ปณต ศรีนวล: ‘บันทึกกะเทยอีสาน’ บทสะท้อนความเจ็บปวดและภาวะดิ้นรนของคนข้ามเพศ

‘โง่ จน เจ็บ’ วาทกรรมที่ตีตราคนอีสานและคนต่างจังหวัดมาเป็นระยะเวลานาน อีกแง่หนึ่งก็เป็นตัวสะท้อนคุณภาพชีวิตของคนรากหญ้าที่ไม่ได้รับการกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึง นำมาซึ่งการขาดโอกาสหลายๆ ด้านในชีวิต และหากพินิจพิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า คงไม่มีคนอีสานหรือคนต่างจังหวัดรายใดที่ถูกตีตราด้วยวาทกรรมดังกล่าวรู้สึกยินดีหรือยอมรับภาวะที่เกิดขึ้น

บันทึกกะเทยอีสาน หนังสือที่สะท้อนความเจ็บปวด การต่อสู้ ดิ้นรน สะท้อนชีวิตคนข้ามเพศในพื้นที่อีสานใต้ ผ่านการบอกเล่าเรื่องราวการกดทับ ความไม่เท่าเทียมทางเพศ ไปจนถึงมายาคติที่ถูกสังคมทั้งในพื้นที่และสังคมภายนอกมอบให้กับคนกลุ่ม LGBTQIA+ หรือ ‘กะเทย’ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น คนอีสานไม่ได้โง่ จน เจ็บ มาแต่กำเนิด แต่เป็นเพราะความเหลื่อมล้ำและสายตาที่มาจากมุมมองของคนอีกชนชั้นหนึ่งเสียมากกว่า

WAY ชวน เต้ย-ปณต ศรีนวล มาพูดคุยและเปิดเผยตัวตนของผู้เขียนหนังสือ บันทึกกะเทยอีสาน ให้มากขึ้น นอกจากเต้ยจะเป็นนักเขียนแล้ว ปัจจุบันยังมีบทบาทในฐานะบรรณาธิการบริหาร GendersMatter และเป็นผู้ช่วยวิจัยโครงการสุขภาวะสำหรับคนข้ามเพศด้วยเช่นกัน

บรรยากาศการสนทนาและท่าทีในการตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมาของเต้ย ถ่ายทอดเหตุการณ์อันแสนเจ็บปวดเหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องเล่าตลกร้าย ชวนยิ้มมุมปาก เปี่ยมไปด้วยพลังงานดีๆ บางอย่างที่สัมผัสได้จากการพูดคุยกับเต้ยอย่างไม่น่าเชื่อ และนั่นอาจช่วยให้สังคมหันกลับมาทบทวนมายาคติที่มีต่อคนข้ามเพศได้ไม่มากก็น้อย

ช่วยแนะนำตัวเองสักหน่อย ตอนนี้ทำอะไรอยู่ 

ชื่อ เต้ย-ปณต ศรีนวล ตอนนี้อยู่ที่ GenderMatter นะคะ ตำแหน่งคือเป็นบรรณาธิการบริหารค่ะ อีกขาหนึ่งก็เป็นผู้ช่วยวิจัย ‘โครงการสุขภาวะสำหรับคนข้ามเพศ’

หนังสือ บันทึกกะเทยอีสาน ต้องการบอกเล่าอะไร

เรียกว่าเป็นหนังสือ self-therapy ก็แล้วกันนะคะ เต้ยเขียนขึ้นมาเพื่อจะระบายความเป็นไปของชีวิต จริงๆ ก็อยากให้เป็นการ inspire ด้วยเหมือนกันว่าชีวิตคนเราย่อมให้บทเรียนอะไรบางอย่างกับคุณอยู่ตลอด และบทเรียนนั้นบางทีก็ดูยากเกินกว่าที่เราจะข้ามมันไปได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราข้ามมันได้ก็จะค้นพบว่า เราก็รอดนะ เราก็ไม่ตายนะ มันก็โอเค เต้ยเลยรู้สึกว่าทุกๆ ครั้งที่เต้ยเศร้า เต้ยจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านทุกครั้ง แล้วก็ชื่นชมคนที่อยู่ในหนังสือว่า เอ้อ ยูเก่ง ยูไปต่อได้ 

เต้ยอยากให้ตัวเต้ยในตอนนี้หรือเต้ยในอีก 3-5 ปี หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ภูมิใจกับเด็กตัวเล็กๆ ที่อยู่ในหนังสือ แล้วบอกกับตัวเองว่าคุณเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งมากๆ แล้วในท้ายที่สุด คุณสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ 

ตัวละครที่ชื่อ ‘เต้ยโศก’ มีความหมายอย่างไร เพราะ ‘เต้ย’ หมายถึงทำนอง มาบวกกับคำว่า ‘โศก’ ซึ่งเป็นคำที่ขัดแย้งกัน 

จริงๆ ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่าตัวเนื้อหาในหนังสือมันดูโศกก็จริง เวลาเราพิจารณา เราต้องพิจารณาจาก 2 มุมเนอะ มุมหนึ่งคือ มุมคนเขียน มุมคนที่อยู่ข้างใน กับมุมของคนอ่าน ในกรณีมุมของคนอ่านที่เขาได้อ่านไป ต่อให้เขารู้สึกว่ามันโศกแค่ไหนก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าเราให้เขาได้ก็คือมุม entertainment มันคือมุมสนุกที่เกิดขึ้นจากการอ่าน 

เพราะฉะนั้น เรื่องราวมากมายที่มันควบรวมไปกับความเศร้า มันทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันได้ ในท้ายที่สุด สิ่งที่ผู้อ่านจะได้ก็คือความสนุกในการอ่าน มันอาจจะเป็นเรื่องโศกในมุมของคนเขียน มันอาจจะเป็นเรื่องโศกของคาเเรกเตอร์ที่อยู่ในหนังสือเล่มนั้น แต่จุดหนึ่งมันก็เป็นวาไรตี้ มันเป็นความเต้ย เป็นความสนุกสนาน เป็นการร้องรำทำเพลง เป็นเมโลดี้ เป็นไรม์สำหรับคนที่อ่าน 

