เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ
เหมือนเป็นวาระประจำปีที่ต้องพูดกันในเรื่องซ้ำๆ ถึงการทบทวนปัญหาสิ่งแวดล้อมเมื่อทุกวันที่ 5 เดือนมิถุนายนเวียนมาถึง นับตั้งแต่สหประชาชาติประกาศให้วันนี้ของทุกปีเป็น ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 ในวาระนี้เอง มูลนิธิบูรณะนิเวศ และ ARNIKA Association ของสาธารณรัฐเชค จึงได้นำเสนอผลงานการศึกษา ‘ภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรม 2558-2559’ และผลการศึกษา ‘โลหะหนักในตะกอนดิน 8 จังหวัด’ เพื่อย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกวันนี้ยังคงถูกซุกไว้ใต้พรม
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานในวันนี้ว่า นอกจากเป็นงานที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของวันสิ่งแวดล้อมโลกแล้ว ยังมุ่งหวังเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยผลศึกษาที่มาจากชุมชนเป็นตัวตั้ง
ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวถึงความห่วงใยของสหประชาชาติที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตลอด 43 ปี นับตั้งแต่ที่มีการประกาศวันสิ่งแวดล้อมโลกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมดูเหมือนไม่ได้ดีขึ้นเลย และนับวันกลับยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ
ทันตแพทย์ศิริเกียรติกล่าวอีกว่า การนำเสนอผลงานการศึกษาในครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียง ‘วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง’ ภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีความมุ่งหมายที่จะสื่อสารให้กับประชาชนตลอดจนรัฐบาลได้รับรู้ว่า ปัญหาด้านสุขภาพที่ สสส. รับผิดชอบดูแลนั้น ยังรวมไปถึงปัญหาที่เกิดจากมลภาวะจากการเผาขยะ มลภาวะจากการทำเหมืองแร่ โรงงานไฟฟ้า ไปจนถึงโรงงานเยื่อกระดาษอีกด้วย
ดังนั้น ภายใต้ ‘วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง’ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ การทำฐานความรู้ที่ชัดเจน เพื่อจะกำหนดขอบเขตของปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน ก่อนจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
มลพิษและมะเร็งร้าย
ผลสำรวจภาพรวมปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2559 ภายใต้การดำเนินนโยบายและปฏิบัติการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทหาร และผลการศึกษากรณีเฉพาะของพื้นที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักจากการพัฒนาอุตสาหกรรม” อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการของมูลนิธิบูรณะนิเวศ เลือกหยิบประเด็นขึ้นมานำเสนอให้เห็น 2 จังหวัด จากทั้งหมด 8 จังหวัด ได้แก่ เขตพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย
อัฏฐพรกล่าวว่า ทั้งสองพื้นมีปัญหาเรื้อรังและรุนแรงมาโดยตลอด ซึ่งภาครัฐให้ความสนใจติดตามอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปัญหาด้านการจัดการขยะที่รัฐบาลถึงกับประกาศให้เป็นวาระแห่งชาตินั้นน่าสนใจว่ามีสิ่งใดคืบหน้าไปแล้วบ้าง
ผลการติดตามสภาพภูมิอากาศโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีสารอินทรีย์ระเหยง่ายเกินมาตรฐานมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารก่อมะเร็ง”
ผลจากการตรวจสอบ พบสารดังกล่าวทั้งในบริเวณพื้นที่ รพ.สต.มาบตาพุด ที่เป็นชุมชนหนาแน่น รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรม IRPC ที่พบทั้งสารเบนซินและคลอโรฟอร์มเกินมาตรฐาน โดยตรวจพบในบริเวณวัดและ รพ.สต. เช่นเดียวกันกับที่มาบตาพุด และเมื่อเปรียบเทียบกับทำเนียบการปล่อยมลพิษ หรือ PRTR ของสหรัฐอเมริกา พบว่า ทั้งโรงกลั่นปิโตรเลียมและโรงกลั่นปิโตรเคมีเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยสารที่มีส่วนในการก่อมะเร็งเกินมาตรฐานทั้งสิ้น โดยมลพิษที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้คนระยองเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าจังหวัดอื่นมาตลอดสิบปี และยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นแม้เมื่อสิบปีผ่านมาแล้ว
