เราอยู่ตรงไหนในระบบนิเวศธุรกิจดิจิทัล

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

อาชีพยอดฮิตจากการสำรวจเด็กรุ่นใหม่ในทุกวันนี้ไม่ได้มีแค่หมอ วิศวกร นักบัญชี ทนายความ ฯลฯ เหมือนคนรุ่นพ่อรุ่นแม่อีกต่อไป แต่อาชีพใหม่ๆ อย่างยูทูเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และ ‘ขายของออนไลน์’ แซงขึ้นมาติดอันดับต้นๆ ได้หลายปีแล้ว

นับได้ว่าแนวคิดของรัฐบาลที่อยากจับกระแสดิจิทัลด้วยสารพัดนโยบายทั้ง ‘ดิจิทัลไทยแลนด์​’ และไทยแลนด์ 4.0 จะสัมฤทธิ์ผลเป็นอย่างดี เด็กรุ่นใหม่กระโจนเข้าใส่อาชีพสุดล้ำ แถมทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ คนรุ่นเก่าได้แต่งงและสงสัยว่ามันเอาเงินมาจากไหนกันหนอ การงานก็ดูเหมือนไม่ได้ทำอะไร แบกโน้ตบุ๊คไปทำงานตามร้านกาแฟเท่ๆ วันละไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เงินใช้หลักหมื่นหลักแสนกันแล้ว

สาเหตุสำคัญก็คือการเปิดรับเทคโนโลยีของชาวไทยนั้นรวดเร็วติดอันดับโลกเสมอ อาจเป็นเพราะเรามีประชากรที่กลัวตกกระแสหรือ FOMO (Fear of Missing Out) อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีเฟซบุ๊คเราจึงแห่กันใช้จนติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับไลน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ ก็ล้วนติดอันดับเหมือนกัน

เมื่อมีฐานผู้ใช้เยอะ คนที่รู้จักหาประโยชน์จากมันก็ย่อมรู้ลู่ทางที่จะใช้มันหารายได้ ก่อให้เกิดกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญการทำตลาดออนไลน์​ รู้วิธีขายของผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เพราะรู้ดีว่าคนไทยนิยมซื้อสินค้าจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ที่เรียกว่า social commerce มากกว่าจะซื้อจากเว็บ e-commerce ชื่อดังที่เป็น e-marketplace หรือ e-tailer

เมื่อมีคนซื้อ มีคนขาย ก็ต้องมีคนสร้างกระแสบอกต่อ ซึ่งยุคนี้ไม่ต้องจ้างนักร้องนักแสดงค่าตัวแพงเหมือนในอดีต แค่คนธรรมดาๆ ที่รู้จักวิธีนำเสนอแบบสุดคูลคอยแกะกล่องรีวิวสินค้าก็มีคนติดตามหลักหมื่นหลักแสนได้แล้ว อาชีพอินฟลูเอนเซอร์จึงเกิดขึ้นตามมาติดๆ

ทุกอาชีพล้วนทำเงินได้จริง รวยจริง แม้จะมีบางส่วนเอาแชร์ลูกโซ่มาบังหน้า หรือมีบางคนฉวยจังหวะสถาปนาตัวเองเป็นโค้ชออนไลน์ ทั้งๆ ที่ไม่เคยขายอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่โดยรวมก็ถือว่าตลาดออนไลน์ของไทยเกิดได้สำเร็จแล้ว ทุกคนทำงานสบายรายได้ดี อยู่อย่างสุขีจนกระทั่ง…

…วันหนึ่งเฟซบุ๊คปรับอัลกอริธึมในการแสดงข้อมูลให้กับผู้ใช้ นั่นแปลว่าลูกค้าเป้าหมายที่เคยเห็นสินค้าของเราวันละ 100 คนถูกบีบให้เหลือ 20 คนเท่านั้น หากอยากได้มากกว่านั้นก็ต้องปรับวิธี หรือไม่ก็เสียเงินซื้อโฆษณา เช่นเดียวกับพ่อค้าแม่ขายที่เคยใช้ Line@ ติดต่อลูกค้ามานมนาน ก็ถูกปรับค่าบริการขึ้นมาจนซื้อไม่ไหว ต้องหาช่องทางอื่นทำมาค้าขายกันต่อไป

ไม่นับคนที่เคยพึ่งพาเว็บ e-commerce เจ้าดังในบ้านเรา วันดีคืนดี หรือวันร้ายคืนร้ายก็ไม่แน่ใจนัก ก็พบว่าสินค้าในเว็บนั้นเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์กลายเป็นสินค้าจีนไปหมดแล้ว สินค้าแบบเดียวกัน จีนขายถูกกว่า แม้จะใช้เวลาส่งนานกว่า แต่ก็ไม่คิดค่าจัดส่ง ดูดลูกค้าไปต่อหน้าต่อตา และเว็บที่ขายของจากจีนโดยตรงที่เรียกว่า cross border ก็เพิ่มขึ้นทุกวันๆ ราคารวมค่าจัดส่งก็ถูกกว่าเราหลายเท่า แล้วจะเอาอะไรไปแข่งกับเขาล่ะทีนี้…

