จากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการครบวงจร

ปาฐกถาพิเศษ ‘รำลึก 11 ปี นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์’

โดย จอน อึ๊งภากรณ์

11 มกราคม 2562

ผมได้รับประสบการณ์ในเรื่องระบบรัฐสวัสดิการของประเทศสหราชอาณาจักรสองครั้งในชีวิต ครั้งแรกเมื่อวันหนึ่งในเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2520 ในเวลานั้นคุณพ่อคุณแม่ ตัวผมเอง และน้องชายของผม ได้พักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านในลอนดอน วันนั้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีหลังจากที่คุณพ่อได้เดินทางมาประเทศอังกฤษหลังจากเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519 ในวันรุ่งขึ้นคุณพ่อมีกำหนดการที่จะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อพบกับกลุ่มคนไทยในสหรัฐที่เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการคืนประชาธิปไตยในประเทศไทย ขณะนั้นเป็นเวลาค่ำ อยู่ดีๆ คุณพ่อก็หมดสติ คุณแม่รีบหมุนโทรศัพท์หมายเลขฉุกเฉิน 999 และอีกประมาณสิบนาทีต่อมามีรถพยาบาลมารับคุณพ่อไปส่งโรงพยาบาลในละแวกใกล้เคียง วันรุ่งขึ้นคุณพ่อได้รับการผ่าตัดเส้นเลือดในสมอง และคุณพ่อยังคงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้นเป็นเวลาประมาณสองสัปดาห์จึงได้ย้ายไปอยู่สถานพักฟื้นบำบัดเพื่อฝึกฝนการพูดออกเสียง การใช้มือ และการเดิน กว่าคุณพ่อจะกลับมาอยู่บ้านอีกครั้งเป็นวันก่อนวันคริสต์มาส ระยะเวลาสามเดือนหลังจากที่เกิดเส้นโลหิตแตก และต่อจากนั้นเป็นเวลาอีกหลายเดือน คุณพ่อยังคงต้องไปฝึกกายภาพบำบัดและอรรถบำบัดเป็นประจำสัปดาห์ละสองวันโดยมีรถพยาบาลมารับส่ง

คุณพ่อไม่ได้มีสัญชาติอังกฤษ มีแค่ใบอนุญาตพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่ตลอดระยะเวลาของการรักษาเป็นระยะเวลาหลายเดือน ทางครอบครัวไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายใดๆ แม้แต่ปอนด์เดียว โชคดีที่คุณพ่อเกิดอาการป่วยก่อนที่จะออกเดินทางไปสหรัฐอเมริกา เพราะถ้าเหตุเกิดที่นั่นครอบครัวเรามีหวังจะต้องล้มละลาย

ประสบการณ์ครั้งที่สองของผมเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2555 เมื่อผมเดินทางไปเยี่ยมคุณแม่ซึ่งอายุ 93 ปี และกำลังอดข้าวอดน้ำอยู่ที่แฟลตของคุณแม่ที่ลอนดอน ตอนที่ผมไปถึงคุณแม่มีอาการอ่อนแรงมากจนพูดไม่ได้ แต่ก็ยังรู้เรื่องการมาเยี่ยมของผม คุณแม่นอนพักอยู่ในเตียงนอนของคุณแม่ ในห้องนอนของคุณแม่ ในเวลากลางวันมีพนักงานจากองค์กรสาธารณประโยชน์ในละแวกนั้นมาเฝ้าดูแลคุณแม่วันละสองครั้ง ครั้งละประมาณสองชั่วโมง ซึ่งก่อนหน้าที่คุณแม่จะป่วยหนัก พนักงานเหล่านั้นเคยเข้ามาช่วยคุณแม่ทำความสะอาดแฟลต และช่วยทำงานบ้านอื่นๆ เป็นประจำ ส่วนในเวลากลางคืนช่วงนั้นมีพยาบาลวิชาชีพมานั่งเฝ้าดูแลคุณแม่ในห้องนอนทุกคืน โดยให้ยาต่างๆ รวมทั้งมอร์ฟีนแก่คุณแม่ระหว่างที่เฝ้าดูแล ผมเองก็นอนพักอยู่ในห้องนอนข้างเคียง พอมาถึงตอนกลางวันหมอประจำของคุณแม่ก็จะแวะมาเยี่ยมเพื่อตรวจสภาพและให้ยาคุณแม่เพิ่มเติม หมอคนนี้เป็นหญิงวัยประมาณ 40 ปี อยู่ประจำคลินิกในถนนใกล้เคียง บริการทั้งหมดที่คุณแม่ได้รับเป็นบริการปกติในระบบรัฐสวัสดิการของสหราชอาณาจักรซึ่งไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