เต้ยก็เลยมองว่า ‘เต้ยโศก’ เป็นชื่อที่สะท้อนให้เห็นทั้งตัวตนคนเขียนและสิ่งที่คนอ่านจะได้รับไปพร้อมๆ กัน

จากเนื้อหาในหนังสือ เราเห็นถึงการไขว่คว้าหาโอกาสมากมาย สภาวะเหล่านั้นมันเกิดขึ้นอย่างไร

จริงๆ ปัญหาตรงนี้มันต้องพูดไปถึงตั้งแต่ต้นเลย ตั้งแต่เรื่องการกระจายทรัพยากรในประเทศไทย เราไม่มีระบบที่สามารถกระจายทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม เพราะฉะนั้น ทรัพยากรที่มันไปตกอยู่ตามพื้นที่ในประเทศไทย มันไม่ได้มากพอที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนในพื้นที่ดีขึ้นได้ 

ยกตัวอย่างเช่น เราเชื่อว่าการศึกษาเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางสังคม (social mobility) ทำให้คนคนหนึ่งสามารถมีชีวิตที่ดีได้ เราก็ต้องกลับมานั่งดูด้วยว่าการศึกษาแต่ละพื้นที่มันมีคุณภาพเท่ากันไหม อย่างที่เต้ยเขียนในบันทึกกะเทยอีสาน เราจะเห็นว่าการศึกษาตรงนั้นมันก็ไม่ได้มีคุณภาพมากพอที่จะทำให้ชีวิตของคนดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นจริงๆ 

นี่เลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ว่าทำไมเต้ยต้องย้ายมากรุงเทพฯ ทำไมต้องพยายามดิ้นรน ไขว่คว้า หรือว่าสู้ยิบตาอย่างที่ทางทีม WAY ได้ถามมา จุดประสงค์ง่ายๆ คือเพื่อให้ชีวิตของเรามันดีขึ้นเท่านั้นเองค่ะ

ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ กลัวไหมว่าคนอื่นจะมารับรู้ความเจ็บปวดในชีวิตของเรา

กลัว จริงๆ เป็นคนที่กลัวคนอื่นจะมามองเห็นความอ่อนแอในชีวิตมากเลยนะ คือเพื่อนภายนอกก็ไม่ค่อยรู้ว่าเราเป็นคนที่ระทม เพื่อนเข้าใจว่าเราเป็นคนเฮฮา อยู่ด้วยแล้วตลก เพราะว่าเราไม่ค่อยกล้าที่จะโชว์ด้านเศร้าๆ โชว์ความอ่อนแอ โชว์ความเจ็บปวดให้ใครเห็น แต่หนังสือเล่มนี้มันทำให้เต้ยได้กลับไป human touch (มีปฏิสัมพันธ์) กับตัวเองมากขึ้น ได้กลับไปแตะมุมความเป็นมนุษย์ของตัวเองมากขึ้น 

เราไม่ได้เป็นคนที่มีด้านตลกและประสบความสำเร็จกับชีวิตอยู่ตลอดเวลา เราเป็นมนุษย์ทั่วไปที่มีด้านเศร้า เรามีสิ่งที่เราเองก็ก้าวข้ามไม่ได้อยู่เหมือนกัน เต้ยแค่รู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้มันควรจะเป็นหมุดหมายบางอย่างที่ทำให้เต้ยเห็นว่า คุณก็ยังเป็นมนุษย์อยู่ แล้วก็จงสู้ต่อไปในฐานะมนุษย์ ก็แค่นั้นเอง

คิดยังไงกับวาทกรรม ‘คนอีสาน โง่ จน เจ็บ’

เราไม่ได้เป็นคนโง่ จน เจ็บ เพราะว่าเราเป็นแบบนั้น แต่เราเป็นเพราะว่าสังคมมันกดทับให้เราเป็น คนอีสานไม่ได้เป็นคนโง่ เราเป็นคนที่ไม่ได้รับการศึกษาเพราะว่าการกระจายทรัพยากรมันไม่ได้ตกมาถึงคนอีสานจริงๆ เพราะฉะนั้น คำว่าโง่ จน เจ็บ มันเป็นคำพูดที่มาจากสายตาของคนอีกชนชั้นหนึ่ง มาจากคนในพื้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

อยากให้ลองไล่เลียงบริบทของภาคอีสานผ่านแง่มุมของความเป็นคนข้ามเพศ (transgender) ว่าย้อนกลับไป ณ วันที่เราเป็นเด็กจนมาถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ถ้าจะพูดเรื่องคนข้ามเพศในอีสานมันมีหลายแง่มุมมากๆ เต้ยขออนุญาตตอบเฉพาะในมุมทางสังคมก่อนนะคะ คือเวลาเราเป็นคนข้ามเพศ โดยเฉพาะในอีสานใต้ เราจะถูกกรอบกั้นด้วยลักษณะและบทบาทที่สังคมกำหนดไว้แล้วว่าคุณจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ 

ในอีสานใต้จะมีภาพจำว่า กะเทยจะต้องเป็นคนตลก แล้วก็เป็นคนที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อผู้ชายตลอดเวลา ถ้าจะทำอาชีพอะไรสักอย่างก็คงจะเป็นอาชีพเกี่ยวกับนางรำ ถ้าไม่เป็นครูนาฏศิลป์ ก็จะเป็นอาชีพให้เช่าชุด เป็นช่างแต่งหน้า 

