What We Need to Know: การโจมตีด้วยอาวุธเคมีที่ซีเรีย

ภาพประกอบ: Shhhh

 

เมื่อวันอังคารที่ 4 เมษายน ประชาชนอย่างน้อย 70 คนเสียชีวิต และอย่างน้อย 100 คนบาดเจ็บ จากเหตุการณ์โจมตีด้วยอาวุธเคมีโดยเครื่องบินรบ ที่เมืองอิดลิบ (Idlib) ทางตอนเหนือของซีเรีย

ท่ามกลางเสียงประณามจากผู้นำทั่วโลกที่ออกมาโจมตีประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ต่อเหตุการณ์โจมตีพลเรือนด้วยอาวุธเคมีว่า เป็นการกระทำที่ชั่วช้าและป่าเถื่อน

ยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีด้วยอาวุธเคมีในครั้งนี้ถือว่าร้ายแรงที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา นับแต่เกิดสงครามในซีเรียเมื่อหกปีก่อน

 

ทำไมต้องเมืองอิดลิบ (Idlib)

ผู้คนจำนวนมากต่างวิตกกังวลว่า เมืองอิดลิบอาจต้องพบกับโศกนาฏกรรมเหมือนอเลปโป เนื่องจากเมืองอิดลิบเป็นหนึ่งในปราการสุดท้ายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มกบฏในซีเรีย

หากมองจากจุดยุทธศาสตร์ของเมืองนี้แล้ว ก็ค่อนข้างเป็นไปได้ที่เมืองอิดลิบจะกลายเป็นเป้าต่อไป เนื่องจากชายแดนติดกับประเทศตุรกี ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งเสบียงของกลุ่มกบฏ

ไม่น่าแปลกใจที่เมืองอิดลิบจะถูกโจมตีและทิ้งระเบิดทางอากาศอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงชั่วคราวเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยรัสเซียและตุรกีเป็นตัวแทนระหว่างกลุ่มกบฏและรัฐบาลซีเรีย

 

อาวุธเคมีที่ใช้คืออาวุธอะไร?

ข้อสันนิษฐานคือ อาวุธเคมีที่ถูกใช้ในครั้งนี้ เป็นไปได้ว่าอาจเป็นทั้งสารคลอรีน (chlorine) และก๊าซซารีน (sarin) ซึ่งทั้งสองเป็นประเภทสารพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหายใจ และจัดเป็นก๊าซพิษทำลายล้างสูงสุด ในสภาวะปกติจะเป็นก๊าซไร้สี ไร้กลิ่น สามารถละลายน้ำและระเหยเป็นไอได้ในอุณหภูมิห้อง และยิ่งอุณหภูมิสูงมากเท่าไหร่ก็ยิ่งกลายเป็นไอได้ดี

การออกฤทธิ์ของอาวุธเคมีเริ่มตั้งแต่ระบบประสาทที่ใช้สั่งการไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลให้เกิดการหดตัวของหลอดลมใหญ่ ทำให้หายใจลำบาก ไม่นานก็จะเริ่มหายใจไม่ออก จากนั้นจึงเริ่มสูญเสียการควบคุมการทำงานทั้งร่างกาย กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เป็นอัมพาต และถึงแก่ชีวิตในที่สุด

โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา องค์กร Human Rights Watch ได้ออกมารายงานว่า มีการใช้อาวุธเคมีที่มีสารพิษคลอรีนโดยรัฐบาลซีเรียเพื่อตอบโต้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลในเมืองอเลปโป อย่างน้อยแปดครั้ง ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายนถึงวันที่ 13 ธันวาคมปี 2016 โดยองค์กรอาศัยหลักฐานยืนยันจากการวิเคราะห์วิดีโอฟุตเทจ การสัมภาษณ์ตัวต่อตัว รวมถึงผ่านโซเชียลมีเดีย

โอเล โซลแวง (Ole Solvang) รองผู้อำนวยการฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉิน ของ Human Rights Watch กล่าวว่า เขาเคยเห็นสารคลอรีนถูกใช้เป็นอาวุธในซีเรียครั้งแรกเมื่อปี 2014