ปัญหาใหญ่หลวงของคนไทยคือเราเป็นเลิศในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ แต่เราต่อยอดจากมันไม่เป็น เคยใช้อะไรมาก็ใช้อย่างนั้นต่อไป ยิ่งได้ลูกค้าเยอะก็ยิ่งเอาฐานข้อมูลลูกค้าที่มีไปประเคนให้กับเจ้าของแพลตฟอร์มมากขึ้นเท่านั้น กว่าจะรู้ตัวก็ยากที่จะหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ๆ ทำได้อย่างเดียวคือตัดราคา แข่งกันลดเพื่อแย่งลูกค้า ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุน เหมือนติดกับดักจนหาทางออกให้กับตัวเองไม่ได้

คนที่รอดในเกมนี้คือคนที่มองทะลุรายได้เป็นกอบเป็นกำที่เคยทำได้ เพราะรู้ว่ามันไม่ยั่งยืน อย่างไรเสียเจ้าของแพลตฟอร์มเขาก็ไม่มีทางให้ใช้ฟรีๆ เขาต้องหาทางเอาลูกค้าเราไปต่อยอดธุรกิจอื่นๆ หรือไม่ก็หาสินค้ามาขายเสียเอง การแยกออกมาสร้างแอพพลิเคชั่นหรือทำแพลตฟอร์มของตัวเอง หาทางดึงดูดลูกค้าด้วยตัวเอง จะใช้คะแนนสะสม หรือขายพ่วงบริการอื่นๆ ก็ล้วนมีโอกาสดึงให้เขาเป็นลูกค้าระยะยาวของเราได้ทั้งนั้น

เรามักมองระบบนิเวศของธุรกิจดิจิทัลไม่ออก จะทำอะไรก็มักจะรู้สึกว่ามีคนทำไปแล้ว เคยเห็นคนอื่นทำแล้ว แอพนี้มีแล้ว ฯลฯ จนเราอาจหลงลืมไปว่าแอพเรียกแท็กซี่นั้นไม่ได้มี Grab เป็นต้นแบบ แต่มี Uber มี Lyft และอีกหลายๆ ตัวที่พัฒนาต่อยอดกันมาจนบางอันสำเร็จ บางอันล้มเหลว และบางอันก็เลือกที่จะจับมือกับคู่แข่งเพื่อลดต้นทุนบริหาร

นอกจากนั้นแต่ละแพลตฟอร์มล้วนมีช่องว่างให้เราเข้าไปเป็นสร้างโอกาสให้กับตัวเองเสมอ อย่างเช่น Airbnb ซึ่งมีห้องพักและบ้านพักจากผู้คนมากมายทั่วโลก แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้นคือ เจ้าของห้องพักอาจมีหลายห้อง จึงดูแลได้ไม่ทั่วถึง เป็นโอกาสให้สตาร์ทอัพเจ้าหนึ่งเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างนั้นด้วยการเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการห้องพักเหล่านั้นบนแพลตฟอร์ม Airbnb เพื่อลดภาระเจ้าของห้องแล้วคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเล็กน้อย เพียงแค่นี้ก็เป็นโอกาสในการสร้างธุรกิจได้แล้ว

ที่สำคัญสตาร์ทอัพเจ้านี้ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลจากเจ้าของห้องพักที่เขาให้บริการว่าแต่ละโซนมีอัตราเข้าพักสูงในช่วงใดบ้าง ทำให้เขาวางแผนเช่าระยะยาวจากเจ้าของห้องเพื่อมาปล่อยให้ลูกค้าใน Airbnb ต่อได้ในราคาถูก นับเป็นการใช้ข้อมูล analytics แบบง่ายๆ สร้างโอกาสในการทำกำไรเพิ่มเติมได้อีก

การหลงใหลได้ปลื้มกับยอดขายและรายได้จากธุรกิจดิจิทัลของคนไทยในทุกวันนี้ในอีกมุมหนึ่งจึงเป็นการติด ‘กับดักดิจิทัล’ เพราะสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มใดๆ ให้กับธุรกิจ นอกจากเป็นส่วนประกอบหนึ่งในแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของต่างชาติเท่านั้น

ธุรกิจออนไลน์หลายๆ แห่งหลังจากติดตลาดแล้วจึงหันมาทำสิ่งที่ถือได้ว่า ‘ย้อนยุค’ สุดขีดนั่นคือการหันมาเปิดร้านของตัวเองอย่างจริงจัง เพราะรู้ว่านั่นเป็นการสร้าง touch point เพื่อเข้าถึงลูกค้าแบบ O2O คือทั้งออนไลน์และออฟไลน์ไปพร้อมๆ กัน

คนรุ่นใหม่ที่กำลังร่ำรวยจากโลกออนไลน์ในทุกวันนี้ จึงเป็นภาพลวงตาเสียมาก เพราะส่วนใหญ่ติดอยู่ในกับดักดิจิทัลเหล่านี้ แต่หากเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะหลุดออกมาได้ก็ยังมี การพัฒนาตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอ

Author

ปฐม อินทโรดม
ด้วยประสบการณ์บริหารบริษัทไอทีหลายแห่ง ทำให้ปฐมเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีที่มักแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ อยู่เสมอ แต่เนื้อแท้แล้วปฐมสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการศึกษาไม่แพ้กัน เพราะรู้ว่าโลกดิจิตอลและอนาล็อกที่มาพัวพันกันทุกวันนี้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์มากมายที่น่าบันทึกเอาไว้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า