เรื่อง : อารยา คงแป้น
ภาพ : ศุภโชค พิเชษฐ์กุล
อากาศต้นมีนาคมร้อนอย่างไม่น่าให้อภัย สะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีดูยาวไกลไม่สิ้นสุด เราเดินตะลุยแดดเข้าไปยังอาคารปูนเปลือยของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส หลังจากได้ที่ทางสำหรับนั่งสนทนา ด้วยความสงสัย จึงถามเธอผู้คลุกคลีตีโมงอยู่กับความเป็นไปของสภาพอากาศว่า อากาศร้อนสามารถส่งผลให้คนเป็นบ้าได้จริงหรือไม่
“ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน เพราะแต่ละคนยังทนความเจ็บปวดได้ไม่เท่ากันเลย สภาพอากาศมันมีผลต่อจิตใจเราอยู่แล้ว บางคนอารมณ์เสียง่ายก็ไปเร็ว บางคนความอดทนสูงแต่ภูมิต้านทานต่ำก็ไม่ไหวเหมือนกัน” นั่นคือคำตอบของ ธนวรรณ มิลินทสูต ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศประจำสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ชีวิตผู้ประกาศข่าวของเธอเริ่มต้นตั้งแต่เรียนจบ เริ่มจากช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ สู่ไอทีวียุคบุกเบิกและไทยพีบีเอสจนถึงปัจจุบัน ในยุคแรกที่ไอทีวีเธอรับหน้าที่อ่านข่าวบันเทิง เรื่อยมาถึงข่าวเที่ยงสุดสัปดาห์ จนกระทั่งเข้าสู่ยุคแพไอทีวีใกล้แตก เธอได้รับหน้าที่ใหม่คืออ่านข่าวพยากรณ์อากาศ
“ตอนนั้นไอทีวีมาถึงช่วงกำลังจะถูกปิด มันก็มีคนที่กระโดดออกไปทำที่อื่น ตอนนั้นเราเหลือคนน้อยมาก แล้วทีมข่าวพยากรณ์อากาศก็ลาออกกันไปหมด ผู้ใหญ่ก็มาขอ ว่าอย่าลาออกเลย”
หน้าที่ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศจึงตกอยู่ในความรับผิดชอบของเธอนับแต่นั้นมา
เจ็ดปีสำหรับข่าวพยากรณ์อากาศ และ 20 กว่าปี สำหรับอาชีพผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์
01
ข่าวพยากรณ์อากาศไทยพีบีเอสแบ่งออกเป็นสามช่วงเวลา ธนวรรณรับผิดชอบสองช่วงหลัง คือเที่ยงและค่ำ ข่าวพยากรณ์อากาศของทีวีสาธารณะไม่มีโปรดิวเซอร์ เพราะฉะนั้นงานทุกอย่างผู้ประกาศต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ตั้งแต่เขียนสคริปต์ไปจนถึงกรอกข้อมูลทำกราฟิก
“เป็นงานที่เหนื่อยมาก” เธอบอก
แม้การทำงานคนเดียวจะเหนื่อยและยาก แต่สิ่งที่ยากมากกว่าคือการทำลายอคติของคนดู
“หลายคนไม่เชื่อว่าพยากรณ์อากาศมันจะตรงจริงๆ” เธอว่า
เรื่องความแม่นยำ ธนวรรณบอกว่ากรมอุตุนิยมวิทยาให้เครดิตความแม่นยำของตัวเองอยู่ที่ 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นแบบนั้นเพราะอากาศเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ แถมคาดการณ์ยากอีกต่างหาก พูดจบก็หยิบกระดาษตรงหน้าขึ้นมาโบก
“เราจะคาดการณ์ได้ไหมว่าลมจะเดินทางไปในทิศทางใดบ้าง” เธอถาม
“คิดว่าไม่ได้” เราตอบ
“ยิ่งประเทศเราเป็นโซนเขตร้อน อากาศมันจะไม่นิ่งเหมือนฝั่งยุโรป ยิ่งกว่านั้นประเทศเรายังเป็นประเทศที่มีชัยภูมิที่ดี มีภูเขาเป็นเกราะกำบัง แต่ก็คาดการณ์ได้ยาก” เธอให้ความรู้เพิ่มเติม
