คำว่า ‘gaslighting’ ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในสังคมไทย หลังมีผู้ออกมาแฉนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ไอดอลคนดัง ว่ามีพฤติกรรมคุกคามจิตใจ ควบคุม หลอกใช้ ด่าทอ ต่อว่าให้อับอาย ทำให้เหยื่อรู้สึกไม่เหลือความเป็นคน
ที่มาของคำว่า gaslighting มาจากภาพยนตร์เรื่อง Gaslight ในปี 1944 นำแสดงโดย ชาร์ลส์ บอยเออร์ (Charles Boyer) และ อิงกริด เบิร์กแมน (Ingrid Bergman) ซึ่งเป็นเรื่องราวของสามีที่ต้องการครอบครองทรัพย์สมบัติของภรรยา เขาได้ปั่นหัวและหลอกลวงให้ภรรยาเชื่อว่าเธอมีอาการทางจิต โดยสามีใช้วิธีการหรี่ไฟในตะเกียงลง เมื่อภรรยาถามถึงความสว่างของไฟที่ลดลง เขากลับตอบว่าเธอคิดไปเอง หรือจะเป็นการนำข้าวของไปซ่อนและป้ายความผิดให้แก่ภรรยา สามีพยายามบิดเบือนความคิดโดยทำให้ทุกอย่างดูปกติยกเว้นภรรยาของเขาเอง
ตั้งแต่ช่วงต้นทตวรรษ 1980 เป็นต้นมา คำว่า gaslighting ก็ถูกนำมาใช้โดยนักจิตวิทยา นักอาชญาวิทยา หรือนักกฎหมาย เพื่อนิยามถึงพฤติกรรมการพยายามบิดเบือนและบงการความคิดของเหยื่อจนนำไปสู่ความเป็นพิษในความสัมพันธ์ (toxic relationship)
โดมินา เพทริค (Domina Petric) แพทย์และนักวิจัยอิสระ เขียนบทความวิจัยที่ชื่อ ‘Gaslighting and the knot theory of mind’ โดยอธิบายว่า gaslighting เป็นหนึ่งในรูปแบบของการควบคุมจิตใจ (psychological manipulation) ด้วยการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความสงสัยคลางแคลงใจและความไม่เชื่อมั่นในตัวเองให้แก่เหยื่อ ซึ่งสามารถเกิดได้ในความสัมพันธ์หลายรูปแบบ เช่น คู่รัก ครอบครัว เพื่อน สังคมที่ทำงาน หรือแม้แต่ในรั้วการศึกษา
gaslighting เป็นพฤติกรรมที่ผู้กระทำหรือ gaslighter จงใจบิดเบือนความจริงหรือความคิดของเหยื่อ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่คิดไม่ใช่ความจริง โดยการทำให้เหยื่อเกิดความสงสัย ไม่มั่นคง และไม่มั่นใจ แม้ในบางครั้งเหยื่อจะเกิดความสงสัยหรือตงิดใจ แต่ก็ไม่กล้าที่จะขัดขืน เมื่อไม่มีผู้ใดมาช่วยยืนยันความคิด สุดท้ายจึงตกเป็นเหยื่อไปโดยปริยาย
พฤติกรรม gaslighting นับเป็นหนึ่งในรูปแบบของการทารุณกรรมทางจิตวิทยา (phychological abuse) ซึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่สมดุลทางอำนาจระหว่าง gaslighter และเหยื่อ โดย gaslighter ได้ใช้ ‘การล่วงละเมิดทางอารมณ์แบบแอบแฝง’ และใช้อำนาจเหนือกว่าในการบงการความคิดให้เหยื่อเกิดความสับสนในตัวเอง
สัญญาณของพฤติกรรม Gaslighting
“สิ่งหนึ่งที่ยากจริงๆ เกี่ยวกับ gaslighting คือมันสร้างความสับสนที่แก่นแท้ของมัน มันมีไว้เพื่อทำให้สับสน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะมัน”
เพจ แอล. สวีต (Paige L. Sweet) นักจิตวิเคราะห์
สัญญาณที่บ่งบอกถึงการ gaslighting ได้แก่
- พฤติกรรมตบหัวลูบหลัง โดย gaslighter อาจจะหว่านล้อมให้เหยื่อรู้สึกผิด ก่อนจะพูดจาปลอบใจในภายหลัง
- หากเหยื่อใช้โทนเสียงที่มีความท้าทาย gaslighter อาจจะพลิกสถานการณ์โดยการทำให้เหยื่อรู้สึกผิดและกล่าวโทษเหยื่อแทน
- พยายามแยกตัวเหยื่อออกจากผู้คนหรือความสัมพันธ์รอบข้าง
- การกล่าวหาว่าพฤติกรรมของเหยื่อไร้เหตุผล บ้า หรือใช้อารมณ์มากเกินไป
- ใช้คำพูดสวยหรูโดยพยายามทำให้เหยื่อเชื่อว่าตนหวังดี
- เมื่อเหยื่อแสดงความกังวลหรือสงสัย gaslighter มักจะบอกว่า คิดมากไปเอง และบางครั้งก็กล่าวโทษเหยื่อ
- เปลี่ยนเรื่องหรือเบี่ยงเบนความคิด ทำให้เหยื่อต้องขอโทษทั้งๆ ที่ไม่ได้ผิด