โรคมะเร็งที่คนระยองเป็นมากกว่าค่าเฉลี่ยคนทั้งประเทศ มีอยู่ 4 ชนิด คือ มะเร็งปอด มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว และความผิดปกติของไขกระดูก”
ไม่เพียงแต่ปัญหาด้านสุขภาพ ระยองยังเป็นพื้นที่ที่พบปัญหาเด็กทารกแรกเกิดเสียชีวิตสูงที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองระยองมีการตรวจพบว่า ในเด็กทารกแรกเกิด 1,000 คน จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 11 คน ขณะที่รองลงมาคือ อำเภอปลวกแดงที่เริ่มมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ บริเวณคลองชากหมาก ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสำหรับทำกสิกรรมของชาวบ้านยังตรวจพบการปนเปื้อนของสารหนู ทองแดง และปรอท ในเนื้อดินร้อยละ 87 พบสารหนูเกินมาตรฐาน และยังพบสารหนูในปูและปลาหมึกเช่นเดียวกัน ขณะที่น้ำในบ่อน้ำตื้น ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคก็ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่ายไปจนถึงสารโลหะหนัก โดย 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้รับการแก้ไขแต่อย่างใด เช่นเดียวกับน้ำในบ่อบาดาล ยังตรวจพบสารจำพวกเหล็ก แมงกานีส และสารหนู ปะปนอยู่
ขณะที่ปัญหาของจังหวัดเลย อัฏฐพรสรุปสั้นๆ ไว้ว่า มีการตรวจพบสารหนูและไซยาไนด์ในบริเวณลำห้วยเหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนของเหมืองทองคำค่อนข้างสูง ซึ่งไม่เพียงส่งผลกระทบด้านโภชนาการ วิถีชีวิต และสุขภาพเท่านั้น ยังส่งผลกระทบด้านสังคมเข้ามาซ้ำเติม จากกรณี ‘กลุ่มรักษ์บ้านเกิด’ จังหวัดเลย ต้องคดีเป็นจำนวนมาก
2 ปีสิ่งแวดล้อมในเงื้อมมือ คสช.
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในมุมมองของมูลนิธิบูรณะนิเวศ
สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนมากๆ คือ การเข้ามาของรัฐบาล คสช.ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาตรงนี้ ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนในหลายๆ พื้นที่ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากมลพิษและอยากให้มีการแก้ไข เมื่อรัฐบาลได้ประกาศนโยบายว่าจะแก้ไขปัญหาในทุกๆ ด้านที่เป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ก็ยิ่งทำให้ชุมชนมีความหวังขึ้นมา” เพ็ญโฉมระบุ
ตลอด 2 ปีของการเข้ามาแก้ไขปัญหาของทหารผ่านศูนย์ดำรงธรรม เพ็ญโฉมมองว่า ทหารเข้ามาแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปัญหาในหลายพื้นที่ อย่างเช่นน้ำเสียหมดไป หรือไม่ก็เงียบหายไป แต่ขณะเดียวกัน ปัญหาในอีกหลายพื้นที่ก็ยังคงดำรงอยู่ และไม่สามารถแก้ไขได้
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในมุมมองของเพ็ญโฉมมองว่า ไม่ใช่แต่เพียงการสั่งการแล้วจะแก้ไขได้ในทันที ส่วนใหญ่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่รากของปัญหาที่แท้จริงยังไม่สามารถแก้ไขได้
ในทางกลับกัน ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นมา อย่างเช่นปัญหาจากโรงงานคัดแยกขยะที่เกิดจากนโยบายรัฐที่ต้องการกำจัดขยะโดยไม่สนใจมาตรการในการกำจัดขยะ การคัดแยกขยะจากเมืองใหญ่ และพื้นที่อุตสาหกรรมนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างไรบ้างต่อพื้นที่เกษตรกรรมรายล้อม
“นอกจากปัญหาจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว การส่งเสริมการบริโภคที่เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เกิดขยะมากมาย การเปลี่ยนนโยบายด้านอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นมหาศาล รวมไปถึงการนำเข้าสินค้ามือสองจากต่างประเทศเข้ามาคัดแยกในประเทศ ซึ่งชุมชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีการควบคุมมลพิษในโรงงานคัดแยกขยะและในโรงงานแปรรูปขยะ”
