มิตรสตรีท่านหนึ่งส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ผม บนพื้นหลังสีขาวควันบุหรี่มีใบหน้าของชายหนึ่งคนถูกวาดอย่างหยาบด้วยเทคนิค charcoal หากเป็นเมื่อก่อนเราคงสงสัยว่าเจ้าของใบหน้าผู้นี้เป็นใคร แต่หลังจากปี่กลองการเมืองประโคมขึ้น ใบหน้าของเขาก็เข้ามาอยู่ในการรับรู้ของผู้คนในวงกว้าง
แต่เราต่างรู้ดีว่าลำพังใบหน้าไม่อาจพาสังคมไปสู่อะไรได้ สิ่งที่คนสนใจเจ้าของใบหน้าจึงมาจากความคิดอ่านที่เสนอต่อสังคม บางอย่างท้าทาย บางอย่างเขย่าความเชื่อ บางถ้อยคำชักชวนให้ผู้คนที่เบื่อหน่ายกับความอีรุงตุงนังของการเมืองไทยให้กลับมามีความหวังกับอนาคต
ชื่อของหนังสืออยู่มุมซ้ายบน มันเขียนเอาไว้ว่า Portrait ธนาธร ขณะที่ตรงกลางล่างสุดมีข้อความว่า “บทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์”
ผมไม่ควรยกยอเกินจริง แต่การบอกว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายก็ไม่ใช่เรื่องโกหก กระนั้นหากจะต้องยกบางช่วงตอนมาเล่าสู่กันฟัง มันจะต้องไม่ใช่ช่วงเวลาที่สปอตไลท์ทางการเมืองจับจ้อง เพราะเราคงเห็นบ้างแล้วว่าความคิดอ่านของเขา การเคลื่อนไหวทางการเมือง การนำเสนอนโยบาย ตลอดจนการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้นเป็นอย่างไร
ช่วงที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมก็คือ ก่อนก้าวเข้ามาสู่ถนนการเมืองอย่างเต็มตัวเช่นทุกวันนี้ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เป็นคนเช่นไร
นักเรียนที่ไม่เอาไหน
ถ้าใครเป็นครูของธนาธร น่าจะนิยามความเป็นเขาในวัยเรียนไม่ต่างจากนี้
“ตั้งแต่เด็กจน ม.3 ผมเรียนปานกลาง ไม่มีวิชาไหนโดดเด่น ไม่มีวิชาไหนที่เหี้ย” เขาพูดเช่นนั้น ในช่วง ม.ต้น เกรดเฉลี่ยของเขาได้ 2.5 ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ ก่อนที่มันจะดิ่งลงเมื่อขึ้นสู่ ม.ปลาย และมหาวิทยาลัย “พอ ม.4 เริ่มรู้ว่าการเรียนไม่ตอบสนองอะไรกับชีวิต ตั้งแต่นั้นก็เกือบตกมาตลอด 2.1 / 2.0 จนมหา’ลัย ก็แบบเดิม ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธากับระบบการศึกษาไทย ไม่เข้าห้องเรียน”
“ในรุ่นผม น่าจะหาได้น้อยคนมากที่โดดเรียนเยอะกว่าผมทั้ง ม.ปลาย และมหา’ลัย”
โดดเรียนไปตีสนุกฯ หรือไม่ก็เล่นเกม หากวันไหนเข้าห้องเรียน ซึ่งไม่มากนัก เขาก็จะไปนั่งหลับในห้อง หลับทั้งวัน ไม่มีครูคนไหนอยากไปข้องแวะด้วย ขณะที่ชีวิตในมหาวิทยาลัย เขาหมดเวลาไปในร้านเหล้ามากกว่าเข้าเรียนเช่นเคย หนักเข้ากว่านั้นคือพกเหล้าไปกินในมหาวิทยาลัย ในแวดวงของคนไม่เอาไหน ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ คือคนที่มี ‘ชื่อเสียง’ และ ‘ชื่อเสีย’ ในเวลาเดียวกัน กระทั่งมีจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่เขาพูดทีเล่นทีจริงว่า ทำให้ชีวิตบัดซบมาจนถึงวันนี้