 

ตุรกีเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง

ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ไทย์ยิป เอร์โดอัน ออกมาแถลงว่า เขายืนยันที่จะดำเนินปฏิบัติการที่ชื่อว่า ‘Operation Euphrates Shield’ ต่อไป และกล่าวว่า นี่เป็นเพียงก้าวแรกต่อการจัดการกับพวกองค์กรก่อการร้าย

โดยปฏิบัติการนี้ของตุรกีมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย และเป็นการร่วมมือกันระหว่างกองทัพตุรกีและกลุ่มกบฏซีเรีย ที่เพิ่งเริ่มเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา

นับว่าเป็นอีกหนึ่งนโยบายของตุรกีที่สนับสนุนกลุ่มกบฏ ตั้งแต่การจัดหาอาวุธ การฝึกฝนและติดอาวุธให้กองกำลังฝ่ายกบฏ รวมถึงอนุญาตให้ใช้เส้นทางในตุรกีเพื่อลำเลียงอาวุธอีกด้วย

ปัจจุบัน ตุรกีเป็นประเทศที่รองรับผู้อพยพชาวซีเรียเกือบ 3 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากที่สุด รองลงมาคือเลบานอน และจอร์แดน

 

พี่ใหญ่รัสเซียปฏิเสธเสียงแข็งว่ารัฐบาลซีเรียไม่ได้โจมตีประชาชนตัวเอง

กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกมาปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีในครั้งนี้ ถึงแม้ว่ารัสเซียจะหนุนหลังรัฐบาลอัสซาดอยู่ก็ตาม

นอกจากนั้นรัสเซียยังออกมาสนับสนุนคำอธิบายของทางรัฐบาลซีเรียที่กล่าวว่า การโจมตีในครั้งนี้เป็นการโจมตีโกดังเก็บอาวุธของกลุ่มก่อการร้ายที่มีการเก็บอาวุธเคมีเอาไว้อยู่พอดี อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างดังกล่าวดูไม่น่าเชื่อถือนัก หากเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ

 

หรือจะถึงเวลาที่สหรัฐลงมือเอง?

สหรัฐอเมริกาได้ส่งสารเตือนไปยังสหประชาชาติว่า หากไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง คงถึงเวลาที่สหรัฐจะลงมือกระทำแต่ฝ่ายเดียว (unilateral action) กล่าวคือ สหรัฐจะจัดการปัญหาดังกล่าวเองโดยไม่รอมติของสหประชาชาติอีกต่อไป

“เมื่อสหประชาชาติล้มเหลวในการทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ก็คงถึงเวลาที่สหรัฐต้องทำหน้าที่นั้นด้วยตัวเอง” นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติกล่าวเมื่อวันที่ 5 เมษายน ในที่ประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ โดยท่าทีของสหรัฐเกิดขึ้นจากการประชุมฉุกเฉินร่วมกับฝรั่งเศสและอังกฤษ

ส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวว่า การโจมตีนี้ถือเป็นการ ‘ล้ำเส้นอย่างมาก’ อีกทั้งยังทำให้ทัศนคติที่มีต่ออัสซาดของเขาเปลี่ยนไปอีกด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้สหรัฐพยายามปรับท่าทีความสัมพันธ์กับซีเรีย

แต่สิ่งแรกที่ทรัมป์ทำเมื่อรู้เรื่องคือ ออกมาตำหนินโยบายของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่อ่อนแอจนไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้ เช่นเดียวกับนักวิจารณ์หลายๆ เสียง ที่อ้างว่า นโยบายของโอบามาส่งผลให้สหรัฐสูญเสียความน่าเชื่อถือในระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว

“ตอนนี้ผมมีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว และภาระความรับผิดชอบดังกล่าวอาจจะทำได้ง่ายกว่านี้มากหากมันถูกจัดการมาหลายปีแล้ว” โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าว


อ้างอิงข้อมูลจาก: aljazeera.com/news
aljazeera.com/indepth
theguardian.com
middleeasteye.net

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า