จากผู้อพยพสงครามถึงแรงงานยุค COVID-19 ในสมุทรสาคร: เมื่อโลกติดเชื้อ Xenophobia

‘Fear of the Unknown’ เป็นประโยคอมตะจากนวนิยายของ เอช.พี. เลิฟคราฟต์ (H.P. Lovecraft) ที่บ่งบอกถึงสิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุดก็คือความไม่รู้ ในโลกของภาพยนตร์ อสูรกายที่ถูกเรียกว่า Xenomorph ใน Alien ก็เป็นภาพสะท้อนความหวาดกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จัก ความแตกต่างแปลกแยกและไม่เหมือนกันกับเราถูกมนุษย์นำมาสร้างเป็นนิยายและภาพยนตร์ แต่ในโลกความเป็นจริงนั้นความหวาดกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จักกลับไม่ได้หมายถึงอสูรกายจากอวกาศที่ไหน แต่กลับหมายถึงมนุษย์ด้วยกันเองนี่แหละ!

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

Xenophobia: เมื่อมนุษย์กลัวความเป็นอื่น

สภาวะความหวาดกลัวดังกล่าวมีศัพท์เฉพาะในทางภาษาอังกฤษว่า Xenophobia (อ่านว่า ซีโน-โฟเบีย) อันหมายถึงสภาวะความหวาดกลัวต่างชาติหรือความเป็นอื่นที่ไม่เหมือนตน รากศัพท์ของคำนี้มาจากภาษากรีกโบราณอันหมายถึง ‘คนแปลกหน้า’ หรือ ‘แขก’ ผสมกับคำที่มีความหมายถึงความหวาดกลัวอย่างคำว่า phobia คำนี้ใช้กันในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 บนสิ่งพิมพ์ต่างๆ ซึ่งภายหลังเริ่มเป็นที่รู้จักน้อยลงเมื่อเทียบกับญาติห่างๆ ของมันอย่างคำว่า racist ซึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจงไปถึงการเหยียดเชื้อชาติกำเนิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ในขณะที่กระแส political correctness (PC) ครอบครองพื้นที่ทางสังคมโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 ทั้ง racist และ xenophobia ต่างไม่เป็นที่ยอมรับในคุณค่าที่สังคมกระแสหลักยึดถือ และกลายเป็นเรื่องที่สมควรถูกประณามไม่ว่าจะกระทำโดยผู้ใด แต่แนวคิดความหวาดกลัว ‘ความเป็นอื่น’ ก็ดำรงสืบทอดต่อมาตราบปัจจุบัน ท่ามกลางกระแสของสังคมแบบพลเมืองโลกที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย

จากปรากฏการณ์ขวาหันถึงไวรัสจากอู่ฮั่น

ย้อนกลับไปยังปี 2015 ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่กำลังระอุจากสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่กำลังกลายเป็นกระดานของมหาอำนาจ ผู้อพยพชาวซีเรียจำนวนมากหนีตายผ่านสมรภูมิอันโหดร้ายเพื่อหวังพึ่งพิงยุโรป แต่ก็ถูกสกัดขัดขวางไปจนถึงปิดประตูใส่หน้า

กรณีช่างภาพหญิงชาวฮังการีนาม เพตรา ลาซสโล (Petra Lazslo) ถูกบันทึกภาพได้ขณะที่เธอเตะสกัดขาผู้อพยพระหว่างหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณชายแดนเซอร์เบีย-ฮังการี จนล้มลง ก็สะท้อนให้เห็นความหวาดกลัวผู้อพยพของชาวยุโรปบางกลุ่มที่เริ่มปลุกกระแส Xenophobia ในโลกร่วมสมัยให้กลับมาสร้างความกระอักกระอ่วนอีกครั้ง

Petra Lazslo ขณะกำลังเตะผู้อพยพ

สภาวะความหวาดกลัวความเป็นอื่นนี้เองถูกผลักดันจากสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายในใจของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาไปสู่ความเลวร้ายในระดับนโยบายเมื่อกระแสการเมืองโลกเกิดการ ‘ขวาหัน’ เข้าสู่การเมืองแบบเอียงขวาประชานิยม ดังเช่นกรณีชัยชนะของผู้ลงสมัครตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2016 ด้วยนโยบายกีดกันทางเชื้อชาติ ซึ่งเล่นกับความหวาดกลัวของผู้คนในสหรัฐต่อผู้อพยพชาวเม็กซิกันไปจนถึงการขึ้นมามีอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน

สภาวะความหวาดกลัวความเป็นอื่นเช่นนี้ในสหรัฐ เริ่มมาจากมีผู้เชื่อว่าเสรีนิยมประชาธิปไตยแบบยุคก่อนหน้าอย่างอเมริกาในสมัย ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประสบความล้มเหลว ทำให้นโยบายอย่างการพยายามของบฉุกเฉินมาสร้างกำแพงกั้นพรมแดนอเมริกา-เม็กซิโก การพยายามห้ามชาวมุสลิมจากประเทศอาหรับทั้ง 5 อย่าง อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน เข้าพรมแดนของสหรัฐ และสงครามการค้ากับจีน เกิดขึ้นจนสร้างความเดือดร้อนให้กลุ่มผู้ถูกกีดกันจากนโยบายรัฐดังกล่าวอีกด้วย

