จากกระแสเพลงแปลง ‘คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ’ ที่มีเนื้อหาล่อแหลม และกลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียล กระทั่ง ‘ป๋อ’ ณัฐวุฒิ สะกิดใจ นักแสดงชื่อดัง โพสต์แสดงความเห็นถึงความเหมาะสมของเนื้อเพลง และแสดงความกังวลต่อการเข้าถึงสื่อสำหรับเด็ก
ป๋อ ในฐานะพ่อคน มีเจตนาดีที่ต้องการปกป้องเด็กจากสื่อที่ตัวเขาเชื่อว่าจะส่งอิทธิพลที่ไม่ดี ด้วยกลัวว่าเด็กๆ อาจยังแยกแยะไม่ได้ แน่นอนว่ากระแสสังคมบางส่วนตั้งคำถามตามมาทันที ถึงประเด็นที่ละครไทยบางเรื่องก็ยังมีฉากข่มขืนอยู่ และป๋อเองก็เคยร่วมแสดงเสียด้วย
ในเวลาต่อมา จริยา ปรีดากูล หรือ ‘ยุ้ย ญาติเยอะ’ ศิลปินชื่อดัง ก็โพสต์แสดงความเห็นในทำนองว่า มันก็เป็นแค่เพลง ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร พร้อมทั้งบอกว่า ในฐานะพ่อแม่ก็มีหน้าที่สอนลูกให้เข้าใจเรื่องพวกนี้ สอนให้รู้จักแยกแยะ ก็เป็นการสร้างภูมิให้กับเด็กได้ดี
และนี่คือที่มาของข้อถกเถียงว่า เราจะตัดสินอย่างไรว่าความคิดไหนดีกว่ากัน ความคิดไหนถูกต้อง เพราะทั้งสองความคิดต่างก็มีเจตนาที่ดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่ก็เป็นบางสิ่งที่สังคมควรได้ขบคิดกัน
ที่จริงแล้วเรื่อง ประเด็นปัญหาคำหยาบในบทเพลงเป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว ในสหรัฐอเมริกาก็เคยมีนโยบายแปะสติกเกอร์คำเตือนไปยังผู้ปกครองว่า ‘Parental Advisory Explicit Content’ บนอัลบั้มเพลงต่างๆ ตั้งแต่ปี 1985 เป็นนโยบายที่ออกแบบโดยอดีตนักการเมืองหญิงชื่อดังในสหรัฐ แมร์รี อลิซาเบธ กอร์ (Mary Elizabeth Gore) หรือหลายคนรู้จักเธอในชื่อเล่นว่า ‘ทิปเปอร์ กอร์’ (Tipper Gore) ผู้ก่อตั้งศูนย์ทรัพยากรดนตรีของผู้ปกครอง หรือ Parents Music Resource Center (PMRC) เพื่อคอยคัดกรองเพลงที่มีเนื้อหาล่อแหลม แล้วจึงขอความร่วมมือให้ติดสติกเกอร์คอยบอกว่าอัลบั้มไหนควรให้ผู้ปกครองแนะนำ หากมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 นำไปฟัง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากจากยุคก่อน สื่อกลายเป็นอะไรที่เข้าถึงง่ายและมีตัวเลือกมากมาย จนยากแก่การคัดกรองให้เด็กๆ ได้ทั่วถึง แนวทางของผู้ปกครองยุคใหม่จึงเริ่มมีแนวคิดว่า แทนที่จะคอยเอาแต่เลี่ยงไม่ให้เด็กๆ เจอสิ่งเหล่านี้ สู้สอนให้เขารู้จัก และใช้ชีวิตอยู่กับมันจะดีกว่า เพราะถึงอย่างไรมันก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ก็คือ เราจะขีดเส้นแบ่งตรงไหน ใครจะเป็นคนกำหนด ว่าเด็กอายุแค่ไหนสมควรรับสื่อประเภทใด เนื้อหาอะไร จะใช้เกณฑ์ใดตัดสิน ทั้งบริบทสังคมที่แตกต่าง พื้นฐานทางการศึกษา ตัวเลือกในการเสพสื่อบันเทิง รสนิยมของแต่ละคน อิสรภาพของศิลปิน ความเข้าใจของผู้ปกครองที่มีต่อโลก ต่อสังคม ต่อชุมชน การต่อสู้ของอำนาจเชิงวัฒนธรรม ประเด็นปัญหาทางจริยธรรม ความเป็นมาของวัฒนธรรมพื้นบ้านและประเพณี ฯลฯ
