เปลี่ยนได้ไหม…มื้อกลางวันของเด็กไทย

เรื่อง : ชลิตา สุนันทาภรณ์

 

ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มีทรัพยากรอาหารอุดมสมบูรณ์ จนใครหลายคนคิดไกลไปถึงขั้นว่าเมืองไทยจะเป็น ‘ครัวโลก’ แต่ทุกวันนี้เด็กตัวน้อยๆ ที่กำลังจะเติบโตเป็นคนรุ่นใหม่ในอีก 10 ปีหรือ 20 ปีข้างหน้า กำลังประสบปัญหาทุพโภชนาการและอยู่ในภาวะอ้วน เตี้ย เสี่ยงต่อสุขภาพที่ไม่แข็งแรง และระดับเชาว์ปัญญาต่ำ

ปัญหาหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะ ‘อาหารกลางวัน’ ที่โรงเรียนจัดให้อาจไม่ได้มาตรฐาน

มองให้ดีแล้วเด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียนเสียมากกว่าอยู่ที่บ้าน คิดเป็นเวลา 8-9 ชั่วโมงต่อวัน และ 5 วันต่อสัปดาห์ แต่อาหารกลางวันที่โรงเรียนจัดให้ยังมีคุณภาพต่ำ มีสารอาหารไม่เพียงพอสำหรับเด็กวัยกำลังเจริญเติบโตที่ควรจะได้รับ

หากคิดอยากจะเป็นครัวโลกแล้ว ก็ควรหันมาสำรวจ ‘ครัวในโรงเรียน’ ให้พร้อมที่จะดูแลอนาคตของชาติเสียก่อน

 

เด็กไทยในภาวะอ้วน-เตี้ย

เด็กอ้วน เด็กจ้ำม่ำ เห็นแล้วน่ารักน่าหยิก แต่รู้หรือไม่ว่ามีภัยเงียบแฝงอยู่โดยที่ผู้ปกครองเองก็อาจไม่รู้ตัว ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเชื่อผิดๆ ที่ว่า เมื่อโตขึ้นเด็กจะยืดตัวแล้วหายอ้วนเอง บางรายก็สายเกินไปกว่าจะรู้ว่าลูกตัวเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐานจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคทางเดินหายใจอุดตัน โรคกระดูกและข้อ รวมถึงภาวะทางอารมณ์และจิตใจ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า ปัจจุบันเด็กไทยที่อยู่ในช่วงพัฒนาการเจริญเติบโต (1-14 ปี) กว่า 1 ล้านคนมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน กล่าวคือ เด็กไทยอยู่ในภาวะอ้วนถึง 1 ใน 5

สอดคล้องกับรายงานสถานการณ์ภาวะโภชนาการโลก 2015 โดยสำรวจจาก 193 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและคณะทำงาน Independent Expert Group (IEG) ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ รายงานว่า เด็กไทยเตี้ยกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึง 15-16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามมาตรฐานแล้วไม่ควรเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงยังอยู่ในภาวะทุพโภชนาการ ทั้งปัญหาน้ำหนักเกินและน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน

สาเหตุหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กไทยมีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์เพิ่มจำนวนขึ้น อาจมาจากสภาพแวดล้อมและสังคมที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีกิจกรรมทางกาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจที่ผู้ปกครองใช้วิธีซื้ออาหารจานเดียวให้ลูกรับประทาน เนื่องจากสะดวกสบายมากกว่าทำอาหารเองที่บ้าน ประกอบกับอาหารกลางวันเด็กที่ทางโรงเรียนจัดให้มักเน้นอาหารที่ให้พลังงานสูง รสชาติจัด และสารอาหารไม่ครบถ้วน ทั้งหมดจึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยมีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้น

อาหารกลางวันเด็กเพื่อสุขภาพ

รู้กันอยู่แล้วว่าอาหารหลัก 5 หมู่ที่สำคัญนั้นประกอบไปด้วย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต เกลือแร่หรือแร่ธาตุ วิตามิน และไขมัน โดยปกติแล้วร่างกายคนเราควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน แต่เด็กวัยเรียนที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต สารอาหารเหล่านั้นสำคัญอย่างมาก