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ทันสงบดีพอๆ กับความขัดแย้งในซีเรีย โลกก็ถูกซ้ำด้วยภัยคุกคามใหม่ที่ไม่เลือกฝ่ายอย่างไวรัส COVID-19 ที่เริ่มมีรายงานการระบาดครั้งแรกในประเทศจีน ก่อนที่จะข้ามทวีปจากเอเชียไปสู่ยุโรปและอเมริกาด้วยเทศกาลตรุษจีนและการไหลบ่าของภาคการท่องเที่ยว สภาวะ Xenophobia ที่เพิ่งถูกปลุกตื่นมาในโลกปัจจุบันจึงได้ออกมาวาดลวดลายอีกครั้งเมื่อโลกตะวันตกหลายภาคส่วนกล่าวตีตราคนเอเชียว่าน่ารังเกียจ จากการเป็นพาหะนำโรคร้าย เห็นได้จากการเริ่มใช้วาทกรรม ‘Kung Flu’ ที่ใช้เรียกแทนชื่อ Coronavirus (แน่นอน โดยประธานาธิบดีทรัมป์เจ้าเดิม)

แม้แต่ตัวเลขการค้นหาข้อมูลบน search engine ชื่อดังอย่าง Google คำว่า Coronavirus นั้นถูกค้นหาในปริมาณสูงไล่เลี่ยกับการค้นหาคำว่า Chinese Virus ไปจนถึง Chinese Flu และ Kung Flu ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2020 ถึง 16 มีนาคม 2020 รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ #TravelBanNow บน Twitter และรูปภาพข้อความแสดงถึงความหวาดกลัวและต่อต้านการอพยพซึ่งเกิดทั้งในสหรัฐและยุโรป

ผลการค้นหาบน search engine โดย Tyler T. Reny & Matt A. Barreto (จาก https://doi.org/10.1080/21565503.2020.1769693)

เรื่องราวของกระแสความหวาดกลัวนี้ไม่ได้เกิดเพียงแค่บนแผ่นดินอเมริกาเท่านั้นหากแต่เป็นทั่วโลก (โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก ถึงขั้นมีผู้ออกมาบอกว่าเหล่า Anti-Asia จะ ‘โหน’ กระแสนี้ในการเผยแพร่ความคิดของกลุ่มตน) รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาของประเทศบราซิลได้ออกมาใช้เครือข่ายดังอย่าง Twitter ออกมาล้อเลียนการแพร่ระบาดว่าเป็น ‘แผนการยึดครองโลกของรัฐบาลจีน’ หรือ กรณีที่เกิดการทำร้ายร่างกายนักเรียนชาวจีนขึ้นในเดือนเมษายน 2020 ที่ประเทศออสเตรเลียและกรณีทำร้ายร่างกายวัยรุ่นเชื้อสายจีน-อเมริกันในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ที่ทำให้เหยื่อถึงกับต้องหมดสติไปถึง 2 วัน

การทำร้ายร่างกายหรือการคุกคามในลักษณะของ Xenophobia เหล่านี้นั้นไม่ได้เจาะจงไปที่เหยื่อที่มีเชื้อชาติจีนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเชื่อทางศาสนาและเพศสภาพอย่างการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิมหลายรายในอินเดีย หรือ การอ้างว่าพระเจ้าส่ง COVID-19 มาลงโทษกลุ่มรักร่วมเพศในสหรัฐ เป็นต้น

จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย

เรื่องราวสุดเลวร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็ทำให้หลายคนพยายามปลอบใจว่าโชคดีที่ยังเกิดเป็นคนในประเทศไทย สังเกตได้จากการส่งต่อเรื่องราวด้านแย่ของเพื่อนร่วมโลกในชาติต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Line หรือ Facebook เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับบ้านเกิดของตน โดยหารู้ไม่ว่าในสังคมไทยเองก็มีภาวะ Xenophobia มานานแสนนานแล้ว ดังที่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์ตั้งแต่พระราชนิพนธ์เรื่อง ‘ยิวแห่งบูรพาทิศ’ ที่โจมตีกลุ่มคนเชื้อชาติจีนผู้ทำมาหากินในสยาม นโยบายต่อต้านคนจีนอย่างการปิดโรงเรียนจีนในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. ความหวาดกลัว ‘ฝรั่งตาน้ำข้าว’ ในสมัยสงครามเย็นที่เพ่งเป้าการโจมตีไปยังผู้มีเชื้อสายตะวันตกอย่างชาวอเมริกันในไทย ไปจนถึงความหวาดกลัวชาวมุสลิมเพราะประเด็นความขัดแย้งบริเวณสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนนำไปสู่เพลง ‘หมิ่นอิสลาม’ ที่เด็กไทยร้องตามกันอย่างไม่รู้สึกผิดอยู่ช่วงหนึ่ง และกระแสข่าวลือ ‘มุสลิมจะยึดประเทศ’ ที่ส่งข้อความกันตามฟอร์เวิร์ดเมล จนทำให้คนไทยหลายคนเชื่อและหวาดกลัวไปตามทฤษฎีสมคบคิดดังกล่าว ที่น่าชวนหัวที่สุดอาจจะเป็นหนึ่งในข่าวลือที่ว่า ‘พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นมุสลิมหรือไม่’ จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาแก้ข่าวว่าตนเป็นชาวพุทธทั้งครอบครัว เพราะจะมีสักกี่ประเทศในระบอบประชาธิปไตยกันเชียวที่นายกรัฐมนตรีต้องออกมายืนยันความเชื่อทางศาสนาของตนเองให้ตรงกับเสียงคนส่วนใหญ่ในประเทศ?

