ภาพประกอบ: Shhhh
TAKEAWAYS:
- เส้นทางสายไหมถูกบุกเบิกราว 2,000 ปีก่อน เป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าและสานสัมพันธ์อารยธรรมหลักระหว่าง จีน อินเดีย ตะวันออกกลางและยุโรปเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางที่สร้างความร่ำรวยทางวัฒนธรรมและเงินทองให้กับจีนมาอย่างยาวนาน โดยครั้งนี้เส้นทางสายไหมถูกปรับให้เข้ากับศตวรรษที่ 21 มากยิ่งขึ้น
- China Dream ถือเป็นหลักนิยมใหม่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังจากเขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของพรรค นโยบายดังกล่าว แสดงให้เห็นเป้าหมายที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องการที่จะให้จีนเป็นประเทศพัฒนาแล้วก่อนปี 2049 และกลายเป็นสังคมที่มั่งคั่ง ดังนั้นแล้วกลยุทธ์ที่จะทำให้จีนสามารถไปสู่ความฝันอันสูงสุดได้คือ การสร้างความเข้มแข็งทางการทหารและด้านเศรษฐกิจ
- รถไฟขนส่งสินค้าขบวนแรกจากจีนไปยังกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 เริ่มออกเดินทางจากจีนเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2017 และเดินทางถึงลอนดอนในวันที่ 17 มกราคม 2017 มีระยะทางทั้งสิ้น 12,000 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางรถไฟที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยเริ่มต้นเดินทางจากจีน คาซัคสถาน รัสเซีย เบลารุส โปแลนด์ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส และสิ้นสุดที่ลอนดอน
การประชุมสุดยอดยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Forum) เป็นอีกหนึ่งการประชุมที่ยิ่งใหญ่ของปี 2017 ที่ทั่วโลกต่างพากันจับตามอง ซึ่งนำโดย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จัดขึ้นที่กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา จีนกำลังใช้คอนเซ็ปต์เส้นทางสายสำคัญของโลกนี้ทำอะไร
ผู้นำสูงสุดของจีนกล่าวอย่างมีความสุขหลังการประชุมเสร็จสิ้นเมื่อเย็นวานว่า การประชุมดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับในทางที่ดีจากหลายๆ ประเทศ โดยกว่า 70 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอีกจำนวนมาก ยินดีจะลงนามข้อตกลงยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกทางทะเล ผลของดีลนี้จะก่อให้เกิดเมกะโปรเจ็คท์ขึ้นในหลายๆ เมืองใหญ่ และการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในปี 2019
แต่สิ่งที่ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูด ไม่ใช่ทั้งหมดของการหารือในครั้งนี้ เพราะยังมีอีกหลายประเทศไม่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ดังกล่าว ตั้งแต่ประเด็นความไม่โปร่งใสของเงินลงทุน การจัดการของรัฐบาลจีน นโยบายสิ่งแวดล้อม จนไปถึงการขยายอิทธิพลของจีนมายังประเทศที่ต้องเกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมของแดนมังกร
เราไม่ได้มีเจตนาสร้างภัยอันตรายแก่ประเทศเล็กๆ สิ่งที่เราคาดหวังคือ การสร้างครอบครัวใหญ่ที่มีความสามัคคีร่วมกัน
คือสุนทรพจน์ที่ สี จิ้นผิง กล่าวทิ้งเอาไว้
ว่าแต่…อะไรคือเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลในศตวรรษที่ 21? จีนกำลังจะทำอะไร? ทำไมมุมมองของหลายประเทศถึงเป็นไปทั้งบวกและลบ? แล้วทำไมเราต้องรู้?
เส้นทางสายไหมทางบกทางทะเล (One Belt, One Road) คืออะไร?
ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกทางทะเล (One Belt, One Road) หรือภาษาจีนเรียกว่า Yi Dai Yi Lu (YDYL) คือ ยุทธศาสตร์ที่จีนต้องการจะขยายบทบาททางการค้าและการลงทุน ซึ่งเป็นการร่วมมือกับนานาประเทศในหลายภูมิภาค โดยเน้นลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่ระบบราง ท่าเรือน้ำลึก ถนน สะพาน ท่อส่งแก๊สธรรมชาติและโรงไฟฟ้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า จีนกำลังเดินตามรอย ‘China’s Dream’ ของตัวเองอยู่
คำว่า ‘Road’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงถนน แต่เป็น ‘เส้นทาง’ ที่มีทั้งทางบกและทางทะเล โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองกรอบ กรอบแรกคือ นโยบายเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ (Silk Road Economic Belt) เป็นเส้นทางสายไหมเดิมทางเหนือ เน้นเชื่อมโยงตั้งแต่ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา กรอบที่สองคือ เส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ซึ่งปรับจากเส้นทางการค้าทางทะเลของจีนเดิมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของศตวรรษที่ 21 โดยเชื่อมโยงจากอาเซียนไปสู่ยุโรป
ในส่วนเส้นทางเดินเรือนั้น จะเชื่อมโยงระหว่างชายฝั่งทะเลจีนใต้ไปยังแอฟริกาตะวันออก และจบที่เมดิเตอร์เรเนียน ส่วนคำว่า ‘Belt’ คือ เส้นทางบกเชื่อมโยงจีนและยุโรปด้วยกัน ผ่านเอเชียตะวันออกกลางและตะวันออก กล่าวคือ เพื่อเชื่อมโยงเมืองท่าและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญตั้งแต่เอเชียกลางไปจนถึงทวีปยุโรป
เริ่มเมื่อไหร่
สี จิ้นผิง กล่าวถึงยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลอย่างเป็นทางการครั้งแรกระหว่างการเยือนภูมิภาคเอเชียกลาง ผ่านสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยในคาซัคสถานเมื่อเดือนกันยายนปี 2013 ถึงเป้าประสงค์ที่ต้องการให้เอเชียกลางเป็นเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ หลังจากนั้นจึงเริ่มผลักดันยุทธศาสตร์ดังกล่าวในทุกเวที
ผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า แม้จะเริ่มดำเนินการมาสี่ปีแล้ว แต่โครงการส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงแบบร่าง มีบางโครงการเท่านั้นที่เริ่มดำเนินการแล้วในหลายๆ ประเทศ ซึ่งต่างได้รับเงินลงทุนจากรัฐบาลจีนเอง เช่น ทาจิกิสถาน ไทย เคนยา และเวียดนาม
ขณะที่หลายๆ ประเทศยินดีอย่างยิ่งที่จะจับมือกับจีนเพื่อสร้างเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ แต่บางประเทศ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย กลับไม่เห็นด้วย เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าว อาจนำมาซึ่งประเด็นอ่อนไหวในแคชเมียร์และทะเลจีนใต้ได้
ส่วนข้อครหาที่กล่าวว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลเป็นเพียงการเล่นเกมทางอำนาจของจีน ทางการจีนก็รีบออกมาปฏิเสธทันทีว่า
“รัฐบาลจีนไม่เคยต้องการเข้าควบคุมรัฐบาลประเทศใดๆ ทั้งสิ้น เราแค่ต้องการพูดถึงผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศที่เราจะทำสัญญาด้วย” Oi Xiaoli หนึ่งในคณะบริหารของรัฐบาลปักกิ่ง กล่าวกับสำนักข่าว AP
เงินมาจากไหน
จีนตั้งกองทุนสายไหม (Silk Road Fund) ทุ่มเม็ดเงินมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์เพื่อเป็นกลไกสำคัญร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) และธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งใหม่หรือ NDB (New Development Bank) ซึ่งเกิดจากกรอบการประชุมของกลุ่มประเทศ BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้
ทั้งสามถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของการก่อร่างเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในระดับนานาชาติ
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นน่าสนใจตรงที่ว่า ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล อาจเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้สกุลเงินหยวนถูกนำไปใช้ และกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล กล่าวคือ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวอาจเป็นการต่อยอดให้เงินหยวนก้าวขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักของโลก และเป็นเครื่องมือช่วยขยายอิทธิพลของจีนในอนาคต
สำคัญกับจีนอย่างไร
ผู้สังเกตการณ์หลายคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลมีการทับซ้อนของผลประโยชน์จำนวนมหาศาล
ในขณะที่จังหวะการก้าวของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันกำลังเชื่องช้าลง แผนการณ์ทางเศรษฐกิจของยุทธศาสตร์ดังกล่าวเปิดตลาดใหม่ให้กับสินค้าและเทคโนโลยีของจีน