ทว่าเมนูยอดฮิตในโรงเรียนส่วนใหญ่มักเป็นอาหารที่มีสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ มีไขมันสูงเกินไปหรือมีรสชาติจัดเกินไป โดยเมนูที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ข้าวมันไก่ (ประมาณ 695 กิโลแคลอรี่) รองลงมาคือ ข้าวไข่เจียว (ประมาณ 445 กิโลแคลอรี่) และข้าวผัดหมู (ประมาณ 561 กิโลแคลอรี่)

เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องโภชนาการเด็กไทย กลุ่มพัฒนาพฤติกรรมโภชนาการ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแนวทางอาหารกลางวันเด็กในวัยเรียน เพื่อเสนอ ‘หลักการจัดอาหาร เมนูชูสุขภาพ’ โดยอธิบายว่า อาหารกลางวันโรงเรียนที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำ ปรุงด้วยเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ ปลอดภัยจากสารพิษทั้งสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารและผัก เพื่อเลี่ยงสารเคมีตกค้างที่ก่อให้เกิดโรคร้าย และเป็นอาหารรสไม่จัดมากเกินไป เพื่อช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่อาจตามมาในอนาคต และลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอ้วนในเด็ก

แต่ดูเหมือนว่าข้อมูลดังกล่าวยังส่งไปไม่ถึงทุกโรงเรียนทั่วประเทศ เพราะยังคงมีรายงานว่าอาหารกลางวันเด็กไทยอยู่ในมาตรฐานต่ำ

นโยบายรัฐไม่ตอบโจทย์

ไม่ใช่ว่ารัฐบาลไม่ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมปี 2556 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษา จากเดิมที่ได้รับ 13 บาทต่อคน เพิ่มเป็น 20 บาทต่อคน รวมงบประมาณเกือบ 25,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้บริหารจัดการงบ และคาดว่าเด็กนักเรียนทั่วประเทศกว่า 6 ล้านคน จะได้ประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ผลการติดตามนโยบายดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2559 พบว่า อาหารกลางวันของโรงเรียนเกินครึ่งยังคงไม่มีคุณภาพและยังไม่ได้รับการบริหารที่ดี เลวร้ายกว่านั้นคือ ตั้งแต่ผู้บริหารโรงเรียนไปจนถึงแม่ครัวและครู ส่วนใหญ่ขาดความใส่ใจและไม่มีความรู้ในการทำอาหารให้ถูกหลัก บางโรงเรียนยังจัดสรรอาหารให้เด็กไม่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะ นอกจากนั้นแล้วบางโรงเรียนยังเจียดเงินส่วนนี้ไปให้กับพี่มัธยมอีกด้วย

ในด้านสุขาภิบาลอาหารยังพบว่า การประกอบอาหารในโรงเรียนไม่สะอาด คุณภาพอาหารที่ซื้อมาก็ไม่สะอาด เน้นราคาถูกและเน้นปริมาณมากกว่าคุณค่าอาหารที่เหมาะสมต่อเด็ก

ทั้งหมดนี้หมายความได้ว่า เด็กไทยวัยเจริญเติบโตนั้นอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คุณค่าทางโภชนาการคือสิ่งสำคัญ หากเด็กได้รับอาหารที่ด้อยคุณค่าจะส่งผลให้พัฒนาการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสติปัญญาถดถอยลงด้วย

ความเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นได้ในรั้วโรงเรียน

ความหวังที่จะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวคงไม่ช่วยให้เด็กไทยรอดพ้นจากภาวะทุพโภชนาการ องค์กรกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงร่วมกับโรงเรียนวนิษา วิทยาเขตรังสิต จังหวัดปทุมธานี จัดกิจกรรม ‘We Grow ตอน คบเด็กปลูกผัก’ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยในงานมีการจัดวงเสวนาในหัวข้อ ‘ปฏิวัติระบบอาหาร’ มีกิจกรรมเวิร์คช็อป 4 สถานี ได้แก่ สถานีปลูกผักผสมผสาน สถานีผักสลัด สถานีผักปริศนาและสถานีปุ๋ย รวมถึงเปิดให้เยี่ยมชมแปลงสวนผักที่เด็กๆ ในโรงเรียนวนิษาปลูกกันเอง โดยแปลงสวนผักที่ว่านั้นเริ่มปลูกกันตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

