หลังการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลหักปากกาเซียนชนะการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 151 ที่นั่ง พร้อมทั้งประกาศจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค รวมเป็นที่นั่ง ส.ส. มากถึง 312 ที่นั่ง ทว่าการจัดตั้งรัฐบาลกลับไม่ราบรื่นเนื่องด้วยท่าทีของ ส.ว. อันเป็นปราการด่านสำคัญในการโหวตเลือกนายกฯ และกาารจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้
รัฐธรรมนูญ 2560 ตามบทเฉพาะกาล ระบุให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. อีก 500 คน ทำให้พรรคก้าวไกลและพรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งหรือ 376 เสียงขึ้นไป โดยต้องอาศัยเสียง ส.ว. อีก 64 คน เป็นอย่างน้อย เพื่อโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ตามครรลองประชาธิปไตย
ทว่าด้วยท่าทีของ ส.ว. ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่โหวตตามมติประชาชน นั่นจึงทำให้การโหวตเลือกนายกฯ และการจัดตั้งรัฐบาลยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่ ณ ขณะนี้ จนนำไปสู่การตั้งคำถามต่อเสียงโหวตจาก ส.ว. ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าติดตามว่า หาก ส.ว. ไม่โหวตตามมติของประชาชน จะเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองไทยในอนาคต
รัฐบาลประยุทธ์รักษาการต่อ
ด้วยการที่รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่าจะต้องโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้ภายในเมื่อไหร่ หรือการประชุมรัฐสภาจะต้องได้ข้อยุติภายในกี่ครั้ง รวมไปถึงไม่ได้กำหนดข้อห้ามในการเสนอชื่อซ้ำ ตราบใดที่แคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อไม่ขาดคุณสมบัติ
หมายความว่าหาก ส.ว. ไม่โหวตตามมติของประชาชนจนทำให้การลงมติเลือกนายกฯ ไม่สำเร็จ และ ส.ส. พรรคเสียงข้างมากยังคงยืนยันตามเดิมก็มีโอกาสที่จะเกิดการโหวตนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อ ส.ว. จนกว่าจะมีมติถึง 376 เสียง หรือหากยืดเยื้อกว่านั้นก็คือจนกว่า ส.ว. จะหมดวาระ ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลรักษาการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถอยู่ต่อได้โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อเมื่อมีการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรีชุดใหม่
ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 169 กำหนดไว้ว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีพ้นตำแหน่งจากการยุบสภา ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และรัฐบาลรักษาการถูกจำกัดอำนาจโดยจะไม่สามารถอนุมัติงานหรือโครงการที่ก่อภาระผูกพันคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ยกเว้นกรณีที่กำหนดไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายหรือถอดถอนบุคลากรของรัฐและอนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินจำเป็นได้ เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อน รวมไปถึงห้ามใช้ทรัพยากรของรัฐที่อาจมีผลในการเลือกตั้ง
แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่านระยะสั้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้การบริหารราชการของรัฐบาลต้องหยุดชะงัก แต่หากการเลือกนายกฯ ใช้ระยะเวลายาวนาน อาจทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะกึ่งสุญญากาศทางการเมืองที่รัฐบาลรักษาการมีบทบาท แต่ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ
กล่าวได้ว่า การที่ ส.ว. ไม่โหวตตามมติมหาชน อาจทำให้เกิดการโหวตนายกฯ ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งมีผลให้รัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับผลพลอยได้จากความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
เศรษฐกิจชะงัก ความเชื่อมั่นหดหาย
ท่ามกลางสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่แน่นอน อันเนื่องมาจากท่าทีของ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ ที่มีแนวโน้ม ‘โหวตสวน’ เสียงข้างมากของประชาชน ทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า กระบวนการเลือกนายกฯ จะใช้เวลาเนิ่นนานเท่าไร
การโหวตนายกฯ ที่เนิ่นนานเกินไปนั้นมีโอกาสทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเกิดความล่าช้า ส่งผลกระทบต่อการเข้ามาดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ให้ล่าช้าตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญต่างๆ และการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในหลายๆ ภาคส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลใหม่
โดยร่างกฎหมายที่สภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่จำเป็นต้องพิจารณาลำดับต้นๆ ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก็คือ ‘ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567’ ซึ่งจะเป็นประตูด่านแรกในการขับเคลื่อนนโยบายตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ โดยคาดว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเริ่มจัดทำงบในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566
แน่นอนว่าหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้าไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน การจัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็จะล่าช้าตามไปด้วย รวมไปถึงนโยบายหรือกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในวาระเร่งด่วนด้วยเช่นกัน อย่างนโยบายเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาปากท้อง นโยบายเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น
ความไม่แน่นอนและความล่าช้าเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนอาจหยุดชะงัก รวมถึงการลงทุนของภาครัฐก็เช่นกัน ดังนั้นแล้วจุดยืนของ ส.ว. จึงเป็นจุดแปรผันสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศไทยภายในปีนี้
นายกฯ ไม่ตรงปก
ภายใต้สถานการณ์ที่การลงคะแนนเลือกนายกฯ ยืดเยื้อ อาจนำไปสู่แนวทางที่ 8 พรรคร่วมรัฐบาลเสียงข้างมากจะต้องหายุทธศาสตร์ใหม่ โดยเปลี่ยนไปเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนอื่นๆ ซึ่งเป็นคนที่ ส.ว. อาจเห็นพ้องร่วมกัน รวมไปถึงนโยบายและองค์ประกอบรัฐบาลที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาเช่นกัน
หากกรณีถึงที่สุด การเปลี่ยนตัวแคนดิเดตนายกฯ ก็ยังไม่สามารถรวมเสียงจากทั้งสองสภาได้ อาจเปิดทางไปสู่กลไกสุดท้าย นั่นก็คือกลไกเลือก ‘นายกฯ คนนอก’ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 วรรคสอง ที่กำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. สามารถเข้าชื่อไม่ต่ำกว่า 376 เสียง เพื่อเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ นอกบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ก่อนจะลงมติยืนยันโดยใช้คะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกสภา
กล่าวคือถ้า ส.ว. ไม่โหวตตามมติประชาชนจนเกิดการยื้อเยื้อไม่สิ้นสุด อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคร่วมลำดับรองลงมา หรือสุดท้ายอาจมาจากรายชื่อนอกบัญชีแคนดิเดตนายกฯ กลายเป็นนายกฯ คนนอก ที่ ‘ไม่ตรงปก’ ซึ่งไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยที่ว่า พรรคอันดับ 1 ที่รวมเสียงได้เกินครึ่งย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและเสนอชื่อนายกฯ
จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า หาก ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งด้วยกลไกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ไม่ลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงข้างมากได้เป็นนายกฯ และจัดตั้งรัฐบาลด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ม.112 หรือกรณีถือหุ้น iTV ของพิธาก็ตาม ย่อมนำมาซึ่งผลกระทบทางการเมืองที่อาจเป็นภาวะกึ่งสุญญากาศ หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศ ตลอดจนโอกาสที่การเมืองไทยจะเดินไปสู่ทางตันท่ามกลางสภาวะไร้ทางออก หรือ ‘เดดล็อก’ ทางการเมือง หากได้นายกฯ ไม่ตรงปก ซึ่งอาจกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองต่อไปในอนาคต
ท่ามกลางแรงกดดันต่อท่าที ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกฯ รวมไปถึงการคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นเช่นนี้ สังคมไทยคงต้องกลับมาย้อนตั้งคำถามกับ ส.ว. กันอีกครั้งว่า “ส.ว. ชุดนี้จะยังคงไม่โหวตตามมติของประชาชนอยู่อีกฤา?”