การเมืองเรื่อง Drag ม็อบตุ้งติ้ง ความฟรุ้งฟริ้งของ ‘ไข่นุ้ย’

ในช่วงระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่กระแสการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยถูกจุดติดเป็นคลื่นแห่งการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรม หนึ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่พูดถึงอย่างไม่ขาดสายคือการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศ

การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ สิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน การรณรงค์ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ข้อเสนอเรื่อง ‘สวัสดิการฟรีผ้าอนามัย’ การเปิดเผยความรุนแรงและการคุกคามทางเพศ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เปิดแผลสดที่รัฐไทยปิดซ่อนมาช้านาน แต่นั่นก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการต่อสู้เรื่องเพศที่เกิดขึ้นในม็อบปลดแอก

เมื่อ ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ โดยกลุ่ม ‘เสรีเทยพลัส’ จัดขึ้นครั้งแรกในช่วงเดือนกรกฎาคม เราจะสังเกตเห็นว่าเฉดสีของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่เพียงสีดำที่ดูดุดัน แต่ปรากฏโทนอื่นๆ ที่แตกต่างหลากหลายและช่วยให้การชุมนุมสนุกสนานและครึกครื้นมากขึ้น

หนึ่งในสีสันที่จัดจ้านชัดเจนคือการแต่งแดร็กควีน (Drag Queen) ของผู้ร่วมชุมนุมหลายคน ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในบ้านเราและถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านสอบทานประวัติศาสตร์การเมืองเรื่องแดร็กที่แทรกซึมอยู่ในเครื่องสำอาง เสื้อผ้า เรือนร่าง หรือแม้กระทั่งเสียงหัวเราะของผู้ที่ผ่านมาเห็น เพื่อทำความเข้าใจมิติที่ซับซ้อนของแดร็กในที่ชุมนุม

การเมืองเรื่องแดร็กควีน: การเล่นล้อที่ไม่ได้ล้อเล่น

คำว่า ‘แดร็ก’ ไม่ปรากฏที่มาแน่ชัด บางแหล่งข้อมูลอ้างอิงว่าถูกใช้ในวงละครของ วิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ในช่วงศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นตัวย่อของประโยคเต็มที่ว่า ‘dressed as a girl’ บางแหล่งข้อมูลอธิบายคำว่า ‘แดร็ก’ ว่าถูกคิดขึ้นในปี 1870 หมายถึงนักแสดงละครเวทีผู้ชายที่แต่งกายแบบสาวยุควิคทอเรียน แต่ในเชิงปฏิบัติ นักแสดงชายสวมบทบาทและแต่งกายเป็นตัวละครหญิงมีมาตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาลในช่วงอารยธรรมกรีก เนื่องจากผู้หญิงถูกกีดกันและไร้ที่ทางในวงการการละคร

เช่นเดียวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการแสดงละครของเชคสเปียร์ เด็กหนุ่มมักจะรับบทบาทเป็นตัวละครผู้หญิง แต่เรื่องก็ไม่ได้เรียบง่ายแบบนั้น เพราะในละครบางเรื่องของเชคสเปียร์ เช่น The Merchant of Venice และ As You Like It ผู้ประพันธ์สร้างตัวละครผู้หญิงที่แต่งกายเป็นผู้ชาย ซี่งทวีความสับสนมึนงงในมิติเรื่องเพศให้แก่ผู้ชมละครยิ่งขึ้นไปอีก ลักษณะข้ามเพศของตัวละครไม่ได้มีเจตนาตอบสนองความขำขันตามขนบบทละครคอมเมดี้ แต่แฝงนัยยะของการท้าทายข้อจำกัดเรื่องเพศและปรารถนาให้ตัวละครหญิงของเขามีเสรีในการคิด พูด ลงมือทำมากขึ้นในบริบทสังคมที่ความเป็นหญิงในอุดมคติมีข้อจำกัดในชีวิตจริงมากมายเหลือเกิน

