text: สิริกัญญา ชุ่มเย็น
ข้าพเจ้าเป็นคนจังหวัดนนทบุรี ช่วงนี้หากมีกิจธุระให้ต้องเหวี่ยงพวงมาลัยและกระทืบคันเร่งเข้าสู่เมืองหลวง ข้าพเจ้าจะสบกับป้ายหาเสียงที่เปะปะเรียงรายอยู่บนเสาไฟฟ้า บนป้ายนั้นประกาศสิ่งดีงามต่างๆ ที่ผู้สมัครลงแข่งขันเป็นผู้ว่าฯ กทม. ให้สัญญากับคนกรุง พร้อมๆ กับคำถามประดามีผุดขึ้นในหัวข้าพเจ้า
แน่นอน หลักๆ คือ ทำไมคนจังหวัดอื่นที่เสียภาษีเช่นเดียวกับคนกรุงเทพฯ ถึงไม่มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ ของตนเองบ้าง วันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมา กลุ่มรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แจ้งในเพจ ‘We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง’ ว่า นอกเหนือไปจากการให้ลงชื่อในแคมเปญ Change.org/WeAllVoters แล้ว ยังมีการจัดเสวนาใน Twitter Spaces หัวข้อ #เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศฝันเฟื่องหรือเรื่องจริง
ผู้เข้าร่วมเสวนาคือ พลอย-วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว workpointTODAY ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ ปกรณ์ อารีกุล ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล ลูกแก้ว-โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียน สันติสุข กาญจนประกร ผู้ตั้งแคมเปญ และมี วีรวรรธน์ สมนึก บรรณาธิการบทความ เว็บไซต์ ดิ อีสานเด้อ (The Isaander) เป็นพิธีกร
คืนอำนาจให้คนต่างจังหวัด 1 สิทธิ์ 1 เสียง
เวลา 2 ทุ่มโดยประมาณ ในฐานะผู้ก่อตั้งแคมเปญ สันติสุขเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพฯ และได้เลือกผู้ว่าฯ กทม. มาโดยตลอด เพิ่งย้ายมาอยู่นนทบุรีไม่กี่ปี
“เพิ่งมาเข้าใจความอึดอัดของคนต่างจังหวัดที่ไม่ได้เลือก เลยคิดตั้งแคมเปญนี้ขึ้น เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย คือ 1 สิทธิ์ 1 เสียง เราเสียภาษีเหมือนคนกรุงเทพฯ ก็ควรมีสิทธิ์เลือกตัวแทนของเราไปออกแบบหน้าตาบ้านเมืองของเรา”
เขาเสริมว่า การได้เลือกผู้ว่าฯ จะเกิดการแข่งขันเชิงนโยบายที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่ อย่างเชียงใหม่ที่เป็นเมืองศิลปวัฒนธรรม ก็อาจมีนโยบายช่วยเหลือศิลปินให้มีโอกาสได้สร้างงานศิลปะ จังหวัดท่องเที่ยวก็มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ กระทั่งฝันไกลถึงขนาดจะมีโรงเรียน 2-3 ภาษา เหมือนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอ
“รวมถึงมีมหาลัยดีๆ ประจำจังหวัด ไม่ต้องเดินทางเข้ากรุง มีงานทำในจังหวัด ไม่ต้องเดินทางไกลเหนื่อยยากแสนสาหัส”