ถามว่าเขามีพื้นที่ให้เราไหม เขามี แต่ว่าไอ้พื้นที่เหล่านั้น มันดันเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ทำให้เราใช้ศักยภาพที่มีจริงๆ ถ้ายกตัวอย่างตัวเต้ยเองเนี่ย เต้ยไม่ใช่คนแต่งหน้าเก่งเลย จนถึงวันนี้คิ้วก็ยังเขียนไม่เท่ากันเลย เต้ยไม่ได้มีความสามารถทางการแต่งหน้ามากมายเลย เพียงแต่เต้ยรู้ว่าเต้ยอยากจะทำอะไรในชีวิต แล้วเต้ยก็รู้อีกว่าในอีสานไม่ได้เปิดกว้างให้เต้ยได้ทำสิ่งนั้นได้ เต้ยก็เลยต้องมาที่นี่ ต้องพยายามหาพื้นที่ที่เป็นตัวตนของเต้ยจริงๆ 

ภาพจำแบบนี้ ทำให้คนข้ามเพศถูกกรอบกั้นให้ทำได้แค่อาชีพใดอาชีพหนึ่ง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว จริงๆ ตอนนี้ถือว่าดีขึ้นมากนะ แต่พอสังคมเริ่มมี movement อย่างในทุกวันนี้ มันก็อนุญาตให้เราเป็นตัวของตัวเอง แล้วก็มีตัวตนและแสดงความชัดเจน (visibility) ในสังคมได้มากขึ้น 

ย้อนกลับไปในอดีต ความเลวร้ายของสิ่งที่ต้องเจอผ่านบริบทของ LGBTQIA+ เป็นอย่างไร 

เต้ยว่ามันแย่มากที่สุด คือการที่คนพยายามจะพูดอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่คุณเป็นมันผิด คำว่าสิ่งที่คุณเป็นมันผิด มันน่ากลัวมากๆ เพราะถ้ามันเป็นการกระทำหรือเป็นกิจกรรมอะไรสักอย่างที่มันแย่ เราสามารถเลือกทำได้ แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเป็นมันผิด ตัวตนของคุณมันผิด คุณไม่สามารถ undo การเป็นกะเทยได้ วันนี้เป็นกะเทย พรุ่งนี้ไม่เป็นกะเทยแล้ว มันทำไม่ได้ ถูกไหมคะ 

การที่ใครสักคนต้องอยู่ในสภาวะสังคมที่ทุกคนบอกว่าอัตลักษณ์ที่คุณเป็นน่ะมันผิด เต้ยว่าการที่เขาจะเติบโตมาอย่างสวยงามมันยากมากๆ เพราะฉะนั้น เต้ยเชื่ออยู่อย่างหนึ่งนะ คนข้ามเพศในอีสานที่เป็นยุคเต้ย เติบโตมาพร้อมกับบาดแผลทุกคน 

ถ้าสมมุติว่าเขาไปไม่รอด จากสภาพปัญหาเรื่อง Mental Health เขาก็จะกลายเป็นคนที่มีกำแพงกั้นในใจมากๆ แล้วก็จะไม่พร้อมเปิดใจให้ใครได้มากขนาดนั้น ว่าคนคนนี้จะเข้ามาแล้วไม่ทำร้ายเขา จะเข้ามาแล้วไม่เอาผลประโยชน์บางอย่างจากเขาไป

ส่วนตัวของเต้ย คิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้บริบทสังคมอีสานเป็นเช่นนี้

เต้ยคิดว่ามันเป็นเรื่องของความพยายามทำความเข้าใจสิ่งแปลกใหม่ของมนุษย์ คือต้องย้อนกลับไปในยุคที่มนุษย์ยังเป็นมนุษย์ถ้ำ การรับรู้ของมนุษย์ถูกโปรแกรมไว้แค่ 2 แบบ คือ สิ่งไหนปลอดภัยกับชีวิต กับสิ่งไหนที่ไม่ปลอดภัยกับชีวิต 

คิดง่ายๆ ถ้าเราเป็นมนุษย์ถ้ำแล้วเราไปเห็นดอกไม้ว่ามันสวยมันหอม แล้วเราก็เข้าไปดมดอกไม้ แล้ววันหนึ่ง ณ ขณะนั้นเสือโคร่งเดินเข้ามา คุณคิดว่าคุณจะดมดอกไม้นั้นต่อหรือคุณจะวิ่งหนีเสือโคร่ง คุณก็ต้องวิ่งหนีเสือโคร่งแน่นอน เพราะต่อให้สมองคุณเห็นว่าดอกไม้นั้นหอมและปลอดภัยกับชีวิต แต่คุณก็รู้ว่าเสือโคร่งตัวนี้เป็นสิ่งที่ไม่ปล อดภัยกับชีวิตคุณ ถ้าคุณอยู่กับมันไปเรื่อยๆ คุณมีสิทธิ์ที่จะโดนตะครุบหัว คุณมีสิทธิ์ที่จะเสี่ยงชีวิตจากการที่คุณอยู่กับเสือโคร่งตัวนั้น 

ถ้าพูดถึงคนข้ามเพศ (transgender people) มองง่ายๆ ว่า พอคนคนหนึ่งเกิดมาในเพศเพศหนึ่ง โดยที่เขารู้ตัวว่าไม่ใช่เพศนั้น แล้วพยายามจะใช้ชีวิตในวิถีเพศที่เขาเป็น แต่คนอื่นไม่เข้าใจ เพราะไม่คุ้นชิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาก็จะพยายามผลักให้คนคนนั้นอยู่ในหมวดหมู่ (category) ที่มันไม่ปลอดภัยต่อชีวิต มันก็เลยทำให้คนข้ามเพศถูกมองว่าเป็นภัยร้าย แล้วทำให้คนในสังคมไม่สามารถที่จะยอมรับเขาในฐานะมนุษย์ด้วยกันได้ 

บางคนอาจมองว่า คนที่เป็น LGBTQIA+ เป็นคนที่มีกรรมมาแต่ชาติปางก่อน รู้สึกยังไงกับประโยคนี้