ไหนจะในแง่รูปแบบและเนื้อหาของสื่อ นอกจากเพลงที่มีคำหยาบและละครไทยที่มีฉากข่มขืนแล้ว ก็ยังมีสื่อลามกหรือสื่อผู้ใหญ่ กีฬาหรือเกมที่มีภาพหรือเนื้อหารุนแรง โชว์ตลกที่มีเนื้อหาเสียดสี หนังผีหลอนประสาท รายการเล่าเรื่องผีที่ชวนงมงาย ท่าเต้นที่ยั่วยวนของศิลปิน กิจกรรมสันทนาการในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยก็มีไม่น้อย แม้แต่วรรณคดีในหลักสูตรของระบบการศึกษาไทยหลายเรื่องก็อาจมีเนื้อหาล่อแหลม หรือชวนให้ตั้งคำถามถึงความเหมาะสม
สื่อเหล่านี้มีมากเกินจะนับหรือคัดกรอง และทั้งหมดที่พูดมานี้ล้วนหาดูได้จากอินเทอร์เน็ตแค่ปลายนิ้วเสียด้วย
เราจะลองยกตัวอย่างจากประเด็นที่เกิดขึ้นตามมาจากเพลง ‘คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ’ แล้วลองมาดูกันว่า เรื่องนี้มีมุมมองที่แตกแขนงออกมาอย่างไรได้บ้าง จะทำให้เราพอรู้ได้ว่า โลกนั้นกว้างใหญ่ และมนุษย์นั้นก็หลากหลายเหลือเกิน
‘คำหยาบ’ การต่อสู้ของอำนาจเชิงวัฒนธรรม
อันที่จริงปัญหาของคำหยาบ มีตั้งแต่ประเด็นของคำนิยาม กล่าวคือ ลักษณะแบบไหนที่เรียกหยาบ แบบไหนที่ไม่หยาบ ยกตัวอย่างเช่น ‘กู-มึง’ ที่ปรากฏอยู่บนหลักศิลาจารึก แต่สังคมไทยปัจจุบันอาจถือเป็นคำหยาบได้หากใช้ไม่ถูกกาลเทศะ แม้จะเป็นคำที่เป็นกลางทางเพศ และเป็นกลางทางชนชั้นที่สุด น่าจะเหมาะกับโลกยุคใหม่ที่หลายคนเรียกร้องความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) เสียด้วยซ้ำ
ปัญหาเรื่องนี้สามารถลงลึกไปได้ถึงว่า แรกเริ่มใครกันเป็นผู้กำหนดมาตรวัดความหยาบโลนของคำศัพท์และวาจา รากฐานทางความคิดมาจากไหน สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ความหยาบคายหรือความรุนแรงที่ปรากฏในสื่อ สามารถบ่งบอกถึงการต่อสู้ของ ‘อำนาจเชิงวัฒนธรรม’ ระหว่างคนชนชั้นล่างและชนชั้นสูง เพราะกลุ่มคนที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือสิ่งหยาบคาย หรือสิ่งสุภาพ มักเป็นผู้มีอำนาจโดยธรรมชาติ เช่น เด็กไทยต้องก้มหัวให้ผู้ใหญ่เวลาเดินผ่าน
เส้นแบ่งของมารยาทกับกาลเทศะ และอำนาจเชิงวัฒนธรรมกับการกดขี่ จึงมีบางมิติที่ทับซ้อนกัน
ในประเด็นนี้ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ เคยพูดเอาไว้ช่วงหนึ่งในรายการ WAY Conversation: เสรีภาพของศิลปินไทยในยุคขยับเพดาน ช่วงนาทีที่ 51:00-54:00 ว่า
“ถ้าคุณเขียนจดหมายถึงใคร แล้วคุณต้องลงท้ายว่า ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง คุณจะเขียนอะไรได้มากนักวะ”
“ความไม่หยาบคายมันกำกับควบคุมความคิดและการแสดงออกโดยที่เราไม่รู้สึกตัว อันนี้ผมเรียกว่าอำนาจทางวัฒนธรรม เป็นอำนาจของชนชั้นสูงที่กดทับโดยไม่ผ่านกฎหมาย”
รับมือสื่อลามก หลักสูตรเพศศึกษาที่ต้องปรับตัว
คล้ายกับประเด็นคำหยาบ ประเด็นนี้มีการถกมานานแล้วว่า เพศศึกษาควรเริ่มสอนในเด็กวัยไหน ด้วยเนื้อหาแค่ไหน ต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไร เพราะมันอาจมีผลตามมาได้ทั้งบวกและลบ