Rosalind, Oliver and Celia (Shakespeare, As You Like It, Act 4, Scene 6)

แต่หลักจากนั้นไม่นาน ผู้หญิงก็เริ่มมีพื้นที่ในแวดวงละคร แดร็กจึงเสื่อมความสำคัญและค่อยๆ เลือนหายไปจากละครเวทีกระแสหลัก แต่ยังคงปรากฏอยู่ในละครเวทีตลกขบขันที่มักใช้นักแสดงชายสูงวัยแต่งตัวเป็นผู้หญิงเพื่อรับบทเป็นแม่เลี้ยงใจร้ายหรือนางฟ้าใจดีสร้างสีสันให้แก่ละครเรื่องนั้นๆ

ในศตวรรษที่ 18 ละครเวทีที่เป็นที่นิยมมากในยุโรปเรื่องหนึ่งคือเรื่อง Le Mariage de Figaro หรือ งานวิวาห์ของฟิกาโร ประพันธ์โดย ‘โบมาร์เชส์’ (Pierre-Augustin Caron de Beaumarchais) นักเขียนชาวฝรั่งเศส งานวิวาห์ของฟิกาโร สร้างตัวละครชายแต่งกายเป็นผู้หญิงในฉากที่เขาร่วมมือกับภรรยาของท่านเคานท์และสาวใช้ที่ท่านเคานท์หวังจะหลับนอนด้วย เพื่อหลอกล่อท่านเคานท์ให้ตกหลุมเพื่อเปิดโปงความชั่วร้ายในการใช้อำนาจมิชอบ ท่านเคานท์ประสงค์จะนำกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วหลายปีกลับมาใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ซึ่งนำมาสู่ความเดือดเนื้อร้อนใจของไพร่พล

ฉากการเปลี่ยนเสื้อผ้าของตัวละครในเรื่อง งานวิวาห์ของฟิกาโร สร้างเสียงหัวเราะจนกลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชม ปรัชญาที่แฝงอยู่เบื้องหลังเสื้อผ้าซึ่งมีหน้าที่กำกับเพศและชนชั้นของตัวละครสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่กำหนดโดยชาติกำเนิดเป็นเพียงมายาที่ถูกสร้างขึ้นและสวนทางกับ ‘เนื้อแท้’ ของความเป็นมนุษย์ที่เชื่อว่าเราทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกัน เสียงหัวเราะของผู้ชมละครในบริบทสังคมที่ทุกข์ยากลำเค็ญจากการกดขี่ของผู้ปกครองคงไม่ใช่สัญญาณแห่งความสุข แต่เป็นเสียงหัวเราะแห่งความขมขื่นและโกรธเคือง เพราะปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เกิดขึ้นหลังจากที่บทละครเรื่องนี้จัดแสดงเพียงไม่กี่ปี

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คำว่า ‘แดร็ก’ เริ่มแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเควียร์ (Queer) ในปี 1880 ‘วิลเลียม ดอร์ซีย์ สวอน’ (William Dorsey Swann) นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกันชาวอเมริกันผู้นิยามตัวเองว่าเป็น ‘ราชินีแห่งแดร็ก’ จัดงานเลี้ยงในธีมแดร็ก ผู้มาเข้าร่วมล้วนแล้วแต่เป็นคนรักเพศเดียวกันผิวสีที่เคยอยู่ในสถานะทาสเช่นเดียวกับสวอน จนแล้วจนเล่าสวอนถูกตัดสินจำคุก 10 เดือนเนื่องจากรัฐไม่อนุญาตให้มีการจัดงานเลี้ยงลักษณะนี้ และแม้ว่าเขาจะพยายามต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรม แต่ก็ไม่เป็นผล

William Dorsey Swann (คนขวา)

