48 ชั่วโมง สร้างโรงพยาบาลสนาม ในวันที่สายป่านทุกเส้นของคนภูเก็ตกำลังขาดสะบั้น

“ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือหนทางรอดสุดท้ายของเราในตอนนี้”

หากนับตั้งแต่วันที่ แพทย์หญิงบุษยา สันติศานติ์ หรือ ‘หมอแป๋ม’ ขันอาสารับหน้าที่ในการสร้างและบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามภูเก็ต จนถึงวันนี้ เวลาได้ล่วงเลยมานานถึงปีครึ่งแล้ว กับการรับมือโควิดระลอกแล้วระลอกเล่า ณ เมืองที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวอันดับ 2 ของประเทศ สมญานามว่า ‘ไข่มุกอันดามัน’ หมุดหมายของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก 

ในปี 2560 จังหวัดภูเก็ตมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนต่อปีอยู่ที่ 270,673 บาท และรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประชากรจังหวัดภูเก็ต 133,332 บาท

ในช่วงเวลาปกติ เกาะแห่งนี้มีผู้คนพลุกพล่าน ร้านรวง โรงแรม ร้านอาหารน้อยใหญ่ตั้งเรียงเป็นทิวแถว ประชากรจริงและประชากรแฝงกว่า 900,000 คน ต่างพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก จนเมื่อการระบาดของโรคลุกลามกระทั่งต้องปิดน่านฟ้า คนภูเก็ตจึงตกอยู่ในภาวะความจนเฉียบพลัน พนักงานถูกลดเงินเดือนกระทั่งว่างงานจำนวนมหาศาล ผู้ประกอบการรายย่อยบ้างฮึดสู้ บ้างยอมแพ้ แต่ที่แน่ๆ พวกเขากำลังหมดแรง 

รายได้ต่อหัวของประชากรภูเก็ตในเดือนกุมภาพันธ์-กันยายน 2564 มีแนวโน้มจะลดลงเหลือเพียง 1,984 บาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนของประเทศที่อยู่ในราว 3,044 บาทต่อเดือน

ด้วยภาวะเช่นนี้ ในฐานะด่านหน้าควบคุมการระบาด ‘หมอแป๋ม’ ในขณะนั้น คือหัวหน้าศูนย์ Palliative Care ของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เธอได้อาสารับหน้าที่ก่อตั้งและบริหารจัดการโรงพยาบาลสนามภูเก็ต พร้อมกับบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง 

มันคือภารกิจที่ค่อนข้างฉุกละหุก การระบาดของโรคอุบัติใหม่ครั้งแรกเมื่อต้นปี 2563 ณ เวลานั้น หมอแป๋มมีเวลาเพียง 48 ชั่วโมง ในการตั้งโรงพยาบาลสนามแห่งแรกในจังหวัดภูเก็ต เพื่อรองรับสถานการณ์คนไข้ล้นโรงพยาบาล ไปจนถึงความรุนแรงจากการระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

เกิดอะไรขึ้นในภูเก็ต 

เราชวนหมอแป๋มไล่เลียงลำดับเหตุการณ์ และประมวลสถานการณ์ ในฐานะที่เธอเป็นทั้งคนในพื้นที่ และหนึ่งในทีมแพทย์ที่ยืนตระหง่านอยู่หน้าด่านวิกฤติโรคระบาด 

ปลายเดือนมกราคม 2563 คือช่วงเวลาที่ภูเก็ตตรวจพบผู้ติดเชื้อครั้งแรก 

“เราได้รับการขอร้องให้อยู่นิ่งๆ ไม่พูด ด้านหนึ่งคือคนไข้ที่เราตรวจพบ เราดูแลให้ไม่แพร่เชื้อต่อแน่นอน แต่เนื่องจากเป็นจังหวัดท่องเที่ยว เขาก็คงไม่อยากให้กระทบ แต่เมื่อคนไข้เยอะขึ้น กลายเป็นว่า เนื่องจากประเทศไทยเคสน้อยในช่วงแรก นักท่องเที่ยวจากยุโรปที่กำลังระบาด เขาก็หนีมาเมืองไทย ภูเก็ตคือหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่หนีตายจากโควิดในยุโรป จนกระทั่งภูเก็ตต้องตัดสินใจปิดเมือง” 

ปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนเมษายน 2563 ภูเก็ตประกาศปิดเมืองล่วงหน้า 14 วัน ให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกจากพื้นที่ 