รัฐบาลปักกิ่งคาดหวังอย่างยิ่งว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของจีนก้าวไปไกลได้มากกว่าเดิม เพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับคนจีนทั้งประเทศ รวมถึงเสริมสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศต่างๆ ผ่านการเชื่อมโยงทั้งสองเส้นทางสายไหม
แต่อีกด้านกลับมองว่า ยุทธศาสตร์สายไหมครั้งนี้เป็นนโยบายเชิงรุก และเป็นกลวิธีทางภูมิรัฐศาสตร์ที่จะช่วยเพิ่มอิทธิพลของจีนในเวทีโลก และในภูมิภาคเอเชียที่จีนถือว่าตัวเองเป็นมหาอำนาจในแถบนี้มาโดยตลอด เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับสหรัฐอเมริกา เมื่อ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังจะถอยห่างจากเอเชีย
“มันคือเรื่องของการทำให้จีนเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคนี้” ทอม มิลเลอร์ (Tom Miller) ผู้เขียนหนังสือ China’s Asian Dream: Empire Building along the New Silk Road กล่าว
ชาติอื่นว่าอย่างไรบ้าง
ถึงแม้ว่าจีนจะพูดว่า เมกะโปรเจ็คท์ต่างๆ เปิดกว้างสำหรับทุกประเทศ แต่จีนกำหนดแน่นอนเรียบร้อยแล้วว่า จะมี 65 ประเทศเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์นี้ แม้ว่าพวกเขาจะตกลงหรือไม่ก็ตาม
หากวัดกันตามตัวเลขแล้ว โครงการที่ครอบคลุมหลายพื้นที่ตั้งแต่ทวีปแอฟริกามาถึงอาเซียน ถือว่าเป็นฐานเศรษฐกิจที่ใหญ่โตเกินครึ่งโลก กล่าวคือ 64 ประเทศบวกจีน ถือเป็น 62 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก คิดเป็นผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
และถ้ามองดีๆ 20 ประเทศในประเทศทั้งหมดที่จีนพูดถึงนั้น ต่างเป็นประเทศเล็กๆ ในเอเชียที่พึ่งพิงเศรษฐกิจจีนเป็นส่วนใหญ่
สหรัฐอเมริกา
แมทธิว พอททิงเจอร์ (Matthew Pottinger) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเอเชียของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เป็นตัวแทนในเวทีการประชุมในครั้งนี้ ยินดีที่จะทำข้อตกลงทางการค้าร่วมกับจีน อาจมองได้ว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศนี้อาจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น
แต่ผู้เชี่ยวชาญกลับมองว่า สหรัฐกำลังรู้สึกหวาดระแวงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียมากยิ่งขึ้น เพราะยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ผลักให้เศรษฐกิจจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นการท้าทายข้อตกลงบางอย่างที่ไม่มีจีนอยู่ในกลุ่มด้วย เช่น Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับนโยบายที่ทรัมป์ชูและแนวคิดต่อต้านโลกาภิวัตน์ของเขา คือ ต้องการปกป้องนโยบายทางการค้าหรือนโยบาย ‘America First’
ยุโรป
หลายประเทศในยุโรป เช่น ฮังการี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ต่างพากันอ้าแขนต้อนรับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล และคาดหวังว่า การลงทุนหรือการพัฒนาจากจีนจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศตนเองได้ แต่ในอีกหลายประเทศยังมีความลังเลใจอยู่ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี ยิ่งไปกว่านั้น หากกระบวนการ Brexit สำเร็จ ก็คงยากที่จะมองว่าหน้าตาของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับยุโรปจะออกมาเป็นอย่างไร
รัสเซีย
ถือเป็นเรื่องราวดีๆ ของรัสเซีย เพราะนอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซียแล้ว ยังรวมไปถึงการร่วมมือในด้านต่างๆ เช่น การลงทุนหรือการพัฒนานวัตกรรม อีกทั้งโครงการส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของรัสเซีย สืบเนื่องจากประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียกลางส่วนใหญ่ มีบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกับรัสเซีย และยังเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก่อนที่จะล่มสลายเมื่อปี 1991
อินเดีย
ถือเป็นประเทศพี่ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้ แต่นายกรัฐมนตรีอินเดีย นาเรนทรา โมดิ (Narendra Modi) ปฎิเสธเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว แม้ว่าอินเดียกำลังเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เหตุผลคือ อินเดียมองว่า โครงการต่างๆ ดูไม่ค่อยโปร่งใส และกังวลเรื่องการขยายอำนาจของจีนผ่านปากีสถานและประเทศอื่นที่พึ่งพิงอยู่กับอินเดียมากยิ่งขึ้น และสำคัญที่สุดคือ โครงการถนนสายไหมยุคใหม่ของจีนต้องตัดผ่านแคว้นแคชเมียร์ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน นี่คือสิ่งที่อินเดียไม่อาจยอมรับได้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
scmp.com
thequint.com
theguardian.com
qz.com