ขณะเรียนปี 1 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้เจอกับรุ่นพี่ที่ทำสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) และ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ผู้คนรายรอบเหล่านี้ช่วยหล่อหลอมความคิดบางประการให้กับเขา บทสนทนาระหว่างเพื่อน หนังสือที่ได้อ่าน ยิ่งทำให้ความคิดถูกกระเทาะและขัดเกลาในเวลาเดียวกัน ขณะที่การไปออกค่ายก็ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้เขารู้จักประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลจุดศูนย์กลางมากขึ้น
กิจกรรมดี แต่การเรียนยังย่ำแย่เช่นเคย แย่ถึงขั้นที่เขาบอกว่า ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง เพื่อนทำการบ้านให้ ในห้องสอบก็ยังต้องลอกเพื่อน “ขนาดลอกยังตก” เขาเล่าและหัวเราะ “ผมแม่งไม่รู้เรื่องอะไรเลย”
“มีวิชาหนึ่ง ผมจำได้ เทอร์โมไดนามิกส์ เข้าไป ผมทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไม่รู้อะไรสักอย่าง น้ำไหลเท่าไร เครื่องสูบน้ำเท่าไร ข้อสอบแบบนั้น เข้าไป ผมนั่งวาดรูปโจทย์ วาดสวยด้วยนะ มีปั๊มน้ำ ท่อน้ำ วาดสวย แต่ไม่ได้ตอบ เพราะไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง ครูให้ผมสิบกว่าแต้มมั้ง ค่าวาดรูป (หัวเราะ) แม่บอกว่าไปเรียนเมืองนอกเถอะ เอาให้จบ”
แม่ไม่ได้พูดเปล่า แต่พูดทั้งน้ำตา หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเขาไม่มีทางเรียนจบ มันจึงเป็นการบังคับโดยอ้อมให้ต้องร่ำลาเพื่อนสนิทมิตรสหายก่อนบ่ายหน้าไปเรียนที่อังกฤษ กระนั้น ห้องเรียนในเมืองผู้ดียังเป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับเขาเช่นเคย ธนาธรเข้าห้องเรียนน้อย แต่ที่มากขึ้นอย่างบ้าคลั่งคือการอ่านหนังสือ ซึ่งนิสัยการอ่านเช่นนี้ติดตัวมากระทั่งถึงนาทีปัจจุบัน
นักผจญภัยตัวพ่อ
หลังเรียนจบ เดิมทีเขาตั้งใจจะไปทำงานพัฒนาด้านเยาวชนให้กับสหประชาชาติที่ประเทศแอลจีเรีย แต่พ่อของเขาเสียชีวิตในช่วงเวลานั้น ทำให้แผนการทุกอย่างถูกพับ และต้องกลับมาสานกิจการของครอบครัว ในตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทด้วยวัยเพียง 23 ปี
วัยหนุ่มของเขาหมดไปกับการทำงาน ดื่มเหล้า สูบบุหรี่จัด ออกกำลังกายน้อย กระทั่งอายุ 30 ปี ร่างกายก็ทวงคืน
“หมอนรองกระดูกผมปลิ้น มันไปกดทับเส้นประสาท จะเดินเข้าห้องน้ำยังทำไม่ได้ ผมคลานไป เป็นแบบนี้อยู่ประมาณเดือนหนึ่ง กว่าจะเริ่มเดินได้ หมอบอกว่าร่างกายคุณมันไม่ไหวแล้ว
“ก่อนหน้านั้น หลายปีก่อน ผมถ่ายเป็นเลือด คือเข้าห้องน้ำร้อยครั้ง เก้าสิบห้าครั้งมีเลือดปนมาด้วย และทุกเช้า มีร้อยเช้า ผมว่าเก้าสิบแปดเช้าที่ตื่นมาแล้ว จมูกหายใจไม่ออกหนึ่งข้าง พอสั่งขี้มูกออกมาก็มีเลือดติดมาด้วย ในร้อยเช้า ผมว่ามีเก้าสิบกว่าเช้าที่เป็นแบบนี้
