เมื่อโลกล้อมบรูไน กรณีกฎหมายปาหิน

เมื่อเดือนที่ผ่านมา บรูไนได้ประกาศนำเอากฎหมายอิสลาม หรือกฎหมายชารีอะฮ์ มาตีความใช้ใหม่ ในกฎหมายระบุการลงโทษเกย์ด้วยการปาหินให้ตาย รวมถึงการค้าประเวณีก็จะถูกลงโทษด้วยวิธีการเดียวกัน แต่ล่าสุด สุลต่านฮัสซานัล โบกีอาห์ ได้ขยายเวลาการยับยั้งกฎหมายปาหิน ในการออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่

เมื่อโลกล้อมบรูไน ทั้งการบอยคอตและการต่อต้านจากเหล่าเซเลบริตี้ทั่วโลก ทำให้พวกเขาต้องหยุดคิดทบทวนถึงกฎหมายประหารชีวิตด้วยการปาหินฉบับดังกล่าว บูรไนมีพระราชบัญญัติออกมาสำหรับการกระทำความผิดอาชญากรรมบางประเภท และไม่มีการตัดสินประหารชีวิตตั้งแต่ปี 1957 ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมา

องค์สุลต่านตรัสว่า พระองค์ทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่า ในประมวลกฎหมายอาญาอิสลามนั้นเป็นอย่างไรในการที่จะนำมาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ “ย่อมมีคำถามมากมายแน่นอน และเข้าใจไปผิดๆ” แม้พระองค์ได้ประกาศให้เลื่อนการลงโทษประหารชีวิต หรือโทษถึงตายออกไปก่อน แต่ก็ปกป้องประมวลกฎหมายอาญาอิสลาม และกล่าวว่า ‘คุณงามความดี’ ของกฎหมายนี้จะต้องถูกทำให้ชัดเจน

แพทริเซีย สก็อตแลนด์ (Patricia Scotland) เลขาธิการเครือจักรภพ (Secretary-General of the Commonwealth of Nations) กล่าวว่า “ฉันรู้สึกดีใจที่โทษประหารชีวิตด้วยการปาหินถูกยกเลิกไป ตอนนี้ก็มีการเลื่อนใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ เพราะโทษที่รุนแรงของมัน”

ความรุนแรงของมันเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2014 ชาติเล็กๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์อย่างบูรไนประกาศใช้กฎหมายชารีอะฮ์คู่ขนานไปกับการใช้ระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ หรือระบบกฎหมายที่ใช้คำพิพากษาเป็นตัวบทกฎหมายแทนระบบประมวล

ในส่วนแรกของกฎหมายได้ครอบคลุมการกระทำผิดโทษฐานอาชญากรรม และมีบทลงโทษด้วยการตัดสินปรับและจำคุก กฎหมายที่เพิ่งออกมาในวันที่ 3 เมษายน 2019 หรือฉบับที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเพียงอีกช่วงของการออกกฎหมายที่ครอบคลุมการกระทำผิดด้านอาชญากรรม แต่ความรุนแรงของโทษคือบทลงโทษที่ว่าด้วยการตัดแขนตัดขาและการปาหิน

โทษทัณฑ์ที่ร้ายแรงและข้อหาของกฎหมายฉบับนี้ เช่น

  • กระทำผิดฐานข่มขืนผู้อื่น ค้าประเวณี การเสพสังวาสที่ผิดธรรมชาติ (ชายรักชาย) ลักทรัพย์ และ ดูหมิ่นหรือสบประมาทผู้อื่น โดยตามหลักของท่านนบีมูฮัมหมัดแล้วโทษสูงสุดคือการประหารชีวิต
  • การเสพสังวาสแบบหญิงรักหญิงมีโทษที่แตกต่างออกไป อาจจะถูกเฆี่ยนตี 40 ครั้ง หรือจำคุกไม่ต่ำกว่า 10 ปี
  • หัวขโมย ชิงทรัพย์ จะถูกลงโทษด้วยการตัดแขนตัดขา
  • ผู้ที่ ‘โน้มน้าว ชักจูง หรือกระตุ้น’ เด็กชาวมุสลิมอายุต่ำกว่า 18 ให้ยอมรับคำสอนของศาสนาอื่น จะถูกปรับหรือจำคุก
  • เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เมื่อถูกตัดสินโทษอาจจะถูกโบยเป็นการลงโทษแทน

ขณะเดียวกันปฏิกิริยาต่อกฎหมายดังกล่าวก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ปฏิกิริยาโกรธแค้นจากทั่วโลกมุ่งไปยังบรูไนทันที จากการพยายามออกกฎหมายฉบับนี้ทำให้องค์การสหประชาชาติออกมาเตือนว่า บรูไนกำลังฝ่าฝืนปฏิญญาว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้ประกาศเอาไว้ในปี 1948 ซึ่งบูรไนเองก็ได้ยอมรับในปฏิญญาฉบับนี้ด้วยในปี 2006

ปฏิกิริยาของเหล่าเซเลบริตี้ชื่อดังอาจเป็นตัวกำหนดท่าทีการระงับกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ได้เช่นเดียวกัน คนดังอย่าง จอร์จ คลูนีย์ และ เอลตัน จอห์น ออกมาประกาศบอยคอตเครือโรงแรมหรูที่มีความสัมพันธ์กับบรูไน โดย จอร์จ คลูนีย์ ได้พูดถึงกฎหมายฉบับนี้สั้นๆ ว่า เป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงที่สุด

สังคมโลกยังคงต้องติดตามท่าทีของบรูไน คำถามที่สำคัญคือ ‘ความเข้าใจที่ถูกต้อง’ ต่อกฎหมายชารีอะฮ์ ควรเป็นเช่นไร

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า