โลกไม่อนุญาตให้ฉันรักตัวเอง กรณีศึกษา: เฉดสีที่มีไม่พอของรองพื้นเครื่องสำอาง

2017-12-07-beauty

 

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี

 

แม้ว่าโมอานา และทีมผู้สร้างดิสนีย์จะพยายามสร้างตัวละครเพื่อ Empowering ผู้หญิง ให้กล้าหาญที่จะทวงคืนและประกาศออกไปว่า ความสวยและคุณค่าที่ตัวเองยึดถือคืออะไร และนั่นไม่เกี่ยวกับสีผิว ไซส์ เชื้อชาติ หรือความเชื่อที่ยึดถือจากชาติพันธุ์ที่ต่างกัน

แต่ถ้าเจ้าหญิงโมอานาหลุดเข้ามาอยู่ในโลกปัจจุบัน (อย่างที่ Giselle ในเรื่อง Enchanted เจอ) แล้วเดินเข้าไปซื้อรองพื้นที่เคาน์เตอร์เครื่องสำอาง เธอจะต้องร้องกรี๊ดจนตัวสั่น และอาจเตรียมร่างแถลงการณ์ถึงประชากรโลกและองค์กรเครื่องสำอางหลักใหญ่ทั้งหลายแน่ๆ

ก็ค่าที่เฉดสีของรองพื้นสำหรับคนผิวเหลือง แทน น้ำตาล ดำ กลับมีน้อยแสนน้อยจนแทบหาเฉดสีที่เหมาะกับตัวเองไม่เจอ…น่ะซี

ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในข้อสังเกตที่ตรงกับประสบการณ์ของ ไมชา ซี. จอห์นสัน บล็อกเกอร์และคอลัมนิสต์ผิวสีของเว็บไซต์ Everyday Feminism ผู้ที่สนใจวัฒนธรรมประชาชนร่วมสมัย (pop culture) ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ในเขียนบทความ ‘10 Ways the Beauty Industry Tells You Being Beautiful Means Being White’ โดยตั้งต้นจากข้อสงสัยที่ว่า

ทั้งๆ ที่เรา และคนทั่วโลก ต่างรู้ว่าคุณค่าและความงามของตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิดที่โลกบอกเราให้เป็น แต่มันใช่เรื่องง่ายเช่นนั้นหรือ ในเมื่ออุปกรณ์ประทินโฉมทั้งหลาย ต่างผลิตขึ้น ด้วยยึดความงาม ‘อย่างคนขาว’ เสียแทบทั้งนั้น

ไม่รู้ว่าโมอานา ลูกสาวแห่งเกาะทะลใต้จะสงสัยหรือไม่ (ก็เพราะเธอไม่เคยถูกสอนจากโฆษณาเครื่องประทินผิวมาก่อนน่ะสิ ว่ายิ่งขาวยิ่งแพรวพราว) แต่ไมชาสงสัยว่า ทั้งๆ ที่ประชากรหนึ่งในสามของอเมริกาเป็นคนผิวสี ชาวเอเชียน และละติน หากทำไมผู้ผลิตเหล่านั้นจึงไม่เคยพัฒนาเครื่องสำอางมาเพื่อกลุ่มเป้าหมายนี้

กลับกัน เม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลวนอยู่ในตลาด มาจากการกระตุ้นเร้าให้ผู้หญิงผิว(หลายๆ) สี ซื้อครีมเหล่านี้มาเพื่อทาด้วยหวังว่าสีผิวของพวกเธอจะอ่อนลง

และนี่คือ 10 ข้อสงสัยที่เธอคิดว่าเกี่ยวพันกับสมมุติฐานเบื้องต้นของเธอ

หนึ่ง-ผู้หญิงที่ใครๆ ก็บอกว่า ‘แบบนี้แหละ…สวย’ ก็มักจะสวยอย่าง…คนผิวขาว

ไมชาเสนอว่าทั้งๆ ที่ประชากรชาวอเมริกันกว่าหนึ่งในสามของประเทศจะเป็น คนผิวสี, ชาวพื้นเมือง, คนเอเชียน, ชาวเกาะ และชาวละติน แต่จากรายงานล่าสุดของนิวยอร์ค แฟชั่น วีค รายงานว่า

ประชากรชาวนาย/นาง/และเพศอื่นๆ (ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกทุกเพศวัยว่า ‘โมเดล’) กลับเป็นโมเดลผิวขาวกว่า 82.7 เปอร์เซ็นต์, ชาวเอเชีย 9 เปอร์เซ็นต์, คนดำ 6 เปอร์เซ็นต์ และชาวละตินราว 2 เปอร์เซ็นต์

 

