“การรับรู้ในที่ว่างทางสถาปัตยกรรม”
นักกายกรรมและโยคีแห่งสถาปัตยกรรม คือ หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ แปลโดย กิจโชติ นันทนสิริวิกรม เป็นหนังสือที่นำเอาบทสัมภาษณ์ Balkrishna V. Doshi สถาปนิกชาวอินเดีย ที่เคยมีโอกาสร่วมงานกับสถาปนิกผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘บรมครู’ ของวงการสถาปัตยกรรมทั้งสองคน โดยคนหนึ่งเป็นสถาปนิกที่ทำงานในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากศิลปิน รักอิสระ ที่เปรียบได้ดั่ง ‘นักกายกรรม’ ที่ไต่ไปตามขอบผิวของอาคารต่างๆ ขณะที่อีกคนเปรียบได้ดั่ง ‘โยคี’ ที่มีบุคลิกลักษณะเคร่งขรึม เรียบง่าย และไม่ปรารถนาเงินทอง มากไปกว่าการได้รับการยอมรับในฐานะผู้สร้างสิ่งที่จะกลายเป็นบรรณาการ แก่ สถาปัตยกรรม
นักกายกรรมที่ชื่อ Le Corbusier
…เมื่อใดก็ตามที่ Le Corbusier เริ่มต้นทำงาน เขาจะเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปยังสถานที่ก่อสร้างจริง ไปเพื่อให้รับรู้ถึงความรู้สึกจริงๆ ให้ได้ว่า ณ ที่ตั้งโครงการนั้นๆ มันมีคุณลักษณะเป็นอย่างไร…
…เขากำลังสร้างพื้นที่ที่ตัดขาดออกจากส่วนอื่นๆ ขึ้นมาสำหรับตัวเขาเอง…
ในฐานะสถาปนิก อาจกล่าวได้ว่า Le Corbusier คือ ผู้ใช้ชีวิตที่ต่างออกไปจากโลกของคนอื่น อยู่ในโลกของนักกายกรรมที่ทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้
ซึ่งสำหรับ Le Corbusier แล้ว sense of space หรือการรับรู้ในที่ว่างทางสถาปัตยกรรม คือ อุดมคติของการที่ความรู้สึกต่างๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ก่อนจะส่งผลที่เอื้อให้เกิดการรับรู้ในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้จริงในรูปแบบของสถาปัตยกรรม
ซึ่งพื้นที่นั้นๆ ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับองค์ประกอบอื่นๆ
นอกจากความคิดในการสร้าง ‘พื้นที่’ ที่เป็นอิสระโดยตัวมันเองจากส่วนอื่นๆ Le Corbusier ยังใช้แนวคิดของการรับรู้ (ที่เราขอทึกทักเอาว่าเป็นการตระหนัก) ต่อพื้นที่แต่ละพื้นที่แล้ว Le Corbusier ยังต้องการแยกพื้นที่แต่ละส่วนให้มีหน้าที่ของการแสดง สภาวะของการมีอยู่ที่แตกต่างกันด้วย เช่น
…การวางตำแหน่งของอาคารที่ประชุมสมัชชา (The Assembly) กับอาคารศาลฎีกา (The High Court) เพื่อให้เกิดการเทียบเคียงกันนั้นก็เพื่อที่จะบอกว่าฝ่ายตุลาการต้องมีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร…
ทันใด จู่ๆ แค่การออกแบบสถานที่ การเนรมิตพื้นที่ว่างให้มีความหมายขึ้นมาก็กลับกลายเป็นการตอกตรึงซึ่งอุดมการณ์ทางการเมืองในเรื่องของประชาธิปไตยขึ้นมาในบัดดล