ผมอยู่กับคุณแม่ประมาณห้าวัน คุณแม่ก็จากไปอย่างสงบ โดยผมสังเกตว่าคุณแม่ได้หยุดหายใจ ผมจึงโทรไปแจ้งหมอของคุณแม่ หมอก็รีบมาตรวจ และผมสังเกตเห็นว่าหมอมีอาการโศกเศร้าและทำท่าจะร้องไห้ สิ่งเหล่านี้คือความประทับใจที่ผมมีต่อระบบรัฐสวัสดิการของอังกฤษ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางกว่าเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นระบบที่ดูเหมือนจะเอาความต้องการของผู้รับบริการมาเป็นศูนย์กลาง เช่น ไม่ได้บังคับคุณแม่ของผมให้นอนโรงพยาบาล แต่กลับนำบริการมาสู่คุณแม่ที่บ้าน ทั้งๆ ที่คุณแม่ก็เป็นหญิงวัยชราคนธรรมดาคนหนึ่ง

ผมขอเล่าเพิ่มเติมอีกนิดว่า คุณแม่มีความประทับใจสูงกับพนักงานขององค์กรสาธารณประโยชน์ที่มาช่วยดูแลและช่วยงานบ้านของคุณแม่ตั้งแต่ก่อนที่คุณแม่จะอดข้าวอดน้ำ พนักงานกลุ่มนี้เป็นแม่บ้าธิ์นวัยกลางคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งอพยพมาทำงานในประเทศอังกฤษโดยได้รับค่าแรงค่อนข้างน้อย ในวันเผาศพคุณแม่ยังปรากฏว่ามีผู้ดูแลคนหนึ่งได้สละเวลาว่างของตนเพื่อมาร่วมงานด้วย


ระบบ ‘รัฐสวัสดิการ’ เป็นระบบโครงสร้างทางสังคมที่รัฐทำหน้าที่ดูแลกำกับให้ประชาชนทุกส่วนมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิตในระดับที่พออยู่พอกินอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งหลักประกันดังกล่าวมักจะประกอบด้วยหลักประกันถ้วนหน้าในด้านที่อยู่อาศัย ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านบริการทางสังคมอื่นๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิต เรียกได้ว่าเป็นระบบสวัสดิการที่ทุกคนมีสิทธิได้รับตั้งแต่ ‘ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’

ในประเทศที่มีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง เช่นหลายๆ ประเทศในยุโรป ประชาชนจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาพยาบาลที่จำเป็น หรือในการเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับปริญญา นอกจากนั้นก็มักจะมีโครงการจัดสรรบ้านเช่าหรืออพาร์ทเมนท์ที่มีค่าเช่าต่ำให้กับครอบครัวที่ขาดที่อยู่อาศัยโดยทั่วถึง และประชาชนที่ว่างงาน เกษียณอายุ หรือมีเหตุทำงานไม่ได้ จะได้รับการประกันรายได้ที่พออยู่พอกินโดยทั่วถึง

ในการจัดการระบบรัฐสวัสดิการ รัฐจะนำรายได้จากการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า รวมทั้งรายได้จากการมีส่วนร่วมของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคม มาเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการถ้วนหน้าด้านต่างๆ ดังนั้นระบบรัฐสวัสดิการจึงเป็นระบบทางสังคมที่ประชาชนทุกส่วนมีส่วนร่วมจ่ายตามกำลังความสามารถของตนซึ่งขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจ และในขณะเดียวกันประชาชนทุกส่วนจะได้รับสิทธิที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงสวัสดิการสังคมต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบรัฐสวัสดิการ

ระบบรัฐสวัสดิการมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับระบบการ ‘สงเคราะห์’ เฉพาะคนยากคนจน เช่น ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของประเทศไทยที่รัฐบาล คสช. ได้ริเริ่ม ทั้งนี้เพราะระบบรัฐสวัสดิการเป็นเรื่องของสิทธิที่เท่าเทียมกันที่ทุกคนได้รับในฐานะความเป็นมนุษย์ ไม่ว่ารวยหรือจน เป็นการยืนยันศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ในขณะที่ระบบการสงเคราะห์คนยากคนจนนั้น มีลักษณะเหมือนการจัดสรรเศษเล็กๆ น้อยๆ ของความมั่งคั่งของประเทศเพื่อช่วยเหลือประทังชีวิตของคนยากคนจน โดยผู้ที่ประสงค์จะรับการสงเคราะห์จะต้องพิสูจน์ความยากจนและความไร้ที่พึ่งของตนให้ประจักษ์จึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือ จึงเป็นเรื่องของการบั่นทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หากพิจารณาโดยผิวเผินอาจดูเหมือนระบบการสงเคราะห์เฉพาะคนที่ยากจนจริงๆ น่าจะมีประสิทธิภาพเหนือกว่าระบบรัฐสวัสดิการในด้านการนำทรัพยากรไปช่วยเหลือประชาชนที่มีความจำเป็นมากที่สุดเป็นการเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงระบบการสงเคราะห์คนยากคนจนมีข้อด้อยหลายประการเมื่อเทียบกับระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างเช่น

  1. ระบบสงเคราะห์เป็นการแบ่งแยกประชาชน ทำให้เกิด ‘พวกเขา’ ‘พวกเรา’ หรือ ‘ผู้ให้ความเมตตา’ กับ ‘ผู้รับความเมตตา’ ก็ว่าได้
  2. เพื่อเข้าถึงระบบสงเคราะห์ ประชาชนจะต้องพิสูจน์ ‘ความจน’ ของพวกตน เป็นการเสียศักดิ์ศรี และทำให้ผู้รับการสงเคราะห์อาจรู้สึกถูกรังเกียจ ถูกตีตรา หรือรู้สึกว่าตนได้กลายเป็นภาระต่อสังคม มีงานวิจัยชี้ชัดว่าผู้มีสิทธิบางส่วนจะไม่ยอมสมัครรับความช่วยเหลือทั้งๆ ที่มีความจำเป็น
  3. บริการทางสังคมที่มีลักษณะสงเคราะห์มักกลายเป็นบริการคุณภาพต่ำที่ได้รับงบประมาณน้อย เนื่องจากเป็นบริการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่ไม่ค่อยมีเสียงที่จะเรียกร้องอะไร
  4. ลักษณะการแยกสิทธิระหว่างประชาชนที่อยู่เหนือเส้นแบ่งความยากจนกับประชาชนที่อยู่ใต้เส้นแบ่งดังกล่าว ย่อมสร้างความอยุติธรรม และทำให้ประชากรที่มีความจำเป็นบางส่วนอดได้รับสวัสดิการทางสังคมที่ควรได้รับ
  5. การบริหารระบบการสงเคราะห์คนจนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนและไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับการบริหารระบบรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่ไม่ต้องมาจำแนกประชาชน
  6. ผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบสงเคราะห์มักจะคัดค้านการถูกเก็บภาษีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในสวัสดิการที่ตนเองไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์ ทำให้มีแรงกดดันตลอดที่จะคุมค่าใช้จ่ายให้ต่ำ
  7. ระบบสงเคราะห์เฉพาะคนจนจะสู้ระบบรัฐสวัสดิการไม่ได้ในด้านของการแก้ไขช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน

ระบบรัฐสวัสดิการนั้นเป็นระบบการจัดการด้านความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่มีความสอดคล้องกับอุดมการณ์ร่วมของมนุษยชาติในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สะท้อนโดยข้อตกลงระหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (พ.ศ. 2491) ข้อ 3. “ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล” และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (พ.ศ. 2519) ข้อ 11. “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ…” ข้อ 12. “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้…” ข้อ 13. “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษา…”

ระบบรัฐสวัสดิการได้เกิดขึ้นทั้งในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมและในประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มีนักเศรษฐศาสตร์แนวเสรีนิยมหลายคนเชื่อว่า ระบบรัฐสวัสดิการเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างความรุ่งเรืองของระบบทุนนิยม โดยเฉพาะในแง่ของการพัฒนาคุณภาพของคนในสังคมอย่างทั่วถึง