ภาพของ และบทสัมภาษณ์ของเธอ ที่ลงไว้ใน Instagram
ภาพของ และบทสัมภาษณ์ของเธอ ที่ลงไว้ใน Instagram

กรกฎาคม 2016 ไนเคอร์ พอล (Nykhor Paul) โมเดลผิวสีจากประเทศซูดาน ผู้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมด้วยการตั้งคำถามว่า

‘ทำไมเธอยังต้องพกเครื่องสำอางส่วนตัวทุกครั้งที่ต้องทำงาน’ และ ‘เธอเหนื่อย กับการรู้สึกผิดที่ผิวของเธอเป็นสีดำ’

และข้อความระหว่างบรรทัดของพอล ชัดเจนว่าเธอกำลังสื่อสารว่า การเหยียดเพศ ไซส์ และสีผิว สมควรจะคลี่คลายเสียทีในยุคสมัยนี้

สอง-ถ้าคุณเป็นคนผิวสี คุณก็ต้องทำให้ผิวของคุณนั้นเนียนใสและเปล่งประกาย (lighter)

นิยามความเปล่งประกายที่ว่า ก็คือความ light อย่างสีผิวของ บียอนเซ ในโฆษณาต่างๆ ซึ่งไมชาเห็นว่า นี่คือความซับซ้อนและการถูกคาดหวังของคนผิวสี ว่าคุณค่าของสีผิวนั้นอยู่ที่ความสะอาด เบา และยังต้องเปล่งประกายออกมาด้วย

แล้วใครเป็นผู้คาดหวังตั้งแสตนดาร์ดโทนสีผิว (ดำ น้ำตาล เหลือง ฯลฯ)?
ใช่การสื่อสารที่อยู่ในโฆษณาครีมทั้งหลายหรือไม่?

มองข้ามเม็ดเงินที่อยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่มครีมเปลี่ยนสีผิวเหล่านี้ไปก่อน (ที่มีตั้งแต่การฟอกผิว ค่อยปรับ ทำให้สว่าง หรือเป็นเพียงมอบคืนความชุ่มชื่นให้แก่ผิว) ไมชามุ่งไปยังข้อเปรียบเทียบที่ว่า ‘ในโลกของคนผิวขาว ก็มีการอบและเปลี่ยนให้มีสีแทน’ เช่นกัน

แต่ไมชาเห็นว่า “นี่เป็นเพียง ‘ลุค’ ที่ทำให้คนขาวรู้สึกถึงความ exotic เท่านั้น กับการได้เปลียนลุคบ้างก็เท่านั้น”

เพราะถึงจะเปลี่ยนจากผิวขาวเป็นสีแทน แต่พวกเขาจะไม่ได้รับประสบการณ์ ‘ความผิวดำ’ อย่างที่คนผิวสีได้เจอแน่นอน

สาม-ต่อเนื่องจากข้อสอง คนผิวสีที่ได้รับการยอมรับ ก็ต้องเป็นผิวสี อย่างคนอังกฤษก็เท่านั้น (anglicized features)

ไมชาเสนอว่า ถึงแม้จะมีดาราผิวสีในวงการภาพยนตร์ และในโลกเซเลบริตี้จำนวนมาก แต่เมื่อส่องซูมไปที่ดาราแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น ฮัลลี เบอร์รี (Halle Berry) เจสซิกา อัลบา (Jessica Alba) และ โซอี ซัลดานา (Zoe Saldana) พวกเขาเหล่านั้นต่างมีรูปร่าง (feature) ที่ใกล้เคียงกันไปหมด

ซึ่งเธอตั้งข้อสงสัยชวนคิดว่า หรือเพราะรูปแบบ ความสวยนั้นได้รากฐานจาก ‘สัดส่วนทองคำ’ หรือ ‘golden ratio’ ที่มีค่ากำหนดถึงขนาดดวงตา ความกว้างของจมูก ความอิ่มเต็มของริมฝีปาก และลักษณะของทรงผม ซึ่งสิ่งนี้ถูกรับรองว่ามันคือ ‘ความสวยสากล’

ซึ่งความสวยสากลดังกล่าว ไม่สามารถจัดรวมและมีพื้นที่ให้ความสวยอย่างเอเชียนหรือความสวยแบบอื่นได้เลย

Jessica Alba
Jessica Alba

พฤศจิกายน 2015 บนรันเวย์ของสาวๆ วิคตอเรีย ซีเคร็ต

มาเรีย บอร์เจส โมเดลจากประเทศแองโกลา ขึ้นเดินบนรันเวย์ด้วยผมกุดหยิก หลังจากนั้นเธอสื่อสารผ่านนักข่าวคนหนึ่งว่า “ฉันบอกกับเอเยนต์ว่าฉันต้องการจะเดินบนเวที วิคตอเรีย ซีเคร็ตด้วยผมจริงๆ ของฉันเอง ฉันกังวลกับมันเหมือนกันนะ แต่ฉันยังยืนยันที่จะทำแบบนั้นอย่างแน่นอน