ต้องขอเล่าให้ฟังก่อนว่า จริงๆ ตัวเองเป็นคนอินกับเรื่องจิตวิญญาณมาตั้งแต่เด็กแล้ว เต้ยเรียนคณะอักษร จุฬาฯ เรียนเอกอังกฤษ โทปรัชญา เพราะรู้สึกว่าเต้ยอินกับเรื่องนี้ แล้วก็อยากศึกษาให้มันลึกซึ้งมากขึ้น 

สมัยเด็กๆ เราเคยเข้าไปในวัดและเป็นวัดที่ใหญ่มากๆ ด้วยนะ ตอนนั้นเรายังไม่ได้แสดงออกให้โลกรู้ว่าเราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ เขาก็สอนเราว่าการเป็นกะเทยคือบาปหนักที่สุด เพราะว่ารับความเป็นหญิงมา แต่ถ้าสมมุติว่าเป็นเกย์ที่ไม่สาว ถือว่าไม่บาปมาก ถ้าเป็นเกย์ที่สาวก็บาป แต่ที่แปลกที่สุดก็คือกะเทย เพราะรับเอาความเป็นสาวมามากที่สุด พูดง่ายๆ คืออะไรที่ยิ่งสาวก็ยิ่งแย่ 

วิธีคิดแบบนี้สะท้อนวิธีคิดที่เกลียดกลัวความเป็นหญิง กลัวเฟมินิสต์ (Feminist) เห็นว่าเพศหญิงเป็นภัยอันตรายในสังคม ถามว่ารู้สึกยังไงกับการที่พระพุทธศาสนาพูดอย่างนั้น อย่างแรกสุดคือคงไม่มีใครชอบใจอยู่แล้วที่ใครสักคนจะมาแปะป้ายว่าเราเป็นภัยอันตราย เพราะเราก็รู้ตัวเองว่าเราไม่ได้ทำอะไรใคร แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนความคิดความเชื่อของใครได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้แน่ๆ คือ พยายามเรียกร้องให้แก้ตัวบทกฎหมายให้ได้ ไม่ว่าคุณจะมีความเชื่อแบบไหน หรือมองว่าเราเป็นภัยอันตรายขนาดไหน อย่างน้อยที่สุดตัวกฎหมายที่กางกั้นตัวนั้นจะต้องประกันสิทธิความเป็นมนุษย์ให้เท่ากับทุกคนในสังคม 

เพราะว่าถ้าไม่มีตัวกฎหมายนี้ สักวันหนึ่งคนที่มองว่าเราอันตรายก็ต้องพยายามที่จะทำร้ายเรา พยายามที่จะผลักเราออกไปอยู่ดี เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่เต้ยพยายามเรียกร้องอย่างที่สุด เพื่อให้กฎหมายเอื้อประโยชน์กับ LGBTQIA+ เท่าเทียมกับผู้หญิง เท่าเทียมกับผู้ชาย

คิดว่าการเป็นสังคมพุทธมีผลต่อ mindset ของคนไหม

มีผลมากๆ ต่อให้เราเชื่อว่าเราไม่ได้ยึดโยงกับศาสนา อย่างง่ายที่สุดเข้าร้านสะดวกซื้อในวันพระ เราซื้อเหล้าไม่ได้แน่ๆ ถูกไหม เพราะเขาไม่ขายเหล้าในวันพระใหญ่ 

คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยเข้าใจว่าเราเป็นเมืองพุทธ เพราะจะมีคำพูดว่า ‘ไทยเป็นเมืองพุทธ’ แม้แต่ รพินทรนาถ ฐากูร ผู้นำทางจิตวิญญาณของอินเดียที่เชี่ยวชาญทางด้านศาสนาพุทธมากๆ เวลาเขามาเมืองไทย เขาก็จะพูดว่าเมืองไทยเป็นสายธารของพุทธศาสนา แม้แต่โลกข้างนอกก็มองอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะไม่ยินยอมกับพุทธศาสนาเลยคงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ

สิ่งที่คุณจะต้องถามตัวเองคือ การที่คุณยึดโยงอยู่กับศาสนาหนึ่ง มันไปทำร้ายความเป็นมนุษย์ของใครอีกคนหรือเปล่า ที่เต้ยพูดไม่ได้จะบอกว่าให้ทุกคนเลิกนับถือพุทธศาสนา แต่อยากให้ลองกลับมาคิดดูว่าในบริบทที่ศาสนาหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่ากี่พันปีมาแล้ว ถ้าสมมุติว่าการตีความคำสอนนั้นๆ มันกำลังทำร้ายคนกลุ่มหนึ่งหรือว่าทำร้ายใครสักคนหนึ่ง คุณควรจะต้องกลับมานั่งดูแล้วว่าจะยังยึดโยงอยู่กับสิ่งนั้นหรือจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน โดยที่ทุกคนยังสามารถเป็นมนุษย์และใช้ชีวิตร่วมกันได้

เมื่อสังคมที่อีสานบ้านเกิด ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับคุณ อะไรเป็นสิ่งที่พอจะบรรเทาความเจ็บปวดได้บ้าง

หนังสือ… เต้ยเป็นคนบ้าเรียน แล้วก็เป็นคนบ้างาน เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือมากๆ ตั้งแต่เด็ก ซึ่งฟังแล้วดูดีมากเลย แต่พอโตขึ้นมาเราไปอ่านเจอคำพูดหนึ่งว่า “การบ้างานคือสัญลักษณ์ของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในอดีต” เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราเรียนไม่เก่ง ถ้าทำงานไม่ดี เราจะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม คนข้ามเพศหลายคนเป็นอย่างนี้เพราะไม่ได้ถูกยอมรับมาตั้งแต่ต้น มันมีคำพูดมาตลอดว่า “อ๋อ เป็นกะเทยเหรอ เขาทำงานเก่ง เขาพูดเก่ง คนพวกนี้ทำงานเก่งเต็มไปหมด” แต่คุณอย่าลืม มันก็มีกะเทยที่ทำงานไม่เก่ง มีกะเทยเรียนไม่ดี มีกะเทยที่ทำงานกลางๆ แล้วก็มีกะเทยที่ไม่ได้ครีเอทีฟอยู่บนโลกนี้เต็มไปหมด

