การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในระดับโลกครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและภาคการเงินทั้งหลายต้องหยุดชะงักเท่านั้น แต่ยังลามไปถึงโลกของเสียงที่ต้องเงียบสงัดลงไปด้วย เมื่อมีรายงานว่ารายได้จากการแสดงสดในอุตสาหกรรมดนตรีหดหายไปถึง 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการประกาศยกเลิกคอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี ไปจนถึงการประกาศยกเลิกการ come back หรือ reunion ของหลายวง จนแฟนคลับเดนตายแทบจะต้องร้องไห้เดินกำตั๋วไปคืนเงิน
ถึงแม้ว่าการแสดงดนตรีสดจะไม่สามารถจัดขึ้นได้ และบรรดาแฟนเพลงคงไม่สามารถไปส่ายสะโพกโยกหัวอยู่กลางคอนเสิร์ตท่ามกลางมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม คำถามที่น่าสนใจต่อมาจึงกลายเป็นว่าแล้วเหล่าบรรดาศิลปินที่อยู่ๆ ก็มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนโชว์ออกไปนั้น พวกเขาทำอะไรกันบ้างภายใต้การกักตัว ชีวิตของเหล่าผู้สร้างเสียงดนตรีจะเป็นอย่างไรเมื่อการส่งเสียงไปให้ถึงหูของผู้ฟังมีความยากลำบากยิ่งขึ้น จะจัดการอย่างไรกับวิถีชีวิตของการเป็นผู้ผลิตผลงานศิลปะที่มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นจนสวนทางกับรายได้ที่หดหาย
สิ่งเหล่านี้ที่เรากำลังจะได้เรียนรู้จากบรรดาศิลปินในบรรทัดถัดจากนี้ คงทำให้ผู้อ่านผู้ฟังเกิดความหวังเป็นแสงปลายอุโมงค์อยู่บ้าง ว่าศิลปินที่พวกเขารักนั้นบางคนก็กำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการกลับมาหลังโลกกลับสู่สภาวะปกติ บางคนกำลังหาอาชีพเสริมทดแทนรายได้ที่ขาดหาย หรือบางคนก็ออกไปทำประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยจะขอพาไปดูสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2020 จวบจนปัจจุบันของวงการดนตรีทั่วโลกว่า พวกเขาพยายามปรับตัวอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้วงการดนตรียังคงก้าวไปข้างหน้าได้ต่อไป
Collab: จัสติน บีเบอร์ x อารีอานา กรานเด กับ MV ‘Stuck with U’
ความโด่งดังของศิลปินหนุ่มสาวคู่นี้คงยากที่ใครจะปฏิเสธ พวกเขามีฐานแฟนคลับกว้างขวางทั่วโลก เพียงแค่พวกเขาขยับตัวก็มักตกเป็นข่าวอยู่เสมอ และภายใต้การกักตัวอยู่บ้านนี้เองก็ได้ทำให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจใหม่สำหรับการทำเพลง ‘Stuck with U’ ออกมา
เพลงดังกล่าวถูกปล่อยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2020 โดยรูปแบบการทำ MV ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสื่อสารระยะไกลระหว่างผู้คน ประหนึ่งเราๆ ท่านๆ ที่ต้องใช้วิดีโอคอลในการติดต่อสื่อสารกันตามมาตรการรักษาระยะห่าง ความจริงเรื่องราวเหล่านี้อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในวงการสร้างสรรค์ศิลปะเท่าไหร่นัก แต่จุดที่ทำให้ผลงานของทั้งคู่มีความพิเศษเพิ่มขึ้นมาก็คือ ผลงานเพลง ‘Stuck with U’ ได้เปิดระดมทุนการกุศล (charity single) ให้แก่องค์การ First Responders Children’s Foundation สำหรับมอบทุนการศึกษาและเงินสนับสนุนให้แก่บุตรหลานของแรงงานในภาคสาธารณสุข เภสัชกร และตำรวจหรือนักผจญเพลิง ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในแนวหน้าของการยับยั้งสถานการณ์การระบาดระดับโลก