ไม่เพียงแต่ปัญหาด้านการจัดการที่ละเลยทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเป็นมนุษย์ บทบาทของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังมีส่วนในการส่งเสริมให้เกิดโรงงานคัดแยกขยะขึ้นได้โดยง่าย ด้วยการอำนวยความสะดวกที่รวดเร็วตามนโยบายของรัฐบาล
“เราดีใจที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการให้มีวาระแห่งชาติในเรื่องขยะ แต่นโยบายและแผนแม่บท เราคิดว่าต้องมีการปรับปรุง ทบทวน หากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง”
อีกนานแค่ไหนจึงจะคืนความสุข
เพ็ญโฉมมองปัญหาสิ่งแวดล้อมภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล คสช. ว่า ไม่ได้นำไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด เอาเข้าจริงแล้วยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ ที่หน่วยงานของภาครัฐก็รับรู้ปัญหาเป็นอย่างดี แต่กลับไม่มีการปรับปรุงแก้ไข จนกลายเป็นปัญหาที่ไร้ทางออก
มาตรฐานการควบคุมมลพิษ ณ แหล่งกำเนิด และมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นสองมาตรฐานที่รัฐบาลไม่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขได้เลย เนื่องจาก หนึ่ง-มีการรายงานเฉพาะความเข้มข้นของสารอันตรายไม่กี่ชนิด สอง-ขาดมาตรฐานในการควบคุมสารอันตรายอีกหลายประเภท และสาม-ไม่สามารถทราบชนิดและปริมาณของสารอันตรายที่โรงงานปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
กล่าวให้ชัด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางหรือปลายเหตุ (end of pipe approach) ในนิยามของผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ
“การที่เราเผยแพร่ข้อมูลตรงนี้ ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะโจมตีโรงงานอุตสาหกรรม แต่ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่จะทำให้รัฐและผู้ประกอบการต่างๆ สามารถพัฒนาแนวทางในการลดปัญหาจากมลพิษได้ ถ้าเราไม่มีข้อมูลเหล่านี้ เราก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้”
บทบาทที่ทับซ้อน
นอกเหนือจากมาตรการแก้ไขปัญหาที่ไม่อาจตรวจสอบได้ สิ่งที่เพ็ญโฉมมองว่าเป็นอุปสรรคอีกประการคือ บาทบาทที่ทับซ้อนกันระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) ซึ่งเป็นสองหน่วยงานหลักในกระทรวงอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการลงทุน อนุมัติ อนุญาต ให้มีการตั้งโรงงานขึ้นมา ขณะเดียวกัน ทั้งสองหน่วยงานนี้ก็มีบทบาทในการกำกับโรงงานอุตสาหกรรมให้อยู่ในข้อกำหนดเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นสองบทบาทและอำนาจหน้าที่ที่ขัดแย้งกัน นั่นเพราะทั้งสองหน่วยงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนมากกว่าการควบคุมมลพิษ
ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้คือ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แทบไม่มีการฟ้องร้องในนามของ กรอ. หรือ กนอ.ต่อโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เลย ทั้งที่มีบทบาทในการตรวจสอบ แก้ไข ตักเตือน ตลอดจนสามารถยกเลิกใบอนุญาตตั้งโรงงานได้ ทว่าเมื่อเกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อมขึ้น กลับเป็นชาวบ้านและเกษตรกรที่ต้องเผชิญผลกระทบจากปัญหามลพิษและยังถูกผลักไสออกจากพื้นที่
“แม้กระทั่งการตักเตือนก็จะตักเตือนอย่างระมัดระวัง เหตุที่ว่าหน่วยงานรัฐจะมีความระมัดระวังในเรื่องนี้สูงมาก เนื่องจากให้ความสำคัญกับการลงทุน เมื่อจะขยับอะไรก็กลัวว่าจะไปกระทบการลงทุนหรือกระทบการประกอบการ และกลัวผู้ประกอบการจะฟ้องกลับ”
ผู้กระทำผิดลอยนวล
ไม่เพียงแต่การแก้ปัญหาที่เดินขัดขากันเองระหว่างหน่วยงานที่กำกับควบคุมสิ่งแวดล้อมกับการส่งเสริมการลงทุนในหน่วยงานของภาครัฐ แม้แต่ระบบกำกับติดตามภายใต้ EIA ยังอ่อนแอ และไม่อาจช่วยเหลือชาวบ้านในการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมได้เลย ทั้งๆ ที่ EIA คือการทำรายงานเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2535