เมื่อพูดถึงเพศศึกษา สิ่งหนึ่งที่คงต้องย้ำบ่อยๆ คือ การศึกษาเรื่องเพศ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงผลกระทบและความรับผิดชอบของการทำกิจกรรมร่วมเพศ แต่ยังต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องการคุกคามทางเพศด้วย ยิ่งเฉพาะกับยุคออนไลน์ที่ภัยร้ายสามารถเข้าถึงเด็กๆ ได้ง่าย เพศศึกษาจึงควรสอนให้พวกเขารู้จักป้องกันตัวเอง และสอนให้พวกเขาไม่โตไปเป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลโดย มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ร่วมกับศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) กรมกิจการเด็กและเยาวชน เรียบเรียงโดยสำนักข่าวอิศรา จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า เด็ก 36 เปอร์เซ็นต์ มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ หรือเจอพฤติกรรมเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (grooming) ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม โดยผู้ร้ายมักจะเข้ามาด้วยวิธีแสดงความรัก จีบเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ ถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล และยังพบว่า เด็กประถมศึกษาตอนปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (groom) ถึง 12 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนั้นผลสำรวจชี้ว่า เด็ก 54 เปอร์เซ็นต์ เคยเห็นสื่อลามกอนาจาร ในจำนวนนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ซึ่งมีเด็ก 7 เปอร์เซ็นต์ เซฟเก็บไว้ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า ส่วนเด็ก 4 เปอร์เซ็นต์ ยังระบุว่าเคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย
จัสติน เลห์มิลเลอร์ (Justin Lehmiller) ผู้อำนวยการโครงการจิตวิทยาสังคมที่มหาวิทยาลัยบอลสเตท (Ball State University) และผู้เขียนเรื่องเซ็กส์และจิตวิทยา ได้อ้างถึงงานวิจัยเปรียบเทียบระหว่างเพศศึกษาในหลายรัฐของประเทศอเมริกาที่มีแนวทางปลูกฝังความกลัว เน้นข้อห้ามเกี่ยวกับเซ็กส์ พบว่า ยิ่งทำให้เด็กๆ เข้าใจข้อมูลผิด ยิ่งนำไปสู่การท้องไม่พร้อม และโรคติดต่อจำนวนมาก ซึ่งต่างจากเพศศึกษาในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เน้นเปิดกว้าง พูดคุยอย่างอิสระ มีการเสพสื่อลามกเป็นเรื่องธรรมดา ผลลัพธ์คืออัตราการท้องไม่พร้อมค่อนข้างต่ำ โรคติดต่อรวมไปถึงการคุกคามทางเพศต่ำอย่างมีนัยยะ
สิ่งเดียวกันถูกพูดถึงในหนังสือ ‘Consent เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น’ เขียนโดย เจนนิเฟอร์ แลงก์ (Jennifer Lang) และแปลโดย ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะยืนยัน ว่า การไม่สอนเรื่องเพศศึกษา ไม่ได้ทำให้เด็กไม่มีเซ็กส์ แต่กลับทำให้พวกเขามีเซ็กส์แบบไม่พร้อม และการสอนเพศศึกษาที่ดีควรสอนแบบรอบด้าน เน้นความสบายใจและการยินยอม ซึ่งสามารถลงลึกไปถึงความหลากหลายและความแตกต่างทางเพศวิถีอีกด้วย
ศิลปะและเสรีภาพการผลิตสื่อ กับการปิดกั้นในสังคมอำนาจนิยม
จริงอยู่ เราอาจตั้งคำถามไปถึงผู้ผลิตสื่อได้ว่า พวกเขาควรมีขอบเขตในการผลิตสื่อหรือไม่ หรือมันควรเป็นเสรีภาพของศิลปิน