Viola Davis at 21st Annual Screen Actors Guild Awards
Viola Davis at 21st Annual Screen Actors Guild Awards

 

และอีกครั้งกับฉากที่ วิโอลา เดวิส (Viola Davis) ถอดวิกของเธอในซีรีส์ฝรั่งเรื่อง How  to Get Away with Murder  ไมชากล่าวว่า ฉากนั้นมัน…สุดจะสำคัญสำหรับคนผิวสีเลยนะ

เพราะราวเดวีตั้งใจจะบอกกับโลกว่า คนผิวสีไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป และไม่ต้องอายที่จะประกาศว่าความสวยที่พวกเธอเห็น คือความสวยในรูปแบบใด

ห้า-ต้องมีสายตาอย่างชาวอังกฤษ ถึงจะเรียกว่าสวยจริง

ดวงตาแบบใดที่เรียกว่าสวย? ต้องกลมโตอย่างนั้นหรือ?

และความกลมโตนี่เป็นปรปักษ์กับดวงตาของชาวเอเชียนเลยนะ ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ชาวเอเชียนส่วนมากจะวิตกความ ‘ตาเล็ก’ และวิ่งเข้าหาศัลยกรรมเพื่อทำให้มันดูโตให้เท่าคนผิวขาวมากขึ้น

จูเลีย เฉิน (Julie Chen) นักแสดงชาวอเมริกัน-จีน ก็เป็นหนึ่งคนที่ถูกกดดันจากวงการภารยนตร์ให้เปลี่ยนความเอเชียที่แสดงออกผ่านดวงตา ซึ่งต่อมาเธอก็รับข้อเสนอที่จะมีผลทำให้เธอเกิดหรือตาย ในโลกแห่งการแสดงในที่สุด

ไมชาเห็นว่า การเปลี่ยนรูปลักษณ์ของตัวเองเพื่อให้เข้าข่ายความสวยอย่างคนผิวขาว เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากต่อการประสบความสำเร็จทางอาชีพของคนคนหนึ่ง และความสวยอย่างคนเอเชียหรือแบบอื่นนั้น ก็มีอยู่บ้าง หากน้อยเสียจนต้องยกให้เป็นข้อยกเว้นเป็นรายกรณีไป

หก-ดวงตาสีอ่อน นั้นก็น่าดึงดูดกว่าดวงตาสีเข้มเป็นไหนๆ

และไม่ใช่แค่รูปร่างของเรียวตา หากลึกล้ำลงไปถึงเฉดสีด้วย ซึ่งในข้อนี้อาจไม่ต้องกล่าวอะไรมาก หากดูจากธุรกิจคอนแท็คเลนส์สีๆ ที่เฟื่องขึ้นอยู่ทุกวัน

เจ็ด-เฉดสีของเครื่องสำอางสำหรับคนผิวสีนั้น ตายแล้ว…ทำไมจึงน้อยแสนน้อย

ยกตัวอย่างการสำรวจเฉดสีของรองพื้นก็ได้ หากเป็นเฉดสำหรับคนผิวขาวนั้น จะมีเฉดให้เลือกราวกับตัวอย่างของสต็อกสี หากพอเป็นเฉดสีเข้ม เหลือง หรือแทนเข้มไปแล้ว จะพบว่าเฉดสีที่ถูกผลิตมานั้นมีอยู่น้อยแสนน้อย

“บ่อยครั้ง เจ้าของบริษัทเครื่องสำอางเหล่านี้ทำราวกับว่า คนแบบเรานั้นไม่มีอยู่จริง” นั่นคือสิ่งที่ไมชาเขียนในบทความของเธอ

ซึ่งเธอวิจารณ์ต่อไปว่า

ในอุตสาหกรรมความงาม ผู้หญิงผิวสีไม่มีความหมายในแง่การผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับธรรมชาติของเธอ หากมีคุณค่าในแง่ของการสร้างเม็ดเงินมหาศาล ในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่จะเปลี่ยนสีผิว เส้นผม หรือเรือนร่างของเธอให้เข้าใกล้กับความสวยอย่างคนขาว เท่านั้นเอง

แปด-ถ้าคนขาวทำผมเดรดร็อค หรือเปียผมอย่าง cornrows พวกเธอจะถูกมองว่าสวย ขณะที่คนดำจะถูกมองว่า ‘ไม่เป็นมืออาชีพ’ เอาเสียเลย