“สรุปคืออาการหนัก ตื่นสาย ขี้เกียจ ร่างกายตึงไปหมด”
เขาไปพบแพทย์ ก่อนได้รับการวินิจฉัยว่ากล้ามเนื้อเครียด ต้องดีลีตออก พร้อมแนะนำว่าเขาควรจะเล่นโยคะจากนั้นปั่นจักรยาน เขาทำตามคำแนะนำแต่โดยดี เพียงแต่อาจเกินไปนิดหน่อย เพราะนอกจากโยคะกับจักรยาน เขาเริ่มวิ่ง จากวิ่งธรรมดาไปสู่ไตรกีฬา ซึ่งประกอบไปด้วยว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง จากนั้นไปเล่นไอรอนแมน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรกีฬาคนเหล็ก ประกอบด้วยการว่ายน้ำ 3.86 กิโลเมตร ขี่จักรยาน 180.25 กิโลเมตร และการวิ่งมาราธอน 42.2 กิโลเมตร แข่งขันแบบต่อเนื่อง ไม่มีหยุดพัก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นกีฬาที่ยากชนิดหนึ่งของโลก
ตามประสาพวกแรงเหลือ เขาวิ่ง 250 กิโลเมตรที่ทะเลทรายโกบี และไปวิ่ง 250 กิโลเมตรอีกครั้งที่ทะเลทรายซาฮารา วิ่งแบบ self-supported ระยะทาง 560 กิโลเมตรที่อาร์คติกเซอร์เคิล ซึ่งเป็นการวิ่งที่ต้องแบกของไปเองทุกอย่างทั้งน้ำ อาหาร เสื้อผ้า ค่ำไหนนอนนั่น ให้เวลา 7 วันในดินแดนที่มีอุณหภูมิ -23 องศาเซลเซียส เขาเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ทำได้สำเร็จ
ทะลุเพดานมาทีละนิด ความท้าทายอันต่อมาที่เขาทำคือปีนเขาโซโล ไม่มีไกด์ เพราะการผจญภัยในนิยามของธนาธร มันต้องไม่รู้ว่าเกมนี้จะจบอย่างไร ถ้าพลาดนิดเดียวหมายถึงชีวิต
“เวลาสิบกว่าชั่วโมง อยู่กับตัวเอง อยู่กับเส้นทาง อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความเปล่าเปลี่ยว ในที่ที่ไม่มีใครเลยทั้งภูเขา
“คุณอยากคุยกับพระเจ้าคุณต้องทำแบบนี้
“ที่ที่รวยจนไม่มีความหมาย
“ก้าวพลาดครั้งเดียว ไม่ว่ามึงจะรวยจะจน ตายเหมือนกัน”
แน่นอนว่าเขารอดมาได้ แต่ไม่ใช่เพราะโชคช่วยหรือความบ้าบิ่นเท่านั้น เขาย้ำในหลายต่อหลายครั้งว่าต้องศึกษาและวางแผนอย่างดี ไม่ใช่สุ่มสี่สุ่มห้าอยากวิ่งอยากปีนก็ทะเล่อทะล่าไปทำ
เหมือนร่างกายจะไม่มีขีดจำกัด และดูเหมือนการผจญภัยของเขาจะบรรลุเป้าหมายทุกครั้ง กระนั้นก็มีการผจญภัยบางอย่างที่ภารกิจล้มเหลว และมีบางจังหวะที่เขาบอกว่า “ผมรู้สึกกลัวตายมากๆ ครั้งแรกก็ที่นั่น” ซึ่งผมจะไม่เฉลย
ภูเขาลูกใหม่
ตอนเรียนที่อังกฤษ เขาน่าจะเป็นนักเรียนที่รวยที่สุดในรุ่น แต่ก็ทำตัวติดดิน ขลุกแต่กับกองหนังสือ มือถือก็ไม่ใช้
เขามีนาฬิการาคาแพง แต่เป็นมรดกของพ่อ ส่วนเรือนที่เขาซื้อเองราคา 12,000 บาท เป็นนาฬิกาที่บอกอุณหภูมิ บอกทิศ และบอกความสูงได้ ซึ่งเขาใช้มันสำหรับผจญภัย