ในด้านหนึ่ง การคำนึงถึงผลกระทบที่จะตกแก่สังคมในการผลิตสื่อ คือพื้นฐานจรรยาบรรณของศิลปินและผู้ผลิต ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ‘เสรีภาพศิลปินก็คือเสรีภาพประชาชน’ การผลิตสื่ออย่างมีอิสระ คือส่วนหนึ่งในการยืนยันว่าประชาชนยังมีสิทธิและเสรีภาพอยู่โดยไม่ถูกจำกัดโดยภาครัฐ และไม่ถูกจำกัดด้วยเหตุผลว่า มีใครบางคนไม่สบายใจกับเนื้อหา ซึ่งเนื้อหาที่มีคำหยาบคายย่อมเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพ ตามครรลองของประชาธิปไตย
“ศิลปะและเสรีภาพแม้จะเขียนต่างกัน แต่ก็เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน”
“ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวไว้ และยังเคยพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเบ่งบานของศิลปะในโลกของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสองอย่างที่ส่งเสริมกันตั้งแต่ในระดับจิตสำนึก ตรงกันข้ามกับระบอบแบบเผด็จการ
ขณะเดียวกัน การห้ามผลิตสื่อ แม้จะด้วยเจตนาที่ดีที่ต้องการปิดกั้นคำหยาบหรือสื่อที่อาจมีเนื้อหาล่อแหลม เสียดสี หรือแม้แต่ประทุษวาจา ก็อาจนำไปสู่การสร้างสังคมอำนาจนิยมที่มีการปิดปากและปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนได้ ดังคำกล่าวของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัค โอบามา (Barack Obama) ในเวทีการประชุมสหประชาชาติ (United Nation: UN) เมื่อปี 2012 ที่นิวยอร์ก
“ความพยายามที่น่ายกย่องในการจำกัดข้อมูล อาจกลายเป็นเครื่องมือปิดปากเสียงวิจารณ์ หรือการกดขี่ผู้น้อย อาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดในการต่อกรกับวาจาเกลียดชัง ไม่ใช่การปราบปราม แต่เป็นการเพิ่มวาจาเข้าไป”
(“Laudable efforts to restrict can become a tool to silence critics or oppress minorities. The strongest weapon against hateful speech is not repression, it is more speech”)
หากเรามองว่าศิลปินและผู้ผลิตสื่อมีสิทธิเสรีภาพในการผลิตสื่อที่อาจดูล่อแหลม หรือทำให้ไม่สบายใจไปบ้าง แล้วเราควรจะจัดการอย่างไรกับสิ่งที่ถาโถมเข้ามาในสังคมออนไลน์ ซึ่งมีเด็กจำนวนมากเป็นผู้บริโภคเสียด้วย
โรวัน แอตคินสัน (Rowan Atkinson) นักแสดงตลกชั้นนำของโลกที่หลายคนรู้จักในนาม ‘มิสเตอร์บีน’ (Mr. Bean) เคยพูดสนับสนุนประเด็นนี้เอาไว้ในปี 2012 ในแคมเปญปกป้อง free speech ด้วยการปฏิรูปมาตรา 5 ที่รัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร เอาไว้ว่า
“สำหรับผม วิธีที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับสังคมต่อวาจาดูถูกหรือเหยียดหยาม คือ การอนุญาตให้มันเพิ่มขึ้นอีก ถ้าเราต้องการสังคมที่แข็งแรง เราต้องมีบทสนทนาที่แข็งแกร่ง และนั่นต้องรวมถึงสิทธิในการดูถูกและการเหยียดหยามด้วย”
(“For me, the best way to increase society’s resistance to insulting or offensive speech is to allow a lot more of it. If we want to robust society, we need more robust dialogue, and that must include the right to insult or to offend.”)