ต้นเดือนเมษายน 2563 นักท่องเที่ยวเดินทางออกจากเมือง ภูเก็ตประกาศปิดเกาะ ปิดตำบล งดการสัญจรข้ามพื้นที่ กระทั่งสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในจำนวนที่รับมือได้ ภูเก็ตจึงเริ่มเปิดเกาะอีกครั้งในช่วงปลายเดือนเมษายนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ชะงัก ทว่าขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะการระบาดและปิดประเทศ การเปิดเกาะอีกครั้งจึงไม่สามารถเรียกคืนนักท่องเที่ยวได้

“เป็นเวลาร่วมปีที่ไม่มีนักท่องเที่ยวมา ภูเก็ตเหมือนเป็นเกาะที่ถูกสาป เราถูกตราหน้าว่าเป็นพื้นที่ระบาดของโควิด คนไทยก็ไม่มาเที่ยว คนต่างชาติยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะเขามาไม่ได้อยู่แล้ว ติดระบบกักตัว 14 วัน ช่วง 3 เดือนนั้นเราแทบไม่มีรายได้เลย ในขณะที่จังหวัดเราเคยมีรายได้จากการท่องเที่ยวแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์”

ปลายปี 2564 ภูเก็ตเริ่มมีนักท่องเที่ยวคนไทยทยอยเข้ามาจับจ่ายและท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมๆ กับการรณรงค์และแคมเปญลดราคาผุดขึ้นมากมายเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว สถานการณ์คล้ายว่าจะดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเกิดคลัสเตอร์การระบาดอีกครั้งในจังหวัดสมุทรสาคร

“ตอนนั้นก็ยังพอมีนักท่องเที่ยวคนไทยมาเที่ยวภูเก็ตอยู่นะคะ เพราะรอบนั้นภูเก็ตคุมเรื่องโรคระบาดอยู่ มีแค่ประมาณไม่เกิน 10 เคส และไม่เกิดการระบาดออกไปสู่ชุมชน ฉะนั้น เราก็ยังมีคนมาเที่ยวเรื่อยๆ”

จนมาถึง เดือนเมษายน 2564 เกิดการระบาดครั้งใหญ่จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ลุกลามไปยังผับบาร์ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการระบาดรอบที่ 3 ของจังหวัด 

“รอบนี้กรอบมากๆ เลย หมดสายป่านทุกเส้น เงินสะสมที่คนภูเก็ตพยายามเอาออกมาประคับประคองชีวิตก็หมดแล้วค่ะ ตกงานกันยาว 1 ปี แท็กซี่ตกงาน ทุกคนตกงาน”

แม้บางช่วง ภูเก็ตจะมีนักท่องเที่ยวไทยทยอยเดินทางมา ทำให้เศรษฐกิจของเมืองพอจะขยับเขยื้อนได้บ้าง แต่ถึงอย่างนั้นธุรกิจน้อยใหญ่ในจังหวัดภูเก็ตที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับผู้คนจำนวนมหาศาลจากทั่วโลกได้รับผลกระทบรุนแรง ลำพังนักท่องเที่ยวคนไทยเองที่ต้องรัดเข็มขัดในช่วงวิกฤติอยู่แล้ว จึงไม่อาจช่วยให้เศรษฐกิจของภูเก็ตกระเตื้องได้มากนัก คนตกงานจึงเต็มเมือง หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง รายจ่ายมากกว่ารายรับ ในภาวะที่เรียกว่า ‘จนเฉียบพลัน’ 

สถานการณ์เช่นนี้นำมาสู่การหาทางรอดด้วยแนวคิด ‘Phuket Sandbox’ 

“จากที่เรามองเห็นแล้วว่า อิสราเอล มัลดีฟส์ หรือที่อื่นๆ อย่างอเมริกา เขาเริ่มเปิดการท่องเที่ยวได้แล้ว เพราะเขาฉีดวัคซีน จึงเกิดแคมเปญภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา โดยตั้งเป้าว่า เราจะฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากรจริงและประชากรแฝงในภูเก็ต เพื่อที่จะเปิดเกาะ และเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันที่ 1 กรกฎาคม” 