การที่คุณพูดอย่างนี้ แปลว่าคุณไม่ได้ให้พื้นที่กับเขา หมายความว่า คนเหล่านี้จะถูกกดทับด้วยความเชื่อเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาต้องพยายามเรียนให้เก่ง พยายามที่จะทำงานให้ดีอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แต่พอกลับมาดูตัวเต้ยเอง แม้แต่หนังสือที่เป็นคอมฟอร์ตโซนในชีวิต เต้ยก็คิดนะ ถ้าจะต้องอ่านหนังสืออยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะประคองความคิดว่า “อ้อ วันพรุ่งนี้มันจะดีกว่า” เพื่อให้ทุกคนยอมรับเราได้ มันก็เป็นสิ่งที่น่าเจ็บปวดอยู่มากๆ เหมือนกันนะ

ในหนังสือของคุณ เราเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ตลกร้าย’ สอดแทรกอยู่ ถ้าให้หยิบมาสักเรื่องหนึ่ง คิดว่าเรื่องไหนเลวร้ายที่สุด

เต้ยว่ามันคือความประจวบเหมาะของเนื้อหาในชีวิต สังเกตไหมว่าเรื่องทุกเรื่องทุกวันนี้มันคือ Chain of events คือสิ่งที่มันต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ต้น สมมุติว่าเต้ยไม่ได้เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดีมาก ถ้าไปเกิดในกรุงเทพฯ ชีวิตของเต้ยมันจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยนะ ถ้าไม่ได้เกิดมาเป็นคนข้ามเพศ ชีวิตก็จะไม่ได้เป็นแบบนี้

แต่การที่เราต้องมาอยู่ในสังคมที่การศึกษามันเข้าไม่ถึง และเราดันมากลายเป็นเด็กที่ชอบเรียน กลายเป็นเด็กที่ไม่ได้อินในพื้นที่ สุดท้ายมันแปลว่าคุณอยู่พื้นที่นั้นไม่ได้ ถ้าคุณต้องการจะค้นหาตัวตนจริงๆ ก็จะไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นได้ ตรงนี้แหละคือความตลกร้าย คุณต้องเลือก สุดท้ายแล้ว คุณจะอยู่ในพื้นที่ที่คุณคิดว่ามันดีกับคุณ หรือว่าคุณจะไปอยู่ในพื้นที่ที่คุณก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นตายร้ายดียังไง แต่คุณจะได้เป็นตัวของตัวเองอย่างถึงที่สุดจริงๆ 

ที่บ้านอยากให้เป็นข้าราชการไหม

เขาอยากให้เป็นแน่นอน แต่ทีนี้เราต้องกลับมาถามอีกว่า แล้วทำไมเขาถึงอยากให้เป็น คำตอบง่ายๆ เลยคือ มันมีสวัสดิการรองรับ คำถามถัดมาก็คือ แล้วทำไมสวัสดิการถึงรองรับเฉพาะคนที่เป็นข้าราชการ ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีสวัสดิการรองรับสำหรับคนทุกๆ คน เพราะไม่ใช่แค่ข้าราชการเท่านั้นที่จ่ายภาษี เราทุกคนจ่ายภาษีให้กับประเทศ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้น สวัสดิการที่ได้มาก็ควรจะรองรับทุกคนเท่ากัน 

คิดว่าครอบครัวทำถูกไหมที่อยากให้ลูกเข้ารับราชการ 

เขาไม่ได้ทำผิด เขาแค่หาทางรอด เต้ยอยากให้ฟังคำนี้ไว้ ทุกๆ คนไม่มีใครทำผิด ทุกๆ คนแค่เป็นเหยื่อของความคาดหวังบางอย่างของสังคมเท่านั้นเอง การที่พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นข้าราชการ เขาก็แค่พยายามหนีตายจากการที่ประเทศไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ มันไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย 

แต่เขาไม่ได้รู้ว่าบางทีลูกก็ไม่ได้หนีรอด คือลูกก็มีชีวิตแหละ แต่มัน dead inside ตายอยู่ข้างใน เพราะเราต่างก็รู้กันดีว่าการเป็นข้าราชการมันก็มีอะไรที่เน่าเฟะอยู่ข้างใน ระบบการทำงานบางอย่างเราก็พอจะรู้กันอยู่ ว่าอะไรทำได้และอะไรทำไม่ได้

การที่ ส.ส. คนหนึ่ง พูดว่าการเป็น LGBTQIA+ เป็นวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิต มันเป็นธรรมชาติ คิดยังไงกับคำพูดนี้

คำพูดนี้เป็นคำพูดที่น่ากลัว เวลาเราพูดคำว่าธรรมชาติ เคลมคำว่าธรรมชาติ ถ้าย้อนกลับไปดูดีๆ จะรู้ว่าไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติ ธรรมชาติในความเข้าใจของมนุษย์เองก็เป็นสิ่งที่ถูกมนุษย์สร้างขึ้นมา ถูกมนุษย์ปรุงขึ้นอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน และคำที่พูดว่าวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิตก็น่ากลัวมากเหมือนกัน เพราะว่าเวลาคนจะเคลมคำว่าวิทยาศาสตร์ นั่นหมายความว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ แต่คุณอย่าลืมนะ ทุกครั้งที่คุณพูดว่ามีสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ นั่นหมายความว่าคุณกำลังตัดความเป็นไปได้ของสิ่งที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์อยู่