เป้าหมายของศิลปินคู่นี้ ไม่เพียงเป็นการระดมทุนช่วยเหลือบุตรหลานของผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่กินเวลายาวนาน แต่ยังพยายามสร้างบรรยากาศการกักตัวให้ไม่ดูเศร้าหรือเงียบเหงาเกินไปนักกับคนทั่วโลก
ขณะนี้ยอดการรับชมผ่านช่องทาง YouTube ของเพลงนี้ไปกว่า 166 ล้านวิว และคาดว่าตัวเลขยังคงเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนกว่าระดับการแพร่ระบาดจะกลับมาเป็นปกติ
โชว์คอนเสิร์ตที่บ้าน: เอลวิส คอสเทลโล ระดมทุนสนับสนุนองค์กรสุขภาพ
เอลวิส คอสเทลโล (Elvis Costello) นักร้องและนักแต่งเพลงชาวอังกฤษที่มีผลงานดังมาตั้งแต่ช่วงยุค 80 จนถึงยุค 90 อย่างเพลง ‘(The Angels Wanna Wear My) Red Shoes’(1977) และ ‘Man out of Time’ (1982) ที่ถึงแม้อายุอานามจะมากแล้ว แต่ก็ยังคงจับกีตาร์อยู่เสมอ หากจะเทียบแล้วก็อาจถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศิลปินรุ่นใหญ่ในวงการดนตรีของโลก และแน่นอนมีหรือที่รุ่นใหญ่วัยเก๋าอย่างเขาจะนิ่งดูดายกับสถานการณ์ความยากลำบากของสังคมและความโหยหาเสียงดนตรีในใจผู้คนที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน
เมื่อเดือนมีนาคมในปีที่ผ่านมา เอลวิสได้จัดโชว์คอนเสิร์ตผ่านช่องทาง YouTube Channel ของ Artists 4NHS เป็นเวลาเกือบ 1 ชั่วโมง มีผู้เข้ามารับชมถึงกว่า 144,500 วิว โดยการเล่นคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นไปเพื่อการระดมทุนช่วยเหลือให้แก่ U.K. National Health Service (NHS) ซึ่งเป็นองค์กรผู้ให้บริการสุขภาพแห่งชาติของสหราชอาณาจักร โดยเงินจากโครงการนี้จะเข้าไปอุดหนุนช่วยเหลือบรรดาอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขที่กำลังทำงานหนัก
อย่างไรก็ตาม เอลวิสไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่เข้าร่วมโครงการนี้ และ Artists 4NHS ก็ไม่คิดจะหยุดอยู่แค่การทำงานกับเอลวิสเพียงคนเดียว แต่ยังทำคอนเสิร์ตฉบับกักตัวเพื่อระดมทุนอีกต่อมาถึง 13 คลิป ร่วมกับศิลปินอื่นๆ อีกมากมาย จึงดูเหมือนว่าการนำเสียงเพลงมาผสานเป็นแรงช่วยเหลือสังคมยามทุกข์ยากนั้นคือความงดงามอีกด้านของเสียงดนตรี
สอนกีตาร์ออนไลน์: ไบรอัน เมย์ ใช้เวลาว่างสอนเล่นดนตรี
มือกีตาร์ระดับตำนานของวง Queen อย่าง ไบรอัน เมย์ (Brian May) ใช้เวลาว่างที่เขามีช่วงการกักตัวอยู่บ้านอย่างมีประโยชน์ เขาได้สร้างเนื้อหาสอนการเล่นกีตาร์หลากหลายเพลงในตำนานของวง Queen ผ่านแพลตฟอร์ม Instagram TV ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 2.8 ล้านแอคเคาท์ หากนักดนตรีหรือผู้ที่อยากจะเป็นนักดนตรีคนใดต้องการฝึกปรือฝีมือกับยอดตำนานกีตาร์คนนี้ ก็ยังสามารถเข้าไปค้นหาคลิปย้อนหลังของเขาได้