48 ชั่วโมงของการตั้งโรงพยาบาลสนาม

“เราเจอสึนามิมาแล้ว เจอเรือล่ม โรคซาร์ส เจอภัยพิบัติหลายครั้งมาก ข้อนี้มันอาจทำให้เรารวมกันได้ง่าย เพราะเราเคยผ่านภัยพิบัติมาด้วยกัน แล้วหมอเองก็อยู่ในเหตุการณ์ทุกครั้งเลย (หัวเราะ)”

ทว่าวิกฤติครั้งนี้ต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ 

“เมื่อมันคือโรคที่ติดเชื้อ การที่เราจะเอาใครมาช่วย เขาก็กลัวตาย โดยเฉพาะช่วงแรก ทุกคนกลัวตายหมด เราไม่กล้าเอาจิตอาสาเข้ามาช่วย คนของเราหน้างานก็กลัวตาย เครื่องมือก็มีไม่พอ เครื่องป้องกันตัวก็ไม่มี หมอเองก็กลัว”

ย้อนไปยังการระบาดรอบแรก แพทย์หญิงบุษยา สันติศานติ์ คือหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเรียกตัวมารับภารกิจจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ในจังหวัดภูเก็ตอย่างเร่งด่วน เมื่อเตียงในโรงพยาบาลสำหรับการรองรับผู้ติดเชื้อมีไม่มาก อีกทั้งผู้ป่วยทั่วไปก็มีจำนวนไม่น้อย 

“รอบแรกเรารับคนไข้โควิดมาที่โรงพยาบาล เราก็ต้องค่อยๆ ปิดตึกทีละตึก …ตึกที่หนึ่งปิด ตึกที่สองปิด ตึกที่สามปิด จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว คนไข้ทั่วไปเริ่มลำบากแล้ว ไม่มีที่ให้คนไข้อยู่ เราก็คิดกันว่าต้องจัดหาสถานที่ใหม่แล้ว

“พอหัวหน้าโทรมาว่า ‘มาช่วยตรงนี้ได้แล้ว’ เราก็มา ตั้งแต่รอบแรกเลยที่เจ้านายเรียกให้มาช่วย เราก็ไม่ยังเคยเดินออกจากโควิดเลย

“วันนั้นหัวหน้าชวนไปดูสถานที่กัน แล้วเราก็บอกว่า เราอยากทำโรงพยาบาลสนาม เราขอทำ เราว่าเราทำได้ ยกหน้าที่นี้ให้เรานะ …หัวหน้าก็บอกว่า เอาสิ”

เมื่อได้รับไฟเขียว หมอแป๋มจึงเดินหน้า เริ่มต้นจากการมองหาทำเลที่เหมาะสมกับการตั้งโรงพยาบาลสนาม ทำเลที่คนไข้ ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์จะปลอดภัย โดยมีเดดไลน์การสร้างภายใน 48 ชั่วโมง 

“การเลือกสถานที่เพื่อสร้างเป็นโรงพยาบาลสนาม สิ่งที่ต้องคำนึงคือ พื้นที่ห่างไกลชุมชน อากาศที่ถ่ายเทดี เพราะเราไม่สามารถติดแอร์ได้ ระบบบำบัดน้ำเสียที่ดี เพราะการที่เราจะเลือกสถานที่สร้างโรงพยาบาลสนาม ระบบบำบัดน้ำเสียคือส่วนสำคัญที่เราจะเลือกหรือไม่เลือก ถ้าที่ไหนสามารถบำบัดน้ำเสียก่อนที่จะออกสู่ชุมชนได้โดยที่ไม่แพร่เชื้อสู่ชุมชน เราก็จะเลือกที่นั้น รวมไปถึงระยะห่างของตัวตึกและชุมชนที่จะต้องห่างพอประมาณ และไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อออกไปได้”

สำหรับหมอแป๋ม สิ่งที่เธอคำนึงถึงเป็นลำดับแรกคือ ‘ความปลอดภัย’ เพื่อเรียกความมั่นใจและไว้ใจของคนไข้ ลูกทีมซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดถึงชุมชนโดยรอบ เพราะการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามในที่ใดที่หนึ่งนั้น สิ่งที่ตามมาคือความหวาดกลัวและการตั้งคำถามต่อระบบการจัดการ การสื่อสารที่ดีและตอบคำถามประชาชนได้ จึงเป็นหัวใจสำคัญ