ธนวรรณบอกว่า ในยุคก่อน การทำแผนที่ประกอบการรายงานข่าวจะใช้วิธีลากเส้นเอาเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดมหันต์สำหรับนักอุตุนิยมวิทยาและนักบินที่สามารถอ่านแผนที่อากาศเป็น แถมยังเป็นหนทางสู่ความตายของชาวประมงที่ไม่รู้ความเรื่องแผนที่อากาศ
“ทุกช่องทำผิดกันมาแล้วทั้งนั้น จนมีนักบินคนหนึ่งซึ่งอายุมากแล้วเขายอมไม่ได้ เขาก็บอกว่าการลากเส้นแบบนี้มันเป็นการฆ่าคนชัดๆ เพราะมันทำให้เกิดความสับสนต่อนักบินหรือคนเดินเรือ คนที่ดูเขาไม่รู้ว่าความจริงจะมีคลื่นลมแรงหรือเปล่า ถ้าเขาออกเรือไปเขาก็อาจจะตายได้เลย เรื่องอากาศมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก”
“ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับอากาศมานาน เชื่อไหมว่าโลกจะแตก” ช่างภาพของเราถามด้วยความสงสัย
“ไม่คิดว่ามันจะแตก แต่มันจะเปลี่ยนแปลงไปจนเราทนไม่ได้ สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา คือจะเห็นว่าฝนไม่ตกเลยในปีนี้ เราคาดว่าปีนี้จะแล้งหนัก มันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ จากการทำลายของมนุษย์ ทำให้สภาพอากาศมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คาดการณ์ยากขึ้น ลำบากขึ้น”
02
ตลอดเวลาเจ็ดปีของการอ่านข่าวพยากรณ์อากาศ ธนวรรณบอกว่าโลกของเทคโนโลยีการออกอากาศก้าวล้ำไปมาก ทั้งกราฟิกที่เหมือนจริงมากขึ้น ทั้งแอ็คติ้งของผู้ประกาศที่สร้างความหรรษาให้ผู้ชม แต่สิ่งที่ยังคงไม่แปรเปลี่ยนคือเนื้อหา และถ้าพูดกันตามตรง ตัวเธอก็ยังคงยังรักษาสไตล์การอ่านข่าวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว – เรียบร้อย ลื่นไหล
เธอบอกว่าที่เห็นอ่านข่าวแบบนั้นน่ะ สัญชาตญาณล้วนๆ นะ ไม่อาศัยแอ็คติ้ง
“เราอ่านไปตามธรรมชาติ เพราะถึงเวลานั้นสมองเราต้องทำงานหลายอย่าง ตาก็ต้องคอยมองกล้อง สมองก็ต้องคิดว่าต้องพูดอะไรต่อ”
“ไม่คิดจะเล่นกับกราฟิกเยอะๆ เหมือนช่องอื่นบ้างหรือ” เราตั้งคำถาม
“คิดว่ามันไม่จำเป็น แล้วถ้าสถานีอยากได้แบบนั้นก็ให้คนอื่นมาทำแทนดีกว่า” เธอตอบ
ถึงจะบอกว่าไม่จำเป็น แต่เธอยังมองว่าการรายงานข่าวควบคู่กับกราฟิกตื่นตาตื่นใจเป็นสไตล์ของใครของมัน ถ้าคนดูมีความสุข สถานีกับผู้ประกาศชอบมัน…ก็โอเค
เทคโนโลยีการออกอากาศอาจเป็นเครื่องตกแต่งเพื่อดึงดูดใจคนดูด้วยกราฟิกสามมิติอันแปลกตา แต่สิ่งสำคัญกว่าคือ เทคโนโลยีทางด้านการพยากรณ์ก็ก้าวล้ำตามโลกไปด้วย
“ตอนนี้บริษัทดาวเทียมเข้ามาเจาะตลาดกลุ่มข่าวพยากรณ์อากาศ โดยการเสนอขายภาพดาวเทียม ที่สมัยนี้มันสามารถจับกระแสน้ำอุ่น-น้ำเย็นได้เลย ซึ่งบริษัทที่เอามาเสนอขายเขาตั้งราคาไว้ 60 ล้านบาทต่อปี เทคโนโลยีตัวนี้มันก้าวหน้ามาก แทบไม่ต้องใช้ผู้ประกาศแล้ว ถ้าคนดูอ่านสัญลักษณ์ออกก็รู้เรื่องเลย แล้วมันสามารถซูมเข้าไปในแต่ละประเทศได้ สมมุติเกิดเหตุไฟป่าเราก็ซูมเข้าไปตรงนั้น แล้วมันจะมีข้อมูลขึ้นให้อ่านตามได้เลย ว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น กินพื้นที่เท่าไร”