ภาพจาก https://www.posttoday.com/politic/news/609394

ความเลวร้ายของสภาวะ Xenophobia ในไทยเองก็ไม่ได้จบลงแค่นั้น เนื่องจากสภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เองก็ได้เปิดเผยด้านอันคับแคบของมนุษย์บางกลุ่มในสังคมไทยออกมาเช่นเดียวกัน กรณีการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ณ ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร ที่สังคมไทยตีตราความผิดครั้งนี้ว่าเป็นเพราะกลุ่มแรงงานต่างชาติ เช่น ชาวเมียนมา ชาวลาว และชาวกัมพูชา จนเป็นที่มาให้ภาครัฐต้องประกาศมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วย ‘การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019’ (วันที่ 29 ธันวาคม 2563) เพื่อบังคับให้แรงงานต่างชาติ ‘บางเชื้อชาติ’ ลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์กับกระทรวงแรงงาน และต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกคน เนื่องจากตามกฎกระทรวง ‘กำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรหรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ ได้กำหนดให้ไวรัส COVID-19 เป็นหนึ่งในโรคต้องห้ามสำหรับแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศ

แรงงานต่างชาติทุกคนที่ต้องการจะอยู่ในระบบให้ได้จึงจำเป็นต้องเสียเงินค่าตรวจเพิ่มอีกคนละ 3,000 บาทเป็นอย่างต่ำ แน่นอนว่ามีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มอีกมากมายในกระบวนการทั้งหมดจนแตะหลักหมื่นบาท และน่าแปลกใจที่ประกันสังคมไม่ได้ช่วยเหลือให้ค่าใช้จ่ายลดลงแต่อย่างใดเลย

ความคิดเห็นที่แสดงให้เห็นลักษณะ Xenophobia ในสังคมไทย

ความคิดเห็นในเชิงหวาดกลัว เกลียดชัง และตีตราแรงงานต่างชาติในโลกออนไลน์นั้น ได้ข้ามพรมแดนขึ้นมาปรากฏบนโลกของความเป็นจริง เห็นได้จากกรณีการเลิกจ้างเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างชาติจำนวนมากโดยไม่บอกล่วงหน้า การรังเกียจไม่ให้เข้าร้านค้าหรือสถานที่ในสังคม ไปจนถึงการนำพวกเขาขนใส่รถไปปล่อยทิ้งไว้ข้างทางเพราะหวังให้ไปหลบในป่าแล้วโรงงานของตนจะได้รอดจากการตรวจหาโรคอย่างในกรณีที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563

สภาวะ Xenophobia ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ไม่ได้หายไปจากกาลเวลา การดำรงอยู่ของมันก่อให้เกิดคำถามตามมา ว่าการเลือกปฏิบัติมีความชอบธรรมหรือไม่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีความชอบธรรมหรือไม่หากเรากล่าวอ้างวาทกรรมรักชาติ หรือเหตุจำเป็นในสถานการณ์ของโรคระบาด มนุษยธรรมยังมีที่ยืนในสังคมหรือเป็น ‘คำตาย’ ที่ไม่มีความหมายในโลกศตวรรษที่ 21 หรือสังคมและรัฐจะเป็นผู้บดขยี้ผู้ที่ถูกกีดกันออกไป?

คำตอบของคำถามเหล่านี้อาจจะอยู่ในกระจกบานล่าสุดที่ทุกคนเพิ่งจะมีโอกาสได้ส่องตรวจสอบตนเองหลังจากรัฐสั่งให้กักตัวอยู่ในบ้านมานานเกิน 14 วัน ขณะที่คนหลายคนในฐานะ ‘พวกเดียวกัน’ กลับไปมาหาสู่กันได้ท่ามกลางการระบาดโดยไม่ถูกห้ามหรือตั้งคำถามใดๆ

ที่มา:

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า