สำหรับประเทศไทยนั้นยังขาดระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร ทั้งยังขาดนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นพลังสำคัญในการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการ โดยอาศัยความรู้ความสามารถทางวิชาการมาช่วยออกแบบโครงสร้างและกลไกของระบบ รวมทั้งออกแบบระบบภาษีที่จะช่วยสร้างรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของระบบรัฐสวัสดิการดังกล่าว

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร แต่จากการบุกเบิกของบุคคลสำคัญอย่าง ศ.นิคม จันทรวิทุร และ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ประกอบกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ประเทศไทยจึงมีส่วนประกอบสำคัญของระบบรัฐสวัสดิการครบวงจรอยู่สองส่วน ได้แก่ ระบบประกันสังคม กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ทั้งสองส่วนนี้ยังมีข้อจำกัดที่จะต้องก้าวข้ามต่อไป สำหรับระบบประกันสังคมนั้นยังด้อยในด้านโครงสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และยังครอบคลุมคนทำงานเพียงบางส่วนเท่านั้น ส่วนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถูกบั่นทอนโดยงบประมาณค่าใช้จ่ายของระบบกองทุนรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและครอบครัว และโดยโครงสร้างการแพทย์พาณิชย์ที่แย่งชิงทรัพยากรจากบริการของรัฐอย่างต่อเนื่อง

ประเทศของเราเป็นประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจปานกลาง แต่ในขณะเดียวกันเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลกประเทศหนึ่ง โดยประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุด 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองทรัพย์สินเกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินทั้งหมด (ตามคำแถลงของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้) ประเทศไทยจึงมีความเป็นไปได้ในทางเศรษฐกิจและมีความเหมาะสมที่จะสร้างระบบรัฐสวัสดิการครบวงจร เพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดีโดยทั่วถึง และเพื่อลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง

ในปัจจุบันบรรดากลุ่มและเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ที่เคยมีประสบการณ์เรียกร้องและผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร่วมกับทีมงานของหมอสงวน กำลังเดินหน้าเรียกร้องให้เกิดระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงและกำจัดความยากจน คำถามสำคัญคือ ระบบรัฐสวัสดิการแบบครบวงจรดังกล่าวจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร?

ในประวัติศาสตร์สากลนั้น ระบบรัฐสวัสดิการมักจะเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงานและผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาล เช่น กรณีของพรรคแรงงานของสหราชอาณาจักรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในกรณีของประเทศไทยนั้นเรายังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีโอกาสเป็นรัฐบาลและเป็นตัวแทนทางอุดมการณ์ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม และทุกวันนี้เรายังไม่มีระบอบประชาธิปไตยที่จำเป็นต่อการผลักดันระบบรัฐสวัสดิการครบวงจรด้วยซ้ำไป

อย่างไรก็ตาม เรามีตัวอย่างของการเกิดขึ้นของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเกิดในยุคที่ประชาธิปไตยในประเทศไทยยังรุ่งเรือง และเกิดจากการริเริ่มออกแบบและศึกษาความเป็นไปได้ของทีมงานนักวิชาการทีมเล็กๆ นำโดยหมอสงวน ประกอบกับการเข้าร่วมผลักดันและสนับสนุนให้ความฝันของหมอสงวนเป็นจริงโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมต่างๆ ซึ่งได้ร่วมกันออกแบบกฎหมายหลักประกันสุขภาพตามแนวของกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้ร่วมกันล่ารายชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายของภาคประชาชนกว่า 8 หมื่นรายชื่อ นอกจากนั้นยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกส่วนที่สามคือ พรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่และพร้อมที่จะชูนโยบายที่จะได้รับความนิยมจากประชาชน ซึ่งในขณะนั้นได้แก่พรรคไทยรักไทย

มาดูสถานการณ์ในปัจจุบัน จะพบว่าเครือข่ายต่างๆ ของภาคประชาสังคมที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อก่อตั้งและเพื่อพยุงรักษาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้ขยายวงออกไปกว้างขวางมากขึ้นและได้ร่วมปรึกษาหารือกับนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบของระบบรัฐสวัสดิการครบวงจรที่เหมาะสมกับสังคมไทย

