บายศรี: ความรัก ความตาย ชายรักชาย และศาสนา

ภาพ: เฟซบุ๊คแฟนเพจ มะลิลา Malila The Farewell Flower

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเด็นชายรักชายเป็นหนึ่งเรื่องที่สื่อต่างๆ นำมาใช้เป็นจุดขาย เพราะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายแน่นอนว่าเฉดสีของมันย่อมแตกต่างกันออกไป และส่วนมากจะเน้นหนักไปทางการสร้างกระแสคู่จิ้นฟินเวอร์ แต่ อนุชา บุญยวรรธนะ ก็ได้นำเสนอประเด็นชายรักชายอีกหนึ่งเฉดสีในภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา หรือ The Farewell Flower นำแสดงโดย โอ-อนุชิต สพันธุ์พงษ์ (พิช) และ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ (เชน) ที่เพิ่งคว้ารางวัล ‘Face of Asia Award’ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน เฉดของชายรักชายใน มะลิลา นั้นแตกต่างอย่างไร และต้องการสื่อสารอะไรแก่คนดู?

มะลิลา บอกเล่าเรื่องราวความรักความสัมพันธ์ของ ‘เชน’ ชายหนุ่มเจ้าของสวนมะลิ และ ‘พิช’ ซึ่งต่อสู้กับโรคมะเร็งด้วยสารพัดวิธี และค้นพบว่าการทำบายศรีช่วยทำให้อาการของเขาดีขึ้น เชนตัดสินใจว่าจะบวชให้พิช โดยหวังว่าอาการของพิชจะดีขึ้น แต่พิชก็ได้จากเขาไปเสียก่อน อย่างไรก็ดี เชนยังคงตัดสินใจบวชให้กับคนที่เขารัก และเรียนรู้กับหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา เนื้อเรื่องดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อน ทว่าแต่ละฉากแต่ละตอนกลับสอดประสานกันด้วยความงดงามและประณีตของความสัมพันธ์ชายรักชายแบบบ้านๆ และจิตวิญญาณความเชื่อท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำบายศรีที่ถูกนำเสนออย่างบรรจงงดงาม แต่แฝงนัยยะมากมายให้คนดูได้ถอดรหัสออกมาหลายแง่มุม

บายศรีถูกอธิบายถึงความหมายของมันอย่างชัดเจนในตอนต้นเรื่องว่าเป็นสิ่งมงคลที่เอาไว้เรียกขวัญให้กับชาวบ้านหลังเจอเรื่องร้ายๆ แต่แน่นอนว่านัยยะของมันน่าจะไปไกลกว่าคำอธิบายที่ตรงไปตรงมานี้ด้วยการนำเสนอผ่านมุมกล้องและการขับเน้นผ่านรูปทรงและองค์ประกอบ บายศรีเผยให้เห็นถึงลักษณะของการผสมผสานระหว่างสองเพศ รูปทรงของมันมีลักษณะคล้ายสัญลักษณ์เพศชาย และประดับประดาด้วยดอกไม้ซึ่งเป็นสัญญะของเพศหญิง จะด้วยความตั้งใจของผู้สร้างหรือไม่ก็ดี บายศรีบ่งบอกด้วยตัวของมันเองค่อนข้างชัดว่าหนังเรื่องนี้กำลังจะพูดถึงใคร เรื่องอะไร และนอกจากนี้บายศรียังบอกอะไรแก่คนดูอีกบ้าง

บายศรี: ความรักนอกเขตแดนแห่งอำนาจ

นอกเหนือจากเป็นสิ่งมงคลในงานพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว บายศรียังมีหน้าที่เป็นสื่อรักของเชนและพิช ถามว่ามันสูงส่งและโรแมนติกขนาดไหน ลองคิดกันดูว่าวิถีชีวิตของคนชนบทนั้นผูกติดอย่างแนบแน่นกับความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณ อีกทั้งความสัมพันธ์แบบชายรักชายในชนบทก็ไม่ได้มีทางเลือกอื่นให้แสดงความรักเหมือนวัฒนธรรมเกย์ในเมือง ไม่ได้มีโซเชียลมีเดียไว้บอกรักกันอวดใครๆ ไม่ได้มีร้านอาหารเก๋ๆ ให้นั่งป้อนข้าว ไม่ได้มีสีลมซอย 2 ให้ไปเต้นรำคลอเคลีย ฉะนั้นการที่พิชมอบบายศรีให้แก่เชนจึงน่าจะเป็นทางเดียวที่ทำให้เชนรู้ว่าเขามอบความรักและจิตวิญญาณให้แก่เชนไปแล้ว

มะลิลา พาคนดูไปไกลกว่าประเด็นของชายรักชายแบบเดิมๆ เพราะมันนำเสนอความสัมพันธ์อันเป็นปกติที่แทบจะปราศจากอคติทางสังคม ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเมืองที่มีแนวโน้มว่าน่าจะยอมรับความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันได้มากกว่า ความย้อนแย้งนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองความพิเศษของพื้นที่ชนบท เป็นไปได้ไหมว่าเพราะสังคมชนบทอาจไม่ได้ผ่านการทำงานของอำนาจศาสนาหรือค่านิยมสมัยเจ้าขุนมูลนาย ที่ทำให้เพศวิถีที่ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้กลายเป็นอื่น สังคมชนบทจึงไม่ได้มีอคติในการแบ่งแยกเพศเท่าสังคมเมือง มะลิลา จึงหยิบฉวยประโยชน์ของสังคมชนบทตรงนี้มาถ่ายทอดสังคมอุดมคติของคนรักเพศเดียวกัน จุดนี้เองที่เราอาจจะพูดได้ว่า มะลิลา มีจุดร่วมเดียวกันกับ สัตว์ประหลาด ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่พยายามนำเสนอสภาวะความเป็นปกติของความสัมพันธ์ชายรักชายในสังคมชนบทที่มีความเป็นอยู่ปกติ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เหมือนคนทั่วๆ ไป