…และ ณ ที่ว่างระหว่างฝ่ายตุลาการและฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นที่ตั้งของที่ทำการฝ่ายบริหาร (The Governor’s Place) จะเห็นได้ว่าการเชื่อมโยงระหว่างส่วนสำคัญทั้ง 3 ส่วนดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมในการปกครองของภาคประชาชน…
ขณะที่ Louis i. Kahn กล่าวว่าเขาไม่เคยเห็นใครที่ยืนหยัดในอุดมการณ์ แล้วสามารถถ่ายทอดออกมาให้เป็นจริงได้เหมือน Le Corbusier แม้กระนั้น ทั้ง Corbusier และ Kahn กลับเป็นบรมครูที่มีบุคลิกภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดย V. Doshi ยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เหมือนการมองดูสถาปัตยกรรมของโมกุลกับฮินดู
หากสถาปัตยกรรมแบบโมกุลที่เน้นรูปทรงกลมของโดมตามลักษณะของชาวมุสลิม สถาปัตกรรมแบบฮินดูก็คือการบิดตัวที่ไม่ขึ้นตรงต่อระเบียบแบบแผนใดๆ
ในมุมมองของ V. Doshi นั้น Kahn มีบุคลิกที่แทบไม่แตกต่างจากนักบวชหรือโยคี ที่ถือวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่นที่เขาได้กล่าวไว้ว่า
…เขาเป็นดั่งเช่นโยคีที่มักจะตั้งคำถามโดยตลอดต่อความสัมพันธ์ที่อยู่บนความเคลื่อนไหวที่ไม่เคยหยุดนิ่งของจักรวาลอันน่าพิศวงผ่านความลึกซึ้งที่มีอยู่ในจิตใจ…
โยคีแห่งสถาปัตยกรรมที่ชื่อ Louis i. Kahn
ถ้า Le Corbusier คือนักกายกรรมที่ไต่ระดับไปบนพื้นที่ว่างเพื่อเข้าถึงสภาวะของการสร้างสรรค์ Louis i. Kahn ก็คือโยคีที่การออกแบบ คือ การพินิจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นอาคารที่เงียบง่ายไม่ต่างจากวัดในนิกายเซนโดยพยายามไม่พึ่งพาการตกแต่งใดๆ เพื่อเผยให้เห็นคุณลักษณะอันแท้จริงของรูปทรงต่างๆ เหล่านั้น
พูดง่ายๆ คือ การพยายามสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นบรรณาการให้กับสถาปัตยกรรมที่เป็นนามธรรม
ย่ำไปใต้ดวงดาว ชุด ‘มีด’
เพี้ยน พุ่มชะมวง: เขียน
อธิคม คุณาวุฒิ: อ่าน
เจอเล่มนี้ที่งานขายหนังสือเมื่อเดือนตุลาคม วางอยู่ในบูธขายแผนที่และลูกโลก อดที่จะหยิบกลับมาทบทวนความหลังไม่ได้
งานเขียนชุด ย่ำไปใต้ดวงดาว เป็นงานกึ่งบทความกึ่งสารคดีกึ่งเรื่องเล่ารำพึงรำพันของผู้ชายกลางแจ้งกร้านแดดกร้านลม ถ้าจำไม่ผิดปรากฏให้เห็นครั้งสุดท้ายใน มติชนสุดสัปดาห์ เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว
แต่ถ้าถอยหลังย้อนไปไกลกว่านั้น ก็ต้องกลับไปหาอ่านในยุคนิตยสาร ชีวิตกลางแจ้ง และเซ็คชั่นฟ้าคาวบอย ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์
สำนวนภาษา จังหวะ ลีลา ของ เพี้ยน พุ่มชะมวง หรือ เธียรชัย ลาภานันท์ ได้รับการยอมรับทั้งในหมู่คนที่ชอบหน้าและไม่ชอบหน้า ศักยภาพในการร่ายบรรยายฉากของเขานั้นว่ากันว่า สามารถเสกให้แอ่งปลักตมในดงหญ้าป่าไพร พลันยิ่งใหญ่ ขรึมขลัง โลดโผนอลังการราวกับห้วงมหรรณพอันไพศาล เรื่องแบบนี้ร่ำลือในหมู่คนเขียนหนังสือด้วยกันว่า แกได้รับพรวิเศษจากเทพเจ้าแห่งการเล่าเรื่องและการประพันธ์