ส่วนการปฏิรูปหรือยุบส่วนภูมิภาคอย่างที่หลายคนเสนอ สันติสุขเห็นด้วย “จริงๆ ผมตั้งแคมเปญนี้ขึ้นมาเพื่ออยากจะปักธงผืนแรกลงก่อน เพราะกระแสคนต่างจังหวัดอยากเลือกผู้ว่าฯ มีอยู่จริง การรณรงค์ในยุคก่อนๆ อาจไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ผมอยากเริ่มต้นในยุคใหม่ คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
เขาขยายความว่า คนรุ่นใหม่พร้อมเปิดรับความเปลี่ยนแปลง “ผมเลยอยากปักธงผืนแรกให้มันชัดเจน ชักชวนคนที่เห็นด้วยมาร่วมกัน ส่วนการปฏิรูปในขั้นต่อไป จะยุบส่วนภูมิภาคหรือไม่ ส่วนท้องถิ่นจะปรับอย่างไร อยากให้ค่อยๆ ทำกันไป ไม่อยากเสนออะไรที่มันรุนแรงเกิน เพราะอาจมีกระแสต่อต้านเยอะ”
เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า เห็นอะไรในต่างจังหวัดจึงคิดทำแคมเปญนี้ สันติสุขกล่าว “ผมว่าประโยค ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ‘แผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง’ มันจริงส่วนเดียวสำหรับคนที่มีโอกาส เกิดมาในโครงสร้างสังคมที่ได้เปรียบ ส่วนคนไร้โอกาส เราออกไปต่างจังหวัดแค่ชานเมือง ไม่ต้องเป็นคนช่างสังเกต เราก็จะเห็นความทรุดโทรม เห็นคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ บ้านเมืองที่ย่ำแย่ แค่นี้ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายขอบเขตอำนาจในการบริหารท้องถิ่นด้วยตนเอง”
ตัวอย่างที่เขายกขึ้นมาคือ ท้องถิ่นเก็บภาษีด้วยตนเอง ควรส่งส่วนกลางกี่เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเก็บไว้เพื่อบำรุงท้องถิ่น
“จุดหมายของแคมเปญคือ จะรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อพรรคการเมืองที่สนใจประเด็นนี้ หลังเปิดสภาฯ และอาจมีการขอสำเนาบัตรประชาชนจากผู้ลงชื่อตามกระบวนการในการเสนอกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่คอนเทนต์ต่างๆ ในเพจเป็นประจำ ทั้งเรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ และปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคม อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการจุดไม้ขีดก้านเล็กๆ ในใจคน”
ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค?
พิธีกรโยนคำถามให้อาจารย์ชำนาญว่า การเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ จะสั่นคลอนกระทรวงมหาดไทยอย่างไร
“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ อาจถูกใจหรือไม่ก็ตาม ความเห็นของผมคือ ถ้าเราเลือกผู้ว่าฯ อย่างเดียว โดยโครงสร้างไม่ได้เปลี่ยน หรือยังมีราชการส่วนภูมิภาคอยู่ ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่แน่นอนเราคุยกันแล้ว ตกผลึกกันแล้วว่า การรณรงค์นี้เป็นจุดเริ่มต้นก่อน และจะต่อยอดด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกส่วนภูมิภาคในที่สุด