ยิ่งเมื่อเทียบกับบริบทของสังคมไทย ที่ตลาดทางด้านศิลปะนั้นค่อนข้างถูกผูกยึดไว้กับภาครัฐ ยิ่งทำให้สิทธิและเสรีภาพของศิลปินถูกควบคุม การอนุญาตให้มีคำหยาบออกมาบ้าง คือการยืนยันในสิทธิและเสรีภาพของศิลปิน
สุนทรียศาสตร์และรสนิยมเป็นเรื่องปัจเจกวิสัย ไม่มีกรอบถูกผิด
หลักการทางสุนทรียศาสตร์นั้นมีคำอธิบายที่มากมาย หลากหลายแขนงและแนวทาง ตั้งแต่สมัยนักปรัชญากรีกโบราณเมื่อ 2,000 ปีก่อน อย่าง เพลโต (Plato) และอริสโตเติล (Aristotle) เริ่มถกเถียงกันเรื่องนิยามของความงาม ญาณวิทยา อภิปรัชญา และคุณค่าของความงาม
นักปรัชญาในฝ่ายเหตุผลนิยมชาวเยอรมันชื่อ อเล็กซานเดอร์ โบมกาเตน (Alexander Gottlieb Baumgarten) เชื่อว่า ความงามเป็นสิ่งที่รับรู้ด้วยผัสสะ เป็นความลึกซึ้งกินใจซึ่งบริสุทธิ์ ไร้การปรุงแต่ง และอธิบายได้ด้วยเหตุผล รวมไปถึงความเศร้าโศก ความขบขัน ความเกลียดชัง หรือความพิศวง ต่างจากนักปรัชญารุ่นน้องอย่าง เอมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) และนักปรัชญาชั้นนำอีกคนอย่าง ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ที่มองว่า ความสุนทรีย์ไม่สามารถอธิบายด้วยระบบของเหตุผลได้ เพราะศิลปะมีอยู่เพื่อขจัดรูปแบบใดๆ ให้ขาดออกไปจนเหลือแต่สิ่งที่บริสุทธิ์จริงแท้ภายใน ซึ่งบรรลุได้ด้วยสหัชญาณหรือการรับรู้โดยสัญชาตญาณเท่านั้น
แต่สิ่งหนึ่งที่ใครก็ต่อใครพูดถึงตรงกันก็คือ ศิลปะเป็นเรื่องปัจเจกวิสัย ความสุนทรีย์เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนบุคคล การที่ใครหรือแม้แต่เด็กอายุต่ำกว่า 18 จะมีความชื่นชอบในสื่อใด ไม่ว่าจะเป็นดนตรีแนวเมทัล ป๊อป คัลท์ คลาสสิก ก็ย่อมเป็นสิทธิของเขา หรือภาพยนตร์ที่อาจมีเนื้อหาอาจรุนแรงไปบ้าง ผิดศีลธรรมไปบ้าง ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแยกอะไรแต่อย่างใด และไม่มีกรอบความถูกผิดตายตัว
ถ้าลองยกตัวอย่างเช่น ‘จูลาสสิกพาร์ค’ (Jurassic Park) หนังครอบครัวที่เด็กๆ หลายคนนิยมชมชอบ หากเราลองตั้งคำถามในเชิงศีลธรรม การนำเอาดีเอ็นเอของไดโนเสาร์มาทดลองเพื่อสร้างชีวิตให้มันใหม่ แม้ในความเป็นจริงคงจะเป็นไปได้ยาก แต่หากมีการทดลองแบบนี้ขึ้นจริง คงเป็นการละเมิดหลักการทางศีลธรรมด้านวิทยาศาสตร์และการทดลอง ในแง่ที่อาจเป็นอันตรายต่อสังคมในระดับการสูญพันธุ์ของมนุษยชาติ แต่ความสุนทรีย์ของหนังเรื่องนี้ ไม่ได้สนใจที่ปัญหาเหล่านั้น กลับกันกลายเป็นหนังแฟนตาซีที่เด็กและผู้ใหญ่หลายคนชื่นชอบ เช่นนี้จะมองว่าเป็นเรื่องรสนิยมก็ว่าได้
ในลักษณะเดียวกัน หากย้อนกลับไปพิจารณาถึงเพลง ‘คนจนมีสิทธิ์ไหมคะ’ หรือเพลง ‘เด็กเบญจมา เด็กวังโชน’ เพลงแปลง ‘นมตรามะลิ’ ที่หลายคนจัดว่ามีเนื้อหาล่อแหลม และพูดถึงกิจกรรมการร่วมเพศ
