อยากให้คนไทยมักง่ายเหมือนคนญี่ปุ่น

 

fon-japan-0
เรื่อง: เมธาวี เด่นทรัพย์ไพบูลย์
ภาพ: อนุช ยนตมุติ

 

นอกเหนือจาก ดอกซากุระ ซูชิ รถไฟชินคันเซ็น และวัฒนธรรมเจป็อป (J-Pop) อะไรอีกบ้างที่เมื่อเอ่ยถึงแล้วจะทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ญี่ปุ๊น…ญี่ปุ่น

บางคนอาจนึกถึงวินัย วินัย และวินัย ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีวินัย แต่เพจ ‘ญี่ปุ่นมักง่าย’ กลับเล่าถึงญี่ปุ่นด้วยเหตุผลที่สวนทางกับสิ่งที่เรา – คนนอก มองเข้าไปในญี่ปุ่น

ฝน-วรพร ปุณยกนก เจ้าของเพจที่ตั้งชื่อได้สะดุดความเข้าใจของเราที่มีต่อญี่ปุ่น บอกเล่าเรื่องราวของวัฒนธรรมญี่ปุ่นด้วยข้อมูลและประสบการณ์จากการที่เธอเคยไปทำงานที่นั่น

[AdSense-A]

ทำไมญี่ปุ่นต้องมักง่าย

‘ญี่ปุ่นมักง่าย’ เกิดขึ้นเพราะการลอบสังเกตวิถีชีวิตคนญี่ปุ่น บวกกับความคันไม้คันมืออยากนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่คนนอกสังคมญี่ปุ่นไม่ได้นำมาเป็นองค์ประกอบในการมองญี่ปุ่นนัก วรพรมีความสงสัยว่า ญี่ปุ่นเป็นญี่ปุ่นแบบนี้ได้เพราะอะไร มีระบบหรือการออกแบบเมืองแบบไหนที่ทำให้คนญี่ปุ่นมีพฤติกรรมเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เธอมองว่า เมืองส่งผลต่อพฤติกรรมของคน

“เราจะเห็นคนไทยชื่นชมญี่ปุ่นว่า คนญี่ปุ่นมีวินัย เราก็เลยพยายามมองหาคำตอบว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น บวกกับประสบการณ์ที่ไปเจอมา ก็เลยเป็นที่มาของ ‘ญี่ปุ่นมักง่าย’ ว่าอะไรที่ทำให้คนญี่ปุ่นทำตัวแบบนั้น”

คนญี่ปุ่นกล้าแสดงออก?

“คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักทำอะไรเหมือนๆ กัน เขามีลักษณะกลัวที่ตนจะเด่นออกมา มันเป็นความรู้สึกลึกๆ ว่า ถ้าสังคมคิดแบบนี้ เขาก็จะทำตามแบบนี้”

ข้อสังเกตนี้ วรพรได้มาจากประสบการณ์การทำงานกับองค์กรของคนญี่ปุ่นกับองค์กรต่างชาติในญี่ปุ่น เธอสังเกตว่า หากเป็นองค์กรของคนญี่ปุ่น การทำงานจะมีลักษณะบนลงล่าง และการฉายแสงไม่ใช่สิ่งที่คนญี่ปุ่นในองค์กรญี่ปุ่นต้องการจะเป็นเท่าใดนัก

“ระบบการทำงานแบบญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นจากบนลงล่าง ทำตามข้างบนสั่งกันไป แต่ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีใครกล้าคิดอะไรออกมานะ เพียงแต่เขาจะไม่ทำอะไรขัดกับข้างบน เพราะเขาเกรงที่จะตั้งคำถามว่า มันอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ไหม นี่คือลักษณะของบริษัทที่เป็นญี่ปุ่นจริงๆ แต่ถ้าเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีคนต่างชาติเยอะๆ มันก็กำลังเปลี่ยน”

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจของเธอก็คือ วัฒนธรรมการทำงานในภาคเอกชนแบบญี่ปุ่นสวนทางกับการทำงานของภาครัฐหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ นโยบายสาธารณะของญี่ปุ่นมีลักษณะ ‘ล่างขึ้นบน’

วรพรยกตัวอย่างการสร้างทางม้าลาย ภาครัฐจะทำการสอบถามความคิดเห็นอย่างรอบด้าน เชิญผู้ได้รับผลกระทบมาสอบถามความคิดเห็น ไม่เฉพาะทางม้าลาย แต่การจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานใดก็ตาม ญี่ปุ่นคำนึงถึงการออกแบบที่ก่อให้เกิดการใช้งานอย่างสมประโยชน์ และครอบคลุมสำหรับทุกคน ทุกคนมีโอกาสใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุ คนป่วย สตรีตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้พิการ

“สังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุ ถ้าคนสูงอายุอยากจะออกมาข้างนอก การออกแบบทางเดิน ทางเชื่อมต่อกับระบบรางหรือขนส่งมวลชนจะต้องเอื้อต่อลักษณะการเคลื่อนที่ของคนสูงอายุ รวมถึงผู้พิการด้วย”

การออกแบบลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมญี่ปุ่นเคารพในสิทธิพื้นฐานของคนทุกคน พวกเขาไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ที่จะออกมาใช้ชีวิตข้างนอก เป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี

“มันเป็นสิทธิพื้นฐานของคนที่จะไปไหนมาไหน ถึงมันจะไม่ใช่ทุกที่ในญี่ปุ่นที่จะเป็นแบบนี้ แต่เปอร์เซ็นต์มันเยอะกว่ามากที่ผู้ใช้วีลแชร์สามารถไปไหนมาไหนได้เอง พวกเขาสามารถนั่งรถเมล์ รถไฟ ใช้ระบบขนส่งมวลชนร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสะดวก ไม่ใช่แค่นั่งรถยนต์ส่วนตัวเพียงอย่างเดียว”

fon-japan-02

คนญี่ปุ่นมีระเบียบ?

พูดอย่างง่ายที่สุด การที่คนญี่ปุ่นต่อคิวขึ้นรถไฟฟ้าอย่างเป็นระบบระเบียบ ไม่ได้เกิดจากดีเอ็นเอของชาวญี่ปุ่นแต่อย่างใด วรพรบอกว่า ภาพความเป็นระเบียบของคนญี่ปุ่นที่สะท้อนออกมาแบบนั้น เกิดจากการออกแบบระบบเมือง

“อยากยกตัวอย่างของตัวเองที่ประสบในเมืองไทย เพื่อพยายามหาข้อเปรียบเทียบว่าญี่ปุ่นเขาทำยังไงจึงเกิดระบบและระเบียบ อย่างการต่อคิวขึ้นรถเมล์ เราก็อยากให้มีการต่อคิวขึ้นรถเมล์ที่เมืองไทยมากเลย แต่ถามว่าเราทำได้ไหม ถ้าเราต่อแถว คนอื่นจะมาต่อแถวกับเราด้วยไหม

“เราคิดว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบป้าย ป้ายนี้รถเมล์สายไหนจะมาจอด แล้วจะมาภายในกี่นาที ก็เป็นเรื่องของตารางเวลา หรือการหยุดรถให้คนข้ามถนน ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นจะใจดีนะ ถ้าไม่มีไฟเขียวสำหรับคนเดินข้ามถนน เขาอาจจะไม่หยุดรถให้คนข้ามเหมือนกันแหละ หมายความว่า ถ้ามีคนยืนรอที่ทางม้าลาย แต่ทางม้าลายนั้นไม่มีไฟเขียวสำหรับคนเดินติดตั้งอยู่ รถก็อาจจะไม่หยุดให้คนข้ามก็ได้ ซึ่งลักษณะแบบนี้ จะพบเห็นได้บ่อยในแถบชนบทหรือเมืองที่ไม่ใช่เมืองใหญ่ๆ

“แต่ถ้าเราไปในเมืองใหญ่ ระบบจะเป๊ะ…ทุกอย่างจะเป๊ะ ไฟเขียวสำหรับคนเดินเป็นกฎหมายเลยว่า ถ้าไฟส่งสัญญาณให้คนเดิน รถจะต้องหยุดให้คนเดินข้ามก่อน ซึ่งเขาเคารพกฎหมาย”

ก็ญี่ปุ่นเขาเจริญแล้ว?

คำอธิบายที่ว่าเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผู้คนจึงมีระเบียบวินัย วรพรบอกว่า ไม่น่าจะจริงเสมอไป เธอชวนให้สังเกตคนญี่ปุ่นที่มาอยู่เมืองไทย พวกเขาก็ไม่ได้ต่อคิวขึ้นรถเหมือนอย่างตอนอยู่ที่บ้านเขา