“ผมเปรียบเทียบให้เห็นว่า ถ้าเราเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว ไม่ต่างจากการเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน เสร็จแล้วก็รับนโยบายจากส่วนกลาง เป็นการเลือกตั้งพอเป็นพิธี ยังเป็นลูกน้องส่วนกลางเหมือนเดิม แต่สิ่งที่ผมรณรงค์กับคณะก้าวหน้า คือ ผู้ว่าฯ ต้องเป็นของส่วนท้องถิ่น”
อาจารย์ชำนาญให้ความรู้ว่า ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินของไทยมีอยู่ 3 ส่วน 1) ราชการส่วนกลาง กระทรวง ทบวง กรม ทั้งหลาย 2) ส่วนภูมิภาค คือ จังหวัด อำเภอ เป็นการรับนโยบายจากส่วนกลาง โดย 2 ส่วนนี้เป็นเจ้านาย-ลูกน้อง และ 3) ราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการปกครองที่อิสระ เป็นนิติบุคคล มีงบเป็นของตนเอง มีเจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง ผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง มีนโยบายเป็นของตนเอง ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ส่วน เป็นการกำกับดูแลตามกฎหมาย ไม่ได้เป็นแบบเจ้านาย-ลูกน้อง
“สิ่งที่อยากพูดให้เข้าใจคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ทั้งหลาย ถ้าไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย ถามว่าจะสะเทือนมหาดไทยไหม อันนี้แน่นอน มีการปลูกฝังมาตั้งแต่ 1 เมษายน 2435 ที่มีการตั้ง 12 กระทรวง แทนที่ระบบเวียง วัง คลัง นา รวมเป็นประเทศราช รวมหัวเมืองต่างๆ มาถึงปัจจุบันเหลือ 7 กระทรวง
“การรณรงค์ของพวกผมที่มีมาตลอด คือให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จังหวัดทั้งจังหวัดต้องเป็นท้องถิ่นเต็มพื้นที่ เหลือแค่ราชการส่วนกลางกับท้องถิ่น ผู้บริหารสูงสุดของท้องถิ่นจะเรียกอะไรก็ได้ ขั้นต้นเป็นผู้ว่าฯ ก่อนก็ได้ เช่น ผู้ว่าฯ เชียงใหม่มหานคร ขอนแก่นมหานคร ข้างล่างก็เป็นเทศบาลเสียทั้งหมด
“ถ้ามีการเลือกตั้งแบบนี้ ก็จะเป็นการเลือกตั้งจากประชาชนโดยตรง ไม่มีความสัมพันธ์จากส่วนกลาง ไม่ได้แต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ตำแหน่งนายก อบจ. ก็ไม่ต้องมีแล้ว จะเลือกตั้งซ้อนเลือกตั้งไม่ได้ ตามโมเดลที่เราเซ็ตไว้อย่างร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร ก็ดี จังหวัดจัดการตนเองก็ดี หรือเป้าหมายคณะก้าวหน้าก็ดี คือการรวมกันของภูมิภาคและท้องถิ่น”
สิ่งที่น่าสนใจคือ ในต่างประเทศร้อยละ 60 ไม่มีราชการส่วนภูมิภาค อย่างอังกฤษไม่เคยมีมาเลยในประวัติศาสตร์ ญี่ปุ่น เกาหลีก็ไม่มี