ในขณะที่ศิลปินชื่อดังผู้บุกเบิกเพลงไทยร่วมสมัยอย่างสุนทราภรณ์ ก็มีเพลง ‘แค้น’ ที่ส่วนหนึ่งของเนื้อหามีอยู่ว่า “อยากจะจับลิ้นลวงของคุณที่สรรหวาน แล้วกรีดมีดคว้านๆ ให้รานลงไป”
หรือเพลง ‘ขอให้เหมือนเดิม’ ที่มีเนื้อร้องว่า “คืนนั้นสองเราแนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพรอดภิรมย์ หวานล้ำบำเรอเธอให้ชิดชม ฉันกอดเล้าโลมชื่นใจ”
ทั้งหลายเหล่านี้ก็อาจเข้าข่ายเดียวกันว่า มีเนื้อหารุนแรง ล่อแหลม ลามก ซึ่งที่จริงแล้วทั้งหมดนี้อาจเป็นเพียงการตัดสินด้วยรสนิยมส่วนบุคคลเท่านั้นหรือไม่
ความบันเทิงภายใต้ความเหลื่อมล้ำ
เคยมีคนกล่าวว่า “ภาพโป๊ ถือเป็นศิลปะของคนรวย แต่เป็นสื่อลามกของคนจน” เป็นการอธิบายแนวคิดตามกรอบค่านิยมแบบทุนนิยม ที่มองว่า คนจนจนเพราะขี้เกียจ ฉะนั้นจึงไม่มีสิทธิหาสิ่งบันเทิง ต้องขยันทำมาหากินให้มีเงินก่อน ถึงจะค่อยมีสิทธิเสพสุข
ความหมายก็คือ การเสพสื่อลามกของคนชั้นล่างถือเป็นเรื่องต่ำช้า ภายใต้ความพยายามกำหนดหรือผูกขาดความสุภาพหยาบคายแบบชนชั้นนำ โดยลืมมองว่า ศิลปะพื้นบ้านหลายแขนงในกลุ่มชนชั้นล่างก็มีลักษณะหยาบโลนเป็นปกติ แต่ไม่ถือว่าหยาบสำหรับพวกเขา เพราะเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตปกติเท่านั้นเอง
ท้ายที่สุด ระหว่างการเลี่ยงไม่ให้เด็กๆ เจอสื่อล่อแหลมเพื่อปกป้องเด็กๆ หรือการชวนเด็กๆ ทำความเข้าใจและรู้จักสื่อเหล่านี้ เอาเข้าจริงแล้วอาจไม่ใช่ปัญหาของเด็ก แต่เป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ในสังคมควรถกเถียง ทำความเข้าใจ และทลายกรอบความคิดของตนเองที่ถูกครอบงำมานานจนยากจะถอนตัว
อ้างอิง:
- เจนนิเฟอร์ แลงก์. (2018). Consent เพศศึกษากติกาใหม่: ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น. (ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ, ผู้แปล).
- ส่องวิวัฒนาการ ‘เพศศึกษา’ ฝรั่งเศส แล้วย้อนมองปรากฏการณ์ฉีกหนังสือสุขศึกษาของ ‘นักเรียนเลว’
- เด็กไทยโคตรเสี่ยง!ผลวิจัยล่าสุดภัยออนไลน์ ถูกแสวงหาประโยชน์-ล่วงละเมิดทางเพศ
- “ศิลปะคือพื้นที่ที่ทำให้มนุษย์เสมอภาคกัน” คุยเรื่องเสรีภาพและศิลปะกับ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี
- สุนทรียศาสตร์และสุนทรียภาพ
- สอนเรื่องเพศอย่างไร เรียกว่า “รอบด้าน”
- คนจะจน จนเพราะพฤติกรรมจริงหรือ?
- Prince gave us the ‘parental advisory’ label: Column
- The Morality of the “Jurassic Park Scenario”
- Teachers Have to Hide the Truth About Sex and It’s Screwing Us Over
- (PDF) KANTIAN AND NIETZSCHEAN AESTHETICS OF HUMAN NATURE: A COMPARISON BETWEEN THE BEAUTIFUL/SUBLIME AND APOLLONIAN/DIONYSIAN DUALITIES