วัชรผล แดงสุภา ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบอาหารของประเทศไทยว่า เมื่อก่อนประเทศไทยเป็นครัวเปิด กล่าวคือ หลังจากทำอาหารเสร็จเราสามารถโยนเมล็ดพันธุ์ลงไปข้างบ้านแล้วปล่อยให้เจริญเติบโตด้วยตัวของมันเอง อีกประการคือ เราอยากกินผักอะไรเราก็ปลูกผักชนิดนั้น

แต่เมื่อเข้าสู่ยุค ‘ปฏิวัติเขียว’ มีการใช้สารเคมีเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น ทำให้ห่วงโซ่อาหารเริ่มไม่ปลอดภัย และเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมจากปลูกเพื่อเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัว กลายเป็นปลูกเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาด มุ่งเน้นกำไรมากขึ้น ส่งผลให้คนปลูกไม่คำนึงถึงผู้บริโภค ส่วนผู้บริโภคก็ละเลยว่าสิ่งที่ตนบริโภคเข้าไปนั้นได้คุณภาพหรือปลอดภัยหรือไม่ เน้นถูกและรูปลักษณ์สวยงามอย่างเดียว

สิรภพ รักษ์ธนธัช ผู้อำนวยการโรงเรียนวนิษา เล่าถึงปัญหาของระบบห่วงโซ่อาหารกลางวันโรงเรียน เริ่มมาจากที่ภาคเกษตรกรรมนำเข้าสารเคมีมาใช้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ดัชนีปริมาณนำเข้าดังกล่าวในบ้านเรามีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังคงนำเข้าสารเคมีอันตรายที่ชื่อว่า ‘คาร์โบฟูราน’ (Carbofuran) ซึ่งหากสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ ขณะที่สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการนำเข้าสารเคมีตัวนี้อย่างถาวร

ผสมผสานกับแนวคิดของผู้อำนวยการโรงเรียนเองที่มีความมุ่งมั่นต้องการให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง มีพัฒนาการทางสมองที่ดี และผลที่ตามมาคือ เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เพราะอนาคตของชาติขึ้นอยู่กับเด็กรุ่นใหม่ หากเราต้องการให้ทรัพยากรบุคคลของประเทศมีคุณภาพ ทุกอย่างเริ่มต้นจากอาหารที่บริโภคเข้าไป

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เราควรเปลี่ยน ไม่ใช่เพียงแค่ระบบห่วงโซ่อาหารอย่างเดียว แต่เราต้องปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับเด็กไทยด้วย”

โครงการ We Grow ที่โรงเรียนวนิษาร่วมมือกับกรีนพีซนั้น เน้นให้เด็กเรียนรู้เกษตรกรรมเชิงนิเวศอย่างแท้จริง โดยเด็กๆ จะได้เรียนตั้งแต่วิธีทำแปลงผักไปจนถึงวิธีทำปุ๋ยหมักโดยมีกรีนพีซเป็นพี่เลี้ยง หลังจากนั้นโรงเรียนจะเป็นผู้สานต่อเองเพื่อให้โครงการนี้ยั่งยืนต่อไป

“ผมรู้สึกภูมิใจในตัวเด็กๆ มาก อย่างน้อยพอเขาโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะได้ซึมซับสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้ในตัว และขยายไปสู่ครอบครัวเขา ฉะนั้น สิ่งที่เราทำก็คือ การสร้างภูมิต้านทานทางความคิดให้กับเด็ก” สิรภพกล่าว