“ในบ้านเราอย่างภูเก็ต ผมเพิ่งไปมา ได้รับฟังว่า พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นลูกที่เลี้ยงดูพ่อแม่ แต่กลับได้รับการปฏิบัติไม่ดี พวกเขาอยากเลือกผู้ว่าฯ กันเอง ผมย้ำว่าเป็นผู้ว่าฯ ท้องถิ่นนะครับ ไม่ได้รับนโยบายจากส่วนกลาง การแก้กฏหมายมี 2 ขยัก ระดับพระราชบัญญัติก็ทำได้แล้ว พรรคการเมืองก็เสนอได้ ครม.ก็เสนอได้ ส.ส.ในสภา 20 คนขึ้นไปก็เสนอได้ เหมือนที่เชียงใหม่เคยเสนอ แต่มีการยุบสภา ยึดสภาเสียก่อน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจายอำนาจระบุว่า ตามโมเดลข้างต้นขอบเขตอำนาจจะน้อย ถ้าจะให้ครอบคลุมต้องแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น เขียนให้ชัดเลยว่า สิ่งใดทำได้หรือไม่ได้
“ต่างประเทศมีอยู่ 3 สิ่งที่ทำไม่ได้ คือ การทหาร การเงินการคลังระดับชาติ และการต่างประเทศ ที่เหลือทำได้หมด แม้แต่เรื่องศาล ผมพูดที่ไหนก็ฮือฮา ว่าผู้พิพากษาต้องมาจากการเลือกตั้งด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญปี 60 ของเรา ให้อำนาจท้องถิ่นจำกัดจำเขี่ยมาก ในอดีตมันพัฒนาเยอะ พอกำลังจะดี ก็มีรัฐประหาร ถอยหลังอีกแล้ว”
แต่เข็มนาฬิกาแม้จะถูกหมุนถอยหลัง อย่างไรก็ต้องเดินหน้าวันยันค่ำ – อาจารย์ชำนาญยืนยัน
ผลพวงของระบบราชการรวมศูนย์
ด้วยสายตาสื่อมวลชนและเป็นคนต่างจังหวัด พลอย-วศินี เล่าว่า ในวาระของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ทุกสื่อระดมเล่นข่าว ในแง่หนึ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำ
“เวลาทำข่าว ไปถามผู้สมัครคนโน้นคนนี้ เป็นคำถามที่ท้าทาย เราเป็นคนต่างจังหวัด มาโตที่กรุงเทพฯ แต่เราไม่สามารถเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ จังหวัดเราทำอะไรแบบนี้ได้เลย นี่เป็นส่วนหนึ่งของการกระจายการบริหารจัดการที่ไม่เท่ากัน เวลาที่ครอบครัวเรากินข้าว ทุกอย่างต้องส่งมาจากกาฬสินธุ์ ถ้าเป็นเด็กต่างจังหวัดที่ไม่คิดจะอยู่กรุงเทพฯ ถาวร จะเข้าใจความรู้สึกนี้ดี
“ข้าวต้องส่งมา น้ำพริกต้องส่งมา มันเป็นภาวะจำยอมที่ต้องมาอยู่กรุงเทพฯ แต่ถ้ามีการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม เด็กต่างจังหวัดก็คงอยากกลับไปอยู่บ้านตนเอง ยิ่งทำข่าวผู้ว่าฯ ก็ยิ่งชัดเจนว่าทำไมเราถึงยังกลับไปไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งนโยบายมาจากส่วนกลาง เวลาทำข่าวเชิงนโยบาย ต้องเข้าถึงแหล่งข่าวที่มีอำนาจ เวลาไปถามผู้ว่าฯ ต่างจังหวัด ก็จะได้รับคำตอบว่า เป็นนโยบายจากส่วนกลาง”
เธอแชร์ประสบการณ์ว่า ช่วงหลังทำข่าวสิ่งแวดล้อมมาก เรื่องการกระจายอำนาจจึงไหลเข้าสมองตลอดเวลา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้อยทั้งร้อยมาจากปัญหาระบบราชการรวมศูนย์
“คนที่วางแผนนโยบาย ดูภาพรวมทั้งประเทศ จิ้มว่าตรงนี้มีแหล่งแร่อะไร มีแหล่งน้ำอะไร ถ้าเมืองหลวงมีไม่พอก็ไปเอามาใช้ได้ โดยไม่ดูว่าคนตรงนั้นจะอยู่อย่างไร ต้องการหินมาทำถนน ก็ไประเบิดภูเขาสักที่ คนตรงส่วนกลางเป็นไข่แดงสำคัญ เวลามีอะไรก็ต้องเอาไปประเคน หลายครั้งที่เราลงไปเก็บข้อมูลจากชาวบ้าน มีการพัฒนากลไกสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 40 แต่ด้วยคนที่ใหญ่สุดในจังหวัดยังเป็นผู้ว่าฯ จากส่วนกลาง นั่งอยู่ในบอร์ดหลายๆ ที่ เคาะเป็นคนสุดท้าย