“น้ำที่ออกสู่ชุมชนต้องมีการทรีตด้วยคลอรีน และมีการทดสอบจากการเพาะเชื้อในน้ำและส่งไปตรวจเชื้อเพื่อให้แน่ใจว่า น้ำที่ปล่อยสู่ชุมชนจะได้มาตรฐานน้ำทิ้ง อากาศที่ออกไปสู่ชุมชนรอบข้าง เราก็ต้องแน่ใจว่าอยู่ในระยะที่ปลอดภัย แม้โควิดไม่สามารถแพร่กระจายทางอากาศได้ แต่เราก็อยากให้ชุมชนรอบข้างสบายใจ

“และท้ายที่สุด เราต้องแน่ใจว่าคนไข้ที่กลับไปสู่ชุมชนนั้นปลอดเชื้อ”

เมื่อได้สถานที่ที่ต้องการ นั่นคือ มีระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบคัดแยก ระบบกำจัดขยะอากาศถ่ายเท ห่างจากชุมชนพอเหมาะ และสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายคนไข้ ขั้นต่อไปคือการระดมทรัพยากรจากทุกส่วนของภูเก็ตให้ได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด 

แน่นอนว่า ภายใต้ความกลัวและความรู้สึกไม่มั่นคงของคนภูเก็ต ณ ขณะนั้น การสื่อสารถือเป็นกุญแจสำคัญ หมอแป๋มเลือกสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เพื่อระดมความร่วมมือ ทั้งในแง่ของความเข้าใจ ไว้ใจ ร่วมเป็นอาสาสมัคร ไปจนถึงการสนับสนุนสิ่งของที่จำเป็น ไม่ว่าจะอาหาร ทีวี พัดลม ถังขยะ น้ำยาฆ่าเชื้อ และไม้กวาด 

“ไม่ว่าเราจะประกาศขออะไรไป ไม่นานเราก็ได้มาเลย ช่วง 48 ชั่วโมงที่เรากำลังจัดสถานที่ เราก็เปิดรับการบริจาคด้วย โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊คว่าเราต้องการอะไร 

“เช่น เราต้องการทีวี เพื่อมาทำซีซีทีวี จอใหญ่ 5 อัน ขนาดเท่านี้คูณเท่านี้นะ ภายในครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ทีวีก็มาเลย (หัวเราะ)”

เมื่อเงื่อนเวลามีเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น กำลังสำคัญในภารกิจครั้งนี้คือ ภาคเอกชน ไม่ว่าจะธุรกิจน้อยใหญ่ต่างช่วยกันระดมทรัพยากรที่จำเป็นต่อการตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งนี้ 

“เราได้รับความร่วมแรงร่วมใจกันจากทีมเอกชนเยอะมาก เพราะเตียง ที่นอน หมอน ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ที่เราใช้ทั้งหมดมาจากทีมสมาคมโรงแรม เขาให้เรามาหมดเลย ส่วนเราก็มีฝ่ายจัดสถานที่ เพื่อบอกเขาว่าต้องเอาเตียงวางตรงไหน แล้วก็เป็นเอกชนเหมือนกันที่ส่งกำลังคนและชมรมแม่บ้านมาช่วยกันทำความสะอาดและจัดเตียง”

เราถามต่อ – อะไรคืออุปสรรคที่ยากที่สุดในการทำงานครั้งนี้ 

“ที่ยากหน่อยคือการประสานกับหน่วยงานราชการ เพราะการนำงบประมาณมาใช้ค่อนข้างติดกับระเบียบประมาณหนึ่ง ต้องเขียนโครงการและใช้ระยะเวลาดำเนินการ ด้วยเหตุนี้ เราก็เลยต้องใช้เงินบริจาค ส่วนการระบาดรอบ 2 จังหวัดภูเก็ตมีการตั้งงบฉุกเฉินเข้ามาสนับสนุน ผู้ว่าฯ และรองผู้ว่าฯ ก็ได้ติดตามดูแลใกล้ชิด คอยสนับสนุนเราอยู่ตลอด 

“เราตั้งใจไว้ว่าไม่อยากจะรบกวนภาคเอกชนมากแล้ว เพราะมันผ่านมา 1 ปีแล้ว ต้องยอมรับว่าภูเก็ตกรอบมาก ผู้ประกอบการเขาก็อยู่ในภาวะลำบากกันหมด”