มันมีเรื่องที่อยู่ในเฉดของ gender study อยู่ในเฉดของเพศภาวะศึกษาอีกหลายเรื่องมากๆ ที่วิทยาศาสตร์ยังไปไม่ถึง และเราไม่สามารถที่จะตัดความเป็นไปได้นี้ออกได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันมีอยู่จริง เพียงแต่เขาไม่ได้เห็นกระบวนการเบื้องหลัง เขาแค่ยังไม่ได้เห็นผลลัพธ์ตรงหน้า 

เพราะฉะนั้น เวลาพูดว่าวิทยาศาสตร์ที่มีชีวิต ธรรมชาติที่จับต้องได้ คุณต้องอย่าลืมว่าเพศไม่ใช่สิ่งที่ตาจับต้องได้เสมอไป มันก็พูดให้ดูสวยได้ พูดเอาเท่ได้ พูดให้ย่อยง่ายได้ แต่ทุกครั้งที่มีการพูดอะไรแบบนี้ออกมา คุณจะต้องยอมรับผลที่ตามมาด้วย

คิดว่าภาคอีสานในปัจจุบันก้าวข้ามมายาคติเกี่ยวกับ LGBTQIA+ แล้วหรือยัง

เรายังไม่ก้าวข้ามหรอก ต่อให้เวลาผ่านไปอีกสัก 10 ปี เต้ยว่าเราก็ยังไม่ก้าวข้าม เพราะเรายังจัดประเภทคนอยู่อย่างนี้ พยายามที่จะผลักคนกลุ่มหนึ่งให้เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งการดึงคนเหล่านั้นให้เป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘สเตอริโอไทป์’ (stereotype) หรือการเหมารวม 

เวลาเราเหมารวมอะไรสักอย่าง เราต้องยอมรับว่ามันไม่ได้มีคนที่อยากอยู่ในกลุ่มของการเหมารวมนั้นแน่ๆ แล้วพอคนนั้นไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวังไว้ คนเหล่านั้นก็จะถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนแปลก เป็น the other เป็นแค่คนนอก เป็น outsider เท่านั้น เต้ยมองว่าถ้าสังคมยังไม่สามารถขจัดเรื่องเหล่านี้ออกไปได้ วัฒนธรรมที่สร้างความเจ็บปวดให้กับ LGBTQIA+ ก็จะยังคงมีต่อไปเรื่อยๆ

จุดหนึ่งเต้ยไม่ได้อยากให้คนมองว่า LGBTQIA+ เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ อยากให้ สามารถที่จะมองผ่านมันไปได้ สามารถเอาประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนเหล่านี้มาเรียนรู้ได้ เต้ยไม่อยากให้หยิบเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นสรณะของชีวิต แล้วก็ไม่ได้อยากให้รู้สึกว่า อ๋อ เพราะว่า LGBTQIA+ เป็นอย่างนั้นมันก็เลยต้องเป็นอย่างนี้ เราก็เลยต้อง treat เขาต่างออกไปอีกแบบ ทั้งที่จริงแล้วเราอยากให้มองในฐานะมนุษย์ที่เท่ากัน แค่นั้นเอง

พูดได้ไหมว่าในอีสานมีพื้นที่เปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQIA+ เพิ่มมากขึ้นมากๆ

มีค่ะ อันนี้เป็นข้อดีมากๆ เลยนะ ต้องยกเครดิตให้กับคนทำงานทุกๆ คนเลย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือภาคเอกชนที่พยายามจะผลักดันเรื่องนี้ จริงๆ ตอนนี้ไม่ใช่แค่ภาคอีสานนะ แต่ทุกๆ ภาคเลย ถ้าเราจะโฟกัสตรงภาคอีสานจริงๆ อยากให้มาดู movement ที่เกิดขึ้น ชัดเจนมากๆ อย่างกรณี Pride Month อุดรก็มี Pride ศรีสะเกษก็มี Pride บุรีรัมย์ก็มี Pride สุรินทร์ก็มี Pride ม.อุบล ก็จัด Pride อีก 

เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตว่าการมี Pride แบบนี้ บางคนอาจจะมองว่ามันเป็นแฟชั่นที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ต้องอย่าลืมนะว่า แฟชั่นพวกนี้มันทำให้สังคมมองเห็นว่าคนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นจะต้องหลบซ่อนอีกต่อไป ทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้เป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับคนทั่วไป 

มีปัจจัยอื่นอีกไหมที่ทำให้ภาคอีสานเริ่มมีพื้นที่ในการแสดงออกมากขึ้น

เต้ยคิดว่าสาเหตุเป็นเพราะว่าภาคอีสานมันแร้นแค้น พอเราแร้นแค้น เราเลยพยายามที่จะมีอะไรบางอย่างมาชดเชยความแร้นแค้นนั้น ซึ่งมักจะออกมาในรูปของ entertainment เพราะฉะนั้น สังเกตในภาคอีสานจะเต็มไปด้วย ‘การเต้นหน้าฮ้าน’ หรือหมอลำ มันคือแฟนตาซีบางอย่าง เนื่องจากเราไม่สามารถที่จะเป็นสิ่งเดียวกันกับตัวตนของเราในโลกของความเป็นจริงได้จริงๆ 

ถ้าสมมุติว่ากลับไปอ่าน paper ของพี่พรเทพ (พรเทพ แพรขาว) ถ้าจำไม่ผิด พี่เขาทำเรื่องเกย์หรือกะเทยที่ออกมาเต้นหน้าฮ้าน เพราะเขาสามารถที่จะมีพื้นที่ สามารถพบปะกับคนที่เป็นแบบเดียวกับเขาได้ ในขณะที่เขาไม่สามารถที่จะไปเป็นเกย์หรือเป็นกะเทยได้ในโลกของความเป็นจริง 