“ต่อให้ฝ่ายท้องถิ่นกลั่นกรองมาอย่างไรก็ยังต้องประนีประนอมกับจังหวัด การตัดสินใจของท้องถิ่นไม่จบในตัว ถ้าส่วนกลางต้องการ ก็ยากมากๆ ที่จะคัดค้าน มีหลายฝ่ายเคยไปขอผู้ว่าฯ ให้แทงนโยบายขึ้นไปข้างบน แม้ผู้ว่าฯ จะเพาเวอร์ฟูลในจังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถสะท้อนเสียงจากข้างล่างเพื่อเปลี่ยนนโยบายได้ ดังนั้น มันจึงเป็นระบบจากบนลงล่างอย่างสมบูรณ์แบบ”
พูดตรงๆ ชัดๆ คือ คนข้างล่างทำได้แค่ยอมรับสิ่งที่คนข้างบนจิ้มแผนที่ว่าต้องการอะไรบ้าง
“อย่างพลอยเห็นการที่มีเหมืองแร่ใกล้และกระทบชุมชน ถ้าเป็นบ้านเรายังไงก็คงไม่เอาไปไว้ตรงนั้น ชาวบ้านกังวลเรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม พื้นที่บ้านพลอยถูกทำเป็นโรงไฟฟ้าขยะ ถ้ามีขยะ มีสารเคมีรั่วหลุดออกมา แล้วต่อไปพื้นที่ตรงนี้จะยังสามารถผลิตอาหารได้ไหม แหล่งน้ำที่ผ่านเรือกสวนไร่นาจะสะอาดหรือเปล่า
“สุดท้ายมันก็ไปจบที่คณะกรรมการอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นฝ่ายเคาะ คนที่นั่งเป็นประธานก็คือผู้ว่าฯ ซึ่ง 4 ปี ก็ย้ายแล้ว ถ้าเขามาด้วยวาระว่า จะทำให้จังหวัดนี้เป็นจังหวัดอุตสาหกรรม ก็สามารถเอาอุตสาหกรรมมาลงได้ตูมตามโดยไม่ต้องสนใจเรื่องระยะยาวเลย
“อย่างช่วงสงกรานต์ ข้าราชการท้องถิ่นก็ต้องเข้าจวนผู้ว่าฯ รดน้ำดำหัว เรียกว่า ‘พ่อเมือง’ พลอยว่า นี่คือชุดความคิดแบบพ่อปกครองลูก คุณพ่อรู้ดี คิดแทนลูกจากส่วนกลาง คนต่างจังหวัดจะมองว่า ผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งเป็นเจ้าเป็นนาย ไปไหนมาไหนก็ห้อมล้อมด้วยข้าราชการส่วนภูมิภาค การสื่อสารเป็นคนละระดับ หลายๆ จังหวัดมีปัญหาอำนาจกดทับจากส่วนกลาง
“ล่าสุดลงพื้นที่ปัตตานี รอยปริระหว่างรัฐส่วนกลางกับชุมชนมีมาก ยิ่งในช่วงโควิด แค่เรื่องการใช้เครื่องมือประมงก็กลายเป็นเรื่องเปราะบาง กรมประมงต้องเข้าไปจัดการคนที่ทำมาหากิน ภาษาก็ต่างกันแล้ว พอเป็นคนจากส่วนกลาง ความเชื่อใจก็มีน้อย การใช้กฎหมายจับคนเพราะใช้เครื่องมือผิด ก็กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจว่า รัฐไทยมาจับคนมลายูหรือเปล่า เจ้าหน้าที่ส่วนกลางเองก็ต้องขอแก้ต่างให้นิดหนึ่งว่า พวกเขาก็เข้าใจ ไม่อยากไปจับกุมคุมขัง ไม่อยากปรับ แต่บางพื้นที่ไม่ได้ใจดี อย่างภาคอีสานมีเรื่องปัญหาที่ดินทำกินเยอะ”
ความเจริญกระจุก เพราะอำนาจไม่กระจาย
อีกมุมมองถัดมา ลูกแก้ว-โชติรส บอกว่า การเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอาจเป็นแค่จุดเริ่มต้น จริงๆ ต้องรื้อทั้งหมด รื้อราชการส่วนภูมิภาค