“ฉะนั้น มันไม่เกี่ยวเลยว่า คนคนนั้นเกิดที่ไหน มันอยู่ที่ว่า สังคมเอื้อให้เราทำตัวยังไงมากกว่า ถ้าคนไทยไปญี่ปุ่นแล้วไม่ต่อคิวขึ้นรถเมล์ ก็อาจจะโดนต่อว่า ในขณะที่ถ้าคนญี่ปุ่นมาเมืองไทย เขาก็ไม่รู้ว่าจะต่อคิวขึ้นรถตรงไหนเหมือนกัน คนญี่ปุ่นเป็นคนธรรมดา เขาแค่ทำตามสิ่งที่ระบบออกแบบมา ถ้าคนญี่ปุ่นมาข้ามถนนบ้านเรา เขาก็ข้ามตามเรา ว่างก็ข้าม เขาคงไม่มายืนรอหรอก เพราะไฟเขียวสำหรับคนเดินข้ามของเราบางแห่งก็ใช้งานไม่ได้”

fon-japan-03

คนญี่ปุ่นยืนชิดฝั่งไหนระหว่างอยู่บนบันไดเลื่อน?

บันไดเลื่อนในเมืองไทยเริ่มมีป้ายระบุให้ยืนชิดขอบฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้แก่ผู้เร่งรีบและต้องการเดินขึ้นไปให้ถึงที่หมายโดยเร็ว เราไม่แน่ใจว่านี่คืออานิสงส์จากการที่คนไทยแห่ไปเที่ยวญี่ปุ่นหรือเปล่า แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี

วรพรเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์การยืนชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่งบนบันไดเลื่อนไว้อย่างน่าสนใจ

ฝั่งโตเกียวหรือตะวันออกของญี่ปุ่นจะยืนชิดข้างซ้ายจนมาถึงนาโกยะ ไปเกียวโต คันไซ จะยืนชิดขวา เขาก็เล่ากันนะว่า สมัยก่อนคนฝั่งหนึ่งจะเป็นซามูไร ดาบอยู่ด้านซ้ายเขาจะชักดาบมือขวาแล้วก็จะเว้นที่ไว้เพื่อให้ชักดาบได้ แต่คนอีกฝั่งหนึ่งเป็นพ่อค้าก็ไม่มีอะไร มันเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ไม่แน่ใจว่าจริงเท็จแค่ไหน แต่สองฝั่งของญี่ปุ่นพยายามจะมีความเด่นในเชิงวัฒนธรรมเพราะอีกฝั่งหนึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า อีกฝั่งหนึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่

คนญี่ปุ่นแพ้สงคราม เขาเลยเข้มแข็ง?

“ก็มีทั้งส่วนจริงและไม่จริงนะ” วรพรมองว่า จริงที่ความยากลำบากทำให้คนดิ้นรน

“การอยู่ร่วมกันจะทำให้อยู่รอดได้มากกว่าต่างคนต่างอยู่ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบรางดีมาก ซึ่งความจริงแล้ว ในทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไม่เหมาะกับการมีรถรางเลยนะ เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีภูเขาเยอะมาก ซึ่งการพัฒนาเครื่องบินจะเหมาะสมกับลักษณะประเทศมากกว่า แต่ญี่ปุ่นหยุดพัฒนาเครื่องบิน เนื่องจากแพ้สงครามโลก เขาถูกหยุดการพัฒนาเครื่องบิน จึงหันมาทำระบบราง ญี่ปุ่นเลยกลายเป็นผู้นำด้านระบบราง

“แต่ถ้าสมมุติประเทศญี่ปุ่นชนะสงคราม เราอาจจะได้เห็นสนามบินเยอะมาก เพราะประเทศเขาไม่เหมาะกับการทำระบบรางเลย และเนื่องจากเขาไม่มีกองทัพ เขาสามารถนำเงินมาพัฒนาส่วนอื่นได้”

คนญี่ปุ่นมักง่าย?

แน่นอน – ความง่ายเกิดจากระบบที่ออกแบบมาให้ผู้คนในสังคมใช้ร่วมกันจนเกิดเป็นระเบียบ ชีวิตจะง่ายขึ้นแน่นอนถ้าเป็นแบบนั้น

วรพรทิ้งท้ายว่า ระบบของเมืองทำให้พฤติกรรมคนเปลี่ยน

“มันต้องมีกลไกในการอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าเราปล่อยไปโดยไม่ออกแบบอะไร มันอาจจะมีการแก่งแย่งกัน เพราะทุกคนก็อยากได้ แต่ถ้ามีการออกแบบจัดระเบียบว่า ถ้าเราเข้าคิว คนมาก่อนจะได้ก่อนนะ เป็นกลไก เป็นกฎที่คนในสังคมยอมรับว่าแฟร์แล้วเราก็ทำตาม มันก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น”

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า