ดูเหมือนว่าการใช้เวลาว่างที่เพิ่มขึ้นของศิลปินตลอดช่วงการระบาดระลอกแรกจนถึงระลอกปัจจุบัน ศิลปินหลายคนอาจใช้ความสามารถของตนเองไปกับการเพิ่มศักยภาพระดมทุนเพื่อกลุ่มต่างๆ ที่กำลังได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 แต่ในส่วนของไบรอันนั้น เขาได้ใช้ความสามารถและเวลาที่เพิ่มขึ้นไปกับการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ๆ ในวงการดนตรีที่กำลังย่ำแย่และขาดกำลังใจ บางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่มือกีตาร์รุ่นเก๋าอย่างไบรอันมองเห็นและพอจะรู้สึกว่าตนเองมีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือจุนเจือวงการและสังคมได้ ถึงแม้ว่าปัจจุบันสุขภาพของเขาอาจจะไม่ได้แข็งแรงเหมือนก่อน แต่การร่ายเวทมนตร์บนคอกีตาร์แต่ละโน้ตของเขาก็ยังคงหมายมั่นที่จะนำพานักดนตรีรุ่นใหม่ที่กำลังท้อแท้กับการขาดรายได้และพลังใจในการเล่นดนตรี ให้ขยับไปข้างหน้าได้บ้างไม่มากก็น้อย
ออกอัลบั้ม: เทย์เลอร์ สวิฟต์ ใช้เวลาว่างกับการเร่งผลิตผลงาน
การที่มีเวลาว่างเพิ่มขึ้นหลังจากไม่ได้ออกไปเดินสายทัวร์คอนเสิร์ต ดูจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับศิลปินในการกลับมายกระดับผลงานของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ถึงแม้รายได้อาจจะหดหายไปบ้าง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) จะย่อท้อ โดยหลังช่วงกักตัวจวบจนถึงปัจจุบันนั้น กลายเป็นว่าเธอมีเวลาว่างที่เพิ่มมากขึ้นในการทำเพลง และออกผลงานได้ถึง 3 อัลบั้ม คืออัลบั้ม Folklore (2020) อัลบั้ม Evermore (2020) และอัลบั้ม Fearless Taylor’s Version (remake) (2021) คิดรวมระยะเวลาที่ไม่นานนี้เองมีผลงานเพลงมากกว่า 20 เพลง ให้แฟนเพลงไปเลือกฟังกันได้ในโปรแกรมสตรีมมิ่งต่างๆ
บางทีการกลับมาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ หรือปรับปรุงแก้ไขผลงานที่เคยมีปัญหาให้ดียิ่งขึ้น อาจจะเป็นหัวใจหลักของการเป็นศิลปินที่นอกเหนือไปจากการเดินสายเล่นคอนเสิร์ตก็เป็นได้ ช่วงระยะเวลาที่จำเป็นต้องยกเลิกงานออกทัวร์ทั้งหลายจึงยังเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่า หากศิลปินไม่สามารถออกไปบรรเลงเพลงให้โลกภายนอกฟังได้ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็เป็นหนึ่งในเส้นทางที่ยังคงทำให้การเป็นนักดนตรีนั้นยังคงซื่อตรงต่อ passion ของตนเองต่อไปได้ท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป
เป็นนักดนตรีก็ต้องเล่นดนตรีสิ: ศิลปินผู้ไม่ย่อท้อที่จะเล่นดนตรีไปให้ถึงผู้ฟัง
ถึงแม้จะไม่ได้มีกิจกรรมเพื่อการกุศลหรือการมุ่งสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาให้ตลาดวงการเพลงได้รับชมอยู่เรื่อยๆ ก็ตาม บรรดาศิลปินมากหน้าหลายตาก็ไม่ได้หยุดที่จะทำในสิ่งที่ตนเองรักเท่าที่พวกเขายังสามารถทำได้ โดยแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง StageIt.com ได้เล็งเห็นถึงวิธีการที่จะยังสามารถเชื่อมกลุ่มแฟนคลับและศิลปินที่พวกเขารักได้ผ่านทางช่องคอนเสิร์ตโลกเสมือน ที่มีศิลปินบนหน้าเว็บนี้อยู่ตั้งแต่ Jon Bon Jovi, Indigo Girls ไปจนถึง Joan Jett และ Korn
