

‘ความรัก’ แล้วแต่คนจะนิยาม สำหรับนิยามของผม ความรักคือสิ่งดีงามทั้งหลายที่มารวมกัน มีความซื่อสัตย์ มีความห่วงใย มีความคิดถึง มีความไม่เห็นแก่ตัว มีการอยากปกป้องดูแล คือความรู้สึกดีๆ ที่มีให้กัน รวมกันทั้งหมดเรียกว่า ‘ความรัก’

ถ้ามีเพียงความซื่อสัตย์ มันก็คือความซื่อสัตย์ แต่ความซื่อสัตย์รวมกับสิ่งนั้น สิ่งนี้ ก็คือความรักได้ และไม่จำเป็นต้องเป็นความรักในรูปแบบหนุ่มสาวอย่างเดียว เราลองนึกถึงเพื่อนรักของเรา พ่อแม่ที่เรารัก เรามีแต่ความรู้สึกดีๆ ให้เขา

ถ้าในเรื่องของคนรักที่ดี ผมก็เชื่อว่าควรจะอยู่ในรูปแบบความรู้สึกดีๆ ที่มีให้อีกฝ่าย ในรูปแบบของคนรัก แต่ถ้ามีความเห็นแก่ตัว ผมว่ามันเริ่มแปลกๆ แล้ว

ก่อนที่จะเริ่มพัฒนา Ansxer เคยเล่นแอพฯ หาคู่มาก่อนไหม

เคยครับ จริงๆ เล่นมานานมาก ตั้งแต่ Tinder เข้าไทยมาใหม่ๆ แอพฯ Tinder มันแปลก เลยลองโหลดดู ช่วงแรกชอบนะ แล้วลองมาเรื่อยๆ หลายปี เพราะโสดมานานเหมือนกัน พอมีแอพฯ อื่นเข้ามาก็ลองหมดเลย แต่ไม่ได้จริงจังกับใครผ่านแอพฯ เลย

ว่าตามตรงก็คือแอพฯ ไม่ตอบโจทย์ แต่เล่นเพราะส่วนตัวไม่ใช่คนปิดใจอยู่แล้ว และมองว่าการเล่นแอพฯ หาคู่ไม่ได้เสียหาย เหมือนเราก็เปิดโอกาสตัวเอง เผื่อฟลุค ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

ช่วงที่เราโสด ก็จ่ายเงินซื้อแพ็คเกจของ CMB (Coffee Meets Bagel) เป็นโปรโมชั่นสองพันกว่าบาท จัดไป Tinder ก็เติม เราลองเล่นก็ยังไม่ตอบโจทย์ นี่ขนาดเราพยายามเป็นผู้ใช้งานพรีเมียมมากๆ แล้วนะ

Tinder สำหรับเราอาจจะไม่ตอบโจทย์ เราอยากเจอคนทัศนคติดีๆ ก็ค่อนข้างหายาก ส่วนแพลตฟอร์มอื่นๆ บางทีเราจะชวนคุยเรื่องอื่นบ้าง เช่น “เธอๆ ช่วยเล่าเรื่องนู้นเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย คิดยังไงกับรัฐบาล” มันก็จะแปลกๆ เสี่ยงๆ นิดหนึ่ง บางทีการคุยอาจจะไม่ลื่นไหล วนเวียนอยู่กับคำถามว่า ชอบอะไร กินอะไร ไปดูหนังไหม ทำให้การเปิดบทสนทนาค่อนข้างลำบาก และเราก็ไม่รู้ด้วยว่าใครเป็นยังไง

ส่วน CMB โปรไฟล์ดี หน้าตาน่ารัก ประเด็นก็คือเราจะคุยเรื่องนี้ได้ไหมนะ ซึ่งการคุยโดยต่อยอดจากคำถามมันง่ายกว่า หาประเด็นคุยได้ง่ายกว่า คือไม่จำเป็นต้องคุยในคำถามก็ได้ แต่เรารู้ว่าคุยเรื่องอะไรได้บ้าง

Ansxer จึงไม่ได้เพียงนำเสนอว่าตัวเราเป็นยังไง แต่การอ่านคำถามเราก็รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง พอเรารู้ว่าเขาเป็นคนยังไง เราก็สรรหาประโยคมาคุยได้ง่ายขึ้น

เมื่อประสบการณ์เล่นแอพฯ หาคู่ไม่ตอบโจทย์ วิเคราะห์ได้ไหมว่าช่องว่างของการแข่งขันในตลาดแอพฯ หาคู่คืออะไร

ปัญหาที่เจอเพิ่มก็คือ คนอยากจะแมทช์กับคนหน้าตาดี

ถ้าผมเล่น CMB ก็จะมีโหมดฟรีกับโหมดเสียเงิน โหมดเสียเงินผมมีอยู่ร้อยกว่าไลค์ ไลค์ได้รัวมาก จริงๆ ตั้งแต่ใช้พรีเมียมแล้วก็กดไม่แมทช์ สารภาพตามตรงว่าเลือกแต่คนสวยๆ เลย เพราะเราก็ไม่แย่ขนาดนั้นมั้ง คือไม่ได้ดี แต่ก็ไม่ได้แย่ เรามองว่าเมื่อเสียเงินจ่ายแบบพรีเมียม ควรจัดให้เราหน่อยไหม ควรเห็นใจลูกค้าอย่างเราหน่อย พอไม่แมทช์สุดท้ายก็เลิก ยอมเสียเงินไป

จากนั้นเรามานั่งวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น หน้าตาไม่ดีเหรอ พอมาศึกษาดูก็พบว่า คนสวยๆ จะถูกผู้ชายมารุมไลค์ อย่างใน Tinder คนสวยๆ แบบไม่ต้องสวยเว่อร์นะ มีคนส่งไลค์ให้วันละพันๆ คน คำถามคือคนสวยจะสแกนหมดได้ยังไง เวลาคนเราจะคุยซ้อนกัน สมมุติคุยเผื่อเลือกจริงๆ ไม่ได้เป็นคนเจ้าชู้นะ แค่อยากจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ผมว่า 5 คน ก็เหลือเฟือแล้ว 5 คนก็ขี้เกียจตอบแล้ว

ฉะนั้นถ้าคุณจะเล่น CMB หรือ Tinder แล้วอยากแมทช์กับคนสวยๆ คุณต้องหล่อระดับ Top 5 สมมุติผมอันดับ 10 จาก 100 ก็คือดูดีแล้วอะ แต่ก็ไม่แมทช์อยู่ดี เขาอยากคุยกับคนหน้าตาดีที่สุด เพราะไม่รู้นิสัยใครเป็นยังไง อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของ Ansxer คือควรจะมีแพลตฟอร์มที่คนกลางๆ ได้แจ้งเกิดบ้าง สำหรับคนหล่ออันดับ 10 ซึ่งไม่ได้แย่ 

อีกอย่างเราเล่นแอพฯ หาคู่มาหลายแอพฯ เจอคนหน้าตาดีผ่านแอพฯ ก็เยอะ แต่ไม่ได้ไปต่อเลย เพราะเหนื่อยที่ต้องมาวัดดวงว่านิสัยใจคอเข้ากันได้ไหม ส่วนนี้เลยเป็นจุดที่ทำให้ Ansxer มีช่องว่างให้เล่นมากขึ้น คือให้คนกลางๆ สามารถแจ้งเกิดได้ แต่ก็ไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าอาจจะมีเรื่องของหน้าตาเข้ามาเกี่ยว แต่ว่าทัศนคตินำ หน้าตาตาม หรือบางคนที่ไม่สนใจหน้าตาเลยจริงๆ ก็ใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ดีมากขึ้น

คาดหวังให้ Ansxer สร้างบรรยากาศแบบไหนกับผู้ใช้งาน

อยากให้คนมองที่ทัศนคติมากขึ้น คือหน้าตาไม่ปฏิเสธอยู่แล้ว เพราะหน้าตาก็มีส่วนเหมือนกัน แต่จากประสบการณ์ที่เล่นมาหลายแอพฯ ว่าตามตรงคือได้แฟนจากแอพฯ ตัวเองนะ (หัวเราะ) แป๊บเดียวได้เลย ค่อนข้างชัดเจนว่า Ansxer ตอบโจทย์

นอกจากนี้ หลายๆ คนก็ให้ผลตอบรับเร็ว บางคนสมัคร 2 สัปดาห์ บอกว่าเจอคนคุยแล้ว ก็เลยลบแอพฯ กรณีแบบนี้เยอะมากเลยนะ คืออยู่นานๆ ก็ได้ อยู่อีกนิดหนึ่งก็ได้ (หัวเราะ) เจอเร็วเหลือเกิน 

อันนี้ก็ชัดเจนว่า จริงๆ แล้วคือเรื่องของการเปิดใจ เขาแมทช์กันได้มากขึ้น เพราะคนเล่นแอพฯ ของเราก็ไม่ได้ต่างจาก CMB มาก บางคนเล่น CMB มาเป็นปียังไม่เจอเลยนะ ส่วนอีกอย่างก็เป็นเรื่องของทัศนคติการใช้ชีวิต หน้าตาอาจจะเป็นใบเบิกทางที่ดี แต่มันไม่ใช่ทุกอย่าง

สิ่งที่อยากให้กำลังใจก็คือ ข้อแรกอย่าดูถูกตัวเอง ข้อที่สองคือต้องเรียนรู้ไปกับมัน

ความรักก็เหมือนการขับรถ หรือการฝึกทักษะทั่วๆ ไป บางทีเราต้องใช้ประสบการณ์ในการจะรู้ว่า ขับรถแบบไหนถึงจะดี วาดภาพแบบไหนถึงจะสวย ความรักก็คล้ายๆ กัน ต้องใช้เวลาเรียนรู้กับมัน ถ้าจะเป็นคนรักที่ดีต้องทำยังไง

กรณีที่ผู้ใช้งานหลบเลี่ยงข้อจำกัดที่ให้แมทช์ได้วันละ 1 คน (ผู้ใช้งานที่ไม่ซื้อบริการพิเศษ) โดยการตั้งคำถามขอช่องทางติดต่อของอีกฝ่าย แล้วไปพูดคุยในแพลตฟอร์มอื่นต่อ ในฐานะผู้พัฒนามองเรื่องนี้อย่างไร

จริงๆ ดีใจนะ ดีใจที่อยากใช้ของเรา เราต้องเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะเสียเงิน แม้การเสียเงินจะทำให้ทุกอย่างปลดล็อค แต่ไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะจ่ายเสมอไป โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ไม่ดีด้วย ซึ่งเราไม่ได้ปิดกั้นเรื่องนี้เลย

ยังไงก็ตาม เราต้องบอกเหตุผลก่อนว่าทำไมถึงแมทช์ได้แค่วันละ 1 คน คือทุกการใช้งานของแอพฯ และการอัพเกรดต่อจากนี้ ล้วนมาจากความคิดเห็นของผู้ใช้งาน โดยก่อนหน้านี้เราให้คนแมทช์ได้หลายคน แต่ก็ได้รับข้อคิดเห็นจากผู้ใช้งานมาว่า เขาแมทช์แล้ว แต่อีกฝ่ายไม่คุยกับเขา เป็นผลมาจากที่เขาหน้าตาดี แมทช์ได้หลายคน เขาก็เลือกมา แล้วเลือกคุยกับคนที่หน้าตาดีที่สุด

อีกส่วนหนึ่งที่ผิดจากแนวคิดของเราในการพัฒนา Ansxer เรื่องแรกคือถ้าคุณแมทช์ 5 คน คุณก็ควรเปิดใจ 5 คน ไม่ใช่เลือกจะเปิดใจกับคนใดคนหนึ่ง การที่เราปรับเป็นเลือกได้ 1 คน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากให้เลือกคนที่คำตอบดีที่สุด เพื่อให้เข้าใจเรื่องของการเปิดใจมากขึ้น 

อีกฝั่งหนึ่งก็คือเราให้เวลาคุณเต็มที่ 1 วัน แบบไร้คู่แข่งและทำให้เต็มที่ ฉะนั้นก็จะไม่มีข้ออ้างว่าเขาไม่ตอบ ถ้าเขาไม่ตอบอาจจะแปลว่าคุยกันไม่ตอบโจทย์ก็ได้ แต่เราก็อยากจะให้ทั้งสองฝั่งมีความสุข

การทิ้งไอจีไว้ไม่ผิดเลย แล้วก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ถ้าเขาไปนั่งคุยทัศนคติในไอจีเราก็ดีใจมากๆ แต่บางทีเรื่องของการเปิดใจก็อาจจะลดลง ส่วนนี้ที่เราเป็นห่วง

ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้งานถึง 100,000 คน เมื่อฐานผู้ใช้งานกว้างขึ้น ทำให้อาจสุ่มเสี่ยงต่อการหลอกลวงหรือก่ออาชญากรรม เคยคิดถึงกรณีแบบนี้ไหม และมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

คิดครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ห้ามยาก อย่าง Tinder ที่เป็นเบอร์หนึ่งอยู่ ก็มีเรื่องของการรายงานผู้ใช้งานที่ไม่เหมาะสม (spam account) เข้ามาอยู่ สำหรับ Ansxer อาจจะทำได้ดีกว่า ไม่ใช่เหตุผลที่ฐานผู้ใช้งานเราน้อยกว่า แต่เป็นเรื่องของอัลกอริธึมและรูปแบบของแอพฯ ด้วยครับ

ถ้าเราเป็นมิจฉาชีพแล้วใช้รูปคนสวยหล่อ ต้องมานั่งปัดขวารัวๆ เพื่อหาคนหลอก แต่ใน Ansxer ถ้าคุณจะไปนั่งปัดขวาใคร ต้องมาพิมพ์ และต้องมารอคำตอบจากคนอื่นก่อน แล้วติดการแสดงผลคำตอบอย่างมาก 10-15 คน ส่วนการแมทช์ถ้าไม่ได้เติมเงินก็แมทช์ได้วันละ 1 คน ก็คือหลอกคนได้แค่วันละ 1 คน 

ถ้าเป็นมิจฉาชีพไปแอพฯ อื่นง่ายกว่า ทำให้เรื่องของมิจฉาชีพในแอพฯ เราแทบจะไม่มีเลย แต่ก็มีการใช้รูปปลอมคุยกับคนอื่นอยู่ อันนี้ต้องบอกว่าในอนาคตเราจะมีการอัพเกรดการยืนยันตัวตนแน่นอน

คิดว่าบริบทของสังคมไทยมีผลต่อการมองหาความสัมพันธ์บนโลกออนไลน์แค่ไหน เพราะสภาพแวดล้อมของเมืองไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนปฏิสัมพันธ์กันได้มากนัก

ต้องบอกว่ามีหลายปัจจัยครับ เช่น การที่คนไม่ค่อยออกไปที่สาธารณะ จริงๆ เป็นเรื่องของสภาพอากาศ บ้านเราเป็นเมืองร้อนอยู่แล้ว รวมถึงเรื่องของวัฒนธรรมการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้ากัน ถ้าเป็นต่างประเทศเดินอยู่ในสวนสาธารณะ (central park) เจอใครมาคนเดียวเหมือนกัน สักพักเดี๋ยวเขาก็จะมาชวนคุยเอง คุยกันง่าย เปิดใจกันง่าย ขณะที่เมืองไทยถ้าทำแบบนี้คนจะคิดในใจแล้วว่า “ใครอะ น่ากลัว” หรือพิมพ์แชทหาเพื่อน “เธอๆ ใครไม่รู้มาคุยกับเรา” สองจุดนี้ก็ชัดเจนว่า กรุงเทพฯ หรือประเทศไม่ได้ผิดในแง่นี้นะครับ

นอกจากนี้จะมีปัจจัยเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในโลกของความเป็นจริงห่างกันมากขึ้น อย่างในนิวยอร์ค เขาเล่นสื่อสังคมออนไลน์กันน้อยมากเลย ทั้งที่เป็นมหานครใหญ่ แต่ด้วยความที่เขามีปฏิสัมพันธ์กันง่าย ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ตอบโจทย์เท่ากับการมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งหน้า แต่ของไทยเนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กันลำบาก สื่อสังคมออนไลน์เลยตอบโจทย์กว่า

และยังมีเรื่องของลักษณะการทำงานอีกด้วย ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมไทยปฏิสัมพันธ์กันยาก เพราะระบบเศรษฐกิจบีบให้คนต้องทำงานหนัก ทำ OT ไม่ได้เจอใครนอกจากเพื่อนในออฟฟิศ

ประกอบกับโควิด ทำให้คนยิ่งออกจากบ้านลำบาก หลายคนก็เริ่มอยู่ติดบ้าน การเดทออนไลน์ก็เลยได้รับความนิยมมากขึ้น และหลายคนก็เปิดใจมากขึ้น ว่ากันตามตรง ความเหงาไม่เข้าใครออกใคร ส่วนจะตอบโจทย์หรือไม่ตอบโจทย์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คิดว่าการหาความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นอย่างในปัจจุบันได้อย่างไร

สำหรับแอพฯ หาคู่ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของโควิด และปัจจัยอื่นๆ อย่างที่บอก เมื่อการได้พบเจอผู้คนลำบากมากขึ้น การจีบหรือการหาความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จึงพัฒนาขึ้น 

จริงๆ แล้วความรักค่อนข้างจะไร้พรมแดน คู่แท้ผมอาจจะอยู่เชียงใหม่ก็ได้ ซึ่งไม่มีวิธีไหนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ในรูปแบบปกติที่จะพาเราไปเจอคนที่นั่นได้ แต่แอพฯ หาคู่ช่วยตอบโจทย์ได้ หรือบางคนชอบฝรั่ง ชอบเกาหลี ถ้าไม่ได้เล่นแอพฯ ก็ต้องบินไปที่นั่นอย่างเดียว แล้วก็ไปนั่งลุ้นเอาอะไรแบบนี้ ผมว่าก็เป็นเรื่องรสนิยมของแต่ละคนด้วย

ส่วนการพัฒนาการหาความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์ ผมว่าจริงๆ ก็มีมานานแล้วนะ อย่างเว็บไซต์หาคู่ เพียงแต่พอมาอยู่ในรูปแบบของแอพพลิเคชั่น บางคนเลยมองว่าเป็นความฉาบฉวย อันนี้เข้าใจได้ เพราะมีแนวโน้มจะเป็นแบบนั้นจริงๆ ในบางแอพฯ แต่ยืนยันว่าใน Ansxer ไม่เป็นแบบนั้น ถ้าสายฉาบฉวยจริงๆ ต้องขยันตอบคำถาม ตอนแชทก็ต้องขยันคุยทัศนคติกันอีก ถ้าเจ้าชู้แล้วขยันขนาดนั้นมาอยู่ในแอพฯ เรา ก็ต้องบอกว่ามีความพยายามมาก (หัวเราะ)

แม้ในปัจจุบันแอพฯ หาคู่จะเป็นที่นิยมมากขึ้น กล้าเปิดเผยว่าเจอกันจากในแอพฯ มากขึ้น แต่บ่อยครั้งผู้คนยังคงลังเล ไม่กล้าบอกว่าเจอกันจากที่ไหน คิดว่าบรรยากาศแบบนี้สะท้อนอะไรได้บ้าง

มันค่อนข้างชัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการพบเจอแบบฉาบฉวยรูปแบบไหน คนก็ไม่กล้าพูด ไม่ใช่แค่ในแอพฯ บางคนเจอกันในผับ แต่บังเอิญเข้ากันได้ดี ก็ไม่กล้าบอกใครอยู่ดี จริงๆ แล้วไม่ว่าจะบริบทไหน ความฉาบฉวยไม่ใช่เรื่องที่ใครจะกล้าบอกต่ออยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นแอพฯ หรือไม่เป็นแอพฯ

บางทีเราโตมากับสื่อในรูปแบบที่ความรักเกิดจากความบังเอิญ แล้วทุกอย่างลงตัวด้วยพรหมลิขิต อะไรที่ดูฝืนพรหมลิขิตไปหน่อยก็ไม่พูดดีกว่า

สำหรับ Ansxer สิ่งที่เราพยายามสร้างภาพลักษณ์มากๆ คือความฉาบฉวยต้องน้อย 

เราพยายามทำให้คนที่เจอในที่นี้ มีความเป็นไปได้ที่จะดีกว่าคนที่เจอในโลกจริงด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าการเจอกันใน Ansxer เป็นเรื่องที่เหนือไปกว่าพรหมลิขิต 

เราพยายามให้คนใช้แอพฯ ได้เจอคนที่ดีกว่าคนในจินตนาการ อยากให้เป็นแบบนั้นนะครับ แต่ว่าควบคุมได้ไม่หมด อันนี้ก็ต้องบอกตามตรง

เมื่อความนิยมในการใช้แอพฯ หาคู่เพิ่มมากขึ้น แล้วความดุเดือดของการแข่งขันในวงการแอพฯ หาคู่มีมากน้อยแค่ไหน

ดุเดือดพอสมควรครับ แต่ที่ประเทศไทยยังไม่ขนาดนั้น ถ้าเป็นที่อเมริกามีเป็นร้อยแอพฯ เลย แบ่งกลุ่มผู้ใช้งานเยอะมาก ทุกรูปแบบ แบ่งเป็นรัก แบ่งเป็นคนดำ แบ่งเป็นเอเชีย แบ่งเป็น LGBTQIA+

สำหรับวงการแอพฯ หาคู่ การเป็นคู่แข่งจะไม่ใช่คู่แข่งกันขนาดนั้น คือ 1 คน โหลดได้หลายแอพฯ อยู่แล้ว คนไม่จำเป็นต้องเลือกจะเล่น CMB หรือ Ansxer เท่านั้น ก็คือเล่นทั้งคู่ไปเลย ซึ่งไม่ต้องลบ CMB ก็ได้ ผมไม่ได้ว่าอะไร แต่อย่าลบ Ansxer ก็พอ 

คือคุณจะโหลด Bumble จะโหลด CMB จะโหลด Ansxer พกไว้ 3 แอพฯ เลย ผมก็ดีใจ อย่างน้อยๆ เขาก็เก็บเราไว้เทียบกับแอพฯ ใหญ่ๆ โดยเฉพาะในขณะที่เราเป็นผู้เล่นใหม่มากๆ ไม่ได้มีเงินทุน เขายังให้เกียรติเรา เราก็ค่อนข้างดีใจ

คู่แข่งในวงการแอพฯ หาคู่จะไม่เหมือนอาหาร ถ้ามีมาม่ากับไวไว คุณต้องเลือกซองใดซองหนึ่ง แต่แอพฯ หาคู่คุณเลือกหลายอันได้ และดีด้วยซ้ำที่เขาจะเปรียบเทียบด้วย ถ้าสมมุติต้องเลือก ต้องไปแย่งลูกค้ามาจริงๆ Ansxer อาจจะไม่เกิดด้วยซ้ำนะ

นอกจากการกระโจนเข้าสู่วงการแอพฯ หาคู่ ขณะเดียวกัน Ansxer ก็เริ่มจากการเป็นสตาร์ทอัพด้วย อะไรคือที่มาของการตัดสินใจเลือกทำสตาร์ทอัพเป็นแอพฯ หาคู่

อันดับแรกก็คือประสบการณ์ทางด้านการทำแอพพลิเคชั่น ประสบการณ์การเป็นที่ปรึกษา (mentor) การทำธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงประสบการณ์เล่นแอพฯ หาคู่ด้วยที่ไม่ตอบโจทย์ แล้วมีเพื่อนที่สมัยเรียนทำสตาร์ทอัพตัวแรกๆ มาด้วยกัน ก็อยากจะทำแอพฯ และมาขอไอเดีย เพราะรู้ว่าเราเล่นบ่อย จับพลัดจับผลูก็เลยได้ร่วมทีมกัน

อีกทั้ง Ansxer ค่อนข้างตอบโจทย์กับบริบทการหาเงินลงทุนของผม ของทีม และอาจจะของประเทศด้วย ตอนนี้การสนับสนุนจากภาครัฐน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก รวมถึงเรื่องของการระดมทุน มีนักลงทุน (Venture Capitalist: VC) เข้ามา โดยทั่วไปนักลงทุนจะถามหาฐานลูกค้าหรือผู้ใช้งาน (traction) เพราะเขาก็อยากจะลงทุนในบริษัทที่มั่นคง ในสตาร์ทอัพที่ความเสี่ยงน้อยๆ เมื่อก่อนอาจจะลงทุนกับความเสี่ยงเยอะๆ ได้ แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี เขาก็เริ่มเลือกมากขึ้น ทำให้การหาเงินลงทุนยากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าใช้จ่าย ความซับซ้อนของเทคโนโลยีต่ำกว่าบางแอพฯ คือปัดซ้าย ปัดขวา แล้วก็อัลกอริธึมหลังบ้าน ถ้าเป็นแอพฯ ร้านค้าธุรกิจออนไลน์ (e-commerce) ต้องมีฐานข้อมูลหลังบ้านค่อนข้างใหญ่ ซึ่งต้นทุนพวกนี้แพงมาก หลายล้านบาท เราก็เคยคิดไม่ถึงเหมือนกันและลงทุนพลาดกับอะไรพวกนี้มาบ้าง

รวมถึง Ansxer ยังทำเงินได้ทันที คือแตกต่างกับสตาร์ทอัพตัวอื่นที่จะต้องยอมขาดทุนเยอะในช่วงแรกก่อน เพื่ออัดโปรโมชั่นในการสร้างฐานลูกค้า แล้วค่อยปรับราคา ถอนเงินลงทุน และเพิ่มกำไรทีหลัง ซึ่งเราไม่ได้มีเงินทุนเยอะ ก็ต้องมองหาสตาร์ทอัพที่มีวิธีการทำเงินที่ค่อนข้างรวดเร็ว และช่วยดึงดูดนักลงทุนได้มากขึ้น

การริเริ่มสตาร์ทอัพในรูปแบบแอพฯ หาคู่มีความยากง่ายมากน้อยแค่ไหน

ไม่ง่ายครับ แต่ก็ไม่ได้ยากจนเกินไป จุดยากน่าจะเป็นจุดเริ่มที่ต้องสร้างฐานผู้ใช้งานช่วง 5,000-10,000 คนแรก มันยาก เพราะไม่มีใครรู้จักเราเลย และสิ่งที่ต้องมองจริงๆ คือการสร้างสังคมใหม่ให้ได้ ไม่ใช่การไปแย่งลูกค้าจากรายใหญ่

เมื่อ Answer เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ มีการให้ความสำคัญระหว่างผู้ก่อตั้ง/ผู้พัฒนา นักลงทุน และผู้ใช้งานต่อทิศทางการพัฒนาแอพฯ อย่างไรบ้าง

อันดับแรก ผู้ร่วมก่อตั้ง (co-founder) มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวอยู่แล้ว แต่เวลาเราทำอะไรพวกนี้ต้องใจแลกใจกัน เราทำงานกับคนต้องบริสุทธิ์ใจกันทั้งคู่ ต่างคนต่างไม่เห็นแก่ตัว ต้องพร้อมรับฟังกัน นี่เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ไม่มีปัญหา

เรื่องของเงินทุนอาจจะมีทั้งเงินส่วนตัวและเงินทุนจากนักลงทุน สำหรับเงินส่วนตัว ตัวเลขที่อยากให้คำนึงไว้คือเรื่องความซับซ้อนของโครงสร้างฐานข้อมูลหลังบ้าน ถ้าซับซ้อนมากๆ เนี่ยหลายตังค์ อันนี้ทุกคนต้องระวังไว้

ต่อมาคือค่าตัวผู้พัฒนา ค่าตัวโปรแกรมเมอร์ ยุคนี้เฟ้อมากๆ เศรษฐกิจไม่ดี งานหายาก แต่ความต้องการฝั่งโปรแกรมเมอร์เยอะมาก ส่วนปริมาณคนที่สามารถทำงานยังมีน้อยมากๆ โปรแกรมเมอร์สตาร์ทเงินเดือน 50,000-60,000 กันง่ายๆ เลย ไม่นานก็แตะแสน จุดนี้โดนบริษัทใหญ่ๆ ซื้อตัวไปเยอะมาก การที่คุณจะไปแย่งชิงตำแหน่งพวกนี้ก็ต้องมีเงิน ทำให้ค่อนข้างหาตัวผู้พัฒนาโปรแกรมได้ยาก ถ้าหาได้ก็หลายตังค์

สองจุดนี้เป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ เลยครับ แต่ว่าเพื่อนผมก็เป็นผู้พัฒนาเอง แล้วเขาเป็นคนมีความชอบทางด้านสตาร์ทอัพด้วย ฉะนั้นเลยมาแมทช์กันได้

อีกส่วนหนึ่งถ้าใครที่จะเข้ามาเล่นใหม่ แล้วจะต้องเชิญชวนโปรแกรมเมอร์ หรืออยากจะหาโปรแกรมเมอร์ ง่ายๆ ขอแนะนำว่าต้องอัพเกรดความรู้ตัวเองให้แน่นๆ เพราะตัวเราเองมีผลมากๆ คือถ้าเรายังไม่ดีพอ โปรแกรมเมอร์เขาก็ไม่อยากจะมาร่วมทีมด้วย ต่อให้ร่วมทีมด้วย โอกาสเจ๊งก็สูง ซึ่งไม่อยากให้ใครมาเสี่ยง อันนี้ก็เป็นศาสตร์ที่ต้องเรียนรู้เพิ่ม

ด้านลูกค้าเราให้ความสำคัญอยู่แล้ว คือจะมีลูกค้าทั้งไม่พอใจ ทั้งชื่นชม ถ้าหาตรงกลางไม่ได้ เราก็ต้องยืนยันในแนวคิดของเรา อย่างเช่นการถูกแมทช์ 1 คน บางคนก็จะด่านะ ทำไมบังคับให้เขาเติมเงินเหรอ ซึ่งจริงๆ แล้วคือการได้รับข้อคิดเห็นมาจากอีกฝั่งหนึ่ง เขาตอบใครไป ไม่มีใครคุยกับเขาเลย เขาเศร้าใจโคตรๆ

เราเข้าใจว่าเป็นความรู้สึกยังไง เพราะตัวเราเองเล่น ตัวเราเองก็เคยเป็นและรับรู้ความรู้สึกนั้น ส่วนอีกฝั่งหนึ่งอยากจะแมทช์หลายคน เพื่อดูว่าใครหน้าตาดีที่สุด ซึ่งแบบนี้ผิดแนวคิดของ Ansxer ผมก็ต้องเลือกฝั่งที่ตรงแนวคิดมากกว่า แต่ถ้าคุณอยากจะนอกแนวคิดของแอพฯ ก็ทิ้งไอจีไว้หรือจะเติมพรีเมียมก็ได้ แต่การที่มาบอกว่าเราปิดกั้นหรือบังคับ อันนี้ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว

ฉะนั้นการให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานมีอยู่แล้วครับ เพียงแต่ว่าเราต้องมีความเป็นกลางระดับหนึ่ง แล้วก็คงแนวคิดของ Ansxer ไว้

ส่วนนักลงทุนตอนนี้ยังไม่มีครับ ก็พยายามหาเงินลงทุนครับ (หัวเราะ) เพราะเราเตรียมไปตลาดต่างประเทศด้วย ตลาดในไทยใหญ่นะ ได้เงิน แต่อาจจะเรียกว่าใหญ่ไม่พอสำหรับ Ansxer คือ Ansxer ไปได้ไกลกว่านี้ การหาเงินลงทุนก็เป็นตัวเลือกที่ดีครับ

Ansxer ในปัจจุบันยังคงเป็น Ansxer ตามความตั้งใจแรกอยู่ไหม

จุดตั้งต้นยังเหมือนเดิมครับ ยังคงแนวคิดของการใช้ทัศนคตินำ หน้าตาเป็นรอง จริงๆ ก่อนหน้าที่จะเป็น Attitude Dating App ก็จะเป็นชื่อ Love at First Attitude แนวคิดก็คือ รักแรกพบไม่จำเป็นต้องดูแค่หน้าตาอย่างเดียว

ในอนาคตก็มีความท้าทายจากนักลงทุน อย่างเช่นถ้าคนแมทช์กันแล้วเขาก็ลบแอพฯ สิ แต่ในมุมของเราไม่ได้กังวลตรงนั้น เพราะว่ามีอีกมุมหนึ่งที่ถ้าคนประทับใจมากๆ มักจะบอกต่ออยู่แล้ว บางคนอาจไม่กล้าพูดชื่อแอพฯ แต่ถ้าได้แฟนจาก Ansxer เจอคนดีๆ มากๆ ใครมาถามเจอแฟนที่ทัศนคติดีขนาดนี้จากไหน ต่อให้โลกความจริงก็ไม่มีเรื่องบังเอิญแบบนี้หรอกครับ ผมก็ยินดีถ้าเขาจะเอ่ยชื่อเราออกมา

และแนะนำว่าไม่โจร ไม่หลอกลวง ซึ่งการที่คนแมทช์กันแล้วลบแอพฯ เราไป ผู้ใช้งานหายไป 2 คน ผมเชื่อว่าเขาจะบอกต่อมากกว่า 2 คน เพราะการที่คนถึงโหลดมาอยู่เรื่อยๆ แล้วตัวเลขคงที่ด้วย ก็ชัดเจนว่ามาจากการบอกต่อ โดยที่เราไม่ได้ทำโฆษณา ไม่ได้ทำการตลาด

ฉะนั้นไม่ได้กังวลว่าคนจะหาย เชื่อว่าถ้าเราทำได้ดีมากๆ ก็จะมีการบอกต่อกันมากขึ้น คือดีใจมากๆ ถ้าได้ไปอยู่ในเส้นทางความรักของคนอื่น

Ansxer พยายามสร้างบรรยากาศใหม่ๆ ทำให้การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานไม่ได้โตรวดเร็วเหมือนแอพฯ อื่น ถ้ามองในแง่การเติบโตทางธุรกิจ ความอยู่รอดในระยะยาวเป็นอย่างไร

พอเราแบ่งกลุ่มผู้ใช้งานออกมาจากจำนวนทั้งหมด จำนวนผู้ใช้ทั้งหมดก็ต้องลดลงอยู่แล้วเมื่อเทียบกับแอพฯ อื่นนะครับ แต่ถ้าเราไปแย่งลูกค้าจากแอพฯ ที่ดีอยู่แล้ว เผลอๆ ผู้ใช้งาน Ansxer ไม่ถึงแสนด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นการสร้างสังคมที่แตกต่างก็แล้วกัน

ในอนาคตของแอพฯ หาคู่ ผมมองว่าจะเป็นการจับคู่ตามไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น แอพฯ หาคู่สำหรับคนชอบเล่นกีฬา สำหรับคนชอบออกกำลังกาย สำหรับคนกินอาหารคลีน สำหรับเกมเมอร์ ย่อยไปในลักษณะนี้จะง่ายกว่า ก็คือแมทช์ตามไลฟ์สไตล์ไปเลย อย่างน้อยการใช้ชีวิตรูปแบบตรงกันก็ทำให้เปิดใจกันง่ายขึ้นครับ

อันนี้ถ้าคู่แข่งจะเข้า ก็ไปทางนี้ (หัวเราะ) แต่อย่าไปตีตลาดกับ Tinder ตรงๆ ไม่ได้ผลอยู่แล้วครับ จำนวนการเติบโตช้ากว่าอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าก็เยอะพอ อย่าง Ansxer จะมีหลายคนที่ไม่เคยเปิดใจกับแอพฯ หาคู่ใดๆ เลย แต่พอมาเล่นแล้วภาพลักษณ์ไม่ได้เสีย และต่อให้ใครถามก็คือการแมทช์จากทัศนคติ

แม้แต่โลกออฟไลน์ บังเอิญเราไปเจอกัน เราไปเดทกันจากเพื่อนหรืออะไรก็ได้ เราจะมานั่งถามทัศนคติ เธอคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ บางทีมันก็แปลกๆ เหมือนกันนะ จุดนี้เลยกลายเป็นข้ออ้างที่ดีในการไม่อายที่จะพูด เพราะในชีวิตจริงไม่มีใครมาคุยทัศนคติเยอะขนาดใน Ansxer อยู่แล้ว ก็เป็นความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจน

ท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาความรัก ความสัมพันธ์ ในโลกปัจจุบันก็มีความลื่นไหล ไม่มีพรมแดน ไม่มีกรอบ ไม่มีอะไรตายตัว?

ใช่ครับ หลักๆ สำหรับผมคือการเปิดใจ บางคนต่อให้หน้าตาดีมากเข้ามา แต่ว่าอยู่ในช่วงที่เราปิดใจ มันก็ไปลำบากเหมือนกัน

สำหรับ Ansxer ส่วนหนึ่งที่แอพฯ มีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ส่งรูปไม่ได้ คือเราตั้งใจนะ 

เราตั้งใจให้เป็นข้ออ้างในการเข้าไปในโลกส่วนตัวเขาได้มากขึ้น ตั้งใจเพื่อที่จะได้ขอไลน์ ขอไอจีได้มากขึ้น ซึ่งผมอยากให้ทุกคนได้เข้าไปใกล้ชิดกับพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันมากขึ้น 

ฉะนั้นก็พยายามมีเงื่อนไข ใช้ยาก ส่งรูปไม่ได้ ขอไอจีหน่อยสิ อะไรแบบนี้ มันก็เมคเซนส์ต่อให้เขาไม่ให้ เราก็ไม่น่าเกลียดและเป็นข้ออ้างที่ดี

ส่วนหนึ่งที่ผมแนะนำคืออาจจะโทรคุยให้เร็วดีกว่า เพราะถ้าเขาเปิดใจแล้ว การโทรคุยจะพัฒนาได้เร็วกว่า และอีกอย่างลองคุยในคำถามที่หน้า Explore ที่มีลิสต์คำถามของคนอื่นเยอะๆ เอามาคุย มาถกอะไรแบบนี้ ถ้าตอบไม่เหมือนกัน ตอบขัดๆ กัน ก็อาจจะไม่ได้แมทช์กันในเรื่องของทัศนคติจริงๆ ถ้าคุยแล้วต่างคนต่างให้แง่คิดซึ่งกันและกัน ก็จะเปิดใจกันง่ายขึ้น แล้วจะค่อยๆ ปิดใจจากคนอื่นไปเอง ต่อให้คนอื่นดีมากก็เข้ามาสานสัมพันธ​์ต่อลำบาก

ตั้งแต่วันที่เริ่มเปิดตัวแอพฯ จนถึงวันนี้ คิดว่า Ansxer เติมเต็มอะไรเราในฐานะผู้ใช้งานและผู้ร่วมก่อตั้งแอพฯ

อย่างแรกเลยคือได้แฟน เป็นฟีลแบบ เฮ้ย มีคนแบบนี้บนโลกด้วยเหรอ อีกส่วนหนึ่งก็ช่วยพัฒนามุมมองของตัวเองด้วย ได้เห็นมุมมองของผู้ใช้งานหลายๆ คน รวมถึงพัฒนาความรู้ในเรื่องการตลาดของตัวเองด้วย พอเราต้องมาลุยเอง เจ็บเอง เสียเงินเอง เรียกว่าตัวเองพัฒนามากขึ้นก็แล้วกัน

จริงๆ แล้วก็ตอบโจทย์ความฝันผมที่อยากจะเป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยี (tech firm) เป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก (global tech firm) ผมสนใจสตาร์ทอัพตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ตั้งแต่เรียนก็เรียนสายผู้ประกอบการมาโดยตลอด และยังยืนยันที่จะอยู่ในโลกสตาร์ทอัพตลอด กัดฟันสู้มาตลอด เพราะมันเป็นความฝันเรา

ฉะนั้นในเรื่องเป้าหมายของตัวเองจริงๆ Ansxer ตอบโจทย์ทุกอย่าง แต่ไม่ได้เป็นจุดสุดท้ายของผม ในอนาคตถ้าทุกคนสนับสนุน ได้เงินลงทุน ก็คงจะมีแอพฯ อื่นๆ ที่ช่วยให้สังคมดีขึ้น ช่วยให้ชีวิตของคนดีขึ้น

ส่วนตัวผมชอบชีวิตออฟไลน์มากกว่าออนไลน์ ผมก็จะพยายามออกแบบรูปแบบสตาร์ทอัพหรือธุรกิจที่ทำให้ความเป็นอยู่ของคนดีขึ้น คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของทุกคนให้มากขึ้น นี่คือแนวคิดผม

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า