กว่าแดร็กจะมีที่ทางในสื่อกระแสหลักอย่างเป็นทางการต้องรอถึงต้นศตวรรษที่ 20 ‘จูเลียน เอลทินจ์’ (Julian Eltinge) นักแสดงชาวอเมริกันผู้สร้างชื่อจากการแปลงกายและสวมบทบาทเป็นตัวละครหญิงตลอดทั้งการแสดง และเฉลยกับคนดูในตอนท้ายว่าแท้ที่จริงแล้วเขาเป็นผู้ชาย สิ่งสำคัญที่ทำให้การแสดงของเอลทินจ์แตกต่างจากแดร็กในอดีตคือเขาไม่ได้แต่งแดร็กด้วยข้อจำกัดเรื่องกฎเกณฑ์หรือเพื่อความตลกขบขันในเชิงหยอกล้อบนฐานของอคติเรื่องเพศ แต่เขานำเสนอแดร็กในฐานะของงานศิลป์ที่ท้าทายความสามารถและข้อจำกัดของศิลปะการแสดง ความสามารถของเขาสร้างชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่จดจำในฐานะนักแสดงฮอลลีวูด

การแต่งแดร็กในหมู่เควียร์แพร่หลายมากขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เริ่มมีการแสดงของแดร็กในสถานบันเทิงของคนรักเพศเดียวกันในหลายเมือง ส่วนมากเป็นการลิปซิงค์และแต่งตัวเลียนแบบคนดังหรือแม้กระทั่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองเพื่อยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกในฐานะพลเมือง และต่อสู้กับอคติทางเพศที่สร้างเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐดังที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ ‘Cooper Do-nuts Riot’ ในปี 1959 และ ‘Stonewall Riots’ ในปี 1969[1]

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 รูปแบบการใช้ชีวิตแบบแดร็ก ได้กลายมาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายจากรายการ ‘Rupaul’s Drag Race’ ซึ่งมุ่งเน้นความสามารถในด้านการแสดงของผู้เข้าแข่งขัน ความคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอความหมายทางการเมืองของแดร็กที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องความบันเทิงเริงรมย์ แต่วิกผมที่ทั้งสูงและใหญ่ การแต่งหน้าที่มีสีสันและลวดลายเกินเลยกว่าความ ‘ปกติ’ โครงแบบของเสื้อผ้าที่ดูโอเวอร์แต่หลายครั้งบรรจุนัยยะทางการเมืองไว้อย่างแหลมคม สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่บ่อนเซาะบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมและท้าทายเส้นแบ่งที่แยกระหว่างความปกติ ขยายอาณาบริเวณของความปกติให้กว้างและครอบคลุมปัจเจกบุคคลมากขึ้นเรื่อยๆ

ตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ ความหมายของแดร็กก่อร่างสร้างตัวตนโดยผนวกสุนทรียภาพทางศิลปะและการเมืองเรื่องเพศเข้าไว้ด้วยกันอย่างแน่นแฟ้น จวบจนปัจจุบัน แดร็กถูกบรรจุเข้าไปเป็นส่วนหนี่งของหลักสูตรเพศศึกษาในหลายประเทศเพื่อความเข้าใจที่ดีของเด็กและเยาวชน แดร็กกลายเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์ งานศิลปะ ความบันเทิง รวมถึงการแสดงออกทางการเมืองที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนได้เป็นอย่างดี และแดร็กก็ได้ปรากฏขึ้นในม็อบปลดแอกด้วยเช่นกัน…

จากม็อบตุ้งติ้งสู่คณะราษแดนซ์ และแกรนด์โอเพนนิ่งแดร็กควีน ‘ไข่นุ้ย’

ถ้าจะบอกว่า ‘ม็อบตุ้งติ้ง’ เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ไทยในเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนรักเพศเดียวกัน ก็คงจะไม่ได้เป็นเรื่องเกินจริง เพราะหลังจากม็อบนี้จัดตั้งขึ้น ประเด็นความเสมอภาคทางเพศก็มีคนพูดถึงมากและขยายวงกว้างไปจนถึงการต่อสู้ของกลุ่มนักเรียนเลว และคณะราษแดนซ์2