บายศรีกับโรคแห่งความตายของชายรักชายอันเป็นสามัญ

ในขณะที่พิชบรรจงเลือกดอกไม้และเย็บบายศรี เขามักพูดถึงความเปราะบางและอายุขัยอันสั้นของมันให้เชนฟัง นักวิจารณ์ฯ หลายท่านได้เปรียบบายศรีในเรื่องว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงสัจธรรมของชีวิตมนุษย์ที่วันหนึ่งร่างกายมนุษย์เราจะเหี่ยวเฉาและหมดสภาพไปตามกาลเวลา สุดท้ายมนุษย์เราก็ต้องคืนทุกสิ่งให้กับธรรมชาติดั่งที่พิชมักจะนำบายศรีของเขาไปลอยน้ำหลังจากเสร็จสิ้นพิธีกรรม ในจุดนี้ มะลิลา นำเสนอความตายอันเป็นสามัญของเกย์ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดจากโรคมะเร็ง ซึ่งแตกต่างกับภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ที่ผูกขาดความตายของเกย์ไว้กับโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ สิ่งหนึ่งที่เราควรต้องเรียนรู้ชีวิตเกย์ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้คือ เกย์ไม่ได้เป็นสิ่งที่มีชีวิตพิเศษหรือมีความเฉพาะตัวที่แตกต่าง แต่เราเกิด เรามีความรัก เราเจ็บป่วย เราต้องประสบกับความตายเหมือนกับทุกๆ คน  เพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน

ศาสนากับจิตวิญญาณไร้ข้อจำกัด

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเชนเข้าสู่โลกของธรรมะหลังการตายของพิช การตัดสินใจบวชของเชนนำผู้ชมไปสอบทานกับความเชื่อทางศาสนา ดังเช่นตอนที่หลวงพ่อถามเชนในพิธีกรรมก่อนบวชว่า “ปุริโส้สิ๊” (เป็นผู้ชายหรือไม่) และเชนก็จะต้องตอบกลับว่า “อามะภัณเต” (ใช่) การบวชของเชนดูไม่น่าจะไปได้ดีเท่าไหร่ เพราะเพศวิถีของเชนไม่สอดคล้องกับเพศตามอุดมคติ

ภาพยนตร์เผยให้เห็นถึงความย้อนแย้งกับคติเรื่องเพศนี้โดยเปรียบเทียบหลวงพี่เชนกับพระพี่เลี้ยงของเขาคือ ‘พระสัญชัย’ หรือ ‘หลวงพี่ผู้พัน’ ที่ยืนยันความเป็นบุรุษเพศแท้ๆ ผ่านอาชีพทหารที่เคยเป็น แต่สุดท้ายหลวงพี่ผู้พันก็พบกับความล้มเหลวที่ไม่อาจหลุดพ้นจากการยึดติดกับ ‘รูป’ ได้ เขายืนดูศพ ร้องไห้ และตะโกนออกมาว่าเขาทำไม่ได้ ขณะที่พระเชนฝึกพิจารณาปลงอสุภะกับศพของพิชจนสามารถข้ามผ่านร่างศพเน่าเฟะนั้น สวมกอดศพของชายที่รักก่อนที่ภาพทุกอย่างจะพร่ามัวดั่งกับว่าหนังพาคนดูไปสู่มิติแห่งจิตวิญญาณที่พระเชนเห็นวิญญาณกับร่างอันเปลือยเปล่าของพิช พิชเดินลับไปราวกับว่าเขากำลังจะต้องคืนร่างกายและจิตวิญญาณของเขาสู่ธรรมชาติเช่นเดียวกับบายศรีของเขา

ในตอนท้ายเรื่อง พระเชนเดินไปยังสายธารน้ำไหล ถอดจีวรออก เหลือแต่ร่างเปลือยเปล่าทิ้งตัวลงนอนกลางสายธาร นั่นอาจจะเป็นการปฏิบัติธรรมครั้งสุดท้ายของพระเชน ที่ต้องการจะหลุดพ้นจากสิ่งใดๆ ในโลกด้วยการคืนร่างและจิตวิญญาณของเขาให้แก่ธรรมชาติ

จะมีภาพยนตร์สักกี่เรื่องที่พูดถึงหลายมิติของประเด็นชายรักชายในฐานะมนุษย์ธรรมดาที่สามัญแต่งดงาม เป็นอีกเฉดของหนังชายรักชายที่สีสันไม่ฉูดฉาด แต่จริงแท้บริสุทธิ์เหมือนดอกมะลิลา จะว่าเป็นการจำกัด มะลิลา ให้เป็นภาพยนตร์เฉพาะกลุ่มชายรักชายก็ดูจะเป็นเรื่องใจแคบจนเกินไป เพราะถ้ามองให้พ้นประเด็นชายรักชาย มะลิลา ก็คือภาพยนตร์รักที่จะกรีดเอาหัวใจของเราออกมาตรวจสอบว่า ความรักของเรายังคงหล่อเลี้ยงหัวใจและจิตวิญญาณเอาไว้อยู่หรือเปล่า

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า