ถ้าเรากลับมามองว่าอีสานมัน allow ให้มี entertainment เหล่านี้มากขึ้น มันแปลว่าคนที่เป็นกะเทยก็สามารถออกมาได้เต็มไปหมด ซึ่งเป็นเรื่องดี ลองไปเสิร์ชคำว่ากะเทยใน YouTube ก็ได้ เราจะพบคำว่ากะเทยหน้าฮ้านเต็มไปหมดเลย ถ้าใช้คีย์เวิร์ดคำว่ากะเทยหน้าฮ้าน จะเห็นว่ามีคนเอามาทำเป็นเพลงเยอะมากเลยนะคะ จากวัฒนธรรมที่เป็น subculture วัฒนธรรมที่ไม่ได้เป็น mainstream ทุกวันนี้มันกลายมาเป็นวัฒนธรรมที่คนเริ่มอิน แล้วก็เริ่มที่จะ enjoy ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่ในกระแสหลักหรือไม่ก็ตาม

วัฒนธรรมหน้าฮ้าน ถือว่าเป็น Pop culture อีกแบบหนึ่งได้ไหม แล้วการที่เขาเอามาทำแบบนี้มันสามารถเป็นสัญลักษณ์ของพวกเขาได้ไหม

ไม่แน่ใจว่าเป็นสัญลักษณ์ได้ไหม แต่ว่ามันมีนัยสำคัญบางอย่างที่น่าสนใจคือ การร้องรำทำเพลงมันอนุญาตให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถเป็นตัวของตัวเอง ในขณะที่เขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองในสังคมได้ นั่นหมายความว่า พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่ปราศจากความเกลียดกลัว เป็นพื้นที่ที่ปราศจากการตีตรากัน 

ถ้าสมมุติว่า คุณเป็นอาแปะในร้านชำสักร้านหนึ่ง โดยที่คนอื่นไม่รู้ว่าคุณเป็นอะไร แล้วจู่ๆ ในตอนเช้าคุณลุกขึ้นมาแต่งหญิง คนจะต้องตีตราคุณแน่ๆ ในขณะเดียวกัน ถ้าตอนเย็นคุณเริ่มแต่งหน้าแต่งตัวออกไปเต้น คนจะไม่มานั่งตีตราแล้วนะ เพราะว่าคนมันออกไปเต้นหน้าฮ้านอยู่แล้ว ทุกคนแต่งตัวเวอร์ เสน่ห์ของหน้าฮ้านคือการที่ทุกคนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวตนออกมาโดยที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น

ในอนาคต คาดหวังถึงเสรีภาพในเรื่องเพศและในการแสดงออกทั้งในบริบทพื้นที่ภาคอีสานและสังคมอย่างไรบ้าง

คาดหวังให้มันสามารถเป็นไปได้มากที่สุดนะ อยากให้กฎหมายทุกตัวมันผ่านสักที กฎหมายสมรสเท่าเทียมมันควรจะผ่านได้แล้ว กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศก็ควรได้ใช้เหมือนกัน ส่วนตัวเต้ยคิดว่ากฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศยากกว่าสมรสเท่าเทียมด้วยซ้ำ คนอาจจะงงว่ากฎหมายนี้คืออะไร พูดง่ายๆ มันคือกฎหมายเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ คนอาจจะมองว่า เฮ้ย ถ้ากะเทยไปใช้นางสาว จะไปหลอกผู้ชายหรือเปล่า ซึ่งเอาจริงๆ อย่าลืมนะว่าสังคมไทยเราโตมากับกะเทย สมมุติว่ากะเทยคนหนึ่งหลอกคู่ของเขาว่าเป็นผู้หญิงตรงเพศ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็เกิดเฉพาะในคู่ของเขา มันไม่ใช่ว่ากะเทยทุกคนจะไปหลอกแบบนั้น 

เพราะฉะนั้นการอ้างแบบนี้มันควรจะถูกปัดตกไปได้แล้ว หวังว่าในอนาคตกฎหมายทุกตัวที่เราพยายามจะผลักดันในเรื่องเพศมันจะไปต่อได้ และควรจะไฟเขียวทั้งหมด ไม่ใช่แค่สมรสเท่าเทียม หรือแม้แต่กฎหมายที่ให้การรับรองให้คนข้ามเพศได้รับสวัสดิการของรัฐก็ควรได้รับการรับรองได้ด้วยเหมือนกัน 

กฎหมายตัวนี้เป็นงานที่เต้ยทำวิจัยเลยนะคะ การที่คนข้ามเพศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการข้ามเพศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮอร์โมน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการผ่าตัดหน้าอก หรือการผ่าตัดเพื่อรับรองเพศ เต้ยมองว่าถ้าคนข้ามเพศต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนี้ไปเยอะๆ จุดสตาร์ตของชีวิตของเขาก็จะไม่เท่ากับคนตรงเพศนะ คิดง่ายๆ ที่สุดอย่างตัวเต้ยเองเพิ่งเรียนจบมาได้ 2 ปี สิ่งที่เต้ยต้องทำคือเต้ยต้องเซฟเงินเก็บไว้ประมาณเกือบ 2 ล้าน เพื่อที่จะทำให้ร่างกายตัวเองมันเป็นผู้หญิงในแบบที่เต้ยเป็นจริงๆ 

เพราะฉะนั้นมันหมายความว่า ในขณะที่ผู้หญิงตรงเพศ ผู้ชายตรงเพศ สามารถที่จะเอาเงิน 2 ล้านนั้นไป kick start กับชีวิตเขาได้ เอาไปสร้างบ้าน เอาไปแต่งเมีย เอาไปซื้อรถ แล้วทำให้ชีวิตของเขามันดีขึ้นได้ แต่เต้ยต้องเอา 2 ล้านตรงนั้นมาจัดการกับร่างกายเต้ยให้มันจบก่อน แล้วมันทำให้จุดสตาร์ตในชีวิตเต้ยมันช้ามากขึ้น ตรงนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของสังคมหมดเลยนะที่ทำให้โอกาสของคนข้ามเพศที่จะงอกเงยในชีวิตมีน้อยลง 