ปรากฏการณ์คณะราษแดนซ์บรรจุ ‘สาร’ เชิงวัฒนธรรมที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะคณะราษแดนซ์ทำให้นิยามของการมาร่วมแสดงพลังทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป การเต้นประกอบเพลงที่เราเคยเชื่อว่าเป็นเพียงกิจกรรมสันทนาการ กลับมีประสิทธิภาพในการส่งสารทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการต่อสู้ที่บริสุทธิ์และสันติ เพราะพวกเขามีเพียงเพลงเกาหลีและลีลาเป็นอาวุธ

เหตุใดต้องเป็นเพลงเกาหลี? เป็นที่สังเกตว่าคณะราษแดนซ์เลือกเจาะจงเพลงเกาหลี สาเหตุคงไม่ใช่เพียงเพราะความชอบหรือกระแสของ K-POP เพียงเท่านั้น แต่ตำแหน่งแห่งที่ของเพลงเกาหลีในปริมณฑลของวัฒนธรรมเกย์ชนชั้นกลางไทยนั้นแฝงนัยยะในเชิงแบ่งแยกอย่างลับๆ ในระดับของรสนิยม กล่าวคือเพลงเกาหลีไม่ถูกวางไว้ในชั้นเดียวกับเพลงป๊อปสากล (อังกฤษ-อเมริกา) การเต้นเพลงเกาหลีในม็อบปลดแอกจึงเป็นการเสียดสีเชิงวัฒนธรรมไปด้วยในเวลาเดียวกัน แทนที่จะเป็นเรื่องของการร่วมแสดงพลังทางการเมืองต้านเผด็จการเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังถือเป็นการผนวกเอาโลกของ K-POP เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับการต่อสู้ทางการเมืองไทยได้อย่างทรงพลัง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังที่รุนแรงที่สุดในทวิตเตอร์คือพลังของ ‘ด้อม K-POP’ หรืออย่างน้อยที่สุด นี่คือข้อพิสูจน์ว่าพลังของความรักสามารถยืนเคียงข้างหลักการประชาธิปไตยได้ และความรักไม่ควรจะเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การบังคับให้รักหรือไล่ล่าฆ่าฟันคนเห็นต่าง

ลึกล้ำกว่าการเมืองเรื่องเพลงเกาหลี เราจะเห็นคนรักเพศเดียวกันแต่งแดร็กมาร่วมชุมนุมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่เป็นแดร็กชุดไทยสวยงาม…

ในการชุมนุมครั้งนี้ แดร็กไม่ได้เป็นเรื่องของการแสดงออกซึ่งเสรีภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันถูกใช้เพื่อบ่อนเซาะความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจนำ แม้ว่าจะไม่ได้มีเวทีแสดงยิ่งใหญ่ แต่ก็ได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้องและมีผู้ร่วมแสดงตลอดทางเดิน

จนแล้วจนเล่า ดาวแห่งวงการแดร็กดวงใหม่ที่ใช้นามในวงการว่า ‘ไข่นุ้ย’ ได้เรียกเสียงฮือฮาและกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมเป็นที่เรียบร้อย การแสดงของไข่นุ้ยไม่ใช่เพียงการ ‘แต่งหญิง’ เพื่อความตลกขบขันบนฐานคิดเหยียดเพศแบบที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ ในการแสดงตลกหรือสื่อกระแสหลัก รวมถึงเพลงฉ่อยยังถือเป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน (หรือเรียกให้ดูร่วมสมัยคือวัฒนธรรมราษฎร) ที่ไม่ถูกนับเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงเฉกเช่นการแสดงโขน แต่โดยมากเพลงฉ่อยเป็นการแสดงเชิงหยอกล้อแบบชาวบ้าน มีความหมายทางเพศแบบสองแง่สองง่ามสร้างเสียงหัวเราะให้คนดู