ข้อเสนอของ ‘เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม’ ซึ่งมีทั้งหมด 13 เครือข่ายภาคประชาสังคม เป็นชุดข้อเสนอ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ประกอบด้วยข้อเสนอสำหรับการสร้างหลักประกันถ้วนหน้าในด้าน 1) การศึกษา 2) สุขภาพ 3) ที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน 4) งาน รายได้ และประกันสังคม 5) ระบบบำนาญ และ 6) สิทธิทางสังคม พหุวัฒนธรรม และบริการสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการปฏิรูประบบภาษีอย่างจริงจัง

ผมจะไม่ลงรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดตามหาอ่านได้ แต่อยากจะยกตัวอย่างบางส่วนให้เห็นภาพ เช่น ในด้านเด็ก เยาวชน และการศึกษา มีข้อเสนอให้รัฐจัดสรรเงินสนับสนุนเด็กและเยาวชนถ้วนหน้า ตั้งแต่เกิดใหม่ถึงอายุ 18 ปี รวมทั้งระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัยหรืออนุปริญญา/ปวส. จำนวน 3,000 บาท/คน/เดือน (คิดตามอัตราค่าครองชีพในปัจจุบัน) ส่วนในด้านบำนาญผู้สูงอายุมีข้อเสนอให้เปลี่ยน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ มาเป็น ‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3,000 บาท/คน/เดือน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้ในระดับไม่ต่ำไปกว่าเส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของประเทศในปัจจุบัน

ในเรื่องการเก็บภาษีให้เพียงพอต่อระบบรัฐสวัสดิการครบวงจร ทางเครือข่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอหลายประการ เช่น ให้มีการเก็บภาษีจากกำไรหุ้น การเก็บภาษีที่ดินส่วนที่เกิน 10-20 ไร่ การเก็บภาษีมรดกอย่างจริงจัง การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม การปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และการปฏิรูประบบราชการ เป็นต้น

ผมไม่ได้คิดว่าข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมและนักวิชาการแนวร่วมจะมีความสมบูรณ์ในขณะนี้ แต่อย่างน้อยเป็นการแสวงหาแนวทางพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการในประเทศไทยให้มีความคืบหน้า ภายหลังจากที่หยุดชะงักมานานหลายปี และหากประเทศไทยสามารถกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมสามารถเจรจาต่อรองกับพรรคการเมืองบางส่วนได้สำเร็จ ความหวังในเรื่องการพัฒนาระบบรัฐสวัสดิการของประเทศไทยคงจะค่อยๆ มีความเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกระแสการเรียกร้องจากภาคประชาสังคมมีพลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีนักวิชาการหัวก้าวหน้ามาร่วมขบวนเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในการมองไปข้างหน้าสู่ระบบรัฐสวัสดิการครบวงจร เราไม่ควรลืมที่จะหาทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เข้มแข็ง มีคุณภาพ และประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นระบบสุขภาพที่ประชากรทั้งประเทศนิยมรับบริการ เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวผมขอเสนอภารกิจสำคัญบางประการที่ควรจะต้องให้ความสำคัญดังต่อไปนี้

  1. จำเป็นต้องมีการรวมกองทุนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กับกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการกับครอบครัว เพื่อสร้างระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวที่มีมาตรฐานและคุณภาพสูง
  2. ควรจะต้องมีมาตรการที่ทั้งเอื้ออำนวยและบังคับให้คลินิกและโรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้/ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เช่น อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้รับบริการทั้งหมด) ซึ่งจะช่วยลดความแออัดของการรับบริการ โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่
  3. หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพควรต้องมีบริการที่เอื้ออำนวยความสะดวกมากขึ้นต่อผู้รับบริการ เช่น เปิดคลินิกตอนเย็นและในวันหยุดราชการ และมีบริการการรับนัดและจ่ายบัตรคิวออนไลน์ที่ลดเวลาการรอคิวเพื่อรับบริการ เป็นต้น

เราต้องช่วยกันสานงานที่หมอสงวนได้ริเริ่มบุกเบิกให้เดินหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสังคมที่ให้หลักประกันด้านคุณภาพชีวิตแก่ประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า