อย่างที่บอกไปค่ะ ถ้ากฎหมายสามารถที่จะทำให้กลุ่มคนข้ามเพศ รวมถึงตัวอักษรอื่นใน LGBTQIA+ มีคุณภาพชีวิตที่เท่าเทียมกับคนทั่วไปได้ เมื่อถึงเวลานั้น เราจึงจะสามารถเรียกได้จริงๆ ว่าคนกลุ่มนี้เป็นมนุษย์เท่าเทียมกับเรา

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เต้ยในตอนนี้อยากจะบอกอะไรกับ ‘เต้ยโศก’

อย่างแรกที่จะกลับไปบอกกับเด็กคนนั้นนะ ชีวิตนี้จะต้องเจออะไรอีกมาก แล้วจะเจอหนักกว่าตอนเป็นเด็กอีก เต้ยคิดว่าการที่เต้ยพูดถึงเต้ยโศกคนนั้น เต้ยอยากพูดให้มันกว้าง เพื่อให้ไปถึงคนที่เป็นเยาวชนข้ามเพศ (transgender youth) ทุกๆ คน ให้อย่าเพิ่งถอดใจในการมีชีวิตวันนี้ แค่อีกนิดเท่านั้น ชีวิตมันจะต้องดีขึ้นได้แน่ๆ คุณไม่สามารถเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคนได้ เป็นแค่คนในแบบที่คุณพอใจก็พอ สมัยก่อนเต้ยเป็นคนที่อยากจะ treat ทุกคนมากๆ แต่ทำไม่ได้หรอก แล้วก็ไม่มีใครทำแบบนั้นได้ด้วย เต้ยก็เลยอยากให้เต้ยโศกที่เป็นนักสู้ เป็นแค่คนที่เขาพอใจ ก็โอเคแล้ว

ถ้าจะให้ฝากถึงเยาวชนรุ่นต่อไปที่จะต้องเผชิญกับสังคมแบบนี้ เราอยากจะบอกอะไรกับพวกเขา

โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน อย่าไป treat ทุกคนเป็นคนแบบที่คุณพอใจ คุณไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเกย์หรือเป็นกะเทยถึงจะเรียนดี ไม่ต้อง ถ้าคุณอยากเรียนดี คุณก็ไปเรียนดี ถ้าสมมุติคุณไม่อยากเรียน คุณไม่เรียนก็ได้นะ แต่ว่าคุณจะต้องเอาชีวิตคุณให้รอด คุณไม่จำเป็นจะต้องเป็นกะเทยแล้วถึงจะได้เป็นเซลล์ที่มียอดขายสูงสุดในบริษัทก็ได้ แต่ว่าถึงจุดหนึ่งคุณก็จะต้องเข้าใจให้ได้เหมือนกันว่า เพศมันไม่ได้ยึดโยงกับคนที่คุณจะเป็นในอนาคต เพราะฉะนั้นเยาวชนตอนนี้ที่เป็น LGBTQIA+ ขอให้สู้อีกนิดนึง รู้ว่าโลกมันโหดร้ายกับเรา แต่อย่าไปไหลตามโลกค่ะ อยู่อย่างที่เราเป็น แล้วก็ Enjoy ชีวิตไปให้ได้ทุกวันนะ

คำถามสุดท้าย อะไรคือความมุ่งหวังสูงสุดของหนังสือเล่มนี้ที่มีต่อตัวเองและคนอื่น 

เต้ยอยากให้เห็นว่า เต้ยพยายามแค่ไหนกว่าจะมาเป็นเต้ยในทุกวันนี้ อยากให้เต้ยสามารถภูมิใจกับความเป็นตัวของตัวเองได้จริงๆ อันนี้คือความมุ่งหวังสูงสุดเลย 

ถ้าเป็นความมุ่งหวังสำหรับคนอื่น ก็อยากให้ทุกคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้มี empathy (ความเห็นอกเห็นใจ) เพราะเพื่อนมนุษย์ควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง คนที่คุณเห็นว่าเป็นคนข้ามเพศที่เขาตลกอยู่ตลอดเวลา หรือว่าคนที่มาจากภาคอีสานที่คนคิดว่าเขาเป็นคนโง่ จน เจ็บ อยู่ตลอดเวลา ถ้าคุณไม่ได้ไปสัมผัส background ของเขาจริงๆ คุณจะไม่มีทางรู้ได้เลยนะว่าอะไรมันหล่อหลอมแล้วก็สร้างตัวตนให้เขาเป็นแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะไปตัดสินใคร ควรพิจารณาคนเหล่านั้นด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจก่อน แค่นั้นเลย 

ถ้าสมมุติว่าหนังสือเล่มนี้จะทำให้ใครสักคนมีความเห็นอกเห็นใจได้ เต้ยคิดว่าเต้ยประสบความสำเร็จแล้ว

Author

มนสิรา กาหลง
ใช้ชีวิตอยู่ปัตตานีจนจบ ม.ปลาย แล้วจึงย้ายถิ่นฐานเพื่อมาเรียนวารสารฯ ธรรมศาสตร์ วัยเด็กโตมากับทีวี รักการดูโฆษณา ปัจจุบันหันมาสนใจงานเขียน งานข่าว ขับเคลื่อนชีวิตด้วยน้ำชง เพลงเเจ๊ส และแมว มุ่งหวังที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆ กับการเอาชีวิต(ให้)รอดในโลกทุนนิยม

Photographer

รัตนพล ทิพย์มะณี
หอบ Portfolio ไปสัมภาษณ์งานที่ร้านลาบ ย้ายข้ามฟากจากวิภาวดีมาอยู่ที่อ่อนนุช เป็น video creator ที่เขียนงานได้ ทำกาแฟเป็น ว่างจากจับเมาส์จ้องหน้าจอก็จดจ่อกับครกสากที่ห้องครัว ฝีมือทำอาหารเป็นเลิศ แต่ที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติคือการใช้ลูกคอเพลงหมอลำ ร้องดีจนพี่น้องในกองบรรณาธิการยอมอุทิศไมโครโฟนให้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า