WHO เตือน จับตาไข้หวัดนกหลังพบสัญญาณเสี่ยง ระบาดระลอกใหม่

ไข้หวัดนก (Avian Influenza) เป็นไวรัสตระกูลเดียวกับไข้หวัดใหญ่ชนิด A ที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของสิ่งมีชีวิต (Influenza Virus) และแพร่เชื้อในกลุ่มสัตว์ปีกเป็นหลัก ทว่าใน 1-2 วันที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเริ่มรายงานว่า พบสัญญาณของความเสี่ยงที่ไข้หวัดนกอาจพัฒนาจนเกิดการระบาดขนาดใหญ่ (pandemic) ไม่ต่างจากไวรัสโควิด-19 

เดือนพฤศจิกายนปี 2565 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) รายงานว่า ตั้งแต่ต้นปี 2565 มีประชากรนกมากกว่า 49 ล้านตัวใน 46 มลรัฐ ตายเพราะไข้หวัดนก ส่วนหนึ่งตายเพราะติดเชื้อ ขณะที่อีกส่วนถูกกำจัด (ฆ่า) เพราะมีประวัติสัมผัสกับนกที่ติดเชื้อ ตัวเลขดังกล่าวใกล้เคียงกับจำนวนนกที่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนกเมื่อปี 2558 ที่สถานการณ์รุนแรงจนมีนกเสียชีวิตประมาณ 50 ล้านตัว ใน 21 มลรัฐ

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักข่าว CNN เสนอโดยอ้างอิงรายงานขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เรื่อง Virtual Press Conference on Global Health Issues Transcript ว่า พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากขึ้น เช่น มิงค์ นาก สุนัขจิ้งจอก และสิงโตทะเล

สำนักข่าว The Economist รายงานใกล้เคียงกับ WHO ว่า มีสิงโตทะเลในเปรูเสียชีวิตจากไข้หวัดนกถึง 585 ตัว และยังพบการระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ในอีกหลายประเทศ เช่น สเปนและสหราชอาณาจักร

แม้ปัจจุบันแพทย์จะยังไม่พบความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสดังกล่าวจะระบาดจากสัตว์สู่คน หรือจากคนสู่คนมากนัก และจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในหลักสิบ ซึ่งส่วนใหญ่คือมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับสัตว์ปีก อย่างไรก็ตาม ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ WHO เตือนว่า เราไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเตรียมรับมือให้พร้อมสำหรับการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยรับมือการระบาดของไข้หวัดนกที่แพร่จากสัตว์สู่คนมาแล้วในเดือนมกราคม ปี 2547 ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยารายงานว่า มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 610 ราย จาก 66 จังหวัด แต่หากพบสัญญาณความเสี่ยงว่า อาจมีการระบาดครั้งใหม่เกิดขึ้นในอนาคต รัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เพิ่งฟื้นจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ควรเตรียมการเพื่อรับมือให้ทันท่วงที

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า