โครงการ We Grow ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองเป็นจำนวนมาก สิรภพเล่าว่า จริงๆ แล้วผู้ปกครองต่างก็เป็นห่วงบุตรหลานของตัวเองกันทั้งนั้น และรับรู้ถึงสถานการณ์ความปลอดภัยอาหารในประเทศว่าไม่ปลอดภัย เมื่อโครงการนี้เกิดขึ้น ผู้ปกครองจึงแสดงท่าทีสนใจ นอกจากนั้นยังลงมือปลูกผักรวมกับลูกๆ ของตัวเองด้วย

ตรีชฏา มโนพฤกษ์ คุณแม่ของน้องออโต้ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ทำให้เธอมั่นใจว่าลูกได้รับสิ่งที่ดีที่สุด นอกจากนั้นแล้วที่บ้านของเธอยังปลูกผักไว้รับประทานเอง เพื่อให้ลูกได้รับอาหารปลอดภัยทั้ง 3 มื้อ ซึ่งเธอเชื่อว่าผลจากการทานผักปลอดสารพิษช่วยให้ช่วยให้ลูกของเธอมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

กับปัญหาเรื่องเด็กไม่กินผักนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนเล่าว่า การให้เด็กได้สัมผัสกระบวนการทำเกษตรเชิงนิเวศด้วยตนเองจะช่วยให้เด็กภูมิใจในผลผลิตที่ตัวเองลงมือปลูก เมื่อถึงมื้อกลางเด็กจะไม่เขี่ยผักทิ้งและทานผักเองได้ง่ายขึ้น

“ก่อนหน้านี้เด็กบางคนโตมาโดยไม่ได้รับการส่งเสริมให้กินผัก เน้นเนื้อหมู เนื้อไก่ แต่พอเขาได้มาปลูกเอง สร้างเอง ทำเองทุกอย่าง และคิดเมนูเอง เขาก็ต้องกินแบบจำยอมในช่วงแรกๆ หลังๆ ร่างกายเริ่มคุ้นชินกับอาหารว่าผักไม่ได้ขมนะ รวมถึงเขายังภูมิใจในผลงานตัวเองด้วย” สิรภพกล่าว

นอกจากนั้น สิรภพเสนอว่า การจะเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่ระบบอาหารกลางวันส่วนหนึ่งต้องเริ่มจากคณะผู้บริหารโรงเรียนด้วย กล่าวคือ ผู้บริหารโรงเรียนควรให้ความสำคัญต่อคุณภาพอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน เพราะผลที่ได้จะเป็นผลระยะยาว ซึ่งจะดีต่อตัวเด็กเองในอนาคต

หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วประเทศ เขามองว่า ควรเริ่มเปลี่ยนจากล่างไปสู่บน ดูจะเห็นเส้นทางที่ชัดเจนมากกว่า เพราะการรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐคงเป็นได้ยาก สิรภพยังเล่าถึงแนวทางในอนาคตของโครงการนี้ว่า

“เราอยากให้โครงการปลูกผักในโรงเรียนขยายออกไปสู่ชนบทมากขึ้น เริ่มจากเล็กไปใหญ่ ทำดีให้คนอื่นเห็น ตอนนี้ก็มีโรงเรียนอื่นเข้ามาดูงานที่โรงเรียนเราด้วย ซึ่งวิทยากรก็ไม่ใช่คุณครูนะ แต่เป็นตัวเด็กๆ เอง เรายกให้เขาเลย การปลูกผักในโรงเรียนก็เหมือนการปลูกสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก แล้วโรงเรียนอื่นๆ ที่เขามาดูงานก็ได้แนวคิดนี้ไปด้วย สักวันหนึ่งเขาก็จะเห็นว่า โครงการแบบนี้ดีต่อแผ่นดินอย่างไร เป็นประโยชน์ต่อโลกเราอย่างไร ให้แนวคิดนี้มันกระจายออกไปแล้วประเทศชาติก็จะดีขึ้นด้วย”


อ้างอิง
www.thaihealth.or.th
www.globalnutritionreport.org

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า