แต่ด้วยราคาที่แพงหูฉี่ จึงทำให้ยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องใดในบ้านเรากล้ากัดฟันนำมาใช้ ต่างจากสถานีข่าวระดับโลก ที่หันเป็นเล่นกับระบบภาพถ่ายดาวเทียมแบบนี้แล้ว
“เทคโนโลยีนี้ BBC กับ CNN เขาซื้อไปใช้ เพราะเขาเป็นสื่อที่เข้าถึงทั่วทั้งโลก ถ้าเราจะใช้บ้างมันก็เกินตัว เหมือนร้านขายของชำที่ขายของแพง”
03
ในโลกของวงการข่าว โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ประกาศ คล้ายจะเป็นสายงานที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสให้หยุดพัก เพราะผู้ประกาศข่าวที่ดังที่สุดในประเทศยังขนานนามงานตัวเองว่าเป็น ‘กรรมกรข่าว’ ไม่ต่างกัน ธนวรรณทำงานตลอดทั้งสัปดาห์ เพราะข่าวพยากรณ์อากาศเป็นรายการที่ไม่สามารถอัดเทปตุนไว้ได้ และข้อมูลสำหรับออกอากาศยังต้องอัพเดตทุกๆ ครึ่งของครึ่งวัน
“รู้สึกว่าตั้งแต่ทำงานไม่เคยถูกกักบริเวณมากขนาดนี้มาก่อน แต่จะทิ้งก็ไม่ได้ เพราะเป็นห่วง อีกอย่างก็ไม่มีใครเข้ามาแทน”
ถึงจะรู้สึกเช่นนั้น แต่เธอบอกว่า ข่าวพยากรณ์อากาศมีสเน่ห์เฉพาะตัว
“อากาศมันเปลี่ยนแปลงบ่อย ความเปลี่ยนแปลงของอากาศมันทำให้เราต้องค้นหาคำตอบอยู่เรื่อยๆ นอกจากเราต้องรู้ว่าอากาศมันเปลี่ยนไปอย่างไร เราต้องรู้ด้วยว่ามันเปลี่ยนเพราะสาเหตุอะไร มีผลกระทบมาจากไหน ทุกวันนี้การรายงานอากาศคงจะพูดถึงอากาศอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพูดถึงสภาพแวดล้อมด้วย”
“เบื่อไหมกับการทำงานแบบเดิมทุกวันติดต่อกันนานๆ?”
“ไม่รู้ว่าเบื่อหรือเปล่า เราทำงานหนักมากจนไม่มีเวลาคิด” เธอตอบพร้อมบอกว่า นี่แหละคือคำถามที่ทำให้เธอติดสนใจตอบรับการขอสัมภาษณ์ของเรา
ธนวรรณบอกว่า ไม่มีใครหนีการทำงานพ้น พร้อมเปรียบเปรยให้เราเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าการทำงานก็เหมือนการเลี้ยงสัตว์หรือปลูกต้นไม้ ดูแลไปนานๆ ความผูกพันก็ก่อตัว
“สมมุติแมวของเรา คนเดินผ่านมาเห็นมันก็เป็นแค่แมว แต่ถ้ามองในมุมของเราเราจะรู้ว่าวันนี้เขาแปลกไปหรือเปล่า ถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เราใส่ใจหรือสนใจเราจะมองไม่เห็นสิ่งต่างๆ แบบนี้ กับคำถามข้อนั้นเลยตอบไม่ได้ว่าเบื่อหรือเปล่า มันกลายเป็นความผูกพันไปโดยไม่รู้ตัว”
04
“ข่าวพยากรณ์อากาศมีความสำคัญอย่างไร” นี่คือคำถามปิดท้าย
“ถ้าคิดว่าจะไม่ออกไปไหน จะอยู่แต่บ้านมันก็ไม่สำคัญ อากาศมันสำคัญสำหรับทุกคน ที่บอกว่า Love is all around นั่นมันไม่จริงหรอก Weather is all around ต่างหากที่เป็นของจริง”
หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ Face of entertainment นิตยสาร Way ฉบับที่ 72 ปี 2014 ในชื่อบทความว่า Weather is all around |