photo: twitter @manopsi

แดร็กฉ่อยครั้งนี้จึงได้ผนวกเอาความซับซ้อนของทุกมิติทางการเมืองและวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน ทรงผม การแต่งหน้า เสื้อผ้า หรือแม้กระทั่งร่างกายของไข่นุ้ยและนักแสดงทุกคนเสียดแทงอำนาจทางการเมืองและวัฒนธรรมในทุกระดับ โดยเฉพาะในมิติทางเพศและชนชั้น ซึ่งถือเป็นอีกจุดเปลี่ยนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านทางวัฒนธรรมไทยที่ควรต้องถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ และแม้ว่าการแสดงไม่ยิ่งใหญ่ตระการตา เป็นเพียงเวทีเล็กๆ ที่มีคนดูจำนวนหนึ่ง (ถ้าไม่นับรวม Live ในสื่อต่างๆ) แต่ถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมีศักดิ์และศรีสูงส่งและมีเจตจำนงเคียงข้างประชาธิปไตย

ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง… ใครจะล่วงรู้ว่าสังคมไทยจะเดินทางมาไกลขนาดนี้ จากวันที่วัฒนธรรมที่ถูกแช่แข็งไว้กับ ‘ศีลธรรมอันดี’ มาหลายทศวรรษ จู่ๆ พวกเราก็มีโอกาสรับชมศิลปะและการแสดงที่แฝงนัยยะทางการเมืองไว้อย่างก้าวหน้าและเด่นสง่าท้าทายแทบจะรายวัน โดยเฉพาะปรากฏการณ์แดร็กในม็อบที่นับวันจะยิ่งมีมากขึ้นและแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่เพียงความคิดสร้างสรรค์และความสามารถที่เป็นคุณลักษณะพิเศษของ ‘แดร็กปลดแอก’ แต่เหนือกว่านั้นคือความกล้าที่พร้อมจะเดิมพันด้วยเสรีภาพทั้งชีวิตหรือชีวิตทั้งชีวิตเพื่อแลกกับเสียงหัวเราะของคนดู เหลือเพียงแต่ว่าเสียงหัวเราะนั้นจะสั่นสะเทือนจากปฐพีไปถึงอัมพรหรือไม่…


เชิงอรรถ

1 ในท่ามกลางกระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บรรทัดฐานของสังคมถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงอคติที่แฝงอยู่ในค่านิยม ความเชื่อ อุดมคติ รวมถึงกฎหมาย เหตุการณ์ Cooper Do-nuts Riot ในปี 1959 และ Stonewall Riots ในปี 1969 ถือเป็นเหตุการณ์การเรียกร้องสิทธิครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์โลกของการต่อสู้ของคนรักเพศเดียวกัน ทั้งสองเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่มีชนวนจากความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อร่างกายและเสรีภาพของคนรักเพศเดียวกันในสถานบันเทิงจนเกิดการลุกฮือต่อต้านความรุนแรงในนามของรัฐ รวมถึงรณรงค์แก้กฎหมายที่กีดกันเสรีภาพทางเพศ และสื่อสารกับสังคมว่าคนรักเพศเดียวกันมีสิทธิที่จะมีชีวิตในฐานะพลเมืองทัดเทียมกันกับคนทุกเพศ

2 ผู้เขียนบทความเคยพูดถึงประเด็นเหล่านี้ไว้บ้างแล้วในบทความ ‘จาก #สมรสเท่าเทียม สู่ #ม็อบตุ้งติ้ง และ #ความสุดติ่งของนักเรียนเลว’ เชิญอ่านได้ที่นี่

Author

ณัฐ วิไลลักษณ์
เจ้าของร้านขนมสมัครเล่น ที่เชื่อมั่นในคุณค่าความเป็นมนุษย์ มีสตรีนิยมเป็นศาสนา และลมหายใจเข้าออกเป็นประชาธิปไตย

Author

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า