ถึงแม้จะไม่ได้แสดงดนตรีผ่านแพลตฟอร์มนี้ ศิลปินอีกหลายกลุ่มก็ยังคงเล่นดนตรีเพื่อส่งไปให้ถึงแฟนคลับของพวกเขาผ่านการสตรีมมิ่งบนเครือข่ายของตนเองอีกเป็นจำนวนมากและยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ อย่าง John Legend, Garth Brook, Shawn Mendes, Miley Cyrus ไปจนถึงวงอย่าง Fall out Boy ที่ใช้ตุ๊กตาของเล่น (action figure) ของวงตนเองมาจัดคอนเสิร์ตออนไลน์
ดูเหมือนว่าความพยายามในการเล่นดนตรีหรือหาทางเชื่อมต่อกับผู้ฟังสำหรับศิลปินหลายกลุ่มนั้น ยังไม่เสื่อมสลายหายไปกับสภาวะที่ต่างคนต่างแยกกันอยู่ในบ้านแต่ละหลังเป็นเวลานาน เราอาจจะต้องดูกันต่อไปว่าทั่วโลกพร้อมที่จะกลับมาเจอหน้ากันอีกเมื่อไหร่ ระหว่างนี้ก็คงทำได้เพียงแค่การดูพวกเขาแสดงผลงานผ่านทางหน้าจอให้หายคิดถึงกันไปพลางๆ ก่อนเท่าที่ทำได้
ใช้บทเพลงเป็นเครื่องด่า: อย่างที่ Cardi B เคยทำ ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ศิลปินสาวนักแร็ปโด่งดังเป็นพลุแตก หลังจากออกมาเผยแพร่คลิปของตนเองที่ตื่นตระหนกถึงภัยอันตรายของไวรัส COVID-19 ตั้งแต่สมัยยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเป็นช่วงที่สังคมอเมริกันยังไม่ตื่นตัวกับสถานการณ์การระบาดในระดับโลกมากนัก นอกจากจะกลายเป็น meme เกี่ยวกับโรค COVID-19 แล้ว ยังกลายเป็นเครื่องด่าไปถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลอีกด้วย
ในช่วงปีที่แล้วที่โลกยังรับมือไม่ทันกับการระบาดขนาดใหญ่ระดับทั่วโลก Cardi B ได้ออกมากล่าวผ่านทาง Instagram TV ถึงโรคระบาดดังกล่าวว่า “โรค Coronavirus มันโคตรเป็นของจริงเลย”
ในสมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โรค COVID-19 ยังไม่ค่อยถูกเชื่อถือมากนักว่ามีภัยอันตรายต่อสังคมโดยรวมขนานใหญ่ รวมไปถึงการที่รัฐบาลออกมาประกาศว่าหากประชาชนไม่มีอาการของโรค COVID-19 ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปตรวจ เนื่องจากยังมีชุดอุปกรณ์ตรวจเชื้อที่ไม่เพียงพอ แต่นั่นกลับสวนทางกับการออกมาเปิดเผยของเหล่าดาราและคนดังที่เจ้าตัวไม่มีอาการใดๆ เลยประหนึ่งสุขภาพดี แต่ผลตรวจกลับออกมาเป็น Positive
“ถ้าคุณติดเชื้อไวรัส แต่ไม่แสดงอาการใดๆ นอกเหนือไปจากไข้หวัดธรรมดา การส่งคนกลับบ้าน คิดว่าพวกเขาจะกลับไปที่บ้านแบบไหน? ไม่ใช่ทุกคนนะที่จะมีห้องนอนที่โคตรใหญ่ในบ้านหรูที่โคตรโตที่จะทำให้สามารถกักตัวได้!”
นอกจากการวิพากษ์ความย้อนแย้งของรัฐบาลสมัยนั้นแล้ว แร็ปเปอร์สาวยังพูดถึงความสองมาตรฐานของการตรวจเชื้อไวรัสอีกด้วย โดยกล่าวถึงความรวดเร็วในการตรวจที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างคนทั่วไปกับดาราและคนดัง
“ฉันจะบอกอะไรให้นะ คนธรรมดาที่มีรายได้ธรรมดาไปจนถึงคนจน พวกเขาไม่มีทางได้รับการตรวจเชื้อที่จะได้รู้ผลในวันถัดไปทันทีเหมือนพวกคนดังหรือคนระดับบนๆ หรอก!”