นี่คือตัวอย่างเดียวที่ไมชายกขึ้นเพื่อต้องการอธิบายว่า ‘ไม่เคยมีคำว่ามาตรฐานเดียวสำหรับ คนผิวขาวและคนในวัฒนธรรมอื่น’

อย่างเรื่องการเปียผม ที่เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของชาวผิวสี แต่การเปียผม -หากถูกจัดบางวงที่ศีรษะคนดำ- ยังให้ภาพของความอันตราย น่ากลัว และให้ความรู้สึกเกี่ยวกับชนเผ่าเกินไป แต่หากเป็นผู้หญิงผิวขาวทำผมทรงเดียวกัน จินตนาการของผู้พบเห็นป็อปอัพขึ้นทันทีว่า ‘ช่างเปรี้ยวซ่าบ้าบิ่นอะไรเช่นนี้’

เก้า-ธุรกิจความงาม ใช้การแบ่งเหยียดชาติพันธุ์อย่างไม่ตั้งใจเพื่อการขายสินค้าของตัวเอง

ยกตัวอย่างแคมเปญโฆษณาผลิตภัณฑ์ของ Dove*, Benefit, Illamasqua โดยมีแกนกลางเพื่อการ ‘มุ่งหน้าสู่ความขาวขั้นสูงสุด’ นำมาซึ่งการเปรียบเทียบและใช้อิทธิพลของโฆษณากล่อมเราว่า ความขาวคือคำตอบ ซึ่งการใช้เส้นเรื่องความขาวนี้ ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างเป็นวัฏจักร

แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนลุกขึ้นมาทวงคืนความเป็นตัวเองโดยที่สังคมไม่ต้องบอกนี้ ทำให้ข้ออ้างเรื่อง ‘การรู้เท่าไม่ถึงการณ์’ อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป

*ชิ้นที่ให้ผู้หญิง 3 เฉดผิว 3 คนคือ คนผิวดำ คนละติน และคนขาว อาบน้ำโดยการใช้ผลิตภัณฑ์ของ Dove ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือการทำให้คนผิวดำ กลายเป็นสีผิวสีน้ำตาลอย่างคนละติน และสีผิวของคนละติน เปลี่ยนเป็นสีขาว

สิบ-ถ้าคนในวงการบันเทิงลุกขึ้นมาพูดเรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ ทายได้เลยว่าพวกเธอกำลังตกที่นั่งลำบาก

อีมาน (Iman) เปิดเผยในปลายปี 2007 ถึงการจัดเวทีเพื่อพูดถึงเรื่องอคติในวงการนางแบบว่า มันเป็นการยากมากที่จะผลักให้นางแบบผิวสีลุกขึ้นพูดในหัวข้อ ‘Black Girls Rule’

ที่ยาก เป็นเพราะนางแบบหน้าใหม่เหล่านั้น กลัวว่าความเจริญก้าวหน้าในอาชีพจะต้องตกฮวบลง

นาโอมิ แคมป์เบล (Naomi Campbell) นางแบบผิวสีที่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง เธอใช้เวลาทั้งชีวิตการงานในการถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมทางเชื้อชาตินี้ ชัดเจนในปี 2007 ที่นาโอมิ ก่อตั้งโมเดลลิ่งสำหรับนางแบบผิวสีขึ้นเพื่อส่งสารกดดันไปยังเอเจนซีทั่ววงการ และร่วมทำแคมเปญในการลดอคติที่เกิดจากเชื้อชาติในวงการทำงานนั้น

ซึ่งไมชาเห็นว่า นี่คือการสะท้อนว่าการต่อสู้ในประเด็นอคติทางเชื้อชาติดังกล่าว นั้นใช้เวลาและขึ้นอยู่กับว่า ‘ใคร’ เป็นคนพูด

ไมชาตบท้ายบทความในหัวข้อที่สิบนี้ว่า “เวลาที่เราได้ยินประสบการณ์อันขื่นขมจากอคติทางเชื้อชาติที่พวกเธอเจอ ให้พึงสงสัยต่อไปเสมอว่า ยังมีเรื่องที่พวกเธอไม่ได้เล่าออกมาเนื่องจากความกลัว อีกเท่าไรด้วย”

ฉันยังจำวันที่ฉันเคยรู้สึก…ว่าตัวเองนั้นไม่สวยงามได้ ฉันเปิดทีวีและเจอแต่คนผิวขาวอยู่ในนั้น ฉันเกลียดและขื่นขมกับสีผิวของตัวเอง ฉันถึงกับอ้อนวอนต่อพระเจ้า ถ้าปาฎิหาริย์มีจริง ขอให้ฉันตื่นขึ้นในเช้าวันไหน แล้วพบว่าสีผิวของฉันเปลี่ยนไป – ลูพิตา ยองโก


ที่มา: everydayfeminism.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า