“หลายโรงงานมีการสร้างขึ้นก่อนที่ EIA จะมีการอนุมัติ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นการทำผิด หลังจากโรงงานผ่านการอนุมัติและตั้งโรงงานขึ้นมาแล้วจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเพื่อให้ผลกระทบทางมลพิษต่อชุมชนมีน้อยที่สุดหรืออันตรายน้อยที่สุด แต่โรงงานจำนวนมากกลับไม่ปฏิบัติตาม EIA”
ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้มาตรา 96 ที่ระบุว่า แหล่งกำเนิดมลพิษมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย รวมค่าใช้จ่ายของรัฐที่ใช้ดำเนินการ หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่เพียงแต่โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจะไม่ต้องรับผิดเท่านั้น หลายกรณีเพ็ญโฉมยังเห็นว่า รัฐกลับเป็นฝ่ายเข้ามาชดใช้ค่าสินไหมต่างๆ แทนโรงงานอุตสาหกรรม
เมื่อหน่วยงานในกำกับรัฐอ่อนแอและยังทำงานทับซ้อนกันเอง จึงเป็นเรื่องที่สังคมและโดยเฉพาะรัฐจำเป็นต้องเข้าใจว่า เหตุใดที่สุดแล้วชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงจำเป็นต้องออกมาเดินขบวนประท้วง ต่อต้าน และคัดค้าน จนส่งผลให้หลายคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดี บางคนถูกเรียกไปปรับทัศนคติ
ไม่เพียงแต่รัฐจะไม่ติดตามแก้ไข หรือกำหนดบทลงโทษผู้ปล่อยมลพิษ แต่ยังขาดการฟื้นฟูทั้งสภาพแวดล้อมและจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ
“อย่างกรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง จังหวัดกาญจนบุรี ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ฟื้นฟูแหล่งน้ำ แต่ผ่านมา 4 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีการนำคำสั่งศาลไปสู่การฟื้นฟู เนื่องจากต้องมีการตั้งคณะกรรมการ ต้องมีการศึกษาเรื่องแนวทางการฟื้นฟู ทั้งที่ปิดเหมืองไปเป็นสิบๆ ปีแล้ว พิสูจน์แล้วว่ามีการปนเปื้อน”
ในมุมมองของเพ็ญโฉม การพิสูจน์ความผิดนั้นนับว่ายากแล้ว แต่การนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการฟื้นฟูกลับยากยิ่งกว่า
ภารกิจสุดท้ายของประชาชน
“ภาระทั้งหมดนี้อยู่ที่การขับเคลื่อนของภาคประชาชนแทบทุกกรณี ไม่มีกรณีไหนเลยที่ชาวบ้านไม่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้มีการพิสูจน์ ชาวบ้านต้องนำพาให้ไปสู่การพิสูจน์ หลายเรื่องชาวบ้านต้องพิสูจน์ด้วยเงินตัวเอง พิสูจน์ด้วยมือตัวเอง แล้วก็เจ็บป่วยเอง ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจ ต้องไปหานักวิชาการข้างนอก
เมื่อภาระในการพิสูจน์มลพิษสิ่งแวดล้อมตกอยู่กับชาวบ้าน มันเป็นความทุกข์ที่ซ้ำซ้อน และไม่ใช่ว่าพิสูจน์เจอแล้วจะแก้ไขปัญหาได้ พื้นที่ที่มีการปนเปื้อนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีการผลิตอาหาร เป็นพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่แหล่งน้ำ ติดชายทะเล เหล่านี้ล้วนสัมพันธ์กับอาหารที่เรารับประทาน และความมั่นคงทางอาหารในระดับประเทศ เมื่อภาวะเหล่านี้มันกดดันมากๆ ก็ทำให้ชาวบ้านตีบตับ ชาวบ้านนั้นหมดศรัทธากับการแก้ไขปัญหาของรัฐ หมดความเชื่อถือว่ารัฐจะสามารถแก้ไขปัญหาได้”
“ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจต่อไปเพื่อให้ประเทศเรามีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต้องมาแก้ปัญหานี้ก่อน ต้องมาแก้ที่ต้นเหตุตรงนี้ก่อนนะคะ อย่าปล่อยให้ความหมดศรัทธาของประชาชนที่เขาได้รับผลกระทบจากมลพิษมันมาถึงทางตัน และไม่มีทางออก เมื่อนั้นรัฐจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย”
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศตั้งคำถามเสียดแทงไปถึงคณะผู้นำประเทศว่า หากรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่นคั่ง รัฐควรต้องเริ่มจากปัญหาที่ต้นเหตุ
เมื่อประชาชนหมดสิ้นศรัทธาเสียแล้ว อีกไม่นานย่อมถึงวันที่ประชาชนทั้งหลายจะเตรียมนับถอยหลังถึงวันเสื่อมของรัฐบาลทหาร