การออกมาวิพากษ์การทำงานบริหารของรัฐบาลโดย Cardi B มีผู้รับชมถึงกว่า 23 ล้านวิว โดยเธอมีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มดังกล่าวอยู่ประมาณ 93.9 ล้านแอคเคาท์ ซึ่งสารดังกล่าวดูเหมือนจะส่งผลไปในระดับกว้างและสร้างความตระหนักรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมได้เป็นอย่างดี ดูเหมือนศิลปินจะไม่ได้ใช้เพียงเสียงของตนเองในการเรี่ยไรบริจาคเงินสนับสนุนหรือเพียงแค่เพื่อทำผลงานอยู่บ้านเฉยๆ ได้เพียงอย่างเดียว ในบางกรณีอย่างเช่นของ Cardi B นั้นก็ดูเหมือนว่าจะยังสามารถใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่กำลังโผล่พ้นยอดผิวน้ำให้พวกเราได้เห็นได้ง่ายขึ้นในช่วงเวลาของ COVID-19 อีกด้วย
Call out: เสียงที่มากกว่าเพลง และเนื้อหาที่มากกว่าท่วงทำนอง
ทางฝั่งซีกโลกตะวันตก หรืออาจรวมไปถึงบางภาคส่วนของเอเชียเริ่มได้รับวัคซีนจากบริษัทยาเจ้าดังต่างๆ กันไปแล้ว แนวโน้มเช่นนี้อาจทำให้หลายประเทศสามารถกลับมาจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีอย่างเต็มรูปแบบได้อีกครั้ง โดยจะเห็นได้ว่าบรรดาวงดนตรีหรือศิลปินหลายคนเริ่มร่างกำหนดการการทัวร์รอบใหม่ไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นี่คงเป็นอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์วงการบันเทิงที่เหล่าศิลปินและคนดังออกมาทำอะไรบางอย่างที่อาจจะนอกเหนือไปจากสิ่งที่ตนเองเคยทำตามปกติแต่เดิม อย่างการเดินสายทัวร์หรือจัดงานกิจกรรมอีเวนท์ทั่วไปธรรมดา แต่การมาถึงของ COVID-19 ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนที่จะปรับตัวไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นในสังคม ตั้งแต่การพยายามทำสิ่งใหม่ หาแนวทางใหม่ที่จะนำเสนอ ไปจนถึงการผลักดันตนเองออกจาก comfort zone และใช้ประโยชน์จากฐานแฟนคลับจำนวนมากในการส่งเสียงสะท้อนสภาพปัญหาในสังคมออกไปสู่วงกว้าง
ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่การกักตัวครั้งแรกจนถึงปัจจุบันของบรรดาศิลปินเหล่านี้จะดูดีและมีความสร้างสรรค์ในการจัดการเวลาว่างที่มากขึ้นเพียงใดก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เกิดขึ้นได้เพราะการงาน อาชีพ และรายได้ของพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างจังเป็นกลุ่มแรกๆ การที่ไม่ออกมาทำอะไรใหม่ๆ หรือผลักดันเพดานของตนเองเลยอาจจะทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่รอดได้ในสังคมปัจจุบัน คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าหากเป็นกรณีวิกฤติขนาดใหญ่ไม่แพ้ไวรัส COVID-19 แต่ไม่ได้กระทบกับพวกเขาโดยตรงแล้ว (ดังเช่นกรณีช่วงการประท้วง Black Live Matter) พวกเขาจะยังออกมาทำอะไรแบบนี้มากน้อยแค่ไหน คำถามนี้เองก็อาจจะเป็นคำถามที่ขึ้นอยู่กับผู้ฟังและแฟนคลับของพวกเขาที่ต้องมองหาคำตอบในศิลปินที่ตนรักด้วยตนเอง
ต่อจากนี้จึงมีแนวโน้มว่าผู้ฟังทุกท่านจะมีโอกาสได้จับจองตั๋วการแสดงสดของบรรดาศิลปินที่ท่านรักได้อีกครั้ง (หากท่านได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยวัคซีนที่ WHO รับรอง) และได้ออกไปพบเจอกับศิลปินคุณภาพที่พยายามดิ้นรนเพื่อตนเองและวงการดนตรีให้อยู่รอดปลอดภัยไปได้ในช่วงเวลาอันยากลำบาก ถึงแม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา จะทำให้ศิลปินบางกลุ่มได้แฟนคลับเพิ่มและบางกลุ่มต้องเสียแฟนคลับไปบ้างก็ตาม ผู้ฟังและผู้อ่านทุกท่านต้องไม่ลืมว่าศิลปินทุกคนอยู่ได้ด้วยการหล่อเลี้ยงจุนเจือจากสังคม และการที่พวกเขาเลือกที่จะแสดงออกอย่างไรในช่วงเวลาที่สังคมต้องการที่สุดนั้น จะเป็นคำตอบในตัวเองว่าควรสนับสนุนต่อไปมากน้อยเพียงใดในอนาคต
อ้างอิง
- MESFIN FEKADU. (2020). Pollstar: Live events industry lost $30B due to pandemic. AP News
- Ariana Grande. (2020). Ariana Grande & Justin Bieber – Stuck with U. YouTube
- Dave Rifton. (2013). Top 10 Elvis Costello Songs. Ultimate Classic Rock
- Tom Skinner. (2020). Brian May teaches fans how to play Queen classics in home live-stream series. NME
- Stageit.com. A Few of our Artists.
- Instagram TV. (2020). iamcardib.