“ถ้าพูดในฐานะประชาชน มีพ่อกับแม่เป็นคนต่างจังหวัด เราเองก็ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปหลายๆ ที่ พูดแบบตาเห็นคือ เราทุกคนน่าจะต้องการการกระจายอำนาจ ทุกคนน่าจะได้ส่งเสียงออกมาว่าต้องการอะไร ความเจริญกระจุกตัวอยู่ที่หัวเมืองใหญ่ไม่กี่เมือง เอาชัดๆ ก็กรุงเทพฯ แถมยังเป็นกลางเมืองด้วย ชานเมืองเองยังเป็นลูกเมียน้อย ไม่ได้รับความสนใจเลยด้วยซ้ำ”
สิ่งที่เธอได้รับผลกระทบและเจ็บปวดคือ เรื่องขนส่งมวลชน
“เราขับรถไม่เป็น ไม่มีรถยนต์ส่วนตัว เดินทางในกรุงเทพฯ ก็ลำบากประมาณหนึ่งแล้ว ส่วนในต่างจังหวัด เราเคยมีธุระต้องไปงานศพในอยุธยา ต้องตามไปคนเดียวทีหลัง สิ่งที่เราทำคือต้องเหมาแท็กซี่เพื่อไปถึงที่หมาย มันไม่มีหนทางอื่นเลยในเวลาหัวค่ำ หรือแม้แต่กลางวัน ถ้ามีเรื่องคอขาดบาดตายอย่างไปหาหมอ เราเคยรอสองแถวเป็นชั่วโมง”
นักเขียนหนังสือขายดีระบาย มันง่ายมากที่รัฐหรือใครก็ตามจะสั่งสอนคนว่า ชอบไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อมอเตอร์ไซค์หรือรถกระบะ
“ใช่สิ คุณลองไปมีบ้านอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ถ้าไม่มีรถ ก็เหมือนคนที่แขนขาขาด ความเจ็บปวดคือระบบขนส่งสาธารณะไปไม่ทั่วถึง ความเจริญไปไม่ทั่วถึง ถ้าจะให้ไล่เลียง ก็ไล่ได้ตั้งแต่เกิดยันตาย ระบบสาธารณสุข น้ำประปา บ้านแม่เราอยู่ริมบางปะกง แต่น้ำที่ใช้ยังต้องสูบน้ำบาดาล เราไม่แน่ใจหรอกนะ ถ้ารื้อทั้งระบบ ให้ท้องถิ่นมีอำนาจจากเสียงของประชาชน แล้วมันจะดีขึ้นไหม
“แต่เราอยากให้เป็นแบบนั้น เพราะทุกคนคือคนเหมือนกัน ควรมีสิทธิ์เข้าถึงคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดี น้ำสะอาด การศึกษา ระบบขนส่งสาธารณะ เรามองว่าทุกอย่างมันถูกทุ่มมาแค่กรุงเทพฯ หวังว่าแคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศจะเป็นจุดเริ่มต้น และขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทั้งระบบให้ดีต่อทุกคนได้จริงๆ”
ปิดท้ายเธอขอพูดเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน เพราะมีนักเขียน ก็ต้องมีนักอ่าน
“ไม่ใช่จู่ๆ คนเราเกิดมาจะรักการอ่านเลย แต่มันต้องมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อ เอาง่ายๆ มองไปรอบตัว ถามเด็กๆ ดูก็ได้ ว่าห้องสมุดใกล้ตัวอยู่ที่ไหน กลับกัน หากถามถึงร้านสะดวกซื้ออยู่ที่ไหน ทุกคนจะตอบได้ เมื่อเราเติมเต็มคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานแล้ว สิ่งสร้างสรรค์อื่นๆ ก็จะตามมา”
ปลดล็อกท้องถิ่น ผู้ว่าฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
มาถึงคิวของนักการเมืองอย่าง ปกรณ์ เขาชี้แจงว่า ในทางนโยบายของพรรคก้าวไกล ก็อยู่ในแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่น อาจยังไม่ใช่การผลักดันให้มีการเลือกผู้ว่าฯ โดยตรง แต่ในหลักคิด เขาเห็นด้วยกับการยุติการรวมศูนย์อำนาจ