อย่างไรก็ตาม gaslighter เองก็มีทั้งที่จงใจเข้าหาเหยื่อกับที่กระทำไปโดยไม่รู้ตัว สัญญาณที่ได้กล่าวไปข้างต้นเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นเท่านั้น ยังมีสัญญาณอีกหลายรูปแบบที่บ่งบอกถึงการ gaslighting และเหยื่อก็ยากที่จะแยกแยะ เนื่องจาก gaslighting บ่อนทำลายการรับรู้ความจริงของเหยื่อ ทำให้เหยื่อไม่มีความมั่นใจและสงสัยว่าตัวเองผิดปกติ รวมถึงการถูกชักจูงหรือแปะป้ายว่าเป็นคนทำผิดหรืออ่อนไหวเกินไป
ตัวอย่าง Gaslighting
“ครูตีนักเรียนเพื่อสั่งสอน”
“ที่ฉันนอกใจก็เพราะคุณดีไม่พอ”
“เรื่องแค่นี้เองจะคิดมากทำไม”
“ลูกไม่มีสิทธิ์โกรธพ่อแม่ เพราะเขาเป็นผู้ให้กำเนิด”
และอีกหลากหลายประโยคที่ทุกคนอาจจะเคยได้ยิน โดยข้อความเหล่านี้ล้วนเป็นการ gaslighting ที่พยายามบงการความคิดให้เหยื่อเป็นฝ่ายผิดหรือรู้สึกดีไม่พอ โดย gaslighting สามารถเกิดได้ในหลายบริบทและความสัมพันธ์ เช่น
ความสัมพันธ์คู่รัก: มักพบบ่อยในความสัมพันธ์ต่างเพศที่ผู้ชาย gaslighting ผู้หญิง โดยจะบิดเบือนและบงการความคิดเหยื่อด้วยวาทกรรมที่ว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ไร้เหตุผลและใช้อารมณ์มากเกินไป รองลงมาคือเรื่องรูปลักษณ์และเรื่องเพศที่ gaslighter มักจะใช้เป็นเป้าหมายในการบงการเหยื่อ
ที่ทำงาน: การ gaslighting ในที่ทำงาน เกิดขึ้นเมื่อบุคคลในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าหรือมีอำนาจมากกว่า ทำให้เหยื่อตั้งคำถามถึงความสามารถของตัวเอง จนนำไปสู่ผลเสียต่ออาชีพการงาน
การเมือง: ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการ gaslighting ในเวทีการเมือง นับเป็นกลวิธีที่นักการเมืองมักใช้เสียด้วยซ้ำ ในการเบี่ยงเบนความคิดของประชาชน รวมถึงการสนับสนุนหรือต่อต้านมุมมองบางอย่าง โดยนักการเมืองจะสร้างเรื่องที่บ่อนทำลายแนวคิดที่เป็นปฏิปักษ์ ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและตั้งคำถาม
เชื้อชาติ: ในบทความ ‘Racial Gaslighting’ ของเดวิส (Angelique M. Davis) และเอิร์นส์ (Rose Ernst) ได้นิยามคำว่า gaslighting ทางเชื้อชาติว่าเป็นกระบวนการทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมที่คงอยู่และฟอกขาวให้แก่คนผิวขาว ผ่านการพยายามบงการความคิดของผู้ที่ต่อต้าน โดยการ gaslighting ทางเชื้อชาติมีมาอย่างยาวนานและยังคงมีอยู่ในสังคมสหรัฐอเมริกา
ทุกคนอาจจะเคยเห็นการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดผิว หรือ Black Lives Matter หลังจากนั้นไม่นานก็มีขบวนการเรียกร้อง All Lives Matter ที่นับว่าเป็นตัวอย่างของการ gaslighting ทางเชื้อชาติที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยอำพรางการกระทำของคนขาวเพื่อลบล้างความโหดร้ายในอดีตและลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนผิวดำ
ระบบกฎหมาย: ในแง่กระบวนการยุติธรรม เมื่อผู้กระทำผิดพยายามเล่าเรื่องราวที่พลิกสถานการณ์ให้ตนเองได้เปรียบ โดยเฉพาะในคดีล่วงละเมิดทางเพศที่ผู้หญิงมักถูก gaslighting ให้เป็นฝ่ายผิดมากกว่าจะกล่าวโทษฝ่ายชาย
gaslighting เป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเหยื่อโดยตรง ซึ่งเหยื่อมักไม่รู้ตัว อาจจะเพราะแนวคิดของสังคมที่มีมาอย่างยาวนาน ความเป็นครอบครัว หรือการจำยอมในความสัมพันธ์ หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาจยากที่จะหลีกหนี เหยื่ออาจจะยอมจำนนเพราะไม่มีความเชื่อมั่นใจตัวเอง และเมื่อถูกปั่นหัวหรือถูกชักจูงเป็นเวลานาน มีแนวโน้มที่เหยื่อจะเกิดความวิตกกังวล ซึมเศร้า หวาดระแวง หรือเกิดบาดแผลทางใจจากการถูก gaslighting
ที่มา:
- What Is Gaslighting? Definition, Examples And Support
- Racial gaslighting
- Gaslighting and the knot theory of mind
- The Sociology of Gaslighting