เคยมีรถสปอร์ตด้วยการรบเร้าพ่อซื้อให้ เขายอมรับว่าตอนนั้นไม่รู้จักคุณค่าของเงิน แต่ปัจจุบันรถที่ใช้อยู่แพงสุดราคา 3 ล้านบาท แต่ละวันเขาใช้เงินไม่มาก ในจำนวนไม่มากนั้นหมดไปกับเหล้า หนังสือ ท่องเที่ยว และอุปกรณ์ปีนเขา ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าต้องแพงเพราะมันรับผิดชอบชีวิตเขาตลอดทางการปีนป่าย
นิสัยการใช้เงินเช่นนี้ เขาอธิบายว่าเป็นเพราะเคยเข้าไปทำงาน NGO ได้สัมผัสผู้คนมากมายที่ยากไร้ จึงใช้จ่ายเงินในทางส่วนตัวน้อยมาก แม้จะเป็นผู้บริหารบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ใหญ่โตระดับประเทศมีคู่ค้าอยู่ทั่วโลกก็ตามที
บริษัทของเขาใหญ่โตแค่ไหน ธนาธรบอกว่าหากเอาบริษัทเข้าไปในตลาดหลักทรัพย์ ไทยซัมมิทจะอยู่ในอันดับ 20-30 ของประเทศ แต่ที่ไม่เข้าตลาด เพราะว่าบริษัทของเขามีกระแสเงินสดมากพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องระดมทุน
“ยกตัวอย่าง Forbes จัดอันดับคนรวย แม่ผมติดอันดับในช่วงสองสามปีแรก หลังๆ รู้สึกว่ามันไม่ใช่ว่ะ ทุกปี Forbes ส่งแบบฟอร์มมาให้กรอก คุณมีทรัพย์สินเท่าไร ยอดขายยังไง แล้วเขาเอาไปประเมิน ครอบครัวผมเลิกกรอกไปหลายปีมาก
“จนเพิ่งมาปีนี้ ผมมาทำงานการเมือง มันก็มีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องบอกกับสาธารณะ ว่าผมประสบความสำเร็จทางธุรกิจมากน้อยแค่ไหน จำเป็นต้องพูดเรื่องยอดขายและกำไร เขาก็เอายอดขายและกำไรไปประเมินความมั่งคั่ง
“เราก็เลยกลับมาติดอันดับอีกครั้ง ซึ่งก่อนหน้านี้เราไม่เคยกรอก หลุดจากอันดับไปหลายปี ใครถาม เราก็ยักไหล่”
บริหารธุรกิจจนเติบโตชนิดที่เดินหน้าไม่หยุด ยังหาลิมิตไม่เจอทั้งชีวิตส่วนตัวและองค์กร กวาดรางวัลระดับโลกก็นับไม่ถ้วน แต่วันหนึ่งเขาก็ตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง มันเป็นเส้นทางที่เราทราบและเห็นสักระยะหนึ่งแล้ว
“มันทำอะไรไม่ได้ถ้าเรายังเป็น observer อยู่ ก็มองกันต่อไป นั่งกินเหล้า ด่าพ่อประยุทธ์ต่อไป มันทำอะไรไม่ได้จริงๆ
“ก่อนมาทำงานการเมือง บาลานซ์ชีวิตผมเป็นอะไรที่ลงตัวที่สุดแล้ว งาน ครอบครัว กีฬา เพื่อน ผมคิดว่าชีวิตผมดีที่สุดแล้ว แต่มันไม่มีความสุข มันทนไม่ได้”
หลังการตัดสินใจ เราคงเห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น พรรคอนาคตใหม่ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างเป็นทางการ นักธุรกิจระดับหมื่นล้านเช่นเขาเปลี่ยนบทบาทสู่นักการเมืองเต็มตัว แน่นอนว่านี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเรื่องเล่าเท่านั้น ยังมีข้อความอีกหลายบรรทัดรอการเปิดอ่านเพื่อขบคิด ทั้งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว และทรรศนะต่อเหตุบ้านการเมือง
Portrait ธนาธร บทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ สำนักพิมพ์บางลำพู |