ในการระบาดรอบ 2 แม้จังหวัดภูเก็ตได้ตั้งงบฉุกเฉินเข้ามาสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์สนาม แต่ถึงอย่างนั้นการเปิดรับบริจาคก็ยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป เนื่องจากทรัพยากรยังคงไม่เพียงพอ

“คนภูเก็ตน่ารักมาก ทีมบุคลากรทางการแพทย์ภูเก็ตอยู่ได้ด้วยน้ำใจของพวกเขาเลยค่ะ แล้วเราก็อยากตอบแทนสิ่งดีๆ กลับไป เราตั้งใจทำงาน ดูแลพวกเขาอย่างเต็มที่”

เมื่อหมอต้องพร้อม ในวันที่ไม่มีอะไรพร้อม

“เราลากยาวกันมาหลายเดือนมากแล้ว” เธอว่า 

คำว่าไม่พร้อม สำหรับหมอแป๋มนั้นยังอีกห่างไกล นั่นเพราะพลังใจของเธอและทีมยังคงเต็มเปี่ยม กอปรกับความกระตือรือร้นของคนในพื้นที่ในการป้องกันตนเองและสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์เป็นอย่างดี ทุกคนจึงยังพร้อมสู้ แม้จะสู้เช่นนี้มากว่าปีครึ่งแล้วก็ตาม

หากถามว่า ทีมแพทย์ตอนนี้ต้องการอะไรมากที่สุด หมอแป๋มตอบได้อย่างรวดเร็วและฉะฉาน 

“เราต้องการ mRNA เราขอเป็นหนึ่งคนที่เรียกร้อง mRNA มาบูสเตอร์เพื่อความปลอดภัยของพวกเรา”

เราต้องการ mRNA … เธอย้ำประโยคนี้มากกว่า 3 ครั้งในการสนทนา

“เรากลัวไวรัสสายพันธุ์ ‘เดลตา แวเรียนท์’ ทำไมเราถึงกลัว เพราะว่าสายพันธุ์เดลตาติดง่ายมาก ที่ผ่านมาเราไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามติดเชื้อแม้แต่คนเดียว แต่เราไม่แน่ใจว่าสายพันธุ์เดลตามันติดง่ายแค่ไหน เพราะเราเห็นจากทุกๆ ที่ในโลก รวมทั้งอินโดนีเซียที่แม้บุคลากรของเขาจะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อเยอะมาก เราเลยไม่แน่ใจว่าครั้งนี้เราจะรอดจากเดลตาไหม

“พูดจริงๆ เลยนะว่า สิ่งที่เราต้องการที่สุดตอนนี้ คือวัคซีนที่ต่อสู้กับเดลตาได้ เราต้องการเข็ม 3 ค่ะ ต้องการ mRNA ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ (Pfizer) หรือ โมเดอร์นา (Moderna) ก็ตาม เราต้องการเข็ม 3 ค่ะ”

อย่างที่กล่าวไปว่า เมืองที่ทุกคนพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แรงงานที่ทำงานหนักเก็บหอมรอมริบมานานหลายปี ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยกำลังยอมแพ้และประกาศเซ้งร้านรวง ความจนที่เข้ามารุกรานเฉียบพลันกำลังกระทบไปถึงชีวิต ปากท้อง การศึกษาของลูกหลาน และความฝันของคนมหาศาล

สำหรับหมอแป๋มและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่กำลังทำงานหนัก การควบคุมโรคระบาดนั้นหมายถึงความปลอดภัยของชีวิต และการสตาร์ทเมืองให้เคลื่อนที่ได้อีกครั้ง 

“เราเห็นความกระตือรือร้น ความร่วมมือของประชาชนในภูเก็ตในการป้องกันตัวเอง ใส่แมสก์ เว้นระยะห่าง ฉีดวัคซีน เพื่อที่เราจะเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะสำหรับคนภูเก็ต ‘Phuket Sandbox’ คือหนทางรอดสุดท้ายในตอนนี้”

ปัจุบัน โรงพยาบาลสนามจังหวัดภูเก็ตยังคงดำเนินการและเปิดรับบริจาคสิ่งของอย่างต่อเนื่อง จำนวนเตียงและศักยภาพในการรับมือกับโรคระบาด หมอแป๋มย้ำว่า ยังคงเพียงพอ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงอยู่ในการดูแลและติดตามใกล้ชิด 

เธอย้ำอีกครั้ง “เราต้องการ mRNA ค่ะ”

อ้างอิง 

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า