“คำนี้ต่างจากการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจคืออำนาจยังอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วกระจายออกไป แต่การยุติการรวมศูนย์อำนาจ หมายถึง อำนาจไปอยู่ที่ภูเก็ต ปัตตานี เชียงใหม่ เราอยากให้การรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ ถูกยุติ และให้อำนาจอยู่ที่จังหวัดนั้นๆ จริงๆ ปลายทางของอุดมคติคือ ผู้ว่าฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง
“ผมเองก็เป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ และรู้สึกว่าทำไมกรุงเทพฯ ถึงมีการเลือกผู้ว่าฯ ทำไมนครศรีธรรมราชบ้านเกิดถึงเลือกไม่ได้ ผมลองไปดูประวัติผู้ว่าฯ 10 คนหลังสุด บางคนคือคนนครฯ มาเป็นผู้ว่าฯ เพื่อรอเกษียณ บางคนมาอยู่ 1 ปี เพื่อรอไปจังหวัดใหญ่กว่า มันมีจังหวัดหลายเกรด ถ้าคุณเป็นผู้ว่าฯ รอบแรกก็ไปอยู่จังหวัดเกรดซีก่อน แล้วค่อยไต่ขึ้นมา”
เขาพบว่า ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช มีสองแบบ คือหนึ่ง-อยู่ไม่เกิน 2 ปี แล้วย้ายเข้ากระทรวง หรือสอง-ย้ายกลับบ้านเกิดไปรอเกษียณ
“บางคนตั้งแต่เป็นนายอำเภอก็ไม่เคยอยู่นครฯ แต่พอมาอยู่ช่วงสุดท้าย ท่านอาจขาดความกระตือรือร้นในการดำเนินการกับปัญหา หลายเรื่องแก้ไม่ทัน แก้ไม่ตรงจุด ไม่ถึงต้นตอ ผลที่เกิดขึ้นจึงตกอยู่กับประชาชน เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ผมเห็นด้วยอย่างถึงที่สุด ถึงจุดหนึ่งประเทศไทยต้องยุติการรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ และให้คนแต่ละจังหวัดได้เลือกผู้ว่าฯ ของตัวเอง เพื่อนผมหลายคนมีความรู้มากพอสมัครเป็น ส.ส. เขตได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เขาจะลงสมัคร”
โมเดลหนึ่งที่ปกรณ์นำเสนอและน่าตื่นเต้นมาก
“ผมเคยนั่งคิดกับพี่น้องชาวใต้ในจังหวัดภูเก็ต เวลามีรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ฉีกรัฐธรรมนูญ ถ้าผู้ว่าฯ คนนั้นๆ มีหลักการอยู่ฝั่งประชาธิปไตย แล้วเขาปฏิเสธที่จะฟังรัฐส่วนกลาง ผู้ว่าฯ อาจไปพูดคุยกับตำรวจ เอาด่านไปปิดที่สะพานสารสินเลย ประกาศว่าไม่ฟังรัฐบาลที่มาโดยผิดกฎหมาย ผมคิดว่าแบบนี่เท่ดี และเกิดขึ้นได้
“หรือเวลาเกิดรัฐประหาร หากผู้ว่าฯ ยอม นายก อบจ. จากการเลือกตั้งสามารถสั่งปลดผู้ว่าฯ ได้เลย ถ้าหลายๆ จังหวัดทำแบบนี้ได้ นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งของสถานการณ์ เปลี่ยนจากฝันเฟื่องให้เป็นเรื่องจริง ลงมือทำเลย”
หลังจบเสวนา คำถามหลายๆ อย่างในหัวข้าพเจ้าค่อยๆ คลี่คลาย กดเข้าลิงก์ Change.org/WeAllVoters ข้าพเจ้าไม่แน่ใจหรอกว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยๆ ข้าพเจ้าได้เริ่มต้นแล้ว