ย่ำไปใต้ดวงดาว ชุด ‘มีด’ เป็นงานรวมสรรพความรู้ ประวัติศาสตร์ ศิลป์และศาสตร์แห่งมีด เครื่องมือดำรงชีพที่น่าจะมีอายุยาวนานที่สุดชิ้นหนึ่งเท่าที่มนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นลองผิดลองถูกกันมา นับตั้งแต่ยุคหินจนถึงยุคที่เริ่มรู้จักโลหะ มีความรู้ในการถลุงเหล็ก และรู้จักวิธีผสมแร่บางชนิดลงไปในเหล็กเพื่อให้ได้เนื้อวัสดุที่มีคุณสมบัติตามความต้องการใช้งาน
หนังสือหนา 400 หน้า อ่านไปได้ราวหนึ่งในสี่ แม้จะสร้างความเพลิดเพลินได้พอประมาณ แต่ก็พบสิ่งกวนใจอยู่เป็นระยะ ไล่มาตั้งแต่ประวัติการตีพิมพ์ ไม่ระบุว่าฉบับนี้ตีพิมพ์ครั้งที่เท่าไหร่ แต่มีคำนำผู้เขียนฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 มีคำนำสั้นๆ โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ที่เขียนให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2534 รายละเอียดการทำหนังสือที่ดูเหมือนปล่อยผ่านง่ายเกินไป อาทิ บทนำเรื่องที่พูดถึงประวัติศาสตร์ฉบับย่นย่อ เล่าเรื่องราว 2 ล้านปีให้เหลือ 8 หน้ากระดาษ ผู้เขียนระบุว่าให้ดูแผนภูมิและภาพประกอบ แต่ในตัวบทไม่มีอะไรให้ดู รวมถึงคุณภาพการพิสูจน์อักษรที่ชวนเหนื่อยใจ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อดีของงานเขียนชุดนี้ก็ยังมีอยู่
หนึ่ง เป็นการสาธิตวิธีทำงานของคนก่อนยุคอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องใช้ความวิริยะระดับหมกมุ่นกว่าจะรวบรวมสังเคราะห์ข้อมูลรีดออกมาเป็นตัวหนังสือ แม้นว่าในโลกยุคใหม่ข้อมูลเหล่านี้อาจตรวจสอบพบจุดคลาดเคลื่อนได้
สอง รสคำ จังหวะ ลีลาภาษาของผู้เขียน ยังมีเสน่ห์หาตัวจับยาก อาจเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงานขีดๆ เขียนๆ ที่จะลองเข้าไปเสพและสำรวจดงถ้อยคำอีกประเภทหนึ่ง เผื่อจะได้ของป่าเก็บเข้ามาใส่คลังคำของตนเอง
สาม ต่อเนื่องจากข้อสอง เราจะได้เห็นจริตจะกร้านบางอย่างของผู้ชายยุคก่อน ชอบไม่ชอบเป็นอีกเรื่อง แต่อาจช่วยแก้เลี่ยนเวลาเจอรสนิยมและพฤติกรรมสุภาพบุรุษยุคปัจจุบัน
A Little History of Religion ศาสนา ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์
Richard Holloway
สุนันทา วรรณสินธ์ เบล: แปล
รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์: อ่าน
มนุษย์เกิดขึ้นมาพร้อมกับคำถาม คำถามหลายประการ เราเกิดมาทำไม เราใช้ชีวิตแบบไหน ความดีคืออะไร และเราตายแล้วไปไหน
ใครคนหนึ่งเคยรวบรวมมูลเหตุของการเกิดขึ้นของศาสนาไว้เบื้องต้นอย่างนั้น
จริงหรือที่ว่าศาสนาเป็นคำตอบของคำถามทั้งหมด – ก็แล้วแต่ความคิดแตกต่าง
ศาสนาเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์โลก หลายคำสอนชี้ทางเดินชีวิตอันดีงาม และก็เป็นศาสนาเช่นกันที่ฆ่าคนได้ไม่ต่างจากโรคระบาด ทั้งครูเสด หรือแม้แต่ความเชื่ออิสลามสุดโต่งแบบ IS
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้อิ่มไปด้วยวิชาการศาสนาเปรียบเทียบ ทว่าเป็นการเล่าเรื่องเรียบๆ บนเส้นประวัติศาสตร์ ไม่ชวนปวดเศียรหรือหนักหัว ตั้งแต่ ‘ความเชื่อ’ และ ‘ศรัทธา’ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เรียบเรียงมาเท่าที่สืบค้นได้ เริ่มที่คำถามขั้นปฐมของมนุษย์ กำเนิดศาสนาและศาสดา ไปถึงคำถามท้ายสุดที่ท้าทาย ศาสนาถึงจุดอวสานแล้วหรือไม่
และหากผู้อ่านคิดว่าศาสนาต่างๆ ยัง ‘ไม่ใช่’ ทางของตัวเอง เรื่องนี้ก็ชวนให้คิดต่อว่า เรากำลังเชื่อและศรัทธาใน ‘ความไม่เชื่อ’ หรือไม่ เพราะประวัติศาสตร์หลายพันปีในหนังสือเล่มนี้ก็พอแสดงให้เห็นว่า การหลุดพ้นจากพันธนาการเรื่องการตั้งคำถาม การตั้งสมมุติฐานว่าแนวทางนี้อาจเป็นคำตอบ พิสูจน์ด้วยการแสดงศรัทธาบูชาความเชื่อ และการเชื่อในคำตอบ เป็นเรื่องยากเย็นมากๆ
ร่างของปรารถนา
อุทิศ เหมะมูล: เขียน
วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์: อ่าน
ผมอ่าน ร่างของปรารถนา ของ อุทิศ เหมะมูล ในวันที่ลมหนาวแห่ขบวนพาเหรดเข้ากรุงเทพฯ 5 พฤศจิกายน ลมหนาวชวนให้นึกถึงอดีต (ฤดูร้อนชวนให้นึกถึงอนาคต ฤดูฝนคือปัจจุบัน) ไม่รู้ทำไม?
นิยายเรื่องนี้สำรวจเรือนร่าง เรือนร่างของปัจเจก เรือนร่างในหนังโป๊ และทำหกเก้าโดยให้เรือนร่างเป็นภาพเสนอของประเทศ เรือนร่างที่ถูกควบคุมและสมยอม กดขี่และฝืนต้าน เรือนร่างที่ถูกผีอำ ถูกกระทำและกระทำผู้อื่น เรือนร่างที่มีตั้งแต่ตีน มือ หัว องคชาต (องคชาตกับองคชาตไม่ทำให้เกิดการชาตะ ยกเว้นในงานศิลปะในนิยาย) โยนี และคลิตอริส (บาลีหรือสันสกฤตหรือขอมมีศัพท์เรียกคลิตอริสมั้ย) ไม่ นิยายเรื่องนี้ไม่ได้อ้อมแอ้มหยิบยืมรูปคำภาษาที่ใช้เรียกแทนคำต้องห้าม มันพยายามเปลือยภาษาให้แตกในทางการอ่าน มันปลดปล่อยคำต้องห้ามและคำชั้นต่ำมาแสดงให้เห็นการควบคุม / ต่อต้าน / สมยอม และ ล่อลวง เอากันเบอร์นั้นเลยแหละนิยายเรื่องนี้
ร่างของปรารถนา เป็นเรื่องของชายวัยกลางคนผู้เป็นศิลปิน ร่ำเรียนศิลปะ ทะเยอทะยาน ห่าม อยากลิ้มอยากลองไปเสียหมด อยากชิมอยากชมไปทุกอย่าง เพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวในผนังมดลูกของความทรงจำ กาลผ่านไปเขาจะเบ่งคลอดความทรงจำออกมาจากครรภ์ ใช้มาเขียนมาสร้างศิลปะ แปรรูปความทรงจำเป็นงานศิลปะ และเขาก็เป็นคนไม่รู้จักพอเสียด้วย เขียนขึ้นมาอีก ขุดขึ้นมาใช้สอยอีก จนความทรงจำทักถาม พี่จะเขียนผมไปอีกนานเท่าไร
ผมชอบไอเดียการสำรวจเรือนร่างและน้ำเสียงที่นักประพันธ์ใช้ มันก้าวร้าว ห่าม กระแทกกระทั้น (เกือบๆ จะเป็นกระเด้าคนอ่าน) คลั่งไคล้ ลุ่มหลง มัวเมา นำเสนออารมณ์ของสังคมร่วมสมัยที่ถูกทำให้ไปไม่ถึงจุดสุดยอด ค้างเคิกอยู่ตรงนั้น ปวดลูกอัณฑะ
ในเรือนร่างทั้งสามแบบ ผมคิดว่าเรือนร่างในหนังโป๊ น้ำเสียงและวีธีการเล่ามีความนุ่มนวลที่สุด เรือนร่างของปัจเจกหื่นห่ามและอ่อนช้อยที่สุด (อ่อนช้อยเหมือนนักโยคะพับร่างออรัลเซ็กส์ให้ตัวเอง, เหมือนยางใสในฝักกระเจี๊ยบ – อันนี้เด็ดสุด) เรือนร่างของประเทศหยาบกร้านและหยาบคายที่สุด ตัวละครกำลังสำรวจเรือนร่างกันและกันอย่างเข้าด้ายเข้าเข็ม (เอาจริงๆ สำนวนเข้าด้ายเข้าเข็มมันชวนให้เห็นภาพความเงอะงะมากกว่าไหลลื่น – ถ้าเป็นเข้าสิง เขาจะบอกให้ควานหาอุปลักษณ์ส่วนตัว ที่มันมีความหมายเจาะจงกับคุณ อย่าใช้ของคนบุรากาลที่ว่าตามกันมา เพราะมันไม่มีความหมายกับคุณเลย) ตีน มือ หัว อันเป็นเรือนร่างของประเทศโผล่มาจากไหนไม่รู้ เสือกหัวเข้ามา คนกำลังเอากัน เสือกหัวเข้ามา ดันและแทงเข้ามาในประโยคนั้นบรรทัดนั้นร่ำไป เหมือนบอกใบ้เราว่า มึงกำลังถูกข่มขืนอยู่นะ ถูกกูเอาอยู่นะ รู้ตัวรึเปล่า? ฟอนต์นั้นก็บีบบังคับคนอ่านให้อึดอัดเหลือเกิน อ่านผิดอ่านถูก แต่ก็เพ่งจ้องเพราะอยากรู้อยากเห็นเหมือนกัน
นิยายพยายามบันทึกสังคมและการเมืองผ่านการรัฐประหาร 2535 2549 และ 2557 เรื่องมาจบลงในวันสูญเสียยิ่งใหญ่ของประเทศ บันทึกเป็นจดหมายเหตุการควบคุมและกดข่ม ผลัดเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในห้วงเวลาของไตรรัฐประหารนั้น ด้วยน้ำเสียงอุอั่งคับแค้น อยากแตก อยากเสร็จ แต่ค้างเคิกอยู่ตรงนั้น เพราะเพดานบางอย่างจำกัดขำเขี่ยไว้ นึกถึงความเกรี้ยวกราดแบบนี้ใน ลมละเมอ ของ ทินกร หุตางกูร (เล่มนี้ก็พยายามบันทึกสังคมและการเมืองร่วมสมัยเช่นกันด้วยความเกรี้ยวกราดดุจกัน)
ชอบความเป็นนักวิจัยค้นคว้าของผู้เขียนเหลือเกิน โดยเฉพาะการช่างสำรวจโลกของหนังโป๊ ท่วงท่าและการสร้างความหมายในโลกนั้น การควานหาชุดความหมายส่วนตัว (เช่น ยางใสเหนียวในฝักกระเจี๊ยบ) ชุดสัญลักษณ์ที่มีความหมายกับผู้สร้างมากกว่าผู้เสพ แต่ถึงที่สุดสิ่งที่ผมสัมผัสจับต้องได้จาก ร่างของปรารถนา เป็นการสำรวจการทำงานศิลปะ วัตถุดิบ ความทรงจำ รูปฟอร์ม หรืออาจเป็นการเขียน การเขียนนิยาย
น้ำ ตายกลายเป็น วารี การตายจากน้ำเป็นวารี เลื่อนสถานะ เลื่อนชนชั้น (ทั้งระดับของภาษาและไลฟ์สไตล์) ชีวิตใหม่ที่เกิดจากการทบทับเป็นเชิงชั้นของความทรงจำ ยิ่งขุดเอามาเขียนยิ่งห่างไกลข้อเท็จจริงเท่านั้น เข้าสิงขึ้นคร่อมความทรงจำ เป็นผีที่อำความทรงจำตนเอง สมสู่กัน จนความทรงจำไม่ใช่ความทรงจำดั้งเดิมอีกต่อไป เป็นปรารถนาของผู้เขียนผู้สร้างและผู้ร่าง ตัวละครที่สำส่อนที่สุดในนิยายก็คือความทรงจำนั่นเอง
A Fish That Smiled At Me: ปลายิ้มได้กับชายคนหนึ่ง
Jimmy Liao
อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี: แปล
ณิชากร ศรีเพชรดี: อ่าน
หนังสือภาพว่าด้วยเรื่องของ ‘ผม’ ซึ่งกิจวัตรแต่ละวันพาให้สะดุดกับปลาตัวหนึ่ง ซึ่งเขาคิดว่ามันยิ้มให้ ถูกชะตา อยากเป็นเจ้าของ อยากพาปลา ซึ่งเขาคิดว่ามันยิ้มให้ตัวนี้กลับบ้าน แต่ไปซื้อปลาตัวหนึ่งซึ่งเขาคิดว่ามันยิ้มให้เช่นกันกลับบ้านแทน เขาจุมพิตมัน และเปรียบว่า ถึงจะเป็นปลา แต่ก็ ‘ซื่อสัตย์เยี่ยงสุนัข รู้ใจเยี่ยงแมว และผูกพันเยี่ยงคนรัก’
เหมือนย้อนไปตอบคำถามของเด็กวัยที่กำลังจะมีห้องเป็นของตัวเอง วัยที่อยากจะวางโหลปลาเอาไว้มองยามเหงาอย่างฉากในเอ็มวียุค D2B ยังหนุ่ม (จริงๆ ดิฉันคิดถึงนักร้องสาว อ้อน-ลัคนา หวงมณีรุ่งโรจน์ กับเพลงเหงาๆ ของเธอ) เช่นว่า ถ้าเลี้ยงปลาให้มันว่ายวนๆ อยู่อย่างนั้น มันจะยุติธรรมไหมนะ กลัวมันเหงา มันจะชอบเพื่อนที่เราเลือกให้หรือเปล่า และอื่นๆ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นความเป็นห่วงจากสมองของเผ่ามนุษย์ ไม่ใช่เผ่าปลา
ของคนอื่นเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ของ ‘ผม’ จบลงด้วย, คงเปิดเผยได้ เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่คำตอบ แต่คือจังหวะ และลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ของเขา, เขาเลือกเอกราชให้กับปลา
เอกลักษณ์ของเขา ในสายตาของดิฉัน คือภาพสีสดใสแต่หมองเศร้า คือเรื่องเล่าในประเด็นเด็กน้อยแต่ทะลุทะลวงตั้งคำถามต่อได้ไม่รู้จบ และคำถามเป็นได้หลากหลายขึ้นกับประสบการณ์ของผู้อ่าน
สำหรับดิฉันแล้ว ความคิดที่วิ่งชนกันดังโครมๆ ในหัวหลังปิดหนังสือก็คือ ‘it’s so unfair!!!’ นี่มันเป็นมุมมองของมนุษย์ข้างเดียวชัดๆ วันหนึ่งเราตีความรอยยิ้มของมันว่าช่างเอื้ออาทร อยู่มาวันหนึ่ง รอยยิ้มของปลาคงเดิมแต่โลกเราเปลี่ยน รอยยิ้มรอยนั้นก็กลับหม่นเศร้าและยังทิ่มแทงใจ ความเห็นของปลาซึ่งไร้เสียง จึงบอดใบ้และไร้น้ำหนัก, as always ตลอดมาและจะตลอดไป
ดิฉันไม่เคยรู้จักผลงานของผู้เขียนมาก่อน แต่ปกในและคำค้นจากเสิร์ชเอนจิ้นกล่าวว่า ผลงานของจิมมี เหลียว ได้รับความนิยมทั้งในไต้หวันเองและนอกประเทศ ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ เช่น อังกฤษ สเปน กรีซ เกาหลี ญี่ปุ่น และไทย
หนังสือภาพเล่มไม่บางมาก (หนาเท่าไรไม่มีตัวเลขบอก) อ่านจบบนรถเมล์ในวันรถไม่ติดนักได้สบาย แต่มีพลังฉุดให้จมกับภาพสีสดแต่หม่นเศร้า และด้วยเรื่องเล่าประเด็นเล็กน้อยแต่ปล่อยผ่านไปไม่เก็บมาคิดต่อไม่ได้ เช่นนี้แล้ว ถือว่าร